อาทิตย์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี ลูกา 15:1-32
(1)บรรดาคนเก็บภาษีและคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อฟังพระเยซูเจ้า (2)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์ต่างบ่นว่า ‘คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินอาหารร่วมกับเขา’ (3)พระองค์จึงตรัสเรื่องอุปมานี้ให้เขาฟัง
เรื่องแกะที่พลัดหลง
(4)‘ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งพลัดหลง จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบหรือ (5)เมื่อพบแล้ว เขาจะยกมันใส่บ่าด้วยความยินดี (6)กลับบ้าน เรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมา พูดว่า “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบแกะตัวที่พลัดหลงนั้นแล้ว” (7)เราบอกท่านทั้งหลายว่าในสวรรค์จะมีความยินดีเช่นนี้เพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจมากกว่าความยินดีเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจใหม่”
เรื่องเงินเหรียญที่หายไป
(8)‘หญิงคนใดที่มีเงินสิบเหรียญแล้วทำหายไปหนึ่งเหรียญ จะไม่จุดตะเกียง กวาดบ้าน ค้นหาอย่างถี่ถ้วนจนกว่าจะพบหรือ (9)เมื่อพบแล้ว นางจะเรียกมิตรสหายและเพื่อนบ้านมาพูดว่า “จงร่วมยินดีกับฉันเถิด ฉันพบเงินเหรียญที่หายไปแล้ว” (10)เราบอกท่านทั้งหลายว่าทูตสวรรค์ของพระเจ้าจะมีความยินดีเช่นเดียวกัน เมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ’
(จบแบบสั้น)
เรื่องลูกล้างผลาญและลูกที่คิดว่าตนทำดีแล้ว
(11)พระองค์ยังตรัสอีกว่า ‘ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน (12)บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน (13)ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น (14)‘เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้น และเขาเริ่มขัดสน (15)จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา (16)เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ (17)เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า “คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว (18)ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ (19)ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด” (20)เขาก็กลับไปหาบิดา ‘ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขา รู้สึกสงสาร จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา (21)บุตรจึงพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก” (22)แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ (23)จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด (24)เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก” แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น (25)‘ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ (26)จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น (27)ผู้รับใช้บอกเขาว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย” (28)บุตรคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป (29)แต่เขาตอบบิดาว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ (30)แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย” (31)‘บิดาพูดว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก (32)แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก”’
มีคนกล่าวว่า ลูกาบทที่ 15 คือ “พระวรสารในพระวรสาร” เพราะแก่นแท้ของข่าวดีที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนได้ถูกนำมารวมกันไว้ที่นี่
