แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี     ยอห์น 14:1-12
(1)ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย (2)ในบ้านพระบิดาของเรามีที่พำนักมากมาย ถ้าไม่มีเราคงบอกท่านแล้ว เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน (3)และเมื่อเราไปและเตรียมที่ให้ท่านแล้วเราจะกลับมารับท่านไปอยู่กับเราด้วย เพื่อว่าเราอยู่ที่ใดท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย (4)ที่ที่เราจะไปนั้น ท่านรู้จักหนทางแล้ว (5)โทมัสทูลว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร” (6) พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา (7) ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักเราท่านก็รู้จักพระบิดาของเราด้วย บัดนี้ ท่านก็รู้จักพระบิดาและเห็นพระองค์แล้ว (8)ฟิลิปทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด เท่านี้ก็พอแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า (9) “ฟิลิปเอ๋ย เราอยู่กับท่านมานานเพียงนี้แล้ว ท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ” ‘ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดาด้วย ท่านพูดได้อย่างไรว่า “โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด” (10)ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา วาจาที่เราบอกกับท่านทั้งหลายนี้เรามิได้พูดตามใจของเรา แต่พระบิดาผู้สถิตในเราทรงกระทำกิจการของพระองค์ (11)ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาก็ทรงดำรงอยู่ในเรา หรืออย่างน้อยท่านทั้งหลายจงเชื่อเพราะกิจการเหล่านี้เถิด (12)เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่เชื่อในเรา ก็จะทำกิจการที่เรากำลังทำอยู่ด้วย และจะทำกิจการที่ใหญ่กว่านั้นอีก เพราะเรากำลังจะไปเฝ้าพระบิดา


1. “จงเชื่อในเรา”   
พระเยซูเจ้ากำลังจะจากบรรดาศิษย์เพื่อกลับไปเฝ้าพระบิดาในเร็ว ๆ นี้  พระองค์ทรงทราบดีว่าจิตใจของพวกศิษย์กำลังว้าวุ่น กังวล และมืดมนแปดด้าน จึงทรงเตือนสติพวกเขาว่า “ใจของท่านทั้งหลายจงอย่าหวั่นไหวเลย จงเชื่อในพระเจ้า และเชื่อในเราด้วย” (ยน 14:1)
แน่นอนว่าเราเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มืดมนสุดขีดดังที่บรรดาศิษย์กำลังเผชิญอยู่ จนบางครั้งเราจำต้องยอมเชื่อในสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้และยอมรับในสิ่งที่ตนเองก็ยังไม่เข้าใจ  ในช่วงเวลาอันมืดมิดเช่นนี้ หากเราเชื่อว่าชีวิตมีเป้าหมาย และเป้าหมายนี้กำหนดโดย “พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก”  จิตใจของเราจะไม่หวั่นไหว เราจะสามารถทนในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทนได้ และจะมองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดนี้ได้
ความบรรเทาเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรา “เชื่อในพระเจ้า” และ “เชื่อในพระเยซูเจ้า”
พระเยซูเจ้าทรงน่าเชื่อถืออย่างยิ่งเพราะว่า
1.    พระองค์ทรงจริงใจ  เมื่อกล่าวถึงที่พำนักในบ้านของพระบิดา พระองค์ตรัสตรงไปตรงมาว่า “ถ้าไม่มี เราจะบอกท่านหรือว่าเรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน ?” (ยน 14:2)
         ก่อนหน้านี้พระองค์ตรัสอยู่เสมอว่าชีวิตคริสตชนต้องละทิ้งความสะดวกสบาย “สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง นกในอากาศยังมีรัง แต่บุตรแห่งมนุษย์ไม่มีที่จะวางศีรษะ” (ลก 9:57-58) ต้องพบกับการกดขี่ข่มเหง ความเกลียดชัง การลงโทษ “เราส่งท่านไปเหมือนแกะในฝูงสุนัขป่า... เขาจะมอบท่านที่ศาลและเฆี่ยนท่านในศาลาธรรมของเขา... พี่จะฟ้องน้อง น้องจะฟ้องพี่ให้ต้องโทษถึงตาย พ่อจะฟ้องลูก ลูกจะลุกขึ้นกล่าวโทษพ่อแม่ให้ถึงตาย  คนทั้งปวงจะเกลียดชังท่านเพราะนามของเรา” (มธ 10:16-22) และต้องแบกกางเขน “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา” (มธ 16:24) ซึ่งล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงความจริงใจของพระองค์
         พระองค์ไม่เคยใช้เล่ห์เหลี่ยมติดสินบนผู้ใดให้ติดตามพระองค์ด้วยการสัญญาว่าจะประทานตำแหน่งใหญ่โต ชื่อเสียงเกียรติยศ ความสะดวกสบาย หรือความมั่งคั่งใด ๆ เลย
        เมื่อพระองค์ทรงจริงใจเช่นนี้ วาจาทุกถ้อยคำของพระองค์จึงน่าเชื่อถือและวางใจได้อย่างเต็มเปี่ยม !
