แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 10:35-45
(35)ยากอบและยอห์น บุตรของเศเบดี เข้ามาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าทั้งสองปรารถนาให้พระองค์ทรงกระทำตามที่ข้าพเจ้าจะขอนี้”  (36)พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด”  (37)ทั้งสองทูลตอบว่า “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด”  (38)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านไม่รู้ว่ากำลังขออะไร ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่”  (39)ทั้งสองทูลว่า “ได้ พระเจ้าข้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ  (40)แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้”
(41)เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น  (42)พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ  (43)แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น  (44)และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน  (45)เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์”

************************

มาระโกเล่าว่า ยากอบและยอห์นเป็นผู้ทูลขอตำแหน่งจากพระเยซูเจ้าด้วยตนเอง ส่วนมัทธิวเล่าว่าเป็นนางซาโลเม ซึ่งเป็น “มารดาของบุตรเศเบดีเข้ามาเฝ้าพระองค์พร้อมกับบุตร นางกราบลงทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระองค์” (มธ 20:20-23)
มัทธิวคงเห็นว่าการทูลขอเช่นนี้จะทำให้ภาพพจน์ของอัครสาวกเสีย อีกทั้งยากอบและยอห์นจะพลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย จึงยกให้มารดาเป็นผู้มีความทะเยอทะยานและเป็นผู้ทูลขอตำแหน่งให้แก่บุตรของตนแทน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาระโกน่าจะบันทึกได้ถูกต้องมากกว่ามัทธิว เพราะว่าขณะนั้นบรรดาอัครสาวกไม่ใช่นักบุญ  พวกเขาเป็นมนุษย์ธรรมดา ๆ เหมือนกับเรา
และอาศัยมนุษย์ธรรมดา ๆ แบบเรานี้เอง ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้มาเปลี่ยนโลกใบนี้ให้เป็นพระอาณาจักรของพระองค์ !

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากยากอบและยอห์น ดังเช่น
1.    ทั้งสองมีความทะเยอทะยาน  พวกเขาคาดหวังว่าเมื่อพระเยซูเจ้าผู้เป็นพระเมสสิยาห์สามารถพิชิตโลกและสถาปนาอาณาจักรของพระองค์ขึ้นบนโลกใบนี้ได้แล้ว พวกเขาจะได้รับตำแหน่งสำคัญในอาณาจักรแห่งใหม่นี้
เป็นไปได้ว่าความทะเยอทะยานดังกล่าวเกิดจากความรู้สึกว่าเป็น “คนใกล้ชิด” ของพระเยซูเจ้า เพราะมีหลายครั้งที่พระวรสารระบุว่าพระองค์ทรงเรียกเปโตร ยากอบ และยอห์นให้ติดตามพระองค์ใกล้ชิดมากกว่าอัครสาวกท่านอื่น
อีกสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะทั้งสองมีฐานะดีกว่าเพื่อนอัครสาวกด้วยกันจนสามารถจ้างคนรับใช้ได้  เมื่อคราวที่พระองค์ทรงตรัสเรียกพวกเขา “เขาทั้งสองคนก็ละทิ้งเศเบดีบิดาของตนไว้ในเรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไปทันที” (มก 1:20)
เมื่อคิดว่ามีฐานะร่ำรวยกว่าเลยพลอยทำให้ทั้งสองเกิดความทะเยอทะยานที่จะมีตำแหน่งดีกว่าตามไปด้วย !
2.    ทั้งสองไม่เข้าใจพระเยซูเจ้าเอาเสียเลย  ลำพังทูลขอตำแหน่งก็ต้องถือว่าเลวร้ายมากแล้ว แต่ทั้งคู่ดันไปขอตำแหน่งทันทีที่พระองค์ทรงทำนายถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นครั้งที่สามแล้วเสร็จ (มก 10:32-34)
แสดงว่านอกจากไม่เข้าใจความหมายของพระเมสสิยาห์แล้ว พวกเขายังไม่เข้าใจจิตใจและความรู้สึกนึกคิดของพระองค์อีกด้วย
สิ่งที่พระองค์พร่ำสอนมาเป็นเวลานานหาได้ช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระองค์ดีขึ้นแต่ประการใดไม่  ต้องรอจนเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแล้วนั่นแหละ พวกเขาจึงเข้าใจพระองค์จริง ๆ !
เพราะฉะนั้น หากคำพูดไม่อาจทำให้เรารู้จักและเข้าใจพระเยซูเจ้าได้ หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือเราต้องเผชิญหน้ากับ “ไม้กางเขน” เพื่อจะเข้าใจว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าคืออะไร ?  และใครกันแน่ที่เป็นใหญ่กว่ากัน ?
3.    ทั้งสองเชื่อมั่นในพระเยซูเจ้า  แม้จะบกพร่องและหลงผิด แต่ทั้งคู่ยังมั่นคงและเชื่อมั่นว่าพระองค์จะประสบชัยชนะในที่สุด
น่าแปลกใจมากที่พวกเขากล้าฝากอนาคตและความหวังไว้ในกำมือของช่างไม้ชาวนาซาเร็ธ ผู้ซึ่งขัดแย้งและเป็นศัตรูกับบรรดาผู้นำทางศาสนาของชาวยิวอย่างรุนแรง  ซ้ำร้ายกำลังมุ่งหน้าไปสู่ความตายบนไม้กางเขนเสียอีก
ไม่ว่าสถานการณ์ของพระเยซูเจ้าและของบรรดาอัครสาวกจะเลวร้ายลงสักเพียงใด  จิตใจของเขาทั้งสองคนก็ไม่เคยหวั่นไหวหรือเปลี่ยนแปลง
พวกเขาไม่เคยสงสัยในชัยชนะและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าเลย (ข้อ 37)

ในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เผยแสดงให้เราเห็นมาตรฐานของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับ “ผู้เป็นใหญ่”
พระองค์ตรัสถามยากอบและยอห์นว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” (ข้อ 38)
“ถ้วย” เป็นคำเปรียบเทียบหมายถึง “ชีวิตและประสบการณ์” ของคน ๆ หนึ่ง
ผู้นิพนธ์เพลงสดุดีกล่าวว่า “ถ้วยของข้าพเจ้าล้นอยู่” (สดด 23:5) เพื่อบรรยายถึงชีวิตและประสบการณ์แห่งความสุขที่พระเจ้าทรงโปรดประทานแก่ตน
ประกาศกอิสยาห์กล่าวถึงความหายนะที่กำลังมาเยือนชาวอิสราเอลว่า พวกเขากำลังดื่ม “ถ้วยแห่งพระพิโรธของพระเจ้า” (อสย 51:17) “ถ้วย” จึงหมายถึง “ประสบการณ์” แห่งความหายนะที่พวกเขากำลังจะได้รับจากพระเจ้า
“การล้าง”  ตรงกับภาษากรีก baptizein (บัพติเซน) หมายถึง “จุ่ม, จมลง”  โดยทั่วไปใช้ในความหมาย “จุ่ม หรือจมลงในประสบการณ์ใดประสบการณ์หนึ่ง” เช่น คนซึมเศร้าคือคนที่จมอยู่ในความเศร้าเสียใจ  คนขี้เมาคือคนที่จมอยู่กับการดื่ม  ฯลฯ
เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” พระองค์จึงไม่ได้หมายถึงการรับ “ศีลล้างบาป”  แต่พระองค์ต้องการถามว่า
“พวกท่านพร้อมจะทนและฟันฝ่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่เราจะต้องประสบหรือไม่  พวกท่านพร้อมจะจมลงในความเกลียดชัง ความเจ็บปวด และความตายเหมือนเราหรือไม่” ?
สรุปง่าย ๆ คือสำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว “ไม่มีกางเขน ก็ไม่มีความยิ่งใหญ่” (No Cross, No Crown)  หากยากอบและยอห์นไม่พร้อมแบกกางเขน ก็อย่าหวังเป็นใหญ่ !!
นี่คือมาตรฐานใหม่ของพระเยซูเจ้า !......
และแม้พระองค์จะเป็นผู้วางมาตรฐานใหม่ “แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” (ข้อ 40)
ความหมายของพระองค์คือ “การกำหนดชะตากรรมของมนุษย์ในขั้นสุดท้าย เป็นเอกสิทธิ์ของพระบิดาเจ้าแต่เพียงผู้เดียว” !
พระองค์ไม่เคยก้าวก่ายหรือช่วงชิงบทบาทของพระบิดามาเป็นของพระองค์เองเลย ตลอดทั้งชีวิตของพระองค์คือการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเท่านั้น