พระองค์ตรัสสอนอุปมาอันเป็นแก่นแท้ของข่าวดีเหล่านี้ เพราะทรงถูกพวกฟาริสีและธรรมาจารย์กล่าวหาว่าต้อนรับและกินอาหารร่วมกับคนบาป (ลก 15:2)
ในสายตาของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ ผู้ใดก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แม้ในเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย ล้วนเป็นคนบาปทั้งสิ้น
พวกเขาแยกตัวเองจากคนบาปโดยสิ้นเชิงและขนานนามคนบาปว่า “พลเมืองแห่งแผ่นดิน” (People of the Land) กฎของพวกเขาคือ “เมื่อผู้ใดเป็นพลเมืองแห่งแผ่นดิน ห้ามให้เงินแก่เขา ห้ามเขาเป็นพยาน ห้ามเผยความลับแก่เขา ห้ามตั้งเขาเป็นผู้คุ้มครองเด็กกำพร้าหรือดูแลกองทุนเกี่ยวกับความรัก ห้ามเดินทางร่วมกับเขา ห้ามรับคำเชิญหรือเชิญเขามาเป็นแขก และหากเป็นไปได้ ห้ามติดต่อทำธุรกิจกับพวกเขา”
เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าติดต่อคบหากับคนบาป พวกเขาจึงยอมรับไม่ได้และพากันกล่าวหาบ่นว่าพระองค์
นอกจากบ่นว่าพระองค์แล้ว พวกเขายังไม่รู้จักคำว่า “ชาวสวรรค์จะมีความยินดีเพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ” แต่กลับพูดกันว่า “ชาวสวรรค์จะมีความยินดีเพราะคนบาปคนหนึ่งถูกทำลายต่อหน้าพระเจ้า”
พวกเขาไม่เคยหวังและไม่เคยคิดที่จะช่วยคนบาปให้รอด มีแต่จ้องจะทำลายคนบาปให้สิ้นซากเสมือนซาดิสต์พวกหนึ่งเท่านั้นเอง
แกะที่พลัดหลง
ลักษณะภูมิประเทศของปาเลสไตน์ประกอบด้วยที่ราบสูงเป็นแนวยาวผ่านกึ่งกลางประเทศโดยเริ่มจากเหนือสุดจนจรดใต้สุด แต่กลับมีความกว้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร พ้นจากที่ราบสูงก็เป็นหน้าผาสูงชัน และถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จึงมีอยู่เพียงน้อยนิดบนที่ราบสูงแคบ ๆ นี้เท่านั้น
ทุ่งหญ้าเหล่านี้ไม่มีรั้วรอบขอบมิดชิด แกะจึงพลัดหลงจากฝูงไปติดอยู่ตามซอกหินหรือหน้าผาสูงชันได้โดยง่าย คนเลี้ยงแกะจำต้องยืนตากแดดตากฝน อดหลับอดนอน เพ่งสายตาเฝ้าฝูงแกะไว้ไม่ให้พลัดหลง และที่สำคัญพวกเขาต้องพร้อมเสี่ยงชีวิตป้องกันฝูงแกะจากขโมยรวมถึงฝูงสุนัขป่าและไฮยีน่าอีกด้วย
หากแกะสูญหาย พวกเขาต้องแกะรอยตามหาจนพบ หากแกะตาย อย่างน้อยที่สุดพวกเขาต้องนำขนแกะกลับบ้านเพื่อแสดงว่ามันตายอย่างไร
คนเลี้ยงแกะจึงได้รับการยอมรับอย่างสูงและกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเอาใจใส่ แม้แต่พระเยซูเจ้ายังทรงเปรียบพระองค์เองเป็นคนเลี้ยงแกะหรือชุมพาบาลที่ดี
มีฝูงแกะจำนวนไม่น้อยเป็นของคนทั้งหมู่บ้านร่วมกัน ไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ฝูงแกะเหล่านี้จะมีคนเลี้ยงแกะสองหรือสามคนรับผิดชอบดูแล ตกเย็นคนเลี้ยงแกะที่มีแกะในความรับผิดชอบอยู่ครบจะพาฝูงแกะที่เหลือทั้งหมดกลับบ้านตรงเวลา พร้อมกับแจ้งข่าวว่าเพื่อนอีกคนหนึ่งกำลังตามหาแกะที่หายอยู่ เมื่อทราบข่าว คนทั้งหมู่บ้านจะเฝ้าคอยด้วยความกระวนกระวาย เมื่อเห็นคนเลี้ยงแกะเดินกลับมาพร้อมกับแบกแกะที่พลัดหลงบนบ่า พวกเขาจะโห่ร้องด้วยความยินดีและขอบพระคุณพระเจ้า
นี่คือวิถีชีวิตของชาวยิวที่พระเยซูเจ้าทรงยกขึ้นมาเพื่อสอนเราว่า “พระเจ้าทรงยินดีเมื่อพบคนบาปที่สูญหาย เหมือนคนเลี้ยงแกะยินดีเมื่อแบกแกะที่สูญหายกลับบ้าน”
ฟาริสีจ้องทำลายคนบาป แต่พระเจ้าทรงเฝ้าคอยคนบาปกลับมาหาพระองค์ !!
แน่นอนว่า พระเจ้าทรงรักผู้ที่ไม่พลัดหลงจากพระองค์ แต่ในเวลาเดียวกันดวงพระทัยของพระองค์ก็เปี่ยมด้วยความปีติยินดีเมื่อผู้ที่พลัดหลงกลับมาหาพระองค์
นี่คือความจริงอันยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่เรา !
