ข่าวดี มาระโก 6:1-6
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองนาซาเร็ธ
6 (1)พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นกลับไปยังถิ่นกำเนิดของพระองค์ บรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย (2)ครั้นถึงวันสับบาโตพระองค์ทรงเริ่มสั่งสอนในศาลาธรรม ผู้ฟังมากมายต่างประหลาดใจ และพูดว่า “เขาเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาจากไหน ปรีชาญาณที่เขาได้รับมานี้คืออะไร อะไรคืออัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยมือของเขา (3)คนนี้เป็นช่างไม้ ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยา กอบ โยเสท ยูดาและซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรามิใช่หรือ” คนเหล่านั้นรู้สึกสะดุดใจและไม่ยอมรับพระองค์ (4)พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยามนอกจากในถิ่นกำเนิด ท่ามกลางวงศ์ญาติ และในบ้านของตน” (5)พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้ นอกจากทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้เจ็บป่วยบางคนให้หายจากโรคภัย (6)พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่เขาเหล่านั้นไม่มีความเชื่อ
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปยังเมืองนาซาเร็ธถิ่นกำเนิดของพระองค์ ไม่ใช่เพื่อเยี่ยมบ้านและญาติพี่น้องเป็นการส่วนตัว แต่ทรงนำบรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าพระองค์ทรงเสด็จไปในฐานะ “รับบี” หรือ “อาจารย์” ที่ส่วนใหญ่มักเดินทางสั่งสอนไปทั่วโดยมีศิษย์ใกล้ชิดแวดล้อมอยู่กลุ่มหนึ่ง
และที่บ้านเกิดนี้เองที่พระองค์ทรงถูกท้าทายอย่างหนัก แถมยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง “โดยคนที่รู้จักพระองค์ตั้งแต่เป็นเด็ก” !
พระองค์เสด็จไปสั่งสอนในศาลาธรรม แต่แทนที่พวกเขาจะชื่นชมในคำสอนและกิจการของพระองค์ พวกเขากลับไม่ยอมรับพระองค์ ดูถูกเหยียดหยามพระองค์ และรู้สึกสะดุดใจในปรีชาญาณและอัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยน้ำมือของพระองค์
จากพระวรสาร เราสามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ชาวนาซาเร็ธไม่ยอมรับพระองค์ได้ดังนี้
1. พวกเขาพูดว่า “คนนี้เป็นช่างไม้ไม่ใช่หรือ ?”
อันที่จริงคำกรีก tektōn (เทคโตน) ซึ่งแปลว่า “ช่างไม้” นั้น มีความหมายมากกว่าคนที่ทำงานเกี่ยวกับไม้ธรรมดา ๆ เช่นทำประตูหรือหน้าต่างบ้าน แต่หมายถึงบุคคลระดับ “ช่าง” หรือ “ผู้ชำนาญการพิเศษ” ในหนังสือของ Homer (โฮเมอร์) กล่าวถึง “เทคโตน” ว่าเป็นผู้สร้างเรือ สร้างบ้าน และสร้างพระวิหาร กล่าวโดยสรุปคือ “เทคโตน” เป็นบุคคลระดับที่สามารถสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยมือเปล่าหรือใช้เครื่องมือที่เรียบง่ายที่สุด
แต่แทนที่ชาวนาซาเร็ธจะพูดถึงพระองค์ว่า “คนนี้เป็นถึงช่างไม้” พวกเขากลับพูดว่า “คนนี้เป็นช่างไม้ไม่ใช่หรือ ?”
เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาไม่ยอมรับพระองค์ให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษหรือเป็นผู้ชำนาญงานไม้ ตรงกันข้าม พวกเขาพูดถึงพระองค์แบบดูถูกเหยียดหยาม
พวกเขามองเห็นพระองค์เป็น “คนงานชั้นต่ำ” เป็น “คนงานกระจอก” เป็น “คนงานธรรมดา”
คนระดับนี้จะมีปรีชาญาณและทำอัศจรรย์ได้อย่างไรกัน ?!
แต่สำหรับเราคริสตชน นี่คือเกียรติยศอันยิ่งใหญ่สูงสุดของมนุษยชาติ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสด็จมายังโลกนี้ ทรงน้อมรับชีวิตแบบสามัญชนและทำงานแบบธรรมดา ๆ เพื่อยังชีพ
พระองค์ทรงร่วมชะตากรรมเดียวกันกับเรา โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ประการเดียว !
เมื่อมีพระองค์อยู่เคียงข้างและร่วมชะตากรรมใกล้ชิดเช่นนี้ โชคชะตาราศี ชาติกำเนิด หรือแม้แต่บรรดาวงศาคณาญาติของเราแต่ละคน ล้วนไม่ใช่สาระสำคัญ
สาระสำคัญคือ แม้เราจะเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุด เราก็มีพระเจ้าอยู่เคียงข้างเรา !
เราจึงต้องไม่พลาดท่า ไปประเมินค่าผู้อื่นจากสิ่งภายนอกหรือสิ่งละอันพันละน้อย โดยไม่ดูให้ลึกถึงสาระสำคัญในมนุษย์แต่ละคน !
หาไม่แล้วเราก็ทำตัวเหมือนชาวนาซาเร็ธ !
2. พวกเขาพูดว่า “นี่ลูกนางมารีย์ไม่ใช่หรือ ?”
การเรียกพระองค์เป็น “ลูกนางมารีย์” แสดงว่าโยเซฟคงเสียชีวิตไปแล้ว
และการที่พวกเขาเรียกพระองค์ “เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดาและซีโมน” อีกทั้งรู้ว่า “พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรา” แสดงว่าพวกเขารู้จักครอบครัวและพี่น้องของพระองค์เป็นอย่างดี (ดูคำอธิบายเรื่อง “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” เพิ่มเติมด้านล่าง)
แต่น่าเสียดายที่การรู้จักมักคุ้นกับครอบครัวของพระองค์ กลับทำให้พวกเขาดูหมิ่นเหยียดหยามพระองค์ !
โธมัส แคมพ์เบล เป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เมื่อจัดพิมพ์บทประพันธ์เล่มแรกเสร็จ เขาส่งหนังสือผลงานให้คุณพ่อผู้สูงอายุของเขาเล่มหนึ่ง หลังจากหยิบหนังสือขึ้นมาพินิจพิเคราะห์การเข้าเล่มอย่างละเอียดโดยไม่สนใจเปิดอ่านแม้แต่สารบัญของหนังสือแล้ว คุณพ่อก็เอ่ยขึ้นว่า “แหม ใครจะไปนึกว่าไอ้ทอม (โธมัส) มันจะทำหนังสือแบบนี้ได้ !”
เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าลูกชายของเขาจะจัดพิมพ์หนังสือสวย ๆ แบบนี้ได้ ยิ่งเนื้อหาข้างในเล่มยิ่งไม่ต้องพูดถึง !
เพราะความใกล้ชิดแท้ ๆ ที่ทำให้เขามองไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของบุตรชาย !
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ยิ่งใกล้ชิดกันมากเท่าใด เรายิ่งน่าจะเห็นความดีและความยิ่งใหญ่ของกันและกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น !!!
เหมือนเรายิ่งใกล้ชิดพระเยซูเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งรู้จักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น และหากได้รู้จักพระองค์แล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะไม่รักพระองค์
ผลจากการไม่ยอมรับพระเยซูเจ้าคือ “พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้” (ข้อ 5) ซึ่งบ่งบอกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้หากสถานการณ์หรือบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ดังเช่น
1. ไม่มีใครได้รับการรักษาหากเขาไม่ยอมให้รักษา ไม่มีหมอคนใดสามารถช่วยคนที่ไม่อยากมีชีวิตได้ เขาต้องมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตเสียก่อน จึงจะมีชีวิตอยู่ได้
ชีวิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน หากเราไม่มีความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตฝ่ายวิญญาณ เราย่อมไม่ต้องการการรักษา
และถ้าไม่ต้องการการรักษา พระเยซูเจ้าย่อมทำอัศจรรย์ในตัวเราไม่ได้ !