    2.    พระองค์ทรงรับประกันความปลอดภัย เพราะทรงเป็น “ผู้เสด็จล่วงหน้า” (ฮบ 6:20) ซึ่งตรงกับ prodromos (ปรอ-ดรอ-มอส) ในภาษากรีก
        ชาวกรีกใช้คำ prodromos เพื่อหมายถึงหน่วยลาดตระเวนในกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางล่วงหน้าให้แน่ใจว่าปลอดภัย จึงให้กองทัพที่เหลือติดตามไป
        พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน” (ยน 14:2) ซึ่งเท่ากับทรงเป็น prodromos ผู้เสด็จล่วงหน้าไปก่อนเราเพื่อทำให้แน่ใจว่าทุกคนที่ติดตามพระองค์จะได้รับความปลอดภัย
         พระองค์ทรงพิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน เราจึงเชื่อและวางใจพระองค์ได้เต็มเปี่ยม
         เหลือเพียงขั้นสุดท้ายคือ เราจะก้าวเดินตามพระองค์หรือไม่เท่านั้น ?!
    3.    พระองค์คือผู้ชนะ  พระองค์ตรัสว่า “เราจะกลับมา” (ยน 14:3) ซึ่งหมายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองในฐานะผู้พิชิตและเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เพื่อรับเราไปอยู่กับพระองค์
        น่าเสียดายที่แทบไม่มีผู้ใดสนใจเรื่องการเสด็จกลับมาของพระองค์  ซ้ำร้ายบางคนยังดำเนินชีวิตราวกับว่าพระองค์จะไม่มีวันเสด็จกลับมาอีกและตนเองจะอยู่ค้ำฟ้า
        เรารู้ดีว่าพระองค์ทรงจริงใจและทุกถ้อยคำของพระองค์เชื่อถือได้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราจะกลับมา” แปลว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาอย่างผู้ชนะจริง ๆ
        เราไม่อยากอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ชนะหรือ ?!       
    4.    พระองค์คือสวรรค์  เพราะทรงตรัสว่า “เพื่อว่าเราอยู่ที่ใด ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่นั่นด้วย” (ยน 14:3)
         นี่คือคำจำกัดความของสวรรค์ที่ซื่อและง่ายที่สุดเท่าที่พระองค์ทรงสอนเรา
        สวรรค์คือ “การได้อยู่กับพระเยซูเจ้าตลอดไป”
        เมื่อเรารักใครแบบสุดหัวใจสักคน เราจะมีชีวิตจริง ๆ ก็ต่อเมื่อได้อยู่กับคนคนนั้นมิใช่หรือ  กับพระเยซูเจ้าก็เป็นเช่นเดียวกัน !
    จากเหตุผลที่พระองค์ทรงบอกเราทั้งสี่ประการ  จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะปล่อยให้ชีวิตและจิตใจของเราหวั่นไหวเพราะไม่ยอมเชื่อพระองค์ !!!   

