อาทิตย์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
ข่าวดี ลูกา 15:1-3, 11-32
(1)บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า (2)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า ‘คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินอาหารร่วมกับเขา’ (3)พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง
(11)‘ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน (12)บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน (13) ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น (14)เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสน (15)จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา (16)เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ (17)เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า “คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว (18)ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ (19)ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด” 20)เขาก็กลับไปหาบิดา ‘ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา (21)บุตรจึงพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก” (22)แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ (23)จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด (24)เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก” แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น (25)‘ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ (26)จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น (27)ผู้รับใช้บอกเขาว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย” (28)บุตรคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป (29)แต่เขาตอบบิดาว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ (30)แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย” (31)‘บิดาพูดว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก (32)แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก”’
พวกฟาริสีและธรรมาจารย์กล่าวหาพระเยซูเจ้าว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินอาหารร่วมกับเขา” (ข้อ 2)
“คนบาป” ตามความหมายของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์คือ คนที่ไม่ปฏิบัติตามบัญญัติแม้ในเรื่องเล็กน้อย มักถูกขนานนามว่า “พลเมืองแห่งแผ่นดิน” และมักถูกตราหน้าว่าเป็นชนชั้นต่ำเหมือนสัตว์ป่าจนมีคำกล่าวว่า “ผู้ใดยกบุตรสาวให้แต่งงานกับพลเมืองแห่งแผ่นดิน ก็เปรียบเสมือนจับบุตรสาวของตนมัดมือมัดเท้าแล้วโยนให้สิงโต”
พวกฟาริสีและธรรมาจารย์กำหนดเส้นแบ่งเขตระหว่างพวกเขากับคนบาปไว้อย่างชัดเจน เช่น “ห้ามมอบเงินแก่พลเมืองแห่งแผ่นดิน ห้ามรับฟังคำยืนยันของพวกเขา ห้ามบอกความลับแก่พวกเขา ห้ามตั้งพวกเขาเป็นผู้ดูแลเด็กกำพร้าหรือดูแลกองทุนเกี่ยวกับเมตตากิจ ห้ามเดินทางร่วมกับพวกเขา ห้ามเป็นแขกของพวกเขาหรือรับพวกเขาเป็นแขก และถ้าเป็นไปได้ ห้ามติดต่อทำธุรกิจทุกประเภทกับพวกเขา....ฯลฯ”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าต้อนรับและกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาป พวกเขาจึงตกตะลึงสุด ๆ
เพื่อให้เข้าใจพระวรสารวันนี้อย่างลึกซึ้งและได้อรรถรสมากขึ้น เราพึงระลึกอยู่เสมอว่า ชาวยิวที่เคร่งครัดไม่ได้พูดว่า “ชาวสวรรค์จะชื่นชมยินดีเมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” เหมือนอย่างที่เราเคยได้ฟังจนคุ้นหู แต่พวกเขาพูดกันว่า “ชาวสวรรค์จะชื่นชมยินดีเมื่อคนบาปคนหนึ่งถูกทำลายไปต่อหน้าพระเจ้า”
นี่คือเหตุผลที่ทำให้พระเยซูเจ้าต้องยกอุปมาเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า “หัวจิตหัวใจที่แท้จริงของพระเจ้าเป็นอย่างไร !”
