แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 9:38-43; 45; 47-48
(38)ยอห์นทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า เราได้เห็นคนคนหนึ่งขับไล่ปีศาจเดชะพระนามของพระองค์ เราจึงพยายามห้ามปรามไว้ เพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา” (39) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อย่าห้ามเขาเลย ไม่มีใครทำอัศจรรย์ในนามของเรา แล้วต่อมาจะว่าร้ายเราได้ (40) ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา”
(41)”ผู้ใดให้น้ำท่านดื่มเพียงแก้วหนึ่งเพราะท่านเป็นคนของพระคริสตเจ้า เราบอกความจริงกับท่านว่า เขาจะได้บำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน” (42)”ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดา ๆ ที่มีความเชื่อเหล่านี้ทำบาป ถ้าเขาจะถูกผูกคอด้วยหินโม่ถ่วงในทะเลก็ยังดีกว่ากระทำดังกล่าว
(43) ถ้ามือข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ท่านจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยมีมือข้างเดียว ยังดีกว่ามีมือทั้งสองข้างแต่ต้องตกนรกในไฟที่ไม่รู้ดับ  (44)(45)ถ้าเท้าข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงตัดมันทิ้งเสีย ท่านจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดรโดยมีเท้าพิการ ยังดีกว่ามีเท้าทั้งสองข้างแต่ถูกโยนลงนรก  (46)(47)ถ้าตาข้างหนึ่งของท่านเป็นเหตุให้ท่านทำบาป จงควักมันออกเสีย ท่านจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า โดยมีตาข้างเดียว ยังดีกว่ามีตาทั้งสองข้างแต่ต้องถูกโยนลงนรก  (48)ที่นั่นหนอนไม่รู้ตาย ไฟไม่รู้ดับ

****************************

ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ประชาชนเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ  พวกเขาเชื่อว่าความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตล้วนเป็นผลมาจากอำนาจอันร้ายกาจของจิตชั่วเหล่านี้
วิธีขับไล่ปีศาจที่นิยมกันมากวิธีหนึ่งคือการอ้าง “นาม” ของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าปีศาจตนนั้น  เมื่อปีศาจได้ยิน “นาม” ของผู้ที่เหนือกว่าก็จะสิ้นฤทธิ์ หมดทางสู้ และยอมออกจากบุคคลที่ตนสิงสู่อยู่
บังเอิญยอห์นไปพบชายคนหนึ่งกำลังขับไล่ปีศาจอาศัยพระนามอันทรงฤทธิ์ของพระเยซูเจ้า ยอห์นจึงห้ามปรามเพราะเห็นว่าเขาไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน แล้วมาทูลรายงานพระองค์
แต่พระองค์กลับตรัสตอบว่า “อย่าห้ามเขาเลย ไม่มีใครทำอัศจรรย์ในนามของเรา แล้วต่อมาจะว่าร้ายเราได้” (ข้อ 39)
พร้อมกับให้หลักการอันยิ่งใหญ่แก่เราอีกประการหนึ่งคือ “ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” (ข้อ 40)

พูดง่าย ๆ คือพระองค์ทรงสอนให้เรา “ใจกว้าง” ต่อคนต่างพวก ต่างกลุ่ม ต่างความเชื่อ ต่างความคิด ต่างความเห็น ตราบเท่าที่ไม่มีการต่อต้านซึ่งกันและกัน
ผลที่ตามมาจากหลักการเรื่องความ “ใจกว้าง” ที่เราทุกคนควรเรียนรู้คือ
1.    ทุกคนมีสิทธิที่จะ “คิด”  เพื่อแสวงหาข้อสรุปและความเชื่อด้วยตัวของเขาเอง  เราต้องเคารพสิทธิของเขา และต้องไม่ด่วนประณามคนที่คิดหรือเชื่อต่างจากเรา
เหตุผลประการแรกคือ พระเจ้าทรงมี “หลากหลายวิธี” ที่จะนำมนุษย์ผู้เป็นสิ่งสร้างของพระองค์กลับไปหาพระองค์