แน่นอนว่าปฏิกิริยาของอัครสาวกอีกสิบคนคือรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น (ข้อ 41)
สถานการณ์เริ่มตึงเครียด ข้อโต้เถียงว่าใครจะเป็นใหญ่กว่ากันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง  ความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาอัครสาวกทำท่าจะขาดสะบั้นลง  พระองค์จึงเรียกพวกเขามาพร้อมกับย้ำว่ามาตรฐานในพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นแตกต่างจากมาตรฐานของโลกอย่างสิ้นเชิง
ตามมาตรฐานของโลก “ผู้เป็นใหญ่” วัดกันที่ “อำนาจ”  สิ่งที่พวกเขาสนใจคือ คุณมีประชาชนภายใต้การปกครองกี่คน  คุณมีผู้ใต้บังคับบัญชากี่คน  คุณมีคนรับใช้ที่กวักมือเรียกได้กี่คน  คุณมีคนที่พร้อมทำตามคุณกี่คน  ฯลฯ
แต่มาตรฐานของพระเยซูเจ้าคือ “ผู้เป็นใหญ่” ให้วัดกันที่ “การรับใช้”
ผู้ที่เป็นใหญ่จริงคือผู้ที่สามารถลดตัวเองไปรับใช้ผู้อื่น ไม่ใช่ลดผู้อื่นให้มารับใช้ตัวเอง
คนใหญ่จริงจะไม่ถามว่ามีบริการอะไรบ้าง แต่จะถามว่าตนสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ?!
อย่าคิดว่ามาตรฐานของพระเยซูเจ้าเป็นเพียงอุดมการณ์อันเลื่อนลอย  ทุกวันนี้มีธุรกิจใดบ้างที่ไม่พูดถึง “การรับใช้”
ทุกบริษัทต่างคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้า  ถือเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง  บริษัทใดมีพนักงานที่พร้อมรับใช้และให้บริการผู้อื่น (Serviced Mind) ย่อมได้เปรียบคู่แข่ง
แม้ในบริษัทเดียวกัน เราคงไม่แปลกใจหากเห็นพนักงานตอกบัตรกลับบ้านเวลาห้าโมงเย็น  แต่คนที่เป็นใหญ่ระดับ CEO จะกลับบ้านเหมือนพนักงานทั่วไปได้อย่างไรกัน  เขาจำต้องทำงานหนัก และกลับบ้านดึกกว่าคนอื่นมิใช่หรือ ?
เพราะเขาพร้อม “รับใช้” บริษัทมากกว่าคนอื่นนี่แหละ เขาจึงได้เป็นเบอร์หนึ่งของบริษัท
และที่สำคัญ พระเยซูเจ้าไม่ใช่คนประเภทดีแต่พูด  ตรงกันข้าม พระองค์ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยว่า “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” (ข้อ 45)
“สินไถ่”  เป็นคำสำคัญในพระวรสาร แต่น่าเสียดายที่มีการอธิบายความหมายอย่างไม่ถูกต้องมากที่สุดคำหนึ่ง
ไม่นานหลังจากพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ บรรดาปิตาจารย์และนักปราชญ์ของพระศาสนจักรเริ่มถกเถียงกันว่า พระองค์ทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเป็นสินไถ่ให้แก่ใครและอย่างไร ?
Origen เน้นคำ “สิน” และอธิบายว่าจ่ายให้ปีศาจ
Gregory of Nyssa แย้งว่าจ่ายให้ปีศาจไม่ได้ เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับว่าปีศาจมีอำนาจเทียบเท่าพระเจ้า  พร้อมกันนี้ได้อธิบายการ “ไถ่” ไว้ว่า พระเจ้าทรงใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อปีศาจให้หลงเชื่อว่าพระเยซูเจ้าที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์นั้นอ่อนแอ ปีศาจจึงเข้าโจมตีโดยหวังว่าจะได้ชัยชนะอย่างแน่นอน แต่กลับต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
Gregory the Great อธิบายเรื่องการ “ไถ่” ว่าการรับเอากายเป็นมนุษย์คือแผนจับ Leviathan (ปีศาจ)  พระเยซูเจ้าทรงใช้ธรรมชาติพระเจ้าเป็นเบ็ด และทรงใช้ความเป็นมนุษย์ของพระองค์เป็นเหยื่อ เมื่อหย่อนเบ็ดลงไป เลวีอาธานงับ กลืน และพ่ายแพ้ตลอดนิรันดร
นี่คือตัวอย่างของการอธิบายคำ “สินไถ่” ซึ่งเน้นว่า “จ่ายให้ใคร” และ “ไถ่อย่างไร”
อันที่จริง เมื่อเราพูดว่าราคาค่างวดของประชาธิปไตยเมืองไทยต้อง “จ่าย” ด้วยเลือดเนื้อของบรรดาวีรชนคนตุลาฯ  เราเคยถามไหมว่าเลือดเนื้อของพวกเขานำไป “จ่ายให้ใคร” ?
เช่นเดียวกัน เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อมอบชีวิตของพระองค์เป็น “สินไถ่” สำหรับมวลมนุษย์  เราไม่จำเป็นต้องคิดไปไกลว่าพระองค์ทรง “จ่ายสินไถ่” ให้ใคร
สิ่งสำคัญที่เราต้องระลึกอยู่เสมอคือ “ราคาค่างวดของการทำให้เราหลุดพ้นจากบาปกลับมาสู่ความรักของพระเจ้าต้องจ่ายด้วยชีวิตของพระเยซูเจ้าเอง” และ “ราคาของความรอดของเราคือกางเขนของพระเยซูเจ้า”
มากกว่านี้เราไปไม่ถึง และไม่จำเป็นต้องไป ขอเพียงให้รับรู้และตระหนักว่า “กางเขนของพระเยซูเจ้าได้เปิดหนทางสู่พระเจ้าให้แก่เราทุกคนแล้ว” !!!!