แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 30 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 10:46-52
(46)พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ ขณะที่พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง  (47)เมื่อได้ยินว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”  (48)หลายคนดุเขาให้เงียบ แต่เขากลับตะโกนดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”  (49)พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ” เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว”  (50)คนตาบอดสลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า  (51)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” คนตาบอดทูลว่า “รับโบนีให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด”  (52)พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า  “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ทันใดนั้น เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป

**********************

นับจากนี้ไป จุดจบของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพราะจากเมืองเยริโคไปสู่กรุงเยรูซาเล็มมีระยะทางเพียง 24 กิโลเมตรเท่านั้น
พระองค์กำลังเดินทางไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งย่อมต้องแวดล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในอิสราเอลที่ประชาชน ศิษย์ และผู้แสวงหาความรู้นิยมเดินตามรับบีหรืออาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเพื่อฟังคำสั่งสอนระหว่างเดินทาง
กฎหมายยิวกำหนดให้ชายที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปและอาศัยอยู่ภายในรัศมี 24 กิโลเมตรรอบกรุงเยรูซาเล็มต้องไปร่วมฉลองปัสกา  แต่ในทางปฏิบัติ เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะถือตามกฎนี้ได้อย่างเคร่งครัด  สำหรับผู้ที่ไม่อาจไปร่วมฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มได้ พวกเขาจะยืนเรียงรายสองข้างทางเพื่อคอยอวยพรให้บรรดาผู้จาริกแสวงบุญเดินทางโดยสวัสดิภาพ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมมาระโกจึงเล่าว่า “พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก” (ข้อ 46)

นอกจากนี้ ยังพบบันทึกระบุว่า มีพระสงฆ์ประจำการที่พระวิหารประมาณ 20,000 คน แบ่งออกเป็น 26 ผลัดหมุนเวียนกันเข้าเวรทุกวันตลอดปี  แน่นอนว่าพระสงฆ์จำนวนมากขนาดนี้ย่อมไม่อาจพำนักอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มได้ทั้งหมด  ส่วนใหญ่ของผู้ที่ยังไม่เข้าเวรจึงต้องพักที่เมืองเยริโค  เส้นทางระหว่างเยริโคและเยรูซาเล็มจึงมีพระสงฆ์เดินทางไปมาอยู่เป็นประจำ
ดังนั้น ท่ามกลางฝูงชนที่ติดตามฟังคำสั่งสอน ย่อมต้องมีบรรดาพระสงฆ์ปะปนอยู่ด้วยเพื่อเฝ้าดูหนุ่มช่างไม้ชาวนาซาเร็ธ ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจอันล้นเหลือของบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิว ด้วยสายตาอันเย็นชาและไม่เป็นมิตรอย่างยิ่ง
เพราะหากพระเยซูเจ้าเป็นฝ่ายถูก พิธีกรรมที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มย่อมหมดความหมาย….
รวมทั้งตัวพระสงฆ์เองย่อมต้องหมดหนทางเลี้ยงชีพไปด้วย !

ที่ประตูเมืองทางทิศเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม  มีชายตาบอดชื่อบารทิเมอัสนั่งขอทานอยู่ข้างทาง  ครั้นทราบว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาร้องตะโกนเรียกพระองค์ด้วยเสียงอันดังจนหลายคนต้องดุให้เขาเงียบเพื่อจะได้ยินคำสั่งสอนของพระองค์
แต่พวกเขาทำไม่สำเร็จเพราะคนตาบอดกลับร้องเสียงดังยิ่งขึ้น  ไม่มีใครหยุดยั้งเขามิให้พบกับพระองค์ได้  เขาเชื่อมั่นว่าพระองค์คือผู้เดียวที่สามารถช่วยเขาให้หลุดพ้นจากโลกแห่งความมืดมิดนี้ได้ !
จากพฤติการณ์ของคนขอทานตาบอด  เราได้พบเห็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “เงื่อนไขแห่งอัศจรรย์” ดังต่อไปนี้
1.    ความมุ่งมั่น  เมื่อบารทิเมอัสทราบว่าผู้ที่กำลังผ่านมาคือพระเยซูเจ้า เขาตัดสินใจเด็ดขาดที่จะพบพระองค์ให้จงได้ เพราะมั่นใจว่ามีเพียงพระองค์เท่านั้นที่สามารถช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ยากได้
เมื่อตัดสินใจแล้ว ไม่มีใครหรืออะไรสามารถหยุดยั้งเขาได้ !
ความมุ่งมั่นที่จะพบพระเยซูเจ้าของเขาไม่ได้เกิดจากความหวังอันเลื่อนลอย หรือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ หรือเป็นเพียงความตื่นเต้นที่จะได้พบคนเด่นคนดัง
แต่เป็นความมุ่งมั่นที่ออกมาจาก “หัวใจของคนที่สิ้นหวังชนิดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้”
ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือ “ความวางใจในความช่วยเหลือของพระเจ้า”
ความมุ่งมั่นอันเกิดจากความวางใจอย่างเต็มเปี่ยมนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี !!
2.    ตอบเสียงเรียกทันที  เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสเรียกบารทิเมอัส เขา “สลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า” (ข้อ 50) ด้วยความกระตือรือร้นทันที
บารทิเมอัสรู้โดยสัญชาติญาณว่า โอกาสทองเช่นนี้อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชีวิตโดยไม่มีทางหวนกลับมาหาอีก เขาจึงกระโดดเข้าหาพระองค์อย่างรวดเร็วราวกับกระสุนปืน
แต่น่าเสียดายที่พวกเราหลายคนกลับประพฤติตรงกันข้าม  เมื่อได้ยินเสียงเรียกจากพระองค์ แทนที่จะรีบตอบในทันที กลับประวิงเวลาไว้ “รอให้ข้าพเจ้าทำสิ่งนี้เสร็จก่อนได้ไหม ?” หรือ “รอให้ข้าพเจ้าพร้อมกว่านี้ไม่ได้หรือ ?”
หลายครั้งพระองค์ทรงดลใจเราให้ปรับปรุงตนเอง  ให้แก้ไขนิสัยไม่ดีต่าง ๆ  หรือให้ถวายตนรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์มากขึ้น  แต่เรากลับปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดลอยไป
โอกาสซึ่งอาจไม่หวนกลับมาหาเราอีกเลย !!!
3.    รู้ความต้องการ  เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” เขาทูลว่า “รับโบนีให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด” (ข้อ 51)
เขารู้และระบุความต้องการของตนเองได้คือ “การแลเห็น”
แต่พวกเราหลายคนกลับเข้าหาพระเยซูเจ้าโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการอะไร เข้าตำราปล่อยให้ “ฟ้าลิขิต” อย่างเดียวโดยที่ไม่เคยคิดจะมีส่วนร่วมในการ “ลิขิตชีวิต” ของตนเองด้วยแต่ประการใด
มีบ้างไหมที่เราไปหาทันตแพทย์ แล้วปล่อยให้หมอ “ลิขิตฟัน” ของเราคือจะถอนซี่ไหนก็ได้ ?  เราควรต้องรู้และบอกหมอได้ชัดเจนมิใช่หรือว่าฟันซี่ไหนเป็นปัญหา !
กับพระเยซูเจ้าก็เช่นกัน เราต้องทูลขอพระองค์ให้ชัดเจนว่าเราต้องการความช่วยเหลืออะไรจากพระองค์
โดยเฉพาะ “ความกล้าหาญที่จะพิจารณาตนเอง” นั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทูลขอจากพระองค์เป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว !
4.    ความเชื่อ  บารทิเมอัสร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (ข้อ 47 และ 48)
เขาเรียกพระองค์เป็น “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” ซึ่งเป็นสมญานามของพระเมสสิยาห์ก็จริง แต่เป็นสมญานามที่แฝงความหมายของการเป็นนักรบนองเลือดที่จะพิชิตโลก และนำพาชนชาติอิสราเอลไปสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนยุคสมัยของกษัตริย์ดาวิดอีกครั้งหนึ่ง
นั่นคือ บารทิเมอัสยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าไม่ถูกต้องนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ความเข้าใจจะไม่ถูกต้อง แต่เขามี “ความเชื่อ”  และความเชื่อของเขาได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดผลมากกว่าความรู้ความเข้าใจเป็นร้อยเท่า พันเท่า
จริงอยู่เราจำเป็นต้อง “คิด” และต้องสอนผู้อื่นให้รู้จัก “คิด” ด้วย  แต่เราไม่จำเป็นต้องคาดหวังหรือเรียกร้องให้คน ๆ หนึ่งกลายเป็นนักเทวศาสตร์ก่อนเป็นคริสตชน
เพราะเราไม่มีทางรู้และเข้าใจพระเยซูเจ้าได้ทั้งหมด !
ขอเพียงให้เรา “รัก” และ “เชื่อ” ว่าพระองค์คือ “ผู้ที่ตอบสนองความต้องการของเราได้”  เท่านี้ก็เกินพอแล้ว…..
5.    ความกตัญญู  ทั้ง ๆ ที่บารทิเมอัสเป็นเพียงคนขอทานข้างถนน แต่หัวใจของเขากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูรู้คุณคน
เมื่อ “เขากลับแลเห็น” เขา “เดินทางติดตามพระองค์ไป” (ข้อ 52) แทนที่จะตีจากพระองค์ไปด้วยความเห็นแก่ตัว

นี่คือบทสรุปของขั้นตอนในการเป็นศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้า
เริ่มต้นด้วย ความต้องการ
ตามด้วย ความกตัญญู
และอยู่ด้วย ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระองค์ บัดนี้ และตลอดไป !!!!!