อย่าลืมว่าโลกของเรากลม ไม่ว่าเราจะเดินทางไปทางตะวันออกหรือทางตะวันตกก็สามารถบรรลุจุดหมายปลายทางเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโรม ปารีส ลอนดอน หรือนิวยอร์กก็ตาม
เช่นเดียวกัน หนทางสู่พระเจ้าย่อมมีหลากหลาย ขอเพียงเราเดินทางให้ยาวพอ และให้ไกลพอก็สามารถบรรลุถึงพระองค์ได้
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้เราต้องเคารพสิทธิในการคิดของผู้อื่นก็คือ “ความจริง” นั้นมีจำนวนมากมายและมีขนาดใหญ่เกินกำลังคนหนึ่งคนใดจะเข้าใจหรือยึดเหนี่ยวไว้ได้ทั้งหมด  เรารู้และเข้าใจความจริงได้เพียง “เสี้ยว” เดียวเท่านั้น  คนอื่นก็รู้และเข้าใจได้อีก “เสี้ยว” หนึ่งของความจริง ซึ่งอาจเป็น “เสี้ยว” เดียวกันหรือคนละ “เสี้ยว” กับเราก็ได้
คนที่มีจิตใจคับแคบไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นจึงเป็นคนที่ “หยิ่งจองหองและโง่เขลา” อย่างสุด ๆ เพราะเขาหลงผิดคิดว่าไม่มีความจริงอื่นใดอีกแล้วนอกเหนือจากที่เขารู้และเห็น  โลกแห่งความจริงของเขาจึงเล็กกว่าหัวกะโหลกของเขาเองเสียอีก
2.    ทุกคนมีสิทธิที่จะ “พูด”  นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตย  ตราบใดที่คำพูดหรือคำสอนของคนหนึ่งคนใดก็ตาม ไม่เป็นอันตรายต่อระบบศีลธรรมและความเจริญงอกงามของสังคม สิทธิในการพูดของผู้นั้นจำเป็นต้องได้รับการเคารพและปกป้องไว้เสมอ
วอลแตร์ (Voltaire) ได้กล่าวปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการพูดไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ชอบสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าพร้อมตายเพื่อปกป้องสิทธิในการพูดของท่าน”
3.    “ผลงาน” คือข้อพิสูจน์  สิ่งที่คนหนึ่งคิดหรือสอนตามสิทธิของตนนั้นจะมีคุณค่าหรือไม่เพียงใดให้วัดกันที่ “ผลงาน”  ไม่ใช่ดูกันที่วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ งบประมาณ ฯลฯ
ชาวตะวันออกมีนิทานเก่าแก่เรื่องหนึ่งเล่าว่า ชายผู้หนึ่งมีแหวนวิเศษหนึ่งวง  ใครก็ตามที่สวมใส่แหวนวงนี้จะมีนิสัยอ่อนโยน จริงใจ และเป็นที่รักใคร่ของทุกคนที่พบเห็น  แหวนวงนี้ตกทอดสู่ลูกหลานเรื่อยมาจนกระทั่งถึงบิดาคนหนึ่ง เขามีบุตร 3 คนที่เขารักเท่าเทียมกันหมด  เมื่อใกล้ตายเขาสั่งทำแหวนเพิ่มอีก 2 วงให้เหมือนแหวนวิเศษทุกกระเบียดนิ้วจนไม่มีใครสามารถแยกแยะได้ว่าวงไหนเป็นของแท้  ก่อนสิ้นใจเขาเรียกบุตรเข้ามาทีละคน สั่งเสียให้ประพฤติตนดี มีความรักโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น แล้วมอบแหวนให้โดยมิได้บอกบุตรคนอื่น ๆ
ต่อมา บุตรทั้งสามค้นพบว่าทุกคนต่างมีแหวนเหมือนกัน  จึงถกเถียงกันว่าวงไหนเป็นของวิเศษแท้ แต่ก็หาข้อยุติไม่ได้  พวกเขาจึงพากันไปหาผู้พิพากษาให้ช่วยชี้ขาด
หลังจากตรวจสอบแหวนทั้งสามวงแล้ว ผู้พิพากษาเอ่ยขึ้นว่า “ฉันตัดสินไม่ได้หรอกว่าแหวนวงไหนเป็นแหวนวิเศษ มีแต่ท่านทั้งสามคนนั่นแหละที่สามารถพิสูจน์ได้”
บุตรทั้งสามกล่าวว่า “พวกเราน่ะหรือ ?”
ผู้พิพากษาย้ำว่า “ใช่ ถ้าแหวนวิเศษทำให้คนใส่อ่อนโยน น่ารัก  ฉันและชาวเมืองนี้จะคอยดูว่าใครเป็นเจ้าของแหวนวิเศษ  คนที่ดำเนินชีวิตด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซื่อตรง กล้าหาญ และยุติธรรม คนนั้นแหละเป็นเจ้าของแหวนวิเศษ”
จะเห็นว่า “ชีวิตที่เป็นผลงานของความคิดและคำสอน” คือข้อพิสูจน์ว่าสิทธิในการคิดหรือในการพูดของเราเป็นของแท้หรือเป็นของเทียม ?!
