อาทิตย์ที่ 3 เทศกาลธรรมดา
ข่าวดี มาระโก 1:14-20
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศข่าวดี
(14)หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้าตรัสว่า (15)“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด”
พระเยซูเจ้าทรงเรียกศิษย์สี่คนแรก
(16)ขณะที่ทรงพระดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นซีโมนกับอันดรูว์น้องชายกำลังทอดแห เขาเป็นชาวประมง (17)พระเยซูเจ้าตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิดเราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” (18) ซีโมนกับอันดรูว์ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที (19) เมื่อทรงพระดำเนินไปอีกเล็กน้อย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยากอบบุตรของเศเบดี และยอห์นน้องชายกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือ (20) พระองค์ทรงเรียก เขาทั้งสองคนก็ละทิ้งเศเบดีบิดาของตนไว้ในเรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไปทันที
คำเทศนาของพระเยซูเจ้าอันเป็นความเชื่อสำคัญของคริสตชนที่พระวรสารวันนี้กล่าวถึง มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
1. ข่าวดี ในพระธรรมใหม่เราสามารถรวบรวมเนื้อหา “ข่าวดี” หรือ euaggelion (เอวอันเยลีออน) ที่พระองค์ทรงเทศนาได้ดังนี้
1.1 ข่าวดีแห่งความจริง ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระวาจาแห่งความจริงคือข่าวดี” (คส 1:5)
ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะบังเกิดมา มนุษย์ได้แต่คาดเดาไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับพระเจ้า และพยายามคลำทางไปหาพระองค์อย่างสิ้นหวัง แม้โยบเองยังต้องร้องว่า “โอ ข้าอยากทราบว่าจะพบพระองค์ได้ที่ไหน” (โยบ 23:3)
แต่เมื่อพระองค์เสด็จมาประกาศข่าวดีแห่งความจริง เราไม่ต้องคาดเดาอีกต่อไป แต่เรา “รู้จริง” ว่าพระเจ้าทรงรักเราและอยู่ใกล้เรามากสักปานใด !
1.2 ข่าวดีแห่งความหวัง นักบุญเปาโลเตือนชาวโคโลสีว่า “ท่านจงยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ ไม่หวั่นไหวจากความหวังตามข่าวดีที่ท่านได้รับฟัง” (คส 1:23)
มนุษย์ก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะมองโลกในแง่ร้าย เซเนกาถึงกับกล่าวว่า “มนุษย์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสิ่งที่จำเป็น” ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่เราดิ้นรนต่อสู้เพื่อทำความดี เรามักลงเอยด้วยความพ่ายแพ้อย่างสิ้นหวังอยู่เสมอ
แต่พระเยซูเจ้าทรงนำข่าวดีแห่ง “ความหวัง” มาสู่หัวใจที่สิ้นหวัง !
1.3 ข่าวดีแห่งสันติ นักบุญเปาโลสอนว่า “จงสวมความกระตือรือร้นที่จะประกาศพระวรสารแห่งสันติเป็นรองเท้า” (อฟ 6:15)
ธรรมชาติมนุษย์ประกอบด้วยสัญชาติญาณของสัตว์ป่าและเทวดาผสมปนเปกันอยู่ในแต่ละคน เราจึงมีบุคลิกภาพแบบแตกแยกอยู่ภายในตัวเราด้วยกันทุกคน บางครั้งเราก็ดีใจหาย แต่บางครั้งเราก็กระวนกระวายใจอย่างหนักเพราะถูกบาปหรือความผิดพลาดในอดีตตามมาหลอกหลอน
พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยให้เรามีชัยชนะเหนือสงครามกับตัวเราเอง พระองค์สามารถประสานบุคลิกภาพของเราให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้และมี “สันติ”