2. ไม่มีใครเทศน์สอนได้หากบรรยากาศไม่เป็นใจ จริง ๆ แล้วหากสัตบุรุษในวัดเฝ้าคอยข่าวดีของพระเจ้าด้วยใจร้อนรน พวกเขาได้ช่วยพระสงฆ์เทศน์สอนเกินครึ่งไปแล้ว พระสงฆ์เพียงแค่จุดประกายไฟอีกนิดเดียว อาณาจักรของพระเจ้าก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นภายในวัดแห่งนั้น
ตรงกันข้าม หากบรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือสัตบุรุษมีจิตใจเย็นเฉย ต่อให้เทวดาลงมาเทศน์สอนก็คงไม่บังเกิดผล
3. ไม่มีใครสร้างสันติได้หากบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย หากสัตบุรุษแต่ละคนมีจิตใจเกลียดชัง ทั้งวัดก็จะเกลียดชังกัน หากแต่ละคนไม่ต้องการเข้าใจกัน ทั้งวัดก็จะเข้าใจกันผิด ๆ หากแต่ละคนยึดมั่นในความคิดของตนเอง ทั้งวัดก็จะมองไม่เห็นหัวคนอื่น
แต่ถ้าแต่ละคนมาโดยมีความรักของพระคริสตเจ้าอยู่ในหัวใจ และพยายามที่จะรักและถนอมน้ำใจกันไว้ ต่อให้คนที่ทิ้งวัดไปแล้วเป็นสิบ ๆ ปีก็จะกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เราทุกคนจึงมีความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง
... ที่จะช่วยกันจรรโลงงานของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่บรรจุโลง งานของพระองค์
… ที่จะเปิดประตูกว้างต้อนรับพระองค์ ไม่ใช่ปิดประตูใส่หน้าพระองค์ !!!
_____________
คำอธิบายเพิ่มเติม
เรื่อง
พี่น้องของพระเยซูเจ้า
“เขาเป็นลูกช่างไม้มิใช่หรือ แม่ของเขาชื่อมารีย์ พี่ชายน้องชายของเขามิใช่ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาหรือ” (มธ 13:55)
“คนนี้เป็นช่างไม้ ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดาและซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรามิใช่หรือ” (มก 6:3)
“เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” (มธ 1:24-25)
“พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย” (ลก 2:7)
จากพระวรสารที่ยกมานี้ ก่อให้เกิดคำถามสำคัญ 2 ประการคือ
1. ยากอบ โยเซฟหรือโยเสท ยูดา และซีโมน ทั้ง 4 คนนี้เป็น “น้องชายแท้ ๆ” ของพระเยซูเจ้าจริงหรือ ?
2. แม่พระมีบุตรเพียงคนเดียวหรือ ? คำว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” จะให้เข้าใจว่าอย่างไร ?
1. ยากอบ โยเซฟหรือโยเสท ยูดา และซีโมนเป็นใคร ?
ยากอบ จากหลักฐานในพระคัมภีร์ เราพบว่าท่านคือ
- หนึ่งในบรรดาอัครสาวก “ข้าพเจ้าไม่พบอัครสาวกอื่น ๆ นอกจากยากอบ ผู้เป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กท 1:19)
- นอกจากเป็นอัครสาวกแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ จนนักบุญเปาโลใส่ชื่อของท่านก่อนเคฟาส (นักบุญเปโตร) เสียอีก “ดังนั้น เมื่อยากอบ เคฟาสและยอห์น ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นหลัก รู้เรื่องพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ก็จับมือกับข้าพเจ้าและบารนาบัส แสดงความเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตกลงกันว่า เราจะไปพบคนต่างศาสนา ส่วนพวกเขาจะไปพบผู้เข้าสุหนัตแล้ว” (กท 2:9)
ในกิจการอัครสาวกบทที่ 15 ซึ่งกล่าวถึงการประชุมระหว่างบรรดาอัครสาวกและผู้อาวุโสที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อพิจารณาปัญหาที่ว่า “ต้องให้คนต่างศาสนาเข้าสุหนัต และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส” หรือไม่ ยากอบก็มีบทบาทอย่างสูงโดยเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยในที่ประชุมถัดจากเปโตรทันที
- เป็นสังฆราชของเยรูซาเล็ม “เมื่อเรามาถึงกรุงเยรูซาเล็ม บรรดาพี่น้องต้อนรับเราด้วยความยินดี วันรุ่งขึ้นเปาโลและเราไปพบยากอบ บรรดาผู้อาวุโสทุกคนอยู่ที่นั่นด้วย” (กจ 21:17-18)
- เป็นคนแรกที่เขียนบทจดหมายถึงบรรดาคริสตชน (จดหมายของนักบุญยา-กอบ)
จากรายชื่ออัครสาวกทั้ง 12 คนซึ่งประกอบด้วย “ซีโมน ผู้มีสมญาว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชายของเขา ยากอบบุตรของเศเบดีกับยอห์นน้องชาย ฟิลิปและบาร์โธโลมิว โธมัสและมัทธิว คนเก็บภาษี ยากอบบุตรอัลเฟอัส และธัดเดอัส ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท” (มธ 10:2-4) เราจะเห็นว่ามีคนชื่อยากอบ 2 คน คือ ยากอบบุตรของเศเบดี และยากอบบุตรอัลเฟอัส
แต่เราสามารถตัดยากอบบุตรของเศเบดีออกไปจากการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็มได้เลย (กจ 15; กท 2:9) เพราะ “กษัตริย์เฮโรดทรงเริ่มเบียดเบียนสมาชิกบางคนของพระศาสนจักร พระองค์ทรงประหารยากอบ (บุตรของเศเบดี) พี่ชายของยอห์นโดยตัดศีรษะ” (กจ 12:1-2)
เพราะฉะนั้น บุคคลที่นักบุญเปาโลเรียกว่า “ยากอบ ผู้เป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กท 1:19) จึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ยากอบบุตรของอัลเฟอัส”
และเมื่อเทียบพระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์ ณ เชิงไม้กางเขนเข้าด้วยกันดังนี้
ยน 19:25 “พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา”
มธ 27:56 “ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา และมารีย์มารดาของยากอบและของโยเซฟ และมารดาของบุตรเศเบดี (นางสะโลเม)”
มก 15:40 “สตรีบางคนมองดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบคนเล็กและของโยเสท และนางสะโลเม”
เราจะพบว่า มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส หรือที่ถูกกว่าตามต้นฉบับภาษากรีกคือ โคลปัส (Clopas) นั้นเป็นน้องสาวของแม่พระ (ยน 19:25) และเป็นแม่ของยากอบคนเล็ก และโยเซฟ (มธ 27:56) หรือโยเสท (มก 15:40)
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า โคลปัส และอัลเฟอัส เป็นวิธีเขียนชื่อภาษาอาราไมอิคให้เป็นภาษากรีกของคน ๆ เดียวกันคือ Halphai และตามบันทึกของนักบุญ Hegesippus โคลปัส คือน้องชายของนักบุญโยเซฟอีกด้วย
สรุปคือ ยากอบที่ได้ชื่อว่าเป็นน้องชายของพระเยซูเจ้า คือยากอบคนเล็ก หนึ่งในบรรดาอัครสาวก ผู้เป็นบุตรของอัลเฟอัสหรือโคลปัส และมีมารดาชื่อมารีย์ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่พระ
โยเซฟ หรือ โยเสท เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับท่านมากไปกว่าที่อ้างอิงมาแล้ว คือท่านเป็นบุตรของมารีย์น้องสาวแม่พระ หรือเป็นน้องชายแท้ ๆ ของยากอบนั่นเอง (มก 15:40; มธ 27:56)
ยูดา ในรายชื่ออัครสาวกสิบสองคนที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับ Douay (เป็นพระคัมภีร์ที่แปลโดยคาทอลิกหลังการแยกตัวของโปรแตสแตนท์ ได้รับการยอมรับอย่างสูงและเป็นต้นแบบในการแปลพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษที่เป็นของคาทอลิกแทบทุกฉบับ) มีชื่อ Judas Jacobi ซึ่งแปลว่า “ยูดาน้องชายของยากอบ” (ลก 6:16 และ กจ 1:13) รวมอยู่ในบรรดาอัครสาวกด้วย
จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ท่านคือคน ๆ เดียวกันกับ ธัดเดอัส หนึ่งในบรรดาอัครสาวก และเป็นผู้เขียนจดหมายถึงพวกคริสตชนฉบับสุดท้าย ซึ่งท่านขึ้นต้นจดหมายของท่านว่า “จากยูดา ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสตเจ้า น้องของยากอบ” (ยด 1:1)