4.    เกลียด “คน” ไม่ได้  หากถึงที่สุดแล้ว เราเห็นว่าความคิดหรือความเชื่อของคนอื่นเป็นของเทียม ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อชีวิตและสังคม  เราอาจ “เกลียดความคิด” หรือ “เกลียดความเชื่อ” ของเขาได้ แต่เราจะ “เกลียดคน” คนนั้นไม่ได้เด็ดขาด !

นอกจาก “ใจกว้าง” ในเรื่องความคิดและความเชื่อแล้ว พระเยซูเจ้ายังสอนให้เรา “ใจกว้าง” ในการช่วยเหลือคนของพระองค์อีกด้วย
พระองค์ตรัสว่า “ผู้ใดให้น้ำท่านดื่มเพียงแก้วหนึ่งเพราะท่านเป็นคนของพระคริสตเจ้า เราบอกความจริงกับท่านว่า เขาจะได้บำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน” (ข้อ 41)
เหตุผลของพระองค์คือ ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือแม้จะเป็นน้ำดื่มเพียงแก้วเดียว ล้วนเป็น “คนของพระคริสตเจ้า”
นั่นคือ ทุกคนที่ขัดสนย่อมมีสิทธิเรียกร้องความช่วยเหลือจากเรา เพราะเขาเป็นคนของพระคริสตเจ้า !
ที่สำคัญความช่วยเหลือที่พระองค์ทรงเรียกร้อง มิใช่เป็นเรื่องใหญ่โตหรือมีมูลค่าสูงส่งแต่ประการใด เพียงแค่น้ำดื่มสักแก้ว รอยยิ้มสักนิด การให้ที่นั่งแก่เด็กและผู้สูงอายุ หรือช่วยคนข้ามถนน เท่านี้ก็ถือว่า “ใจกว้าง” ควรค่าแก่บำเหน็จรางวัลของพระองค์แล้ว
มิชชันนารี่คนหนึ่งเล่าว่า เธอได้สอนเด็กประถมชาวอัฟริกันให้รู้จักให้น้ำเย็นแก่ผู้อื่นในนามของพระเยซูเจ้า  วันหนึ่งขณะที่เธอนั่งอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้านมองไปที่ลานกลางหมู่บ้าน มีคนแบกของกลุ่มหนึ่งเดินมานั่งพักด้วยความเหน็ดเหนื่อยและกระหาย แต่ไม่มีผู้ใดนำน้ำมาให้พวกเขาดื่มเพราะปกติชนพื้นเมืองต่างเผ่าที่ไม่ได้เป็นคริสตชนจะไม่มีความสัมพันธ์และไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ทันใดนั้นเด็กหญิงเล็ก ๆ ที่เธอสอนพากันชักแถวเดินมาหากลุ่มคนแบกของต่างเผ่าโดยมีเหยือกน้ำอยู่บนศีรษะ แล้วคุกเข่าลงแบบกล้า ๆ กลัว ๆ พร้อมกับยื่นเหยือกน้ำให้พวกเขาดื่ม  พวกคนแบกของรับน้ำมาดื่มด้วยความแปลกใจสุด ๆ แล้วคืนเหยือกน้ำให้แก่เด็ก ๆ  ซึ่งรีบลุกขึ้นแล้ววิ่งมาหามิชชันนารี่พร้อมกับรายงานว่า “เราได้ให้น้ำแก่ผู้หิวกระหายในนามของพระเยซูเจ้าแล้ว”
เห็นไหมว่า แค่น้ำดื่มเพียงเล็กน้อยที่เด็กมอบให้ตามตัวอักษรที่ครูสอน ไม่ใช่ให้ด้วยไมตรีจิต  ยังสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ไม่เคยรู้จักพระเยซูเจ้าได้มากสักเพียงใด ?
