อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ข่าวดี มัทธิว 17:1-9
(1)ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูงที่ปราศจากผู้คน (2)แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง (3)โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์ (4)เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์” (5)ขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น มีเมฆสว่างจ้าก้อนหนึ่งปกคลุมพวกเขาไว้ เสียงหนึ่งดังจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด” (6)เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์ทั้งสามคนซบหน้าลงกับพื้นดิน มีความกลัวอย่างยิ่ง (7)พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ทรงสัมผัสเขา ตรัสว่า “จงลุกขึ้นเถิด อย่ากลัวเลย” (8)เมื่อเงยหน้าขึ้น เขาไม่เห็นผู้ใด นอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น (9)ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระเยซูเจ้าทรงกำชับศิษย์ทั้งสามคนว่า “อย่าเล่านิมิตที่ได้เห็นนี้ให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย”
เคยเชื่อกันว่าพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองบนภูเขาทาบอร์ (Tabor) แต่ทาบอร์ไม่ใช่ “ภูเขาสูง” (มธ 17:1) อีกทั้งเป็นเขตหวงห้ามเพราะเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร ทุกวันนี้จึงสันนิษฐานกันว่าพระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองบนภูเขาเฮอร์โมน (Hermon) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซีซารียาแห่งฟิลิป สถานที่ซึ่งเปโตรประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) เพียง 22 ก.ม.
ภูเขาเฮอร์โมนสูงเกือบ 3 ก.ม. ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 5 ช.ม. กว่าจะถึงยอดเขาซึ่งมีอากาศเบาบางมากจนไม่น่าจะมีใครคิดสร้างที่พำนักบนนี้ จึงเชื่อกันว่าการสำแดงองค์คงเกิดขึ้น ณ เชิงเขาแห่งใดแห่งหนึ่งในเวลากลางคืนเพราะ “เปโตรและเพื่อนที่อยู่ด้วยต่างก็ง่วงนอนมาก” (ลก 9:32)
ลูกาให้เหตุผลว่าพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับศิษย์ที่ทรงเลือกสรรไปยังภูเขาสูงและเปลี่ยวเช่นนี้ “เพื่ออธิษฐานภาวนา" (ลก 9:28)
จริงอยู่ที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป คำประกาศความเชื่อของเปโตรช่วยบรรเทาใจพระองค์ได้มาก เพราะอย่างน้อยยังมีคนรับรู้ว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
แต่ขณะนี้พระองค์กำลังมุ่งหน้าไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อรับการตรึงกางเขน พระองค์ปรารถนาจะทราบว่า นี่เป็นน้ำพระทัยของพระบิดาจริงหรือ ?
ไม่มีครั้งใดเลยที่พระองค์จะเผชิญหน้ากับปัญหาหรือวิกฤติการณ์ตามลำพังโดยไม่ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังกับพระบิดา และครั้งนี้พระองค์ทรงเลือกภูเขาเฮอร์โมนเป็นที่สวดภาวนาและฟังพระสุรเสียงของพระบิดาเจ้า
คำถามเดียวที่พระองค์ทรงมีต่อพระบิดาคือ “พระองค์ทรงประสงค์ให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ?”
ช่างต่างกันลิบลับกับคำถามที่ว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา ?” หรือ “ทำไมถึงทำกับฉันได้ ?!”
บนภูเขานี้เอง “โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์” (มธ 17:3)
น่าสังเกตว่าทั้งโมเสสและเอลียาห์ต่างเคยมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าบนภูเขามาก่อน โดยโมเสสรับแผ่นศิลาจารึกพระบัญญัติสิบประการจากพระเจ้าบนภูเขาซีนัย (อพย 31:18) ส่วนเอลียาห์ได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์บนภูเขาโฮเร็บ (1 พกษ 19:9-12)
ลูกาเล่าว่าเนื้อหาของการสนทนาคือเรื่อง “การจากไปของพระองค์ที่กำลังจะสำเร็จในกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:31)
“การจากไป” ตรงกับภาษากรีก exodos (เอกซ์ซอดอส) และตรงกับภาษาอังกฤษ exodus
คำ exodus มีความหมายลึกซึ้งทางศาสนา เพราะเป็นการเดินทางผจญภัยของชนชาติหนึ่งที่มอบความวางใจทั้งหมดไว้ในพระเจ้า ยอมออกจากแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ในอียิปต์ มุ่งหน้าสู่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทรายที่ซึ่งไม่เคยมีใครรู้จัก แต่ในที่สุดพระเจ้าทรงนำพวกเขาเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา
เท่ากับว่าพระเยซูเจ้ากำลังทำ exodus โดยเสด็จออกจากบ้านเกิดเมืองนอนอันอบอุ่น มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มที่เต็มไปด้วยอันตรายและมีกางเขนรอคอยพระองค์อยู่เบื้องหน้า
แต่หลังจากเร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีแผ่นดินแห่งพระสัญญารอชาวอิสราเอลอยู่ฉันใด หลังความตายบนไม้กางเขน ก็มีพระสิริรุ่งโรจน์รอคอยพระองค์อยู่ฉันนั้น
Exodus คือคำยืนยันจากสองบุคคลผู้มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล คนหนึ่งเป็นผู้นำบทบัญญัติของพระเจ้ามาสู่มนุษย์ อีกคนหนึ่งเป็นประกาศกยิ่งใหญ่ที่สุดผู้นำพระวาจาของพระเจ้ามาสู่มนุษย์
คำยืนยันคือ “พระองค์ทรงมาถูกทางแล้ว” เพราะหลังความตายบนไม้กางเขน มีพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนชีพรอคอยพระองค์อยู่ !
