แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

chaiya1

อาทิตย์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา


ข่าวดี    มาระโก 6:7-13
พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคน
พระองค์เสด็จไปทรงสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณนั้น  (7)ทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาพบ และทรงเริ่มส่งเขาเป็นคู่ ๆ ประทานอำนาจเหนือปีศาจ  (8)ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วย นอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม  ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้  (9)ให้สวมรองเท้าได้ แต่ไม่ให้เอาเสื้อสำรองไปด้วย  (10)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป  (11)ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา”  (12)บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ (13)ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย

********************************

หลังจากชาวเมืองนาซาเร็ธปฏิเสธไม่ยอมรับพระเยซูเจ้า เพราะต่างรู้จักวงศาคณาญาติของพระองค์เป็นอย่างดี  พระองค์จึงเสด็จไปสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และทรงเริ่มส่งอัครสาวกทั้งสิบสองคนออกไปเทศน์สอนเป็นคู่ ๆ พร้อมกับกำชับพวกเขามิให้นำสิ่งใดติดตัวไปด้วย โดยทรงลงในรายละเอียดแม้กระทั่งเรื่องการแต่งกายของพวกเขา
เครื่องแต่งกายของชาวยิวในสมัยนั้นมี 5 ชิ้นด้วยกันคือ เสื้อยาว เสื้อคลุม ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะ และรองเท้า
“เสื้อยาว” คือเครื่องแต่งกายชั้นในสุดที่สัมผัสกับผิวหนัง ทำให้เปรอะเปื้อนคราบเหงื่อไคลได้ง่าย ชาวยิวจึงต้องมีเสื้อยาวอย่างน้อยคนละ 2 ตัวขึ้นไปเพื่อใช้สับเปลี่ยน  การตัดเย็บเสื้อยาวเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพียงใช้ผ้ายาวพับครึ่งแล้วเย็บด้านข้างทั้งสองให้ติดกันจนมีลักษณะเหมือนถุงกระสอบ ยาวจากไหล่จนจรดเท้า และมักวางขายในสภาพถุงไม่มีรูเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเป็นสินค้าใหม่  เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายจึงจะเจาะรูบริเวณที่เป็นมุมทั้งสองของก้นกระสอบสำหรับให้แขนรอดออกมา  และอีกรูหนึ่งตรงกลางก้นกระสอบสำหรับศีรษะ  เสื้อยาวสามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง เพียงแต่ของผู้หญิงมักคว้านคอลึกกว่าเพื่อความสะดวกในการให้นมบุตร

เสื้อยาวที่แสนจะเรียบง่ายนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงกำชับห้ามนำสำรองติดไป 2 ตัว !
ส่วน “ผ้าคาดเอว” นั้นทำหน้าที่เหมือนเข็มขัด  เพื่อความคล่องตัวเวลาทำงานหรือวิ่งสามารถดึงเสื้อยาวรวมทั้งเสื้อคลุมให้เลื่อนขึ้นมาม้วนไว้เหนือผ้าคาดเอวได้  ปลายของผ้าคาดเอวทั้งสองข้างจะยาวจากจุดที่เป็นเงื่อนปมเหมือนหัวเข็มขัดออกไปอีกข้างละประมาณฟุตครึ่ง และมักทำเป็น 2 ชั้นเพื่อใช้เป็นกระเป๋าใส่เงินที่เรียกว่า “ไถ้”
แม้จะยอมให้ใช้ผ้าคาดเอวได้ แต่ส่วนที่เป็น “ไถ้” หรือกระเป่าใส่เงิน พระองค์ห้ามใส่แม้แต่ chalkon (คาลคอน) ซึ่งเป็นเหรียญทองแดงที่มีค่าต่ำสุด !
อีกสิ่งหนึ่งที่ทรงห้ามโดยไม่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายคือ “ย่าม”
“ย่าม” ตรงกับภาษากรีก pera (เปรา) ซึ่งมีหมายความ 2 สิ่ง
สิ่งแรกหมายถึง ถุงย่ามทำด้วยหนังแพะ มีสายสะพายไหล่ เหมาะสำหรับนักเดินทาง คนเลี้ยงแกะ และผู้จาริกแสวงบุญใช้ใส่ขนมปัง องุ่นแห้ง มะกอก และเนยแข็งเพียงพอสำหรับรับประทานได้วันหรือสองวัน
สิ่งที่สอง หมายถึงถุงใส่เงินบริจาคที่พระสงฆ์และผู้ศรัทธาเทพเจ้าทั้งหลายใช้ใส่เงินที่ได้จากการออกเรี่ยไรตามหมู่บ้านต่าง ๆ กลับมาถวายแด่เทพเจ้าและวิหารของตน  นักโบราณคดีพบจารึกระบุว่า มีชาวซีเรียคนหนึ่งนำเงินบริจาคกลับมาถวายเทพีของเขาเที่ยวละ 70 ถุง (เปรา) เต็ม
ถ้าเรายึดเอาสิ่งแรก ย่อมหมายความว่าบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องไม่นำเสบียงติดตัวไประหว่างเดินทาง  พวกเขาต้องวางใจพระเจ้าในทุกสิ่ง
ถ้าเรายึดเอาสิ่งที่สอง ก็แปลว่า พวกศิษย์ต้องไม่โลภเพราะ พวกเขาถูกส่งไปเพื่อ “ให้” ไม่ใช่ “เอา” !
เราจะเห็นได้ว่า เครื่องหมายที่ชัดเจนของการเป็นศิษย์พระเยซูเจ้าคือ ความเรียบง่ายอย่างที่สุด  ความวางใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม  และความใจกว้างที่มีแต่คำว่า “ให้” โดยไม่มีการเรียกร้อง !!!

การต้อนรับผู้มาเยือนถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์  เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน เขาไม่ต้องออกแรงแสวงหาที่พัก แต่เป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่จะต้อนรับเขา
นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงตรัสสั่งพวกศิษย์ว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป” (ข้อ 10)
แต่ในเวลาเดียวกัน พวกรับบีก็มีกฎอยู่ว่า “ฝุ่นจากดินแดนต่างชาติทำให้มีมลทิน ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างแดนจะต้องสลัดฝุ่นที่ติดตัวมาทิ้งให้หมดก่อนเข้าสู่แผ่นดินปาเลสไตน์”
กฎข้อนี้บ่งบอกว่าชาวยิวปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดที่จะคบหาสมาคมกับคนต่างชาติ หรือแม้แต่จะยุ่งเกี่ยวกับฝุ่นดินจากดินแดนของคนต่างศาสนา
เมื่อพระองค์ตรัสสั่งว่า “ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา” (ข้อ 11) จึงเท่ากับพระองค์ต้องการสั่งว่า “ถ้าเขาไม่ฟังท่าน ให้เดินตามกฎอันเคร่งครัดของชาวยิว นั่นคือถือว่าบ้านนั้นเป็นของคนต่างศาสนา”
พูดอีกอย่างคือ ต้องไม่มีการประนีประนอมกับผู้ไม่มีความเชื่อเด็ดขาด !
หรือให้ทันสมัยขึ้นมาอีกนิดคือ ต้องไม่อะลุ้มอล่วยหรือยอมไหลไปตามกระแสของโลกเป็นอันขาด !

“บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (ข้อ 12-13)
นี่คือข้อความที่สรุปงานของผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าได้กระชับที่สุด กล่าวคือ
1.    เทศน์สอน ตรงกับภาษากรีก kerussō (เครุสโซ) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรคือ “การประกาศของผู้นำสาสน์”
ในอดีต พระมหากษัตริย์หรือบรรดาเจ้านายชั้นสูงจะมี “ผู้นำสาสน์” คอยทำหน้าที่ “นำสาสน์” ไปป่าวประกาศแก่ประชาชน
ขอย้ำว่า “ผู้นำสาสน์” มีหน้าที่ “นำสาสน์” ไม่ใช่ “คิดค้นสาสน์” ขึ้นมาเองแล้วไปแอบอ้างประกาศในนามของพระมหากษัตริย์
ศิษย์ของพระเยซูเจ้าทุกคนมีหน้าที่เทศน์สอน  แต่การ “เทศน์สอน” ต้องเป็นการ “นำสาสน์ของพระเจ้า” ซึ่งเป็นสุดยอดของ “ข่าวดี” ไปประกาศแก่ประชาชน  ไม่ใช่นำความคิดเห็นหรือสิ่งที่ตนเองคาดคิดว่าน่าจะเป็น ไปป่าวประกาศแก่ผู้อื่น
และเพื่อจะประกาศข่าวดีแก่ผู้อื่นอย่างได้ผล เรา “จำเป็น” ต้องได้รับข่าวดีจากพระเจ้าเสียก่อน !
2.    ทำให้กลับใจ เพราะเป้าหมายของ “ข่าวดี” หรือ “สาสน์ของพระเจ้า” คือทำให้ทุกคน “กลับใจ”
“กลับใจ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่เรียนคำสอน และรับศีลล้างบาป !
แต่ “การกลับใจ” ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการซึ่งจะขาดเสียมิได้ นั่นคือ
2.1    การเปลี่ยนความคิดและจิตใจ
2.2    การเปลี่ยนความประพฤติและการกระทำให้สอดคล้องกับความคิดและจิตใจที่เปลี่ยนไป
ในนวนิยายเรื่อง Quo Vadis (โคว วาดีส) ?  หนุ่มโรมันคนหนึ่งนามว่า Vinicius (วีนีชีอุส) ได้ตกหลุมรักหญิงสาวคริสตชนนางหนึ่ง แต่เธอไม่ยอมข้องเกี่ยวกับเขาจนกว่าเขาจะกลับใจเป็นคริสตชนเสียก่อน  วันหนึ่งเขาตามเธอไปร่วมศาสนพิธีที่แอบทำกันอย่างลับ ๆ  ขณะที่ฟังเปโตรเทศน์สอน เขาเกิดความปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามคำสอนที่ได้รับฟัง และนำความคิด นิสัยใจคอ และธรรมชาติเดิม ๆ ของเขาไปเผาไฟทิ้งให้หมด  แล้วเติมชีวิตของเขาให้เต็มด้วยชีวิตและจิตใจใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
นี่สิ จึงจะเรียกว่า “กลับใจจริง” !
การกลับใจจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกเสียใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการ “ปฏิรูป” ชีวิตใหม่โดยแท้ !
บางคนคิดว่าการกลับใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกโจร พวกหัวขโมย พวกฆาตกร คนมีชู้ หรือคนบาปเปิดเผยเท่านั้น
แต่ไม่ใช่เลย การกลับใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคน !
เราสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว  ชอบเรียกร้อง  ไม่เกรงใจผู้อื่น  เอาแต่ใจตัวเอง ฯลฯ ไปเป็นชีวิตที่มี “พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง”
การประกาศข่าวดีโดยที่ยังไม่เกิดการกลับใจ จึงต้องถือว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง !
3.    เมตตากิจ  บรรดาอัครสาวกไม่ได้เพียงเรียกร้องให้ประชาชน “กลับใจ” เท่านั้น แต่พวกเขาได้นำ “ความรักของพระเจ้า” ไปสู่ประชาชนด้วยการรักษาและช่วยเหลือพวกเขาให้รอดพ้นจากการเป็นทาสของปีศาจ ความยากจน และความเจ็บไข้ได้ป่วย
“ข่าวดี” จึงไม่ใช่เรื่องของความรอดฝ่ายวิญญาณเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความรอดทั้งครบ ซึ่งรวมถึงความรอดฝ่ายกายด้วย !
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ การใช้น้ำมันรักษาโรค ซึ่งถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “โลวเทค” (Low Tech) จัง
แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนในสมัยโบราณถือว่าน้ำมันเป็นยาครอบจักรวาล สามารถรักษาโรคได้ร้อยแปด  แม้แต่แพทย์กรีกผู้ยิ่งใหญ่นามว่า Galen (กาเลน) ยังกล่าวไว้ว่า “น้ำมันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับรักษาโรคทางกาย”
นี่ย่อมหมายความว่า บรรดาอัครสาวกใช้วิธีการเก่า ๆ ที่โลกสมัยนั้นรู้จัก  แต่เพราะได้รับอำนาจใหม่จากพระเยซูเจ้า พวกเขาทำให้วิธีการเก่าบังเกิดฤทธิ์ใหม่
เท่ากับว่า ผู้ที่มีความเชื่อสามารถเข้าถึงพระฤทธานุภาพของพระเจ้าได้ โดยผ่านทางสิ่งปกติธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันนี่เอง !!!


พวกอัครสาวกได้นำ “ข่าวดี” แห่ง “การกลับใจ” และ “ความรักของพระเจ้า” ไปสู่ปวงประชา…..
สิ่งนี้ยังคงเป็น “หน้าที่” ของพระศาสนจักรและของเราทุกคน วันนี้ และทุกวันตลอดไป ....