2. “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต”   
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เราอยู่กับท่านอีกไม่นาน แล้วเราจะกลับไปหาพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา” (ยน 7:33) ซึ่งก็คือพระบิดา แต่จนแล้วจนรอดพวกศิษย์ก็ยังไม่เข้าใจ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อตรัสถึง “กางเขน” ซึ่งเป็นหนทางที่พระองค์ทรงเลือกเพื่อใช้กลับไปหาพระบิดา พวกเขายิ่งไม่เข้าใจหนักเข้าไปอีก
    ในบรรดาศิษย์ทั้งหมด มีโทมัสเพียงคนเดียวที่ยอมรับตรงไปตรงมาว่าตนไม่เข้าใจและสงสัย จึงทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร” (ยน 14:5)
ความสงสัยของโทมัสมิใช่เรื่องเลวร้ายหรือน่าละอายแต่อย่างใด แต่กลับนำไปสู่คำตอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ นั่นคือ “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6)
    นอกจากยิ่งใหญ่สำหรับพระองค์เองแล้ว คำตอบนี้ยังยิ่งใหญ่มากสำหรับเรา และยิ่งใหญ่มากกว่าอีกสำหรับชาวยิว เพราะทรงรวมความคิดอันเป็นพื้นฐานของศาสนายิวให้สำเร็จเป็นจริงในพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
    1.    “หนทาง” ของพระเจ้าคือสิ่งที่ชาวยิวทุกคนต้องเดินตาม
         พระเจ้าตรัสกับโมเสสว่า “จงจำใส่ใจ และปฏิบัติตามที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงบัญชาแก่ท่าน อย่าหันไปทางขวาหรือทางซ้ายเลย แต่จงเดินตามทางซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านทรงบัญชาท่านไว้ทุกประการ” (ฉธบ 5:32-33)
          ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีวอนขอพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักทางของพระองค์” (สดด 27:11)
        ชาวยิวปรารถนาจะรู้จักและเดินตามหนทางของพระเจ้า บัดนี้พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นหนทาง” !!
        เพื่อจะเข้าใจคุณค่าของคำว่า “เราเป็นหนทาง”  ขอให้นึกภาพว่าเรามาจากต่างจังหวัดและกำลังหลงทางอยู่ในกรุงเทพฯ  หลังจากสอบถามตำรวจจราจรนายหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “ตรงไปแล้วเลี้ยวขวาตรงสัญญาณไฟแดงที่สอง ผ่านสวนอัมพร ข้ามลานกว้างที่มีรูปคนขี่ม้า ผ่านหน้าวัดแล้วเลี้ยวซ้าย คุณจะพบถนนที่ต้องการตรงสี่แยกที่สาม”  เราคงงงแน่
          โชคดีที่พระเยซูเจ้ามิได้เป็นเพียงคนบอกทางแบบตำรวจจราจร แต่ทรงเป็น “หนทาง” ด้วยพระองค์เอง  นั่นหมายความว่า พระองค์ทรงจูงมือเรา ทรงนำทางเรา ประทานพละกำลังแก่เรา และทรงแนะนำทุกสิ่งแก่เราทุกวัน จนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย
        นี่คือความรักอันยิ่งใหญ่สูงสุดของพระองค์ !
     2.    “ความจริง” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวยิวเพียรพยายามแสวงหาและวอนขอจากพระเจ้า “ข้าแต่พระยาห์เวห์ ขอพระองค์ทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้วิถีทางของพระองค์ ข้าพเจ้าจะได้ดำเนินชีวิตในความสัตย์จริงของพระองค์” (สดด 86:11) และ “ข้าพเจ้าเลือกหนทางแห่งความจริง” (สดด 119:30)
        ใช่ ชาวยิวแสวงหาความจริงโดยเฉพาะความจริงทางด้านศีลธรรม จึงมีรับบีจำนวนมากออกมาสอนเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
        แต่การสอนความจริงทางด้านศีลธรรมนั้นแตกต่างจากการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น พลศึกษา เรขาคณิต หรือภาษาอังกฤษ ซึ่งอุปนิสัยและความประพฤติของครูผู้สอนไม่มีผลต่อเนื้อหาที่สอนมากนัก
        ตรงกันข้าม เราไม่อาจเอาคนที่ผิดลูกผิดเมียผู้อื่นมาสอนเรื่องความบริสุทธิ์  เอาคนโลภมากมาสอนเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  หรือเอาคนที่ครอบงำกดขี่ผู้อื่นมาสอนเรื่องความสุภาพถ่อมตน  เพราะความจริงด้านศีลธรรมจะสอนด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องสอนด้วยแบบอย่างที่ดีด้วยจึงจะบังเกิดผล
        รับบีอาจพูดได้ว่า “เราได้สอนความจริงแก่ท่าน” แต่มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่พูดได้ว่า “เราเป็นความจริง”
        พระองค์ไม่เพียงสอนความจริงด้านศีลธรรมแก่เรา  แต่หลักศีลธรรมได้บรรลุความครบครันขั้นสูงสุดในพระองค์
        เราจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเดินตามพระองค์แล้ว เราจะบรรลุเป้าหมายขั้นสูงสุดอย่างแน่นอน !