นอกจากคำยืนยันของสองผู้นำชาวอิสราเอลแล้ว ยังมีเมฆสว่างจ้าก้อนหนึ่งปกคลุมพวกเขาไว้ เสียงหนึ่งดังจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด” (มธ 17:5)
ตลอดประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล “เมฆสว่างจ้า” นั้นหมายถึง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ระหว่างการอพยพ “ในเวลากลางวัน พระยาห์เวห์เสด็จนำหน้าเขาเหมือนเสาเมฆเพื่อชี้ทาง” (อพย 13:21) “พระยาห์เวห์เสด็จมาในเมฆ” เพื่อประทานศิลาจารึกพระบัญญัติเป็นครั้งที่สอง (อพย 34:5) และพระยาห์เวห์เสด็จมาที่สักการสถานโดย “เมฆปกคลุมกระโจมนัดพบ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระยาห์เวห์อยู่เต็มกระโจมที่ประทับ” (อพย 40:34)
แปลว่า เป็นพระเจ้าเองที่เสด็จมาหาพระบุตรสุดที่รัก และทรงพอพระทัยหนทางของไม้กางเขนที่พระเยซูเจ้าทรงเลือก
บัดนี้คำภาวนาของพระองค์ได้รับคำตอบชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยใด ๆ แล้ว พระองค์พร้อมปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าแม้ต้องพลีชีพบนไม้กางเขนแล้ว ชีวิตภายในของพระองค์บรรลุขั้นสูงสุดแล้ว !
นอกจากชีวิตภายในของพระองค์จะบรรลุขั้นสูงสุดเพราะสามารถน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดาแม้จะต้องถูกตรึงตายบนไม้กางเขนก็ตาม บรรดาศิษย์ยังได้รับบทเรียนด้วยเช่นกัน
1. จิตใจของบรรดาศิษย์กำลังห่อเหี่ยวอย่างยิ่งเพราะพระเยซูเจ้าทรงยืนกรานจะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรับการทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
แต่บนภูเขาแห่งการสำแดงพระองค์นี้เอง เปโตรและศิษย์ได้เห็น “พระพักตร์ของพระองค์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง” จนเปโตร ถึงกับอุทานว่า “พระเจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริง ๆ” (มธ 17:4)
นอกจากนั้น พวกเขายังได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าปรากฏในก้อนเมฆสว่างจ้า
สองสิ่งนี้ทำให้จิตใจของพวกเขาชุ่มชื่นและปีติยินดียิ่งขึ้น บัดนี้พวกเขาสามารถมองเห็นความรุ่งโรจน์โดยผ่านทางความอับอาย ชัยชนะโดยผ่านทางความอดสู และมงกุฎโดยผ่านทางไม้กางเขน !
กางเขนไม่ใช่ความพ่ายแพ้อัปยศอดสูอีกต่อไป แต่เป็นหนทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์อันยิ่งใหญ่ !!
2. ปฏิกิริยาแห่งความปีติยินดีของเปโตรคือ “ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์” (มธ 17:4)
เปโตรเป็นคนชอบทำมากกว่าชอบคิด แทนที่จะสงบนิ่ง ไตร่ตรอง สรรเสริญ และเคารพยำเกรงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ดังเพลงสดุดีที่ว่า “จงสงบนิ่งเถิด และรู้ว่าเราคือพระเจ้า” (สดด 46:10) ท่านกลับด่วนเสนอสร้างเพิงสามหลัง
เช่นเดียวกัน หลายครั้งเราวุ่นวายทำสิ่งนี้บ้าง ทำสิ่งโน้นบ้าง ทั้ง ๆ ที่จะดีกว่ามากหากเรารู้จักเงียบ ฟัง คิด และสรรเสริญขอบพระคุณพระเจ้า
3. ในทางกลับกัน เป็นไปได้ว่าเปโตรเสนอสร้างเพิงสามหลังก็เพื่อยืดเวลาแห่งความปีติยินดีที่ได้อยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้เปล่งรัศมีรุ่งโรจน์ออกไปให้นานที่สุด จะได้ไม่ต้องลงจากภูเขาไปเผชิญหน้ากับกางเขน
นี่เป็นประสบการณ์ของทุกคนที่เจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า นั่นคือได้ลิ้มรสความสุขสงบและความปีติยินดีอย่างเอ่อล้น และพยายามยืดเวลาแห่งความสุขนี้ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนหลายครั้งไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย
อย่าลืมว่า พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรืองเพื่อให้บรรดาศิษย์มีพลังใจและพลังกายสำหรับปฏิบัติภารกิจที่พระองค์ทรงมอบหมาย
และก้าวเดินต่อไปตามหนทางของไม้กางเขน !!