สำหรับชาวยิว ผู้เป็นบิดาจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่บุตรคนใดตามใจชอบไม่ได้ เพราะโมเสสกำหนดไว้ตายตัวว่า “ถ้าชายผู้หนึ่งมีภรรยาสองคน รักคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง และทั้งสองคนคลอดบุตรชายให้เขา แต่บุตรชายคนแรกเป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า เมื่อชายนั้นจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตร เขาต้องไม่คิดว่าบุตรของภรรยาที่เขารักมีสิทธิเป็นบุตรคนแรก แทนบุตรคนแรกแท้จริงที่เป็นบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่า แต่เขาต้องรับว่าบุตรของภรรยาที่เขารักน้อยกว่าเป็นบุตรคนแรก และต้องแบ่งทรัพย์สินให้บุตรคนแรกนี้เป็นสองเท่าของทรัพย์สินที่ให้แก่บุตรจากภรรยาที่เขารัก เพราะบุตรคนนี้เป็นผลแรกจากความหนุ่มของเขา และมีสิทธิของบุตรคนแรก” (ฉธบ 21:15-17)
เพราะฉะนั้น “ลูกล้างผลาญ” ซึ่งเป็นบุตรคนเล็กจึงควรได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ขณะที่บุตรคนโตควรได้รับส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ของทรัพย์สมบัติทั้งหมด
อันที่จริงบิดาจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตรก่อนตายก็ได้ หากเขาต้องการเกษียณตัวเองจากธุรกิจและการงานต่าง ๆ
เพียงแต่ว่างานนี้บุตรคนเล็กใจดำจริง ๆ ที่พูดกับบิดาทำนองว่า “พ่อ มอบส่วนแบ่งของลูกมาเถอะ เพราะอย่างไรเสียลูกก็ต้องได้อยู่แล้วเมื่อพ่อตาย ลูกจะได้ไปจากที่นี่เสียที”
โดยไม่โต้แย้งสักคำ “บิดาแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน” (ข้อ 12)
และโดยไม่ชักช้าเหมือนกัน บุตรคนเล็กได้รวบรวมทรัพย์สมบัติส่วนของตนแล้วเดินทางจากบิดาไป
ไม่นานเขาก็ผลาญเงินจนหมดเกลี้ยง และลงเอยด้วยการรับจ้างเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามตามกฎหมายยิวที่บัญญัติไว้ว่า “ขอให้ผู้เลี้ยงหมูจงถูกสาปแช่ง”
เมื่อตกต่ำสุด ๆ ชนิดอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ (ข้อ 16) พระเยซูเจ้าทรงกระตุกอารมณ์ของผู้ฟังด้วยการบอกว่า “เขารู้สำนึก” (ข้อ 17)
ตามต้นฉบับ “รู้สำนึก” คือ “กลับมาเป็นตัวของตัวเอง”
สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว ตราบใดที่มนุษย์หันเหจากพระเจ้า พระองค์ทรงถือว่า “เขาไม่เป็นตัวของตัวเอง”….
มนุษย์จะเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อกลับบ้านมาหาพระบิดา !
นี่คืออีกหนึ่งข่าวดีที่พระองค์ทรงเห็นว่า มนุษย์ไม่ได้ชั่วช้าโดยสันดาน เพียงแต่หลงทางไปเท่านั้น…
พระองค์จึงหวังและเฝ้ารอเรา “กลับบ้าน” !
เมื่อ “ลูกล้างผลาญ” กลับมาเป็นตัวของตัวเอง เขาตระหนักว่าต้องกลับบ้านไปหาบิดาเพื่อจะบอกว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด” (ข้อ 15-19)
“ผู้รับใช้” ถือว่ามีสถานภาพต่ำสุดในสังคม แม้แต่ “ทาส” ยังมีสถานภาพดีกว่าผู้รับใช้เสียอีก เพราะทาสยังถือเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว กินอยู่กับครอบครัว มีความมั่นคงสูง ส่วนผู้รับใช้นั้นไร้สังกัด เจ้านายจะจ้างหรือเลิกจ้างวันใดและเมื่อใดก็ได้ จะมีกินหรือจะอดตายก็สุดแล้วแต่ว่ามีคนจ้างงานหรือไม่
แต่ความคิดที่จะกลับไปเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของบิดา คงเป็นได้เพียงความคิดเท่านั้น เพราะบิดาไม่เปิดโอกาสให้เขาได้สมัครงานเลย....
ทั้งที่เขายังอยู่ไกล เมื่อบิดามองเห็นก็รู้สึกสงสารและวิ่งไปสวมกอดและจูบเขาเสียแล้ว (ข้อ 20) และหลังจากลูกล้างผลาญสารภาพผิดได้ไม่กี่คำ บิดาก็เร่งรัดผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้” (ข้อ 22)
เสื้อแสดงถึงเกียรติยศ แหวนใช้เป็นตราประทับและบ่งบอกถึงอำนาจ ส่วนรองเท้านั้นหมายถึงการเป็นบุตร เพราะมีแต่บุตรเท่านั้นที่สวมรองเท้า ส่วนทาสนั้นเท้าเปล่า
ในยุคที่ยังมีการค้าทาส ความใฝ่ฝันประการหนึ่งของพวกทาสผิวดำคือ ขอให้เวลาที่บรรดาบุตรของพระเจ้ามีรองเท้าใส่มาถึงโดยเร็ว เพราะรองเท้าเป็นเครื่องหมายถึงเสรีภาพ
ครั้นประดับกายให้บุตรคนเล็กเสร็จแล้ว งานเลี้ยงฉลองพร้อมเสียงเพลงและการเต้นรำที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความชื่นชมยินดีกับการกลับมาของผู้หลงทางก็เริ่มต้นขึ้น
สิ่งที่เราได้จากอุปมาเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” คือ
1. อุปมาเรื่องนี้ไม่ควรชื่อว่า “ลูกล้างผลาญ” เพราะบุตรคนเล็กไม่ได้เป็นตัวเอก แต่ควรชื่อว่า “บิดาผู้ใจดี” เพราะทั้งเรื่องเน้นที่ความรักของบิดามากกว่าบาปของบุตรคนเล็ก
2. การที่บิดาผู้ใจดีรีบวิ่งไปสวมกอดและจูบบุตรคนเล็กตั้งแต่เขายังอยู่ไกล แสดงว่าเขา “เฝ้ารอคอย” การกลับมาของบุตรด้วยใจจดใจจ่อ
บิดาผู้ใจดีให้อภัยบุตรของตนโดยไม่มีการเอ่ยถึงความผิดพลาดในอดีต ไม่มีการดุด่าว่ากล่าว และไม่มีคำว่า “โสนะน่า” (สมน้ำหน้า) หลุดออกมาจากปากสักคำเดียว
นี่คือ การให้อภัยที่ไม่จดจำความผิด
นี่คือ การให้อภัยที่ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง
นี่คือ การให้อภัยจากใจจริง ไม่ใช่จำยอมให้อภัยพร้อมคำทิ้งท้ายทำนองว่า “ไปแก้ตัวกับพระเจ้าในนรกก็แล้วกัน !”
