ข่าวดี มาระโก 10:2-16
คำถามเรื่องการหย่าร้าง
(2)ชาวฟาริสีบางคนทูลถามหวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” (3)พระองค์ตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร (4)เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้” (5)พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อหยาบกระด้างของท่าน โมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้ (6)แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง (7)ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา (8)และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน (9)ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (10)เมื่อกลับเข้าไปในบ้านแล้ว บรรดาศิษย์ทูลถามถึงเรื่องนี้อีก (11)พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม (12)และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน”
พระเยซูเจ้าและเด็กเล็ก ๆ
(13)มีผู้นำเด็กเล็ก ๆ มาเฝ้าพระเยซูเจ้าเพื่อทรงสัมผัสอวยพร แต่บรรดาศิษย์กลับดุว่าคนเหล่านั้น (14)เมื่อทรงเห็นเช่นนี้ พระองค์กริ้ว ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้ (15)เราบอกความจริงกับท่านว่า ผู้ใดไม่รับพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างเด็กเล็ก ๆ เขาจะไม่เข้าสู่พระอาณาจักรนั้นเลย” (16)แล้วพระองค์ทรงอุ้มเด็กเหล่านั้นไว้ ทรงปกพระหัตถ์ และประทานพระพร
ในทางทฤษฎี การแต่งงานของชาวยิวถือเป็นการแต่งงานในอุดมคติ พวกเขายึดมั่นใน “ความบริสุทธิ์” ว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุด ถึงกับสอนว่าพระเจ้ายอมอดทนบาปได้ทุกชนิดยกเว้นบาปที่ผิดต่อความบริสุทธิ์
นอกจากนั้น พวกเขายังถูกอบรมสั่งสอนให้พร้อมพลีชีพดีกว่าล่วงประเวณี นับถือพระเท็จเทียม หรือทำฆาตกรรม !
แต่ในทางปฏิบัติ ผู้หญิงมีสถานภาพไม่แตกต่างไปจากสิ่งของหรือสมบัติที่สามีจะทิ้งขว้างเมื่อใดก็ได้ สามีสามารถอ้างเหตุผลได้ร้อยแปดเพื่อหย่าร้างภรรยาของตนไม่ว่านางจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ส่วนภรรยาอาจอ้างเหตุผลได้เพียง 2-3 ประการเท่านั้นเพื่อ “ขอให้สามีหย่า” เช่นสามีเป็นโรคเรื้อน สามีประกอบอาชีพน่ารังเกียจ (เช่นเป็นคนฟอกหนังสัตว์) หรือสามีข่มขืนหญิงบริสุทธิ์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากสามีก่อนทุกครั้ง
โมเสสออกกฎหมายเรื่องการหย่าไว้ว่า “ชายใดแต่งงานกับหญิงคนหนึ่งและมีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว แต่ต่อมาไม่พอใจที่จะอยู่กับนางเพราะพบว่านางมีข้อบกพร่องน่าละอาย เขาจะต้องเขียนหนังสือหย่าให้นาง แล้วให้นางไปจากบ้าน” (ฉธบ 24:1)
ปัญหาโลกแตกคือ “ข้อบกพร่องน่าละอาย” หมายถึงอะไรบ้าง ?
รับบีชัมมัย (Shammai) และศิษย์ตีความแบบเคร่งครัดว่า “ข้อบกพร่องน่าละอาย” หมายถึงการมีชู้เท่านั้น
ส่วนรับบีฮิลเลล (Hillel) และศิษย์ตีความแบบหลวม ๆ ตัวอย่างเช่น ภรรยาปรุงอาหารไม่อร่อย ชอบท่องเที่ยวไปตามท้องถนน ทักทายคนแปลกหน้า พูดร้ายถึงพ่อแม่สามี หรือชอบมีปากเสียงกับสามีจนคนข้างบ้านได้ยิน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ข้อบกพร่องน่าละอาย” ทั้งนั้น
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รับบีอากีบา (Akiba) ศิษย์ของฮิลเลล ดันไปเน้นข้อความที่ว่า “ไม่พอใจที่จะอยู่กับนาง” จึงสอนว่าถ้าสามีพบหญิงอื่นสวยงามกว่าภรรยาของตน เท่านี้ก็สร้างความ “ไม่พอใจ” จนสามารถ “เขียนหนังสือหย่าให้นาง แล้วให้นางไปจากบ้าน” ได้
จะเห็นว่าเหตุผลของอากีบาขึ้นอยู่กับความรู้สึกของสามีล้วน ๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงความผิดของภรรยาแต่ประการใด
แน่นอนว่า คำสอนของฮิลเลลและบรรดาศิษย์ของเขาย่อมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะสอดคล้องกับความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
การหย่าร้างจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมยิว หญิงสาวลังเลที่จะแต่งงานเพราะไม่มั่นใจว่าชีวิตแต่งงานของตนจะมั่นคงหรือไม่ สถาบันครอบครัวตกต่ำสุดขีด
นับเป็นโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงจริง ๆ !
แรกเริ่มหนังสือหย่าเขียนง่าย ๆ แค่มีข้อความว่า “นี่คือหนังสือหย่า เพื่อปลดปล่อยคุณให้เป็นอิสระ จะได้แต่งงานกับชายอื่นที่พึงพอใจได้” เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว ต่อมามีการพัฒนาข้อความในหนังสือหย่าให้ละเอียดซับซ้อนมากขึ้น
ในสมัยของพระเยซูเจ้า หนังสือหย่าต้องให้รับบีเขียน แล้วส่งศาลอันประกอบด้วยรับบี 3 คนเป็นผู้พิสูจน์ ท้ายสุดนำเสนอสภาซันเฮดรินเพื่ออนุมัติ
แม้ดูเหมือนมีหลายขั้นตอน กระนั้นก็ตาม “การหย่า” ถือว่าง่ายมาก และแทบจะเป็นสิทธิ์ผูกขาดของชายเพียงฝ่ายเดียว
พวกฟารีสีบางคนหวังจับผิดพระเยซูเจ้าด้วยการดึงพระองค์เข้ามาในวังวนของปัญหาโลกแตกทั้งในสมัยของพระองค์ และในสมัยของเราทุกวันนี้ด้วย นั่นคือ “สามีจะหย่ากับภรรยาได้หรือไม่?” (ข้อ 2)
ถ้าพระองค์ตอบว่า “ได้” ก็เท่ากับพระองค์กลืนน้ำลายตนเอง เพราะพระองค์เคยตรัสไว้ว่า “มีคำกล่าวว่า ผู้ใดจะหย่ากับภรรยา ก็จงทำหนังสือหย่ามอบให้นาง แต่เรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดที่หย่ากับภรรยา ยกเว้นกรณีมีชู้ ก็เท่ากับว่าทำให้นางล่วงประเวณี และผู้ใดที่แต่งกับหญิงที่ได้หย่าร้าง ก็ล่วงประเวณีด้วย” (มธ. 5:31-32)
แต่ถ้าพระองค์ตอบว่า “ไม่ได้” ก็ต้องเตรียมเผชิญหน้ากับกษัตริย์เฮโรดซึ่งเคยสั่งตรัสศีรษะของยอห์น บัปติสตาเพราะไปทักท้วงเรื่องการแต่งงานใหม่มาแล้ว
และที่สำคัญคือ พระองค์ต้องถูกกล่าวหาว่าสอนขัดแย้งกับกฎหมายของโมเสส ซึ่งมีโทษถึงตายเช่นเดียวกัน
ทางออกของพระองค์คือชี้ให้เห็นว่า โมเสสยอมออกกฎหมายยินยอมให้หย่าร้างกันได้ก็เพราะ “ใจดื้อหยาบกระด้างของท่าน” (ข้อ 5) ซึ่งอาจอธิบายเหตุผลได้ 2 ประการคือ
1. ชาวยิวเป็นฝ่ายเรียกร้องให้โมเสสออกกฎหมายดังกล่าว เพราะพวกเขามีใจดื้อหยาบกระด้าง ชอบประพฤติผิดทางเพศเป็นประจำ
2. เป็นอุบายของโมเสสเองที่ต้องการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เสื่อมทรามมากไปกว่านี้ ด้วยการยินยอมออกกฎหมายอนุญาตให้หย่าร้างได้โดยต้องมีเหตุผลอันสมควร และค่อย ๆ จำกัดวงสาเหตุให้แคบลง จนการหย่าร้างเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในที่สุด
ไม่ว่าโมเสสจะยินยอมด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือพระเยซูเจ้าทรงถือว่าโมเสสตรากฎหมายอนุญาตให้หย่าร้างได้ “ภายใต้สถานการณ์เฉพาะเจาะจง” เท่านั้น หาได้เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ดำรงอยู่ถาวรแต่ประการใดไม่
นอกจากนี้ พระองค์ยังอ้างหนังสือปฐมกาลที่กล่าวไว้ว่า “แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไปแต่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (ปฐก 1:27; 2:24)
นั่นคือ พระองค์ต้องการยืนยันหลักการที่มีมาตั้งแต่สร้างโลกว่า “ธรรมชาติของการแต่งงานคือความมั่นคงถาวรและความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกันชนิดที่ไม่มีกฎหมายใด ๆ แม้แต่ของโมเสสจะสามารถแยกหรือทำลายลงได้”
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมในพระวรสารของมาระโกและลูกา พระเยซูเจ้าทรงห้ามทั้งการหย่าร้างและการแต่งงานใหม่โดยเด็ดขาด ส่วนของมัทธิว ดูเหมือนจะทรงอนุญาตให้หย่าร้างได้หากภรรยามีชู้ ?
คำอธิบายคือ มาระโกและลูกาต้องการตอกย้ำหลักการอันสูงส่งของการแต่งงาน ซึ่งได้แก่การผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกันตามรูปแบบของอาดัมและเอวา
ส่วนมัทธิวเพิ่มข้อยกเว้น “กรณีมีชู้” เข้ามาเพื่อชี้ให้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่งว่า “ความไม่ซื่อสัตย์ทำให้ความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกันอันเกิดจากการแต่งงานสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ เพราะ การมีชู้ได้ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวไปแล้ว การหย่าร้างเป็นเพียงการยื่นยันข้อเท็จจริงประการนี้เท่านั้น”
พูดง่าย ๆ คือ ไม่ว่าจะอนุญาตให้หย่าหรือไม่ก็ตาม การมีชู้ได้ทำลายชีวิตสมรสให้แตกสลายไปแล้ว !!!
แก่นแท้ของคำสอนที่พระเยซูเจ้าต้องการบอกเราทุกคนคือ “การเสื่อมศีลธรรมทางเพศจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา”
และใครก็ตามที่คิดแต่งงานเพียงเพราะหวังความสุขทางเพศ จำเป็นต้องคิดใหม่ นั่นคือต้อง “คิดถึงความรับผิดชอบและความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งทางกายและทางใจ” ด้วย
“พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้” (ข้อ 14)
เป็นธรรมเนียมของพ่อแม่ชาวยิวที่จะนำเด็กมาให้รับบีผู้มีชื่อเสียงอวยพรเนื่องในโอกาสครอบรอบวันเกิด 1 ขวบ
แต่สถานการณ์ในขณะนั้นคือ พระเยซูเจ้ากำลังมุ่งหน้าลงใต้สู่แคว้นยูเดีย โดยมีการทรมานและความตายบนไม้กางเขนรอคอยพระองค์อยู่เบื้องหน้า
แน่นอนว่าพระองค์ทรงเครียดและเต็มไปด้วยความกดดัน พวกอัครสาวกเองก็ทราบดีและพยายามปกป้องพระองค์จากสิ่งกวนใจต่าง ๆ นานา จนถึงขั้นต้องดุพ่อแม่เด็กในครั้งนี้
แต่พระองค์กลับตรัสว่า “ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย” (ข้อ 14) แล้วทรงอุ้มและอวยพรเด็กเหล่านั้น
ช่างเป็นภาพและเสียงที่น่าประทับใจสักเพียงใด !!!
เด็กเล็ก ๆ มีคุณลักษณะอะไรหรือ พระเยซูเจ้าจึงรักและให้ความสำคัญมากถึงกับตรัสว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้” ?
1. เด็กมีความสุภาพ จริงอยู่มีเด็กบางคนชอบแสดงออก แต่ก็มีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นเพราะการอบรมหรือได้เห็นแบบอย่างผิด ๆ จากผู้ใหญ่
โดยทั่วไปเด็กไม่ชอบออกงาน ไม่ชอบเด่น ไม่ชอบออกหน้า แต่ชอบหลบอยู่หลังผู้ใหญ่ นั่นเป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้จักความหยิ่งจองหอง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
และที่สำคัญคือ พวกเขายังไม่รู้จักค้นพบ “ความสำคัญของตนเอง” !
2. เด็กมีความนบนอบ ภายนอก เด็กอาจดูเหมือนซุกซน ดื้อดึง แต่จริง ๆ แล้วสัญชาติญาณของเด็กคือความนบนอบ เหตุผลคือเด็กยังไม่รู้จักหยิ่งจองหองจนไม่ยอมขึ้นกับผู้อื่นแบบไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งรังแต่จะทำให้ตัวเองแยกจากพ่อแม่ เพื่อน ๆ หรือแม้แต่พระเจ้า
3. เด็กมีความวางใจ เห็นได้จาก
3.1 เด็กยอมรับผู้ที่เหนือกว่า เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าตนด้อยปัญญา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จึงยอมรับและวางใจผู้ที่รู้มากกว่า มีความสามารถมากกว่า ดังเช่นพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ เป็นต้น
3.2 เด็กไว้ใจคนอื่นแม้แต่คนแปลกหน้า ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การล่อลวงและอาจถึงขั้นเป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง
กระนั้นก็ตาม ความวางใจของเด็กยังเป็นสิ่งที่น่ารักและไม่ควรมีผู้ใดฉกฉวยโอกาสจากความน่ารักนี้.... เพราะเด็ก “เชื่อในความดีของคนอื่นเสมอ” !
4. เด็กไม่จดจำความผิด เพราะเด็กไม่รู้จักสะสมความขมขื่นและความเคียดแค้น แม้เมื่อเด็กได้รับการปฏิบัติอย่างอยุติธรรม เขาก็ลืม...
ลืมจนไม่คิดว่าต้องให้อภัย !
พระอาณาจักรของพระเจ้าจึงเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้ !!!