แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ยอห์น 14:15-21
(15)ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา (16)และเราจะวอนขอพระบิดา แล้วพระองค์จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้ท่านเพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป (17)คือพระจิตแห่งความจริงซึ่งโลกรับไว้ไม่ได้เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์ แต่ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่านและอยู่ในท่าน (18)เราจะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน (19)ในไม่ช้า โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิตและท่านก็จะมีชีวิตด้วย (20)ในวันนั้น ท่านจะรู้ว่า เราอยู่ในพระบิดาของเรา ท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน (21)ผู้ที่มีบทบัญญัติของเราและปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขาและจะแสดงตนแก่เขา’


    สำหรับพระเยซูเจ้า สิ่งเดียวที่พิสูจน์ความรักแท้คือ “ความนบนอบเชื่อฟัง”  เพราะรักพระบิดา พระองค์จึงทรงนบนอบเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาจนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์ แม้เป็นการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
    เช่นเดียวกัน เราจะแสดงความรักต่อพระเยซูเจ้าได้ก็โดยการนบนอบเชื่อฟังและปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ ดังที่ทรงตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา” (ยน 14:15)
    ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกชอบหรือพอใจเท่านั้น แต่ต้องมีความนบนอบเชื่อฟังรวมอยู่ด้วย  หาไม่แล้วเราจะพบเด็กที่ปากบอกว่ารักพ่อรักแม่ แต่ไม่วายทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์เสียใจอยู่ทุกวัน  หรือสามีภรรยาที่ปากก็บอกว่ารักกัน แต่ไม่วายทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บปวดรวดร้าวด้วยการฉุนเฉียวใส่กันบ้าง โหดร้ายต่อกันบ้าง ไม่รู้จักเกรงอกเกรงใจกันบ้าง เป็นต้น
    ในเมื่อความรักแท้เรียกร้องให้เรานบนอบเชื่อฟังผู้ที่เรารัก รักแท้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ด้วยเหตุนี้พระเยซูเจ้าจึงทรงสัญญา “จะประทานผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่งให้เรา เพื่อจะอยู่กับเราตลอดไป” (ยน 14:16)
    “ผู้ช่วยเหลือ” ตรงกับคำกรีก paraklētos (พาราเคลตอส) ซึ่งมีความหมายตามรากศัพท์เพียง “ผู้ที่ถูกเรียกมา”  แต่โอกาสและเหตุผลที่ชาวกรีกใช้คำ “พาราเคลตอส” กลับมีขอบเขตกว้างขวางอย่างยิ่ง ดังเช่น
    1.    ผู้ที่ถูกเรียกมาเป็นพยานในศาลเพื่อ “ประโยชน์” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
    2.    ผู้ที่ถูกเรียกมาเป็นทนาย “แก้ต่าง” ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาฉกรรจ์
    3.    ผู้ที่ถูกเรียกมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเพื่อ “ให้คำปรึกษา” ในสถานการณ์ที่ยุ่งยาก
    4.    ผู้ที่ถูกเรียกมา “ให้กำลังใจ” เช่น แก่กำลังพลที่ท้อแท้ ให้กลับมีจิตใจฮึกเหิมและกล้าหาญอีกครั้งหนึ่ง
    5.    ผู้ที่ถูกเรียกมาเพื่อ “ช่วยเหลือ” ในยามลำบากและขัดสน
    จะเห็นว่า “ผู้ช่วยเหลือ” ของชาวกรีกมีบทบาทกว้างขวางอย่างยิ่ง
    พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ช่วยเหลือ” นี้คือ “พระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:17)
    “พระจิต” จึงมีบทบาทกว้างขวางเช่นเดียวกัน  พระองค์เสด็จมาเพื่อประโยชน์ของเรา  เพื่อกำจัดจุดอ่อนและข้อบกพร่องในตัวเรา  เพื่อส่องสว่างสติปัญญาและจิตใจของเรา  รวมถึงช่วยเหลือเราให้สามารถจัดการกับชีวิตของเราอย่างผู้มีชัย
    แต่น่าเสียดายที่ “โลกรับ (พระจิต) ไว้ไม่ได้เพราะมองพระองค์ไม่เห็น และไม่รู้จักพระองค์” (ยน 14:17)
    “โลก” ตามความคิดของนักบุญยอห์นหมายถึง “ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพระเจ้า” พวกเขามองไม่เห็นพระจิตเจ้าเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะมองเห็น !
ปกติ คนเราย่อมมองเห็นตามความสามารถที่จะเห็นของแต่ละคน  ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ย่อมมองเห็นดวงดาวในท้องฟ้าได้น้อยกว่านักดาราศาสตร์  ผู้ที่ไม่ใช่ศิลปินย่อมมองเห็นความงามและจินตนาการที่ซ่อนอยู่ในภาพวาดได้น้อยกว่าศิลปิน  ผู้ที่ไม่สนใจศิลปะไทยย่อมมองเห็นความงดงามของรำไทยได้น้อยกว่าหรืออาจมองไม่เห็นเลยก็เป็นได้ ดังนี้เป็นต้น
    ผู้ที่ดำเนินชีวิตโดยปราศจากพระเจ้าจึงหมดความสามารถที่จะเห็นและรู้จักพระเจ้า และดังนั้น “โลก” จึงไม่อาจมองเห็นหรือรู้จักพระจิตเจ้า !!
    เราจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปโดยปราศจากพระเจ้า !
    ส่วนผู้ที่มีความเชื่ออยู่แล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายรู้จักพระองค์ เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่กับท่านและอยู่ในท่าน” (ยน 14:17)
    ใช่ เรารู้จักพระจิตเจ้าแล้วก็จริง แต่พระองค์จะไม่มีวันพังประตูหัวใจเข้ามาดำรงอยู่ในเราอย่างเด็ดขาด เว้นแต่เราเองจะ “เปิดหัวใจ” เชิญพระองค์เข้ามา
    ในเมื่อพระจิตเจ้าสามารถช่วยเหลือเราได้มากมายปานนี้ จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะปลีกตัวจากความอึกทึกวุ่นวายในชีวิตเพื่อรอรับเสด็จและเชิญพระองค์เข้ามาประทับอยู่กับเรา !

    นอกจากทรงสัญญาว่าจะวอนขอพระบิดาส่งพระจิตเจ้ามาช่วยเหลือเราแล้ว พระเยซูเจ้ายังรับรองอีกว่า “จะไม่ทิ้งท่านทั้งหลายให้เป็นกำพร้า เราจะกลับมาหาท่าน” (ยน 14:18)
    “กำพร้า” หรือ orphanos (ออร์ฟานอส) ในภาษากรีก ไม่ได้หมายถึงไม่มีพ่อเท่านั้น แต่หมายถึงศิษย์ที่สูญเสียอาจารย์ผู้เป็นที่รักด้วย  ดังที่พลาโตปราชญ์ชาวกรีกเล่าว่า เมื่อโสกราตีสตาย “ศิษย์ของเขาพากันคิดว่าคงต้องใช้ชีวิตที่เหลือแบบเด็กกำพร้าไม่มีพ่อ และพวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี”
    แต่ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะไม่กำพร้าเหมือนศิษย์ของโสกราตีส เพราะพระองค์ตรัสว่า “เราจะกลับมาหาท่าน” (ยน 14:18)
พระองค์กำลังตรัสถึง “การกลับคืนพระชนมชีพ” ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น “โลกจะไม่เห็นเรา แต่ท่านทั้งหลายจะเห็นเรา เพราะเรามีชีวิตและท่านก็จะมีชีวิตด้วย” (ยน 14:19)
    พระองค์กำลังหมายถึง “ชีวิตฝ่ายจิต” ซึ่ง “โลก” ไม่มีทางเห็นเพราะพวกเขาหมดความสามารถที่จะเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นจิตไปแล้ว !
    ส่วนบรรดาศิษย์ซึ่งขณะนี้กำลังสิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากเพราะมองเห็นกางเขนรอพระองค์อยู่เบื้องหน้า  แต่เมื่อถึงวันที่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ตาของพวกเขาจะเปิด สติปัญญาของพวกเขาจะเข้าใจ และหัวใจของพวกเขาจะเร่าร้อนเป็นไฟ
    เพราะ การกลับคืนพระชนมชีพช่วยเปลี่ยนความสิ้นหวังของพวกเขาให้เป็นความหวัง  พวกเขากลับมีชีวิต (ฝ่ายจิต) และใจของพวกเขาสามารถมองเห็นพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง
คราวนี้ พวกเขาเห็นและตระหนักแน่ชัดว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระอาจารย์ของพวกเขาที่ทรงถูกตรึงตายบนไม้กางเขน ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” และทรง “อยู่ในพระบิดา” (ยน 14:20)
    ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “ผู้ที่มีบทบัญญัติของเราและปฏิบัติตาม ผู้นั้นรักเรา และผู้ที่รักเรา พระบิดาของเราก็จะทรงรักเขา และเราเองก็จะรักเขาและจะแสดงตนแก่เขา” (ยน 14:21)
    เราอาจสรุปความหมายของพระองค์ได้ 3 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ
    1.    ความรักต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดหมด เพราะความรักเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง  พระบิดาทรงรักพระบุตร พระบุตรทรงรักพระบิดา พระบิดาและพระบุตรทรงรักมนุษย์ มนุษย์รักพระบิดาโดยผ่านทางพระบุตร มนุษย์รักซึ่งกันและกันและผูกพันกันด้วยสายสัมพันธ์แห่ง “ความรัก”
    2.    ความนบนอบเชื่อฟังคือเครื่องพิสูจน์ความรักแท้
    3.    สิ่งที่ผู้นบนอบเชื่อฟังพระเยซูเจ้าจะได้รับคือ
        3.1    ความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด เพราะพระบิดาจะทรงรักเขา (ยน 14:21)  ในเมื่อพระบิดาทรงรักและเป็นมิตรกับเขา เขาจึงไม่ต้องหวั่นกลัวสิ่งใดอีกแม้แต่ในวันพิพากษา
        3.2    การแสดงตนของพระเยซูเจ้า เพราะพระบุตรจะทรงรักเขาเช่นเดียวกับพระบิดา (ยน 14:21)  เขาจะมีความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ และยิ่งสนิทสัมพันธ์กับพระองค์มากเท่าใด เขาจะยิ่งรู้จักและรักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น
         การได้รู้จักและรักพระเยซูเจ้าจะนำมาซึ่งการดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ คิดเหมือนพระองค์ และปรารถนาเหมือนพระองค์
        ในโลกนี้และในโลกหน้า ไม่มีอะไรสุดยอดไปกว่าการ “มีชีวิตเหมือนพระเจ้า” อีกแล้ว !