แต่น่าเสียดายที่อุปสรรคขวางกั้นคนบาปมิให้กลับมาหาพระเจ้ากลับเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง โดยเฉพาะพวกที่ชอบติฉินนินทาและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นแทบทุกเรื่อง
หลายครั้ง การกลับมาหาพระเจ้านั้นง่ายกว่ากลับมาฟังขี้ปากมนุษย์เป็นพันเท่าทีเดียว !!!!!
เงินเหรียญที่หายไป
เหรียญหายไม่ยาก แต่การหาเหรียญหายกลับยากกว่ามาก เพราะบ้านในชนบทมักมีหน้าต่างกลมกว้างประมาณฟุตครึ่งเพียงบานเดียว ภายในจึงค่อนข้างมืด อีกทั้งยังมีหญ้าแห้งจำพวกอ้อหรือกกปูพื้นซึ่งเป็นดินอัดอีกชั้นหนึ่ง
แม่บ้านจำต้องจุดตะเกียงพร้อมกับกวาดบ้านอย่างถี่ถ้วน เผื่อว่าจะเห็นแสงสะท้อนจากเหรียญหรือได้ยินเสียงเหรียญกระทบพื้นบ้าง
สาเหตุที่นางต้องค้นหาเหรียญให้พบ พอจะสันนิษฐานได้ดังนี้
ประการแรก เหรียญที่ชาวชนบทพึงมีไว้ในครอบครองได้คงเป็นเหรียญเงินหนึ่งดรักมา มูลค่าเทียบเท่าค่าแรงงานขั้นต่ำหนึ่งวัน แม้มีค่าไม่มากนักแต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำอย่างนาง หากหาเหรียญไม่พบ ก็แปลว่าวันนั้นทั้งครอบครัวจะไม่มีอะไรกิน
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ เหรียญนั้นอาจเป็นหนึ่งในสิบเหรียญที่เชื่อมติดกันเป็นสร้อยสวมบนศีรษะเพื่อแสดงสถานภาพว่าโสดหรือสมรส หญิงที่แต่งงานแล้วจะขัดถูและดูแลรักษาเหรียญทั้งสิบมิให้พลัดพรากจากนาง แม้มีหนี้สินมากมายพวกนางก็จะไม่ยอมยกมันให้แก่ผู้อื่น เพราะคุณค่าของมันเทียบได้กับแหวนแต่งงานของเรานี่เอง
หากเหรียญหนึ่งเหรียญใดหายไป นางต้องค้นหามันเหมือนเราต้องค้นหาแหวนแต่งงานของเรา !
ไม่ว่านางจะค้นหาเหรียญด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากเหรียญนั้นกลับมาอยู่ในมือของนางอีกครั้งหนึ่ง นางย่อมยินดีอย่างยิ่ง
พระเจ้าทรงเป็นเช่นเดียวกัน !
พระองค์ทรงยินดีเมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับบ้าน เหมือนคนทั้งบ้านยินดีเมื่อพบเหรียญที่ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการอดตาย หรือเหมือนหญิงผู้ทำเหรียญอันมีค่าเกินกว่าจะตีราคาเป็นเงินหายไป แล้วพบมันอีกครั้งหนึ่ง
นี่คือข่าวดีที่พวกฟาริสีไม่เคยคาดหวังมาก่อนว่าพระเจ้าจะทรงเป็นเช่นนี้ !
พวกเขาอาจยอมรับว่าคนบาปที่หมอบคลานมาหาพระเจ้าด้วยความสำนึกผิดจะได้รับการอภัย แต่การที่พระเจ้าทรงค้นหาคนบาปผู้หลงผิด ดุจเดียวกับหญิงค้นหาเหรียญหายนี่สิ เป็นเรื่องใหม่เกินกว่าจะคาดหวัง
พวกเขาไม่เคยได้ยินเลยว่ามีผู้ใดสอนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า เหมือนที่พระองค์ทรงสอนเราในวันนี้ !!
ลูกล้างผลาญและลูกที่คิดว่าตนทำดีแล้ว
นี่เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา !
ชาวยิวไม่มีสิทธิยกทรัพย์สมบัติให้บุตรตามใจชอบ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าบุตรหัวปีต้องได้สองเท่าของบุตรคนอื่น (ฉธบ 21:17) ในกรณีนี้บุตรคนโตจึงควรได้มรดกสองในสาม ขณะที่บุตรคนเล็กได้เพียงหนึ่งในสาม
เป็นไปได้ที่บิดาจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตรก่อนตายหากต้องการเกษียณตัวเอง แต่งานนี้บิดายังไม่ทันจะคิดวางมือจากธุรกิจ บุตรคนเล็กก็ชิงพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกแก่ลูกเถิด” (ลก 15:12)
คำพูดนี้ทิ่มแทงหัวใจของบิดาอย่างยิ่ง เพราะความหมายของมันคือ “ให้มรดกส่วนของลูกมาเดี๋ยวนี้เถอะ เพราะอย่างไรเสียลูกก็ต้องได้รับเมื่อพ่อตายอยู่ดี ลูกจะได้ไปจากที่นี่ซะที !”
บิดาไม่โต้แย้งสักคำด้วยตระหนักดีว่า หากลูกต้องเรียนรู้จักชีวิตเขาต้องประสบและแบกกางเขนหนักด้วยตนเอง จึงแบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน (ลก 15:12)
โดยไม่รอช้า บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจนหมดสิ้น เมื่อหมดตัวเขาจึงรับจ้างเลี้ยงหมูซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามของชาวยิว เพราะกฎหมายยิวกำหนดไว้ว่า “ขอให้ผู้เลี้ยงหมูจงถูกสาปแช่ง”
เมื่อตกต่ำสุดขีดจนคิดจะกินอาหารหมู พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เขาจึงรู้สำนึก” (ลก 15:17)
ตามต้นฉบับ “รู้สำนึก” คือ “กลับมาเป็นตัวของตัวเอง”
พระวาจานี้บ่งบอกความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ได้ว่า “ตราบใดที่มนุษย์หันเหจากพระเจ้า เขาไม่เป็นตัวของตัวเอง เขาจะเป็นตัวของตัวเองก็ต่อเมื่อรู้สำนึกและกลับบ้านมาหาพระเจ้าเท่านั้น” !
เมื่อกลับมาเป็นตัวของตัวเอง บุตรคนเล็กจึงตัดสินใจกลับบ้าน ไม่ใช่ในฐานะลูก แต่ในฐานะคนรับใช้ซึ่งมีสถานภาพต่ำกว่าทาสเสียอีก เพราะทาสยังเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว ส่วนคนรับใช้นั้นไม่มีสังกัด จะถูกเฉดหัวออกจากงานเมื่อใดก็สุดแท้แต่เจ้านายผู้เดียว
เมื่อกลับถึงบ้าน บิดาไม่เปิดโอกาสให้บุตรคนเล็กเอ่ยปากสมัครเป็นคนรับใช้สักคำ เขาสั่งผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด” (ลก 15:22-23)
เสื้อหมายถึงเกียรติยศ แหวนหมายถึงอำนาจ และรองเท้าหมายถึงความเป็นบุตร เพราะในบ้านมีแต่ลูกเท่านั้นที่สวมรองเท้า ส่วนทาสไม่ !
สิ่งที่เราได้จากอุปมาเรื่องนี้คือ
1. นิทานเปรียบเทียบเรื่องนี้ไม่ควรได้ชื่อว่า “ลูกล้างผลาญ” เพราะลูกไม่ได้ประกอบวีรกรรมอันใดเลย แต่ควรได้ชื่อว่า “บิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก” เพราะทั้งเรื่องกล่าวถึงความรักของบิดามากกว่าบาปของลูก
2. บิดาบนโลกนี้เห็นบุตรแต่ไกลก็วิ่งไปสวมกอดและจูบเขา (ลก 15:20) ไม่มีเสียงตำหนิหรือดุด่าเล็ดรอดออกมาจากปากของบิดาสักคำ
พระเจ้าผู้เป็นบิดาบนสวรรค์จะยิ่งเฝ้าคอยเรากลับบ้านและ “ให้อภัย” แก่เรามากกว่าบิดาบนโลกนี้มากสักเพียงใด !!
