แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 6 เทศกาลปัสกา

ข่าวดี    ยอห์น 15:9-17
(9)พระบิดาของเราทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด (10)ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา เหมือนกับที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระบิดาของเรา และดำรงอยู่ในความรักของพระองค์
(11)เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์ (12)นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน
(13)ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย (14)ท่านทั้งหลายเป็นมิตรสหายของเราถ้าท่านทำตามที่เราสั่งท่าน (15)เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป เพราะผู้รับใช้ไม่รู้ว่านายของตนทำอะไร เราเรียกท่านเป็นมิตรสหายเพราะเราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา (16)มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน มอบภารกิจให้ท่านไปทำจนเกิดผล และผลของท่านจะคงอยู่ เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา
พระบิดาจะประทานแก่ท่าน (17)เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน


    อาทิตย์ที่แล้ว เราเรียนรู้ว่า “การดำรงอยู่ในความรักของพระเยซูเจ้า” นอกจากจะทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงามและบังเกิดผลอย่างอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังทำให้พระบิดาได้รับพระสิริรุ่งโรจน์จากกิจการดีของเราอีกด้วย
    โดยมี “ความรัก” เดียวกันนี้เป็นแรงจูงใจ  พระองค์ทรงเปิดประเด็นใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของพระวรสารในวันนี้
“มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน” ! (ข้อ 16) 
ด้วยความรัก พระเยซูเจ้าทรงเลือกเราเพื่อ
    1.    “เพื่อให้ความยินดีของเราอยู่กับท่าน และความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ข้อ 11)  การดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนเต็มไปด้วยความยากลำบากก็จริง แต่เราไม่ยินดีที่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องดอกหรือ ?
        เราไม่ยินดีที่รู้จัก “รักและให้” ซึ่งหมายความว่า “เราพอแล้ว เราสุขแล้ว” ดอกหรือ ?
     และแม้ว่าเราจะเป็นคนบาป แต่เราก็ได้รับการไถ่กู้โดยพระเยซูเจ้าแล้ว  ชีวิตของเราในโลกนี้จะไม่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดีดอกหรือ ?  ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายชีวิตของเราในโลกหน้ายังได้แก่ความยินดีอย่างสมบูรณ์อีกด้วย เราจะไม่ยิ่งยินดีมากขึ้นไปอีกดอกหรือ ?
     เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิตจมอยู่ในความทุกข์และความโศกเศร้า รวมถึงพวกที่ชอบตีหน้าเศร้า จึงต้องถือว่าสวนทางกับการเป็นคริสตชนโดยสิ้นเชิง
    2.    “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ข้อ 12) พระองค์ทรงเลือกสรรเราเพื่อให้พวกเรา “รักกันและกัน”  ไม่ใช่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ถกเถียงกัน หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน
        พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” และพระองค์ไม่เพียงแต่พูด แต่ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างแล้วโดยทรงยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน
     ในเมื่อพระองค์ทรงแสดงความรักอันยิ่งใหญ่ต่อเราก่อน พระองค์จึงมีสิทธิเต็มที่ที่จะเรียกร้องให้เราทุกคนรักกันและกัน
        หลายครั้ง การเทศน์สอนหรือการประกาศข่าวดีของเราไม่บังเกิดผล เพราะเราเรียกร้องให้ผู้อื่นรักกัน ในขณะที่ตัวเราเองดำเนินชีวิตราวกับว่าการแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ !
    3.    “เราเรียกท่านเป็นมิตรสหาย” (ข้อ 14) นั่นคือพระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อเป็น “เพื่อน” ของพระองค์
        พระองค์ตรัสว่า “เราไม่เรียกท่านว่าเป็นผู้รับใช้อีกต่อไป”  คำ “ผู้รับใช้” ตรงกับภาษากรีก Doulos (ดูลอส) ซึ่งแปลว่า “ทาส”
        คำว่า “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” หรือ “ทาสของพระเจ้า” เป็นคำที่บรรดามหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ใช้เรียกตนเองด้วยความภาคภูมิใจ เช่น โมเสส (ฉธบ 34:5), โยชูวา (ยชว 24:29), ดาวิด (สดด 89:20), เปาโล (ทต 1:1), และ ยากอบ (ยก 1:1) เป็นต้น
        ขนาดบุคคลระดับนี้ยังภูมิใจที่ได้เป็น “ทาสของพระเจ้า”  แต่เราไม่ใช่ “ทาส” พระองค์ทรงเรียกเราเป็น “พระสหาย”
        ช่างเป็นอภิสิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่สุด ๆ !
        สมัยก่อน ในราชสำนักของจักรพรรดิโรมันและบรรดากษัตริย์ทางตะวันออก จะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น “พระสหาย”  บุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดและสนิทสนมกับจักรพรรดิหรือกษัตริย์มากที่สุด สามารถเข้านอกออกในได้ทุกแห่งและทุกเวลาแม้ในห้องบรรทม  ทุก ๆ เช้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์จะสนทนากับ “พระสหาย” ก่อนออกพบปะกับบรรดาแม่ทัพนาย กอง  นักปกครอง และนักการเมืองเสียอีก
        เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเลือกเรามาเป็น “สหายของพระเจ้า” จึงเป็นข้อเสนออันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเรามนุษย์  เพราะนับจากนี้ไป เราไม่ต้องชะเง้อมองพระเจ้าด้วยกล้องส่องทางไกลอีกต่อไป  เราไม่เหมือนทาสซึ่งไม่มีสิทธิปรากฏกายต่อหน้านาย  และเราไม่เหมือนฝูงชนที่มีโอกาสพบเห็นกษัตริย์เพียงชั่วครู่ชั่วยามเฉพาะเมื่อมีพิธีการสำคัญเท่านั้น
        ตรงกันข้าม เราเป็นพระสหายที่สนิทและใกล้ชิดพระเจ้ามากที่สุด !
        หรือเรายังมัวทำตัวเป็น “ทาส” อยู่อีก ?
    4.    นอกจากเป็น “เพื่อน” แล้ว พระองค์ยังเลือกเรามาเป็น “หุ้นส่วน” ของพระองค์อีกด้วย เพราะพระองค์ทรงตรัสว่า “เราแจ้งให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้ยินมาจากพระบิดาของเรา” (ข้อ 15)
        ตามกฎหมายกรีก “ทาส” เป็นเพียง “เครื่องมือที่มีชีวิต” เท่านั้น  หน้าที่ของทาสคือปฏิบัติตามคำสั่งโดยที่ผู้เป็นนายไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรืออธิบายเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น
        นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สูงสุดที่พระองค์ทรงเลือกเราไม่ใช่ให้เป็น “ทาส” แต่ให้เป็น “หุ้นส่วน” ของพระองค์ เพราะทรงบอกแผนการทุกอย่างที่กำลังจะทำ และทรงอธิบายด้วยว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น
     เรียกว่าทุกอย่างที่ทรงทราบจากพระบิดา พระองค์ทรงบอกเราผู้เป็น “หุ้นส่วน” จนหมด !
        จึงขึ้นกับเราแต่ละคนว่าจะ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การเป็น “หุ้นส่วน” กับพระองค์ในอันที่จะทำให้โลกรู้จักและหันกลับมาหาพระเจ้า
    5.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อ “มอบภารกิจให้ท่านไปทำ” (ข้อ 16) นั่นคือให้เราเป็น “ทูต” หรือเป็น “ผู้แทนพระองค์” เพื่อนำพระองค์ไปสู่ประชาชนที่ยังไม่รู้จักพระองค์
        วงจรชีวิตของคริสตชนจึงได้แก่การเข้ามาหาพระเยซูเจ้า เพื่อวอนขอพระองค์โปรดส่งเราไปทำภารกิจ และวนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกวัน
        คนที่คิดจะตัดขาดตัวเองจากโลก ก็คือคนที่คิดจะปฏิเสธภารกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายให้
    6.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อให้ “เกิดผล” (ข้อ 16) และเป็นผลที่คงอยู่ชั่วนิรันดร
        ทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ คือบริษัทที่สามารถทำโฆษณาจนสามารถดึงดูดผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือผู้ชมให้สนใจ “ผลผลิต” ของตนได้
        การทำภารกิจของพระเยซูเจ้าให้ประสบความสำเร็จก็เป็นเช่นเดียวกัน เราต้องโฆษณาด้วยการดำเนินชีวิตคริสตชนจนเกิด “ผลผลิต” ที่ดี เพื่อว่าผลผลิตนั้นจะ “ดึงดูด” และทำให้ผู้อื่นปรารถนาเป็นคริสตชนเช่นเดียวกับเรา
        การเอาชนะกันด้วยการถกเถียงทางปัญญา ด้วยสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ด้วยการติดสินบน หรือด้วยการข่มขู่ใด ๆ ก็ตาม ล้วนไม่ใช่หนทางของพระเยซูเจ้า
    7.    พระองค์ทรงเลือกเรามาเพื่อให้ “มีอภิสิทธิ์ในฐานะสมาชิกของครอบครัวพระเจ้า” จนพระองค์กล้าตรัสว่า “เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน” (ข้อ 16)
        พระธรรมใหม่ได้วางเงื่อนไขในการ “วอนขอ” ไว้ดังนี้คือ
        7.1    ต้องวอนขอด้วยความเชื่อ (ยก 5:15) ถ้าเราวอนขอพระเจ้าโปรดให้เราเป็นคนดีโดยที่ตัวเราเองไม่เชื่อว่าจะเป็นคนดีได้ คำวอนขอนั้นย่อมไม่เกิดผล
            เราจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการท่องบทสวดแบบซ้ำซากหรือด้วยความเคยชิน  แล้วหันมาภาวนาวอนขอด้วยความเชื่อและความวางใจในความรักของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม
        7.2    ต้องวอนขอในนามของพระเยซูเจ้า นั่นคือต้องมั่นใจว่าพระองค์จะเห็นชอบหรืออนุมัติให้เราทูลขอจากพระบิดาได้
     หากเราวอนขอสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือวอนขอด้วยความทะเยอทะยานส่วนตัวที่ต้องแลกมาด้วยความเดือดร้อนของผู้อื่น หรือวอนขอให้ศัตรูของเราจงพินาศไป  แน่นอนว่าพระองค์ย่อมไม่อนุมัติให้เราส่งคำวอนขอเหล่านี้ไปยังพระบิดา และดังนั้นคำวอนขอของเราย่อมเป็นหมัน
        7.3    ต้องวอนขอให้น้ำพระทัยจงสำเร็จไป  เพราะไม่มีใครมีปรีชาญาณเทียบเท่าพระเจ้า การวอนขอให้เราพร้อมน้อมรับน้ำพระทัยของพระเจ้าจึงเป็นคำวอนขอที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
        7.4    ต้องวอนขออย่างไม่เห็นแก่ตัว เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะประทานให้” (มธ 18:19) พระองค์ไม่ได้หมายความว่าหากเราเกณฑ์คนมามาก ๆ แล้วจะทรงฟังคำวอนขอของเรา แต่ทรงหมายความว่า “ต้องคิดถึงความต้องการของคนอื่น” ด้วย คำภาวนาจึงจะเกิดผล
            ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากวันนี้เราตั้งใจจะออกไปทำธุระนอกบ้านจึงวอนขอไม่ให้ฝนตก  ในขณะที่ชาวนาข้างบ้านต้องการฝนใจจะขาด ?
            ทางออกคือ เราแต่ละคนต้องเชื่อและวางใจในพระปรีชาญาณและความรักของพระเจ้า และพร้อมน้อมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์โปรดประทานแก่เรา
   
ยิ่งรักพระเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งพร้อมน้อมรับน้ำพระทัยของพระองค์มากเท่านั้น !