ซีโมน ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าท่านคือบุตรของโคลปัส เป็นน้องชายของยากอบและยูดา และเป็นสังฆราชของเยรูซาเล็มต่อจากยากอบผู้พี่
มีส่วนน้อยที่เชื่อว่าท่านคือ ซีโมนชาวคานาอัน (มธ 10:4) หรือ ซีโมนชาตินิยม หนึ่งในบรรดาอัครสาวก
ส่วนคำโต้แย้งที่ว่าบรรดาพี่น้องของพระเยซูเจ้าไม่เชื่อในพระองค์ แล้วจะเป็นอัครสาวกได้อย่างไรดังที่ปรากฏใน ยน 7:3-5 ว่า “บรรดาพี่น้องของพระองค์กล่าวกับพระองค์ว่า “จงออกจากที่นี่ เดินทางไปในแคว้นยูเดียเถิด เพื่อบรรดาศิษย์ของท่านจะเห็นกิจการที่ท่านทำด้วย ไม่มีใครซ่อนเร้นสิ่งใด ถ้าต้องการให้ทุกคนรู้ ถ้าท่านกำลังทำกิจการเหล่านี้อยู่ ก็จงแสดงตนให้โลกเห็นเถิด” แม้แต่พี่น้องของพระองค์ก็ไม่เชื่อในพระองค์” นั้น คงเกิดจากการตีความผิด เพราะพี่น้องของพระองค์ไม่ใช่ไม่เชื่อ พวกเขาเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เพียงแต่ว่าความคิดเรื่องพระเมสสิยาห์ของพวกเขาไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่บรรดาอัครสาวกเองยังเข้าใจความหมายของพระเมสสิยาห์จริง ๆ ก็ต่อเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์แล้วเท่านั้น (กจ 1:6)
อีกทั้งข้อความที่ว่า “แม้แต่พี่น้องของพระองค์ก็ไม่เชื่อในพระองค์” ในย่อหน้าข้างบน ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าในบรรดาพี่น้องของพระองค์ ไม่มีใครเชื่อพระองค์เลยแม้แต่คนเดียว
2. “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” หมายถึงอะไร
พวกที่มีความเชื่อผิด ๆ (heretics) ในสมัยโบราณเช่น Helvidius และพวก Antidicomarianites ถือว่า พี่น้องของพระเยซูเจ้าคือน้องร่วมสายโลหิตหรือน้องที่มาจาก “มดลูก” ของแม่พระจริง ๆ ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ของโปรแตสแตนท์ส่วนใหญ่ก็เชื่อเช่นนี้ ความคิดเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อพวกเราคาทอลิกด้วยเหมือนกัน จนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า “แม่พระมีบุตรกี่คน” หรือ “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” หมายถึงอะไร ?
เพื่อจะตอบคำถามนี้ ประการแรก เราต้องไม่ลืมว่า คำ “พี่น้อง” อาจแปลตามตัวอักษรว่าหมายถึง “พี่น้องท้องเดียวกัน” หรือเป็นเพียง “ลูกพี่ลูกน้อง” กันก็ได้ ยิ่งในภาษาเสมิติกดังเช่น ฮีบรู และอาราไมอิคที่ใช้ในพระคัมภีร์ด้วยแล้ว ยิ่งมีความหมายครอบคลุมไปถึงบรรดาญาติพี่น้องที่ห่างกันมาก ๆ อีกด้วย เช่น
“อับรามจึงบอกแก่โลทว่า “เราอย่าวิวาทกันเลย อย่าให้คนเลี้ยงสัตว์ของท่านกับคนเลี้ยงสัตว์ของฉันวิวาทกัน เพราะเราเป็นญาติกัน” (ปฐก 13:8; 14:14) ทั้ง ๆ ที่โลทเป็นเพียงผู้อพยพออกจากเมืองฮารานไปอียิปต์พร้อมกับอับรามเท่านั้น
ประการที่สอง พวกคาทอลิกเองเคยมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ค่ายเกี่ยวกับคำว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า”
ค่ายแรกคือพวกปิตาจารย์และนักเขียนกรีก (ค่ายตะวันออก) พวกนี้ได้รับอิทธิพลจากหนังสืออธิกธรรม (Apocrypha) จึงถือว่าพี่น้องของพระเยซูเจ้าคือบรรดาลูก ๆ ของโยเซฟที่เกิดจากการแต่งงานครั้งแรก
ค่ายที่สองคือบรรดาปิตาจารย์ลาติน (ค่ายตะวันตก) พวกนี้ถือว่าพี่น้องของพระเยซูเจ้าเป็นเพียง “ลูกพี่ลูกน้อง” ของพระองค์เท่านั้น
เหตุผลสนับสนุนความคิดของปิตาจารย์ลาตินคือ
