แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์  สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 2:16-21)          

ขณะนั้น คนเลี้ยงแกะจึงรีบไปและพบพระนางมารีย์ โยเซฟ และพระกุมารซึ่งบรรทมอยู่ในรางหญ้า เมื่อคนเลี้ยงแกะเห็น ก็เล่าเรื่องที่เขาได้ยินมาเกี่ยวกับพระกุมาร ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจในเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟัง ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่ คนเลี้ยงแกะกลับไปโดยถวายพระพรและสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องต่างๆ ที่พวกเขาได้ยินและได้เห็น ตามที่ทูตสวรรค์บอกไว้

      เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิ์ในพระครรภ์ของพระมารดา


ลก 2:8-20 ทูตสวรรค์ได้อธิบายให้กับบรรดาคนเลี้ยงแกะฟังว่า การบังเกิดของพระคริสตเจ้าหมายความว่า : พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระผู้ไถ่กู้ ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่รอคอยกันมาเป็นเวลานาน ไม่มีใครคาดคิดว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมายังอิสราเอลเด็กที่บังเกิดมาอย่างยากจนในคอกสัตว์ แต่ด้วยความยากจนเช่นนี้ที่พระสิริรุ่งโรจน์ของสวรรค์ได้ถูกเปิดเผย

CCC ข้อ 333 นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงการเสด็จสู่สวรรค์ พระชนมชีพของพระวจนาตถ์ผู้รับสภาพมนุษย์มีทูตสวรรค์คอยนมัสการและรับใช้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้า “ทรงส่งพระโอรสองค์แรกมาสู่โลกมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า ‘ให้ทูตสวรรค์ทั้งหลายของพระเจ้ากราบนมัสการพระองค์เถิด’” (ฮบ 1:6) บทเพลงสรรเสริญของบรรดาทูตสวรรค์ในการสมภพของพระคริสตเจ้ายังคงดังก้องอยู่ตลอดมาในการขับร้องสรรเสริญของพระศาสนจักร “พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด.....”(ลก 2:14) บรรดาทูตสวรรค์คอยปกป้องพระเยซูเจ้าในปฐมวัย คอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในถิ่นทุรกันดาร มาปลอบโยนเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี ถ้าทรงประสงค์ พระองค์อาจทรงได้รับความช่วยเหลือจากทูตสวรรค์ให้พ้นจากเงื้อมมือของบรรดาศัตรู เช่นเดียวกับที่อิสราเอลเคยได้รับในอดีตด้วย บรรดาทูตสวรรค์ยังนำข่าวดีมาบอก ให้บรรดาคนเลี้ยงแกะรู้เรื่องการที่พระเจ้าเสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และประกาศข่าวการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าให้บรรดาศิษย์รู้ บรรดาทูตสวรรค์จะปรากฏมาประกาศการเสด็จกลับมาของพระคริสตเจ้า และมารับใช้พระองค์ในการพิพากษามวลมนุษย์

CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)

CCC ข้อ 515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่นแลเห็นร่องรอยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพ จนถึงน้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้นพระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมล้ำลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น

CCC ข้อ 695 “การเจิม”  การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า”  พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า”  (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน


ลก 2:16 คนเลี้ยงแกะจึงรีบไป : ข่าวสารที่พวกเขาได้รับนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากจนทำให้พวกเขาต้องออกเดินทางในทันที แบบอย่างของคนเลี้ยงแกนั้นสอนเราในเรื่องของความสำคัญที่ต้องให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา และแสวงหาพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ

CCC ข้อ 437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์ พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)


ลก 2:19 พระนางมารีย์ทรงเก็บ... ในพระทัย : พระนางมารีย์ทรงครุ่นคิดเรื่องเหล่านี้ที่พระนางยังไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ (เทียบ ลก 2:51) โดยอาศัยการรำพึงภาวนา เราสามารถเข้าใจได้มากขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อได้ นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความนี้บ่งบอกว่า อาจเป็นพระนางมารีย์เองที่เป็นผู้เล่าเรื่องราวปฐมวัยของพระคริสตเจ้าให้แก่นักบุญลูกาก็เป็นได้

CCC ข้อ 94 อาศัยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า ความเข้าใจเนื้อหาสาระและถ้อยคำของคลังความเชื่ออาจเติบโตขึ้นได้ในชีวิตของพระศาสนจักร

- “ด้วยการรำพึงและศึกษาของบรรดาผู้มีความเชื่อที่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในจิตใจ”โดยเฉพาะ “การค้นคว้าทางเทววิทยา […] ซึ่งพยายามค้นคว้าหาความรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความจริงที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า”

- “อาศัยความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความจริงทางจิตใจที่(ผู้มีความเชื่อ)มีประสบการณ์”

 “พระวาจาของพระเจ้าย่อมเพิ่มพูนขึ้นพร้อมกับผู้อ่าน”

CCC ข้อ 2599 เมื่อพระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระนางพรหมจารีแล้วยังทรงเรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาตามพระทัยมนุษย์ของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเรียนรู้สูตรการอธิษฐานภาวนาจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงเก็บ “กิจการยิ่งใหญ่” ทั้งหมดของพระผู้ทรงสรรพานุภาพไว้ในพระทัยของพระนาง พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาโดยถ้อยคำและตามจังหวะการอธิษฐานภาวนาของประชากรของพระองค์ในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธและในพระวิหาร แต่การอธิษฐานภาวนาของพระองค์ออกมาจากบ่อเกิดที่ลึกซึ้งกว่านั้น ดังที่เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาทรงเผยให้เรารู้สึกได้ “ลูกต้องทำธุรกิจของพระบิดาของลูก” (หรือ “ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”) (ลก 2:49) ที่นี่ความใหม่ของการอธิษฐานภาวนาเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงแล้วเริ่มได้รับการเปิดเผย นั่นคือ การอธิษฐานภาวนาในแบบของบุตร ที่พระบิดาทรงรอคอยจะได้รับจากบรรดาบุตรของพระองค์ และในที่สุดพระบุตรเพียงพระองค์เดียวในพระธรรมชาติมนุษย์จะทรงทำให้เป็นชีวิตแท้จริงพร้อมกับมวลมนุษย์และเพื่อมวลมนุษย์


ลก 2:21-24 พระคริสตเจ้า ทรงรับพิธีเข้าสุหนัตในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ เป็นเหตุการณ์ที่เฉลิมฉลองในปฏิทินพิธีกรรมของอัฐมวารคริสต์มาส คือในวันที่ 1 มกราคม การเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายของการเข้าร่วมพันธสัญญาของอิสราเอลในฐานะลูกหลานของอับราฮัม (เทียบ ลก 1: 59–66) ในทำนองเดียวกัน ตามกฎหมายของชาวยิว บิดามารดาของพระคริสตเจ้าได้นำพระองค์ไปที่พระวิหารหลังจากที่พระองค์บังเกิดได้สี่สิบวัน เพื่อทำพิธีชำระมลทินและการถวายบุตรหัวปี การชำระมลทินของหญิงหลังจากการคลอดบุตรนั้น เป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่นางจะไปนมัสการในพระวิหารหรือแตะต้องสิ่งของศักดิ์สิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง ต้องมีการถวายเครื่องบูชาด้วยลูกแกะ นกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัว ที่จริงแล้วในกรณีของการปฏิสนธิของพระนางมารีย์และการประสูติของพระคริสตเจ้า มิได้ทำให้พระนางมีมลทินภายใต้ธรรมบัญญัติ แต่พระนางก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ พิธีถวายบุตรชายคนแรกนั้นเป็น “การไถ่กู้เชิงสาธารณะ” ที่จำเป็นสำหรับบุตรชายหัวปีของชนทุกเผ่า นอกเหนือจากเผ่าเลวี บิดามารดาจะถวายลูกชายของตนแด่พระเจ้าในเชิงสัญลักษณ์ และซื้อบุตรคืนด้วยการถวายเงินเล็กน้อย การถวายพระคริสตเจ้าในพระวิหารเป็นข้อรำพึงที่สี่ในพระธรรมล้ำลึกแห่งความปิติยินดีของการสวดสายประคำ และมีการเฉลิมฉลองตามปฏิทินพิธีกรรมในวันที่สี่สิบหลังจากวันคริสต์มาส คือในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ การฉลองนี้เรียกอีกอย่างว่า การเสกเทียน (“ มิสซาเสกเทียน”) เพื่อเน้นว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ตามคำทำนายของซิเมโอน ด้วยเหตุนี้เทียนที่ได้รับการเสกในวันนี้จึงมีการนำไปใช้ตลอดทั้งปี

  CCC ข้อ 435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (Jesus prayer) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน

  CCC ข้อ 527 การรับพิธีสุหนัตของพระเยซูเจ้าในวันที่แปดหลังจากทรงสมภพ เป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ทรงเข้ามาเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นสมาชิกของประชากรที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาด้วย ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อทรงมีส่วนร่วมในคารวกิจของอิสราเอลตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เครื่องหมายนี้บอกล่วงหน้าถึงศีลล้างบาป ซึ่งเป็นเสมือน “พิธีสุหนัตที่มาจากพระคริสตเจ้า”

  CCC ข้อ 529 การถวายพระกุมารเยซูในพระวิหาร แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรคนแรกที่เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยแท้จริง พร้อมกับท่านผู้เฒ่าสิเมโอนและประกาศกหญิงอันนา ประชากรอิสราเอลทั้งหมดรอคอยจะพบกับพระผู้ไถ่ของตน – ธรรมประเพณีพิธีกรรมของจารีตไบเซนไตน์ใช้ชื่อเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การพบ” –  พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยอมรับว่าเป็น  พระเมสสิยาห์ที่มนุษยชาติรอคอยมาเป็นเวลานาน เป็น “แสงสว่างส่องนานาชาติ” และเป็น “สิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอล” แต่ก็ยังทรงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” อีกด้วยดาบแห่งความทุกข์ที่ท่านสิเมโอน กล่าวพยากรณ์แก่พระนางมารีย์ยังแจ้งถึงการถวายพระองค์อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายองค์อย่างสมบูรณ์หนึ่งเดียว คือการถวายองค์บนไม้กางเขนซึ่งจะนำความรอดพ้นที่พระเจ้า “ทรงจัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” มาให้มวลมนุษย์

  CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา ช่วงเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนดูเหมือนจะถูกกำหนดโดยช่วงเวลาที่เสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มในโอกาสฉลองสำคัญของชาวยิว

  CCC ข้อ 1245 การอวยพรอย่างสง่า ปิดพิธีศีลล้างบาป ถ้าเป็นพิธีศีลล้างบาปของทารกที่เพิ่งเกิด พิธีอวยพรมารดาของเด็กมีความสำคัญเป็นพิเศษ

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)