3.    “ชีวิต” คือสิ่งสูงสุดที่ชาวยิวแสวงหา พวกเขาอธิษฐานว่า “พระองค์จะทรงสอนข้าพเจ้าให้รู้จักหนทางแห่งชีวิต” (สดด 16:11) และเชื่อว่า “ผู้ที่รับฟังคำสั่งสอนก็อยู่ในหนทางสู่ชีวิต” (สภษ 10:17)
    เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นชีวิต” จึงหมายความว่าชาวยิวและเราทุกคนจะมีชีวิตอย่างแท้จริงและมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเจริญชีวิตร่วมกับพระองค์เท่านั้น
         การเจริญชีวิตร่วมกับพระองค์ย่อมหมายรวมถึง การคิดเหมือนพระองค์ ปรารถนาเหมือนพระองค์ และดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์
    ชีวิตเหมือนพระเยซูเจ้าคือชีวิตที่มีคุณค่าและเป็นสุขอย่างแท้จริง !

3. “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา”
อาจกล่าวได้ว่าคำพูดนี้ทำให้คนสมัยก่อนงุนงงมากที่สุด เพราะชาวกรีกถือว่าพระเจ้า “มองไม่เห็น”  ส่วนชาวยิวเองก็เชื่อว่า “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถมองเห็นพระเจ้าได้” แม้แต่โมเสสซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า พระองค์ยังตรัสว่า “ท่านจะได้เห็นด้านหลังของเรา แต่ท่านจะไม่เห็นหน้าของเรา” (อพย 33:23)
    มนุษย์สมัยก่อนจึงถูกบีบบังคับให้อยู่กับพระเจ้าที่อยู่เหนือธรรมชาติ เหนือมนุษย์ และอยู่ไกลสุดเอื้อมจากมนุษย์ จนไม่มีใครเคยคิดว่าจะได้เห็นพระเจ้า  ด้วยความปรารถนาอย่างยิ่ง ฟิลิปจึงทูลว่า “พระเจ้าข้า โปรดทำให้พวกเราได้เห็นพระบิดาเถิด เท่านี้ก็พอแล้ว” (ยน 14:8)
    พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา” (ยน 14:9) ซึ่งหมายความว่าเห็นพระองค์ก็เห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นใด เพราะพระองค์คือ “พระเจ้าผู้ทรงเจริญชีวิตท่ามกลางมนุษย์”
นับจากนี้ไป พระเจ้ามิได้อยู่ห่างไกลจากเราอีกต่อไป แต่ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเราและทรงเจริญชีวิตดุจเดียวกับเรา
    1.    พระองค์ทรงอาศัยในบ้านธรรมดาๆ และในครอบครัวธรรมดาๆ ที่นาซาเร็ธ ไม่ใช่ในพระราชวังที่ใหญ่โตหรูหรา  ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงทำให้การเกิดของมนุษย์ วัยเด็กของมนุษย์ บ้านของมนุษย์ และครอบครัวของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ไป
    2.    พระองค์ทรงทำงานเหมือนเรา ทรงเป็นช่างไม้ที่กรากกรำงานหนัก ต้องพบกับลูกค้านิสัยต่างๆ  บางคนช่างบ่น บางคนเบี้ยวหนี้
        ในอดีต พระธรรมเก่าสอนว่า “งานคือผลของบาปกำเนิด” (ปฐก 3:19)  แต่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า “งานคือพระสิริรุ่งโรจน์” เพราะพระหัตถ์ของพระเจ้าได้ทรงสัมผัสงานหนักเช่นเดียวกัน
    3.    พระองค์ทรงถูกทดลอง และต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อชัยชนะเฉกเช่นเดียวกับเรา  พระเจ้าจึงเข้าใจปัญหาและสามารถช่วยเราได้ทุกคน
    4.    พระองค์ทรงรักมนุษย์ กระทั่งยอมเจ็บปวดรวดร้าวดวงพระทัย ส่วนร่างกายก็ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากสำหรับผู้คนสมัยก่อนที่พระเจ้าไม่ทรงลงโทษมนุษย์ผู้ทรยศ แต่กลับยอมสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยเรามนุษย์ให้กลับมาคืนดีกับพระองค์
    นี่คือพระเจ้าที่เราเห็นในองค์พระเยซูเจ้า !!