1. พระธรรมใหม่ทั้งหมดพูดถึงแม่พระว่าเป็นแม่ของพระเยซูเจ้าเพียงคนเดียว และแยกแม่พระออกจากบรรดาผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นพี่น้องของพระองค์ เช่น
“ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับประชาชน พระมารดาและพระญาติของพระองค์ (ไม่ได้บอกว่าเป็นลูกของแม่พระ – ผู้เรียบเรียง) มายืนอยู่ข้างนอก ต้องการพูดกับพระองค์” (มธ 12:46; มก 3:31; ลก 8:19)
“ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับบรรดาสตรี รวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้าและพี่น้องของพระองค์” (กจ 1:14)
2. เมื่อพระเยซูเจ้าอายุ 12 ขวบ ลูกาเล่าว่า “โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี” (ลก 2:41) เหตุการณ์นี้คงเป็นไปได้ยากถ้าแม่พระมีลูกเล็ก ๆ ตามมาอีกหลายคน เพราะการเดินทางไกลเป็นประจำเช่นนี้คงเป็นภาระเกินกำลังและเกินงบประมาณของแม่พระเป็นแน่
3. ถ้าพระเยซูเจ้ามีน้องร่วมสายโลหิตจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องแปลกมาก ที่ในช่วงวิกฤตใกล้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์กลับมอบให้นักบุญยอห์นซึ่งเป็นคนนอกเป็นผู้ดูแลแม่ของพระองค์เอง แทนที่จะมอบให้น้อง ๆ เป็นผู้ดูแล (ยน 19:26)
และหากคิดในทางร้ายสุด ๆ ว่าพระองค์มีปัญหากับพวกน้อง ๆ หรือแม่พระเข้ากันไม่ได้กับลูกคนอื่น ๆ คำที่พระองค์ควรใช้คือ i;de ui`o,j sou (ไม่มี article) แทนที่จะเป็น i;de o` ui`o,j sou (มี article) ซึ่งบ่งบอกถึงบุตรคนเดียว ดังที่ปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษากรีก
4. ข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นที่สุดคือ เรารู้แน่นอนว่า ยากอบ และโยเซฟหรือโยเสท เป็นบุตรของอัลเฟอัสหรือโคลปัส และนางมารีย์ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่พระ เขาทั้งสองคนเป็นเพียง “ลูกผู้น้อง” ของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่น้องชายแท้ ๆ
เมื่อสองคนในรายชื่อ “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” ไม่ใช่น้องท้องเดียวกันของพระองค์ คนอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะใช่ด้วย
และผลที่ตามมาก็คือเราตัดความคิดที่ว่าพี่น้องเหล่านี้เป็นบุตรที่เกิดจากการแต่งงานครั้งแรกของนักบุญโยเซฟออกไปได้เลย
พวกที่โต้แย้งเหตุผลของปิตาจารย์ลาตินมักยกข้อความที่ว่า “โยเซฟไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” (มธ 1:25) และ “พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก” (ลก 2:7) มาเป็นข้ออ้าง
ความจริงโอรสองค์แรก (prototokos) ไม่ได้หมายความว่าต้องมีองค์ที่สอง และต่อ ๆ ไป ดังที่เมื่อลูกาบันทึกไว้ว่า “มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรก (prototokos) แด่พระเจ้า” (ลก 2:23) ท่านต้องการหมายความเพียงว่าแม้มีลูกคนเดียวก็ต้องถวายแด่พระเจ้า เพราะลูกคนเดียวนี้ถือว่าได้เบิกครรภ์ครั้งแรกของมารดาแล้วและ “ทุกอย่างที่เบิกครรภ์ครั้งแรกนั้น ท่านจงแยกถวายแด่พระเจ้า” (อพย 13:12)
และเช่นกันนักบุญเยโรมย้ำนักย้ำหนาว่า การที่โยเซฟ “ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” เป็นเพียงคำกล่าวยืนยันว่าพระเยซูเจ้าบังเกิดด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าล้วน ๆ หาได้หมายความว่าโยเซฟมีเพศสัมพันธ์กับแม่พระหลังให้กำเนิดพระองค์แล้วแต่ประการใดไม่
ขอฟันธงว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” เป็นเพียง “ลูกผู้น้อง” ของพระองค์เท่านั้น !