แต่ตรงกันข้าม “ใคร ๆ ที่เป็นมูลเหตุให้เด็กคนหนึ่งในพวกนี้ที่เชื่อในเราตกในบาป ถ้าได้เอาหินโม่ใหญ่ผูกคอเขา เอาไปทิ้งทะเลเสียก็ยังดีกว่า” (ข้อ 42)
ในปาเลสไตน์ มีหินโม่ 2 ขนาด  ขนาดเล็กใช้ในบ้าน ผู้หญิงคนเดียวก็ใช้มือหมุนได้  อีกขนาดหนึ่งใหญ่กว่ามาก ต้องวางไว้ที่ลานนอกบ้านและต้องใช้ลาลากจึงจะหมุนได้
โม่ที่พระเยซูเจ้ากล่าวถึงเป็นโม่ที่ใช้ลาลาก  ผู้ใดถูกหินโม่ขนาดนี้ผูกคอทิ้งทะเลย่อมหมดโอกาสหวนกลับมาจากใต้ท้องทะเลอย่างแน่นอน
เหตุที่พระองค์ทรงคาดโทษรุนแรงเช่นนี้เป็นเพราะว่า ลำพังการทำบาปก็ถือว่าร้ายแรงสุด ๆ แล้ว แต่การสอนผู้อื่นให้ทำบาปนั้นร้ายแรงกว่ามากเพราะจะเกิดการสอนต่อ ๆ กันไปไม่รู้จักสิ้นสุด ผลเสียที่เกิดขึ้นจึงมากเกินกว่าจะประมาณการได้
มีเรื่องเล่าอีกว่า เด็กหญิงเล็ก ๆ กำพร้าแม่คนหนึ่งต้องอยู่บ้านตามลำพัง เมื่อบิดากลับจากทำงาน เธอจะชวนบิดาเล่นเป็นเพื่อนทุกเย็น แต่บิดากลับนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ สูบบุหรี่ แล้วไล่เธอออกไปเล่นในถนนจนเธอกลายเป็น “เด็กข้างถนน” ไปในที่สุด  ต่อมาเด็กหญิงคนนี้ตาย  เมื่อวิญญาณของเธอมาถึงสวรรค์ เปโตรทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ เด็กคนนี้มีแต่ความชั่วช้า ส่งเธอลงนรกไปเถอะ”  แต่พระองค์ตรัสด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “อย่า.. ให้เธอเข้ามา ให้เธอเข้ามา” พลันสายพระเนตรของพระองค์เปลี่ยนเป็นเกรี้ยวกราดตวาดว่า “แต่จงตามหาไอ้คนที่ไม่ยอมเล่นกับเธอแล้วส่งเธอไปเป็นเด็กข้างถนน  ส่งไอ้คนนั้นแหละไปนรก”
จึงต้องฟันธงสรุปว่า ผู้ใดสอน ชักนำ ล่อลวง หรือเป็นเหตุให้ผู้อ่อนแอเหมือนเด็กเล็ก ๆ ตกในบาป  ชะตากรรมของผู้นั้นหมดหวังจริง ๆ !

“ท่านจะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้ามีมือ เท้า ตาข้างเดียว ยังดีกว่าตกลงไปในไฟนรกกับมือ เท้า และตาทั้งสองข้าง” (ข้อ 43-47)
นี่เป็นสำนวนพูดของชาวตะวันออกเพื่อให้ผู้ฟังเห็นจริงเห็นจังว่า “มีเป้าหมายหนึ่งในชีวิตที่ควรค่าแก่การสละทุกสิ่งเพื่อให้ได้มา”
เรายอมผ่าตัดอวัยวะบางส่วนทิ้งไปเพื่อรักษาชีวิตฝ่ายกายไว้ฉันใด  เพื่อรักษาชีวิตฝ่ายวิญญาณที่คงอยู่ตลอดไปเรายิ่งต้องพร้อมสละทุกสิ่งฉันนั้น
พระวรสารตอนนี้กล่าวถึง “นรก” หลายครั้ง  “นรก” มาจากคำ Gehenna ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกันกับคำ Hinnom (ฮินโนม)
ฮินโนมเป็นหุบเขาลึกนอกกรุงเยรูซาเล็ม  เป็นสถานที่ซึ่งกษัตริย์อาหัสเคยใช้เป็นที่ตั้งแท่นบูชาไฟและเผาโอรสของพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา (2 พศด 28:3)  กษัตริย์มนัสเสห์ได้เจริญรอยตามอาหัส (2 พศด 33:6)  “ฮินโนม” หรือ “เกเฮนนา” จึงเป็นศูนย์กลางของการนับถือพระเท็จเทียมที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในอิสราเอล
ต่อมาในยุคของการปฏิรูปศาสนา กษัตริย์โยสิยาห์ได้ทำลายพระแท่นและห้ามประชาชนเผาบุตรชายหญิงของตนเป็นเครื่องบูชาอีกต่อไป (2 พกษ 23:10)
หลังจากนั้น ชาวยิวใช้หุบเขาฮินโนมเป็นที่เผาขยะของกรุงเยรูซาเล็ม   ฮินโนมจึงกลายเป็นสถานที่สกปรก เหม็น เต็มไปด้วยหนอน มีไฟและควันคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
ที่สุด “ฮินโนม” กลายเป็น “นรก” สถานที่สำหรับทรมานและทำลายวิญญาณของคนชั่ว
นี่คือชะตากรรมและจุดจบของผู้ที่ไม่ยอมเสียสละเพื่อเป้าหมายที่ดีที่สุดในชีวิต !