1.4 ข่าวดีแห่งพระสัญญา ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “คนต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในกองมรดกเดียวกัน ร่วมเป็นกายเดียวกัน ร่วมรับพระสัญญาเดียวกันในพระคริสตเยซู อาศัยข่าวดี” (อฟ 3:6)
คนต่างศาสนามักคิดถึงพระเจ้าที่ชอบข่มขู่และเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ มากมายจากมนุษย์ แต่พระเยซูเจ้าตรัสสอนว่าพระเจ้าทรงพระทัยดีและพร้อมจะประทานทุกสิ่งทุกอย่างแก่เรามนุษย์มากกว่าที่เราจะคิดขอเสียอีก
1.5 ข่าวดีแห่งความไม่รู้จักตาย ดังที่นักบุญเปาโลสอนทิโมธีไว้ว่า “บัดนี้ทรงเปิดเผยโดยการแสดงพระองค์ของพระผู้ไถ่คือพระคริสตเยซู ผู้ทรงทำลายความตาย และทรงนำชีวิตและความไม่รู้จักตายให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งโดยทางข่าวดี” (2 ทธ 1:10)
คนต่างศาสนาสอนว่า ชีวิตคือการเดินทางสู่ความตาย ธรรมชาติของมนุษย์คือคนที่กำลังตาย แต่พระเยซูเจ้าเสด็จมาประกาศข่าวดีว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ชีวิต ไม่ใช่ความตาย
1.6 ข่าวดีแห่งความรอด ดังคำของนักบุญเปาโลที่ว่า “ในองค์พระคริสตเจ้านี้ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกันได้ฟังพระวาจาแห่งความจริง คือข่าวดีอันนำความรอดพ้นมาให้” (อฟ 1:13)
ความรอดที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาประทานแก่เรานั้น ไม่ได้มีความหมายเชิง “ปฏิเสธ” เช่น ให้รอดพ้นจากโทษบาปหรือแคล้วคลาดจากบ่วงกรรมที่ทำไว้ในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีความหมายเชิง “บวก” คือพระองค์ทรงทำให้เรามีพลังที่จะดำเนินชีวิตอย่างผู้มีชัยชนะเหนือบาปและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตของเราอีกด้วย
จะเห็นว่าสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศและเทศน์สอนเป็น “ข่าวดี” จริง ๆ !
2. กลับใจ เราเรียนรู้มาว่า เพื่อจะกลับใจจำเป็นต้องเป็นทุกข์ถึงบาป แต่ในทางปฏิบัติเรามักสับสนระหว่างการเป็นทุกข์ถึง “บาป” และการเป็นทุกข์ถึง “ผลของบาป”
มีคนเป็นจำนวนมากที่เป็นทุกข์เสียใจอย่างจริงจังถึงผลร้ายที่สืบเนื่องมาจากความผิดบาปที่ตนเองได้กระทำลงไป แต่หากเขาแน่ใจว่าสามารถหลบหลีกหรือรอดพ้นจากผลร้ายที่น่าจะติดตามมาได้ เป็นไปได้มากว่าเขาจะกลับไปทำผิดเช่นเดิมอีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะสิ่งที่เขาเกลียดคือผลของบาป ไม่ใช่ตัวบาปเอง
แต่การกลับใจที่แท้จริงอยู่ที่การเกลียด “บาป” ไม่ใช่ “ผลของบาป” !
การกลับใจตรงกับภาษากรีก metanoia (เมตานอยอา) ซึ่งหมายถึง “การเปลี่ยนจิตใจ”
นั่นคือ ผู้ที่เคย “รักบาป” ต้องเปลี่ยนเป็น “เกลียดบาป” จึงจะเรียกว่ากลับใจจริง
3. เชื่อ พระเยซูเจ้าทรงตรัสสั่งให้เรา “เชื่อข่าวดีเถิด”
นั่นคือ เชื่อคำพูดของพระองค์ เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นดังที่พระองค์เทศน์สอน เชื่อว่าพระองค์ทรงรักมนุษย์และพร้อมจะยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อนำมนุษย์กลับมาหาพระองค์
และที่สำคัญ เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนดีเกินกว่าจะเป็นจริงนี้ เป็นจริง !!!
