แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี  ยอห์น 1:35-42
ศิษย์กลุ่มแรก
(35)วันรุ่งขึ้น ยอห์นกำลังยืนอยู่ที่นั่นกับศิษย์สองคน  (36)เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป จึงพูดว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า”  (37)เมื่อศิษย์ทั้งสองคนได้ยินยอห์นพูดดังนี้จึงติดตามพระเยซูเจ้าไป  (38)พระเยซูเจ้าทรงหันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นเขากำลังติดตามพระองค์ จึงตรัสถามว่า “ท่านต้องการสิ่งใด” เขาทูลตอบว่า “รับบี”  แปลว่า พระอาจารย์ “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน”  (39)พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มาดูซิ” เขาจึงไปดู เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง  (40)อันดรูว์น้องชายของซีโมนเปโตรเป็นคนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินคำพูดของยอห์น และตามพระเยซูเจ้าไป  (41)อันดรูว์พบซีโมนพี่ชายเป็นคนแรก จึงพูดว่า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า แปลว่า ผู้รับเจิม  (42)เขาพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า เคฟาส” แปลว่า “เปโตร” หรือ “ศิลา”


“นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” ยอห์น บัปติสตารู้ดีว่าคำพูดนี้เท่ากับเป็นการเชิญชวนศิษย์ให้ตีจากท่านไปหาอาจารย์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวท่านเองเสียอีก
แต่รู้ทั้งรู้ ท่านก็ยังทำ !  แถมทำโดยไม่มีความอิจฉาริษยาอยู่ภายในหัวใจของท่านเลย
เมื่อพระเยซูเจ้าปรากฏกายมา ท่านพร้อมจะสละความเป็นเบอร์หนึ่งลงมาเป็นเบอร์สอง และพร้อมชักนำมนุษย์ไม่ใช่มาสู่ตัวท่านเอง แต่มาสู่พระเยซูคริสตเจ้า
นี่คือความยิ่งใหญ่สุด ๆ ของยอห์นที่มีเหนือทุกคนที่เกิดจากสตรี (ลก 7:28) .......!

แล้วก็เป็นจริงดังคาด ศิษย์ทั้งสองคนได้ละทิ้งยอห์นและติดตามพระเยซูเจ้าไป  แต่คงเป็นเพราะอายที่จะเข้าไปพบพระองค์ตรง ๆ  พวกเขาจึงได้แต่เดินตามพระองค์ไปห่าง ๆ
และแล้วเป็นพระเยซูเจ้าเองที่ทรง หันกลับมาและพูดกับพวกเขา “ท่านต้องการสิ่งใด”
นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพระองค์ พระองค์พร้อมช่วยเหลือทุกคนให้การแสวงหาพระองค์เป็นงานที่ง่ายขึ้น  และเป็นพระองค์เองที่ทรงเปิดประตูเชื้อเชิญพวกเขาเข้าบ้าน
เมื่อใดก็ตามที่สติปัญญาของเราเริ่มต้น “แสวงหา” และหัวใจของเราเร่าร้อน “ปรารถนา” จะพบพระเจ้า  เมื่อนั้นพระองค์ประทับอยู่ต่อหน้าเรานั่นเอง  พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่อยู่ห่างไกลหรือหลบซ่อนพระองค์เองจากมนุษย์
พระองค์อยากจะพบเรามากกว่าเราอยากจะพบพระองค์เสียอีก !
คำถามที่พระองค์ตรัสถามศิษย์ทั้งสองคนควรจะดังก้องอยู่ในโสตประสาทของเราทุกคนด้วย “ท่านต้องการสิ่งใด” ???
คำตอบของศิษย์ทั้งสองคือ “พระอาจารย์ พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน”
ความหมายคือ พวกเขาไม่ต้องการยืนพูดกับพระองค์แบบฉาบฉวยข้างถนนที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมา ด้วยเกรงว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพวกเขาจะต้องหยุดชะงักลงหลังจากพูดคุยกันได้ไม่กี่คำ
สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ “พูดคุยกับพระเยซูเจ้าที่บ้านของพระองค์” จะได้คุยกันนาน ๆ โดยปราศจากความวุ่นวายมากวนจิตใจ
พระองค์ตรัสว่า “มาดูซิ”
    ความหมายคือ พระองค์ทรงเชื้อเชิญเขาทั้งสอง รวมถึงเราทุกคนด้วย ให้นำปัญหาและความต้องการต่าง ๆ มาพูดคุยกัน เพราะมีพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถตอบสนอง “ความต้องการขั้นสุดยอด” ของเรา รวมทั้งเปิดสติปัญญาและจิตใจของเราให้สามารถหาทางออกต่อปัญหาต่าง ๆ ได้
ความต้องการของบางคนคือ “ความมั่นคง” ในชีวิต  พวกเขาจึงพยายามแสวงหาการงานที่มั่นคง เพื่อจะได้มีรายได้เพียงพอสำหรับซื้อหาสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต  อันที่จริงเป้าหมายชีวิตเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่ว่ามันเป็นเป้าหมายระดับวัตถุ จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตามโชค ตามโอกาส และตามสถานการณ์ต่าง ๆ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้
การมีความมั่นคงทางวัตถุอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้หัวใจของเรายอมรับความพิการจากอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน  หรือคงไม่ช่วยให้คลายจากความทุกข์เนื้อร้อนใจอันเกิดจากเพื่อนร่วมงาน  ความผิดหวังจากคนรัก  ความไม่สบอารมณ์กับความประพฤติของลูก ฯลฯ ได้
เราจึงวางความต้องการของเราไว้ที่ความมั่นคงในชีวิตนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ !
บางคนต้องการ “ความก้าวหน้า” ในอาชีพการงาน มีตำแหน่งสูงขึ้น มีอำนาจมากขึ้น และมีเกียรติยศชื่อเสียงเพิ่มพูนขึ้น จะได้ทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถที่ตนเชื่อว่ามีได้
หากแรงจูงใจที่จะทำงานให้เหมาะสมกับความสามารถที่เราคิดว่าเรามี เป็นแรงจูงใจอันเกิดจากความทะเยอทะยานส่วนตัว ต้องถือว่าเป้าหมายนี้ผิด !
แต่ถ้าแรงจูงใจนี้เกิดจากความต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  เป้าหมายนี้ถือว่าสูงส่ง
กระนั้นก็ตาม เป้าหมายนี้ยังไม่เพียงพอเพราะยังคงถูกจำกัดด้วยเวลา ด้วยสุขภาพส่วนตัว ด้วยปัญหาครอบครัว และที่สำคัญมันถูกจำกัดด้วยอายุของเราบนโลกนี้เท่านั้น
แต่ถ้าเราต้องการ “สันติสุข” กับตัวเราเอง กับเพื่อนมนุษย์ และกับพระเจ้า ทั้งในโลกนี้และตลอดไปแล้วละก็
พระเยซูเจ้าใช่เลย !  พระองค์พร้อมเสมอที่จะช่วยเราแสวงหาและประทาน “สันติสุข” อันแท้จริงแก่เราทุกคนได้……

ศิษย์ทั้งสองคนถึงที่ประทับของพระองค์เวลาประมาณบ่ายสี่โมง  รายละเอียดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์จำนวนมากเชื่อว่าหนึ่งในศิษย์สองคนนั้นคือ ยอห์น ผู้เขียนพระวรสารเล่มนี้เอง
ส่วนศิษย์อีกคนหนึ่งนั้นชัดเจนว่าคือ อันดรูว์ (ข้อ 40)
เราทราบเรื่องราวเกี่ยวกับอันดรูว์น้อยมาก แต่เท่าที่เราทราบก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เห็นลักษณะอันโดดเด่นและน่าสนใจยิ่งของท่าน
1.    ท่านพอใจเป็น “เบอร์สอง”  น้อยคนจะรู้จักท่าน แต่ส่วนใหญ่รู้จักเปโตร  ท่านจึงได้รับการระบุว่าเป็น “น้องชาย” ของเปโตร แทนที่จะเป็น “บุตร” ของยอห์นผู้เป็นพ่อ ชีวิตของท่านต้องแอบอิงอยู่กับบารมีของพี่ชายตลอดชีวิต
    อีกทั้งในบรรดาอัครสาวกด้วยกันเอง ท่านก็ไม่ใช่คนวงในใกล้ชิดของพระเยซูเจ้า  เมื่อพระองค์ทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้คืนชีพ “พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใครติดตามไปนอกจากเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายของยากอบ” (มก 5:37)  และเมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งเรือง “พระองค์ทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูงที่ปราศจากผู้คน” (มธ 17:1)  และที่สุดภายในสวนเกทเสมนี พระองค์ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนาที่โน่น” แล้วทรงพาเปโตรและบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย (มธ 26:36-37)
    อันดรูว์น่าจะต้องรู้สึกเสียใจมาก  ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์สองคนแรกที่ติดตามพระเยซูเจ้ามิใช่หรือ ?  เปโตรพบพระเยซูเจ้าได้ไม่ใช่เพราะการแนะนำของท่านดอกหรือ ?  ท่านน่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในบรรดาอัครสาวกไม่ใช่หรือ ?