    และเพื่อมิให้ชาวยิวไขว้เขวจากความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว (Monotheism) พระองค์จึงตรัสว่า “วาจาที่เราบอกกับท่านทั้งหลายนี้เรามิได้พูดตามใจของเรา แต่พระบิดาผู้สถิตในเราทรงกระทำกิจการของพระองค์” (ยน 14:10)
    ความหมายคือ พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าองค์ที่สองเพราะทุกสิ่งที่ทรงคิด ทรงพูด หรือทรงกระทำล้วนเป็นกิจการของพระบิดาเจ้า  พระองค์จึงเรียกร้องว่า “ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดา และพระบิดาก็ทรงดำรงอยู่ในเรา หรืออย่างน้อยท่านทั้งหลายจงเชื่อเพราะกิจการเหล่านี้เถิด” (ยน 14:11)
    “กิจการเหล่านี้” ที่พระองค์ตรัสถึงคือ
    1.    คำพูด  เมื่อได้ฟังพระวาจาของพระองค์ เราสามารถตระหนักได้ทันทีว่านี่คือคำสอนของพระเจ้าเอง เพราะเนื้อหานั้นประเสริฐที่สุด ลึกซึ้งที่สุด เป็นจริงที่สุด และนำความสุขใจที่สุดมาสู่เรา  ลำพังมนุษย์ย่อมไม่มีทางสอนเช่นนี้ได้ 
    2.    การกระทำ  ดังที่ทรงตรัสกับศิษย์ของยอห์นว่า “จงไปบอกยอห์นถึงสิ่งที่ท่านได้ยินและได้เห็น คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:4-5)  และผู้ที่สามารถเปลี่ยนคนที่บกพร่องให้เป็นคนดีได้เช่นนี้ก็มีแต่ “พระเจ้า” เท่านั้น !
    ทั้งคำพูดและการกระทำของพระองค์จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “ผู้ที่เห็นเรา ก็เห็นพระบิดา”

4. “ผู้ที่เชื่อในเรา จะทำกิจการที่ใหญ่กว่านั้นอีก”   
นี่คือคำมั่นสัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่าจะให้เราทำงานที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์เสียอีก
จริงอยู่พระศาสนจักรเริ่มแรกได้รักษาโรคภัยไข้เจ็บมากมาย (คร 12:9, 28, 30; ยก 5:14) แต่นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำตลอดชีวิต  อย่างนี้จะเรียกว่าบรรดาอัครสาวกได้ทำกิจการที่ยิ่งใหญ่กว่าพระองค์ได้อย่างไร ?
แต่เมื่อกาลเวลายิ่งผ่านพ้นไปมากเท่าใด ข้อเท็จจริงยิ่งพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงรักษาคำมั่นสัญญาทุกประการ
1.    เรารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้น  อาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ  ทุกวันนี้เราสามารถทำศัลยกรรม บำบัดรักษา และผลิตยารักษาโรคได้มากมายชนิดที่ผู้คนในสมัยพระเยซูเจ้าได้แต่อ้าปากค้างร้องว่า “อัศจรรย์ !”
         เบื้องหลังความก้าวหน้าเหล่านี้คือความเสียสละ ความทุ่มเทชีวิตจิตใจ และการยอมเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อค้นคว้าวิจัยของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
         ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เป็นพระเยซูเจ้าเองที่ตรัสกับพวกเขาผ่านทางพระจิตของพระองค์ว่า “พวกท่านต้องช่วยกันรักษาคนเหล่านี้ มันเป็นทั้งเกียรติยศและความรับผิดชอบของท่านที่จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือพวกเขา”
         พระองค์คือผู้อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าเหล่านี้ จนว่าทุกวันนี้ เราสามารถทำสิ่งที่ผู้คนในสมัยของพระองค์ได้แต่ฝันถึงเท่านั้น
2.    ทุกวันนี้คริสตศาสนาแผ่ขยายไปทั่วโลก  ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ พระเยซูเจ้าไม่เคยเสด็จไปประกาศข่าวดีนอกแผ่นดินปาเลสไตน์เลย  เพราะข้อจำกัดของร่างกายทำให้พระองค์ต้องจำกัดวงอยู่เฉพาะภายในปาเลสไตน์  แต่เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์และกลับเป็นขึ้นมา พระองค์ทรงเป็นอิสระจากข้อจำกัดของร่างกาย และพระจิตของพระองค์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วทุกแห่งหน
    ทั้งนี้ โดยผ่านทางผู้ที่เชื่อในพระองค์ !