พระเยซูเจ้าทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า และทรงวางรากฐานพระอาณาจักรของพระองค์ด้วยการเรียกศิษย์รุ่นแรก
โยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวและเคยเป็นผู้ว่าราชการแคว้นกาลิลีมาก่อน ได้บันทึกไว้ว่า มีเรือประมงมากถึง 330 ลำในทะเลสาบกาลิลี ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ยากจน ไม่ค่อยมีโอกาสกินเนื้อสัตว์ อาหารหลักของพวกเขาจึงได้แก่ปลาหมักเกลือซึ่งเก็บไว้ได้นาน และสามารถส่งออกไปยังกรุงเยรูซาเล็มและโรมได้
ชื่อเมืองที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบบ่งบอกถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมประมงในแคว้นกาลิลีได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น “เบธไซดา” หมายถึง “บ้านแห่งปลา” หรือ “ตารีเคอา” หมายถึง “แหล่งปลาเค็ม” เป็นต้น
จึงไม่น่าแปลกใจแต่ประการใดที่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะเป็น “ชาวประมง” เป็นส่วนใหญ่
อนึ่ง มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับบุคคลที่พระองค์ทรงเลือกให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์
1. พวกเขาเป็นอะไร? พวกเขาเป็นชาวประมงพื้นบ้านธรรมดา ๆ ไม่ได้มีการศึกษาหรือชาติตระกูลสูงส่ง ไม่มีฐานะหรือชื่อเสียงใด ๆ ในสังคม
น่าเสียดายที่ผู้นำยุคใหม่บางคนไม่เคยสนใจคนยากจนหรือชนชั้นกรรมาชีพอย่างจริงจังเลย ความคิดของพวกเขาคือกำจัดคนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป แล้วแทนที่ด้วยคนที่ฉลาดกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือมั่งคั่งมากกว่า ฮิตเลอร์ก็เป็นหนึ่งในผู้นำประเภทนี้ที่ต้องการแทนที่ชาวโลกด้วยชนเผ่าอารยันอันสูงส่งของเขา
แต่พระเยซูเจ้ากลับคิดตรงกันข้าม พระองค์ทรงพอพระทัยใช้คนธรรมดา ๆ แบบเรานี้เองเพื่อทำให้งานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสำเร็จผล
ขอเพียงเราเปิดใจติดตามพระองค์เท่านั้น !
2. พวกเขากำลังทำอะไร? ซีโมนกับอันดรูว์กำลังทอดแห ส่วนยากอบและยอห์นกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือ ทุกคนกำลังทำหน้าที่ประจำวันของพวกเขา
จึงกล่าวได้ว่า พระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสเรียกเราเฉพาะเวลาเราอยู่ในวัด อยู่ในอาราม หรืออยู่ในบ้านเข้าเงียบที่ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ว่าพระองค์ทรงตรัสเรียกและสนทนากับเราทุกแห่งและทุกเวลา แม้ในขณะที่เรากำลังทำหน้าที่การงานประจำวันของเราเองก็ตาม
3. พระองค์เรียกพวกเขาอย่างไร? พระองค์ตรัสสั่งว่า “จงตามเรามาเถิด” คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกศิษย์พึ่งจะพบพระองค์เป็นครั้งแรก แต่แน่นอนว่าพวกเขาเคยอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่ติดตามฟังพระองค์เทศน์สอนมาก่อน และเป็นไปได้มากว่าพวกเขาเคยสนทนากับพระองค์หลังจากฝูงชนแยกย้ายกันกลับไปแล้ว
เมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงตามเรามาเถิด” จึงเท่ากับว่าพระองค์กำลังเชิญชวนศิษย์ให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อพระองค์ “หลังจากได้รู้จักพระองค์แล้ว”
เป็นปฏิกิริยาที่เชื่อมโยงหัวใจของเราเข้ากับพระเยซูเจ้า และก่อให้เกิดความศรัทธาภักดีชนิดไม่มีวันสั่นคลอน
เป็นปฏิกิริยาที่เรียกได้ว่า “ตกหลุมรัก” พระองค์
ปฏิกิริยาของพวกศิษย์คือตอบรับรัก และศรัทธาภักดีชนิดยอมตายถวายหัว แล้วปฏิกิริยาของพวกเราล่ะ ?
4. พระองค์เสนออะไรแก่พวกเขา? พระองค์ตรัสว่า “เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์”
จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้เรียกศิษย์มาเพื่อให้มีชีวิตที่สะดวกสบาย หรือนั่งโต๊ะเฉย ๆ ด้วยความเกียจคร้าน แต่ตรงกันข้าม พระองค์ทรงเรียกเรามาเพื่อรับใช้พระองค์และรับใช้เพื่อนมนุษย์
ศิษย์ที่แท้จริงคือศิษย์ที่พร้อมดำเนินชีวิตและตายเพื่อพระองค์ !