ปัญหาคือ “เป้าหมายที่ดีที่สุดในชีวิตที่ควรค่าแก่การเสียสละทุกสิ่งคืออะไร” ???
พระเยซูเจ้าทรงตรัสถึง “ชีวิตนิรันดร” 2 ครั้ง (ข้อ 43 และ 45) และ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” อีก 1 ครั้ง (ข้อ 47)
ที่ผ่านมาพระองค์ทรงตรัสถึง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ทั้งในแง่ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ดังตัวอย่างเช่น
อดีต – “ท่านทั้งหลายจะร่ำไห้คร่ำครวญและขบฟันด้วยความขุ่นเคืองเมื่อแลเห็นอับราฮัม อิสอัคและยาโคบ กับบรรดาประกาศกในพระอาณาจักรของพระเจ้า” (ลก 13:28)
ปัจจุบัน – “ไม่มีใครจะพูดว่า “พระอาณาจักรอยู่ที่นี่ หรืออยู่ที่นั่น” เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ในหมู่ท่านทั้งหลายแล้ว” (ลก 17:21)
อนาคต – “พระอาณาจักรจงมาถึง” (มธ 6:10)
เป็นไปได้อย่างไรที่พระอาณาจักรของพระเจ้าเกิดขึ้นแล้วในอดีต (ก่อนพระเยซูเจ้า) ดำรงอยู่ในปัจจุบัน (สมัยพระเยซูเจ้า) และจะมาถึงในอนาคต ?
กุญแจสำหรับไขปัญหานี้อยู่ที่ลีลาการเขียนในภาษาฮีบรูที่เรียกว่า Parallelism  กล่าวคือ ชาวฮีบรูนิยมพูดสิ่งเดียวกันซ้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งที่สองอาจเป็นเพียงการซ้ำท่อนแรก หรืออาจเป็นการขยายความเพิ่มเติมให้กับท่อนแรกก็ได้  แทบทุกข้อในหนังสือเพลงสดุดีล้วนใช้ลีลาการเขียนแบบนี้
หากเราจับเอาคำวอนขอ 2 ประการในบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ที่พระองค์ทรงสอนไว้ มาเรียงขนานกันดังนี้
ท่อนแรก    “พระอาณาจักรจงมาถึง”
ท่อนที่สอง    “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”
เราอาจให้คำนิยามของพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ว่าเป็น “สังคมบนโลกนี้ที่พระประสงค์ของพระเจ้าได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์เหมือนในสวรรค์”
เพราะ อับราฮัม อิสอัคและยาโคบ รวมถึงบรรดาประกาศก ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านจึงเป็นสมาชิกของพระอาณาจักรสวรรค์ตั้งแต่ก่อนพระเยซูเจ้าเสด็จมาไถ่บาป
ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตามพระประสงค์อย่างสมบูรณ์ก็อยู่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่เนื่องจากโลกนี้ยังอยู่ห่างไกลจากการปฏิบัติตามพระประสงค์อย่างสมบูรณ์ เราจึงยังต้องวอนขอให้พระอาณาจักรมาถึงในอนาคตด้วย
ในเมื่อการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้เราเป็นสมาชิกของอาณาจักรสวรรค์ และทำให้เรามี “ชีวิตนิรันดร” อย่างแท้จริง  เราจึงสรุปได้ว่า “เป็นการคู่ควรอย่างยิ่งที่จะเสียสละทุกสิ่งและที่จะปฏิเสธตนเอง เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า”
เพราะการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่แท้ก็คือ การคิดแบบพระเจ้า การปรารถนาแบบพระเจ้า และการทำแบบพระเจ้า !!!
ทำได้อย่างนี้สิ ชีวิตจึงจะมีคุณค่า มีความสุข และมีสันติอย่างแท้จริง....