ที่สำคัญ พระองค์ทรงประทานอภัยโดย “ไม่จดจำความผิด”
ต่างจากเรามนุษย์อย่างสิ้นเชิง เพราะเรามักจดจำความผิดและพูดว่า “ฉันยกโทษให้หลายครั้งแล้วนะ ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย !”
3. พฤติกรรมของบุตรคนเล็กถือว่า “เลวบริสุทธิ์” เพราะนอกจากจะทำร้ายจิตใจของผู้เป็นพ่อจนย่อยยับแล้ว แทนที่จะนำทรัพย์สมบัติไปลงทุน กลับนำไปล้างผลาญจนสิ้นเนื้อประดาตัว
คงไม่มีผู้ใดเลวเทียบเท่าเขาก็จริง แต่มีสักกี่คนในพวกเราที่รู้สำนึกและกลับมาหาพระเจ้าเหมือนเขา ?
4. บุตรคนโตเข้ามามีบทบาทในตอนจบ เขาโกรธและเสียใจที่น้องชายกลับบ้านซึ่งเป็นท่าทีเดียวกับพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ที่ต้องการเห็นคนบาปถูกทำลายมากกว่ากลับใจ
4.1 คำพูดของเขาที่ว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อน ๆ” (ลก 15:29) บ่งบอกว่าหลายปีที่เขานบนอบเชื่อฟังและรับใช้บิดานั้น เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ หาได้เป็นการรับใช้ด้วยความรักไม่
4.2 เขาขาดความเมตตาโดยสิ้นเชิง นอกจากไม่ยินดีที่น้องชายกลับใจแล้ว เขายังไม่ยอมรับน้องชายเป็นน้อง แต่เรียกว่า “ลูกชายคนนี้ของพ่อ” อีกด้วย (ลก 15:30)
เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนดี อยู่บ้านทำหน้าที่ครบถ้วน แต่แทนที่จะช่วยผู้หลงผิดให้ลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เขากลับพร้อมจะเหยียบย่ำคนผิดให้จมติดดิน ไม่ว่าจะด้วยท่าทางหรือคำพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม คำติฉินนินทา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา
4.3 เขามีจิตใจลามก จึงกล่าวหาน้องชายว่า “คบหญิงเสเพล” (ลก 15:30) หรือหญิงโสเภณีทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อความใดระบุว่าน้องชายมีพฤติกรรมดังนี้มาก่อน
ท่าทีดังกล่าวเกิดจากความสงสัยว่าน้องชายได้ประพฤติผิดในสิ่งที่ตัวเขาเองนั่นแหละอยากจะกระทำ !
แม้อุปมาทั้งสามเรื่องจะกล่าวถึง “ความรัก” และ “การให้อภัย” จากฝ่ายพระเจ้าเหมือนกัน แต่จากฝ่ายมนุษย์ ยังมีมุมมองที่แตกต่างกัน 3 ด้าน กล่าวคือ
1. แกะพลัดหลงจากฝูงเพราะความโง่เขลาไม่รู้จักคิด หากรู้จักคิดก่อนทำ เราคงหลงผิดน้อยกว่านี้มากมายหลายเท่านัก
2. เหรียญเงินสูญหายไม่ใช่เพราะความผิดของตัวเหรียญเอง เช่นเดียวกับหลายคนที่หลงผิดไม่ใช่เพราะสันดานของตนเอง แต่เพราะถูกคนอื่นล่อลวงหรือบีบบังคับให้กระทำผิด
3. ส่วนลูกล้างผลาญนั้นตั้งใจและเต็มใจหันหลังให้พ่อบังเกิดเกล้าของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ความรักของพระเจ้าพร้อมให้อภัยทุกคน ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดจากความโง่เขลา หรือถูกผู้อื่นล่อลวง หรือจากความตั้งใจของเราเองก็ตาม !!!