เมื่อกบฏทางภาคใต้ของอเมริกาแพ้สงครามและยอมกลับมารวมตัวกับสหรัฐฯ มีผู้ถามลินคอล์นว่าจะแก้แค้นพวกกบฏอย่างไรดี ลินคอล์นตอบว่า “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับว่าพวกเขาไม่เคยจากไปไหน”
น่ามหัศจรรย์ที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ “การให้อภัยของพระเจ้า” !!!
ความรักของพระเจ้าทำให้พระองค์ปฏิบัติต่อเรามนุษย์เช่นนี้ !!!
3. พฤติกรรมของบุตรคนโตที่รู้สึกโกรธเมื่อเห็นน้องชายกลับบ้าน (ข้อ 28) เปรียบได้กับพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ที่ปรารถนาให้คนบาปถูกทำลายมากกว่าได้รับความรอด
นอกจากนี้ พฤติกรรมของเขายังส่อถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจอีกด้วย
3.1 เขาพูดกับบิดาว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ” (ข้อ 29)
แสดงว่าหลายปีที่เขานบนอบเชื่อฟังและทำงานรับใช้บิดานั้น เป็นการทนปฏิบัติหน้าที่อย่างจำใจและขมขื่น หาใช่เป็น “การรับใช้ด้วยความรัก” แต่ประการใดไม่
3.2 เขาขาดความเมตตาสงสารโดยสิ้นเชิง เขาไม่ยอมรับบุตรคนเล็กเป็นน้องชายของตน แต่เรียกว่า “ลูกคนนี้ของพ่อ” (ข้อ 30)
ท่าทีของเขาเป็นเหมือนพวกที่ถือว่าตัวเองดีครบครันแล้ว คนพวกนี้จะรู้สึกขยะแขยงเมื่อเห็นคนผิดและมักทำให้คนผิดถลำลึกลงไปอีก ไม่ว่าจะด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ คำติฉินนินทา หรือคำดูหมิ่นเหยียดหยามก็ตาม
พวกเขาไม่เคยคิดที่จะช่วยคนผิดให้ “ลุกขึ้น” มีแต่จะซ้ำเติมอยู่ร่ำไป
3.3 เขามีจิตใจคิดร้ายต่อผู้อื่นอย่างน่าตกใจ เขาบอกบิดาว่า “ลูกคนนี้ของพ่อคบหญิงเสเพล” (ข้อ 30) ทั้ง ๆ ที่ไม่มีตอนใดเลยที่บ่งบอกว่าบุตรคนเล็กเคยมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้
เป็นไปได้มากว่าตัวเขาเองนั่นแหละหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ คบหญิงเสเพล หรือเที่ยวหญิงโสเภณีเป็นประจำ จึงคาดเดาและสงสัยว่าน้องชายของตนจะประพฤติผิดเช่นเดียวกับตน
จริงอยู่ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าพฤติกรรมของบุตรคนเล็กนั้นชั่วร้ายมากจริง ๆ ที่กล้าเอ่ยปากขอมรดกทั้ง ๆ ที่บิดายังมีชีวิตอยู่ และแทนที่จะนำทรัพย์สมบัติไปลงทุน กลับนำไปล้างผลาญจนสิ้นเนื้อประดาตัว
คิดว่าคงไม่มีใครในพวกเราเลวเท่านี้อีกแล้ว !?!
กระนั้นก็ตาม เขายังรู้สำนึกและกลับบ้านมาหาบิดาของตน
แต่จะมีสักกี่คนในพวกเราที่สำนึกผิดและกล้ากลับมาหาพระบิดาเหมือนเขา ?!?