    แต่ความรู้สึกดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวท่านเลย  ความโดดเด่นและเกียรติยศไม่ใช่สิ่งที่ท่านสนใจ  สิ่งเดียวที่ท่านสนใจคือการ “อยู่กับพระเยซูเจ้าและรับใช้พระองค์”
2.    ท่านชอบพาคนมาหาพระเยซูเจ้า  เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ทวีขนมปังเลี้ยงคนห้าพันคน เป็นอันดรูว์เองที่พาเด็กพร้อมขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนและปลาสองตัวมาหาพระเยซูเจ้า (ยน 6:8-9)  และเมื่อชาวกรีกมากรุงเยรูซาเล็มโอกาสปัสกาและอยากพบพระเยซูเจ้า ก็เป็นอันดรูว์อีกนั่นแหละที่พาพวกเขาไปพบพระองค์ (ยน 12:21-22)
    ความยินดีอันยิ่งใหญ่ของท่านคือการพาผู้คนมาหาพระเยซูเจ้า  ท่านต้องการแบ่งปันความรุ่งโรจน์และมิตรภาพที่พระองค์ทรงมอบแก่ท่านให้แก่มนุษย์ทุกคน
    หัวใจของท่านคือ “หัวใจของนักแพร่ธรรม” โดยแท้ !

เมื่ออันดรูว์พาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระองค์ทอดพระเนตรเขาแล้วตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า เคฟาส” แปลว่า “เปโตร” หรือ “ศิลา”
ในพระธรรมเก่า การเปลี่ยนชื่อบ่งบอกถึง “การมีความสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า”
ยกตัวอย่างเช่น “อับราม” เปลี่ยนเป็น “อับราฮัม” (ปฐก 17:5) และ “ยากอบ” เปลี่ยนเป็น “อิสราเอล” (ปฐก 32:28) หลังจากที่ท่านทั้งสองมีความสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า
การมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่  และแน่นอนเมื่อมีชีวิตใหม่ย่อมต้องการชื่อใหม่ด้วย
อีกประการหนึ่ง การเปลี่ยนชื่อยังแสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกลของพระเยซูเจ้าอีกด้วย
พระองค์ไม่ได้มองเปโตรอย่างที่เห็น คือชาวประมงธรรมดา ๆ คนหนึ่ง
แต่พระองค์มองความสามารถที่แฝงอยู่ในเปโตร  ท่านคือ “ศิลา” ที่พระองค์จะตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ไว้บนนี้ !
เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่ได้มองเราทุกคนอย่างที่เราเห็น  แต่ทรงมองเราไกลออกไปในอนาคต……
หากเรามอบชีวิตของเราไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์  พระองค์สามารถปลดปล่อยพลังและความสามารถอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเราให้ปรากฏออกมาภายนอกได้
แล้วเรายังไม่รีบมาพบพระองค์อีกหรือ ?!