แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:26-38)          

เมื่อนางเอลีซาเบธตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้ว พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลีชื่อเมืองนาซาเร็ธ มาพบหญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์ ทูตสวรรค์เข้าในบ้านกล่าวกับพระนางว่า “จงยินดีเถิด ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับท่าน” เมื่อทรงได้ยินถ้อยคำนี้ พระนางมารีย์ทรงวุ่นวายพระทัยมากทรงถามพระองค์เองว่า คำทักทายนี้หมายความว่ากระไร แต่ทูตสวรรค์กล่าวแก่พระนางว่า “มารีย์ อย่ากลัวเลย ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน ท่านจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ท่านจะตั้งชื่อเขาว่าเยซู เขาจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่และพระเจ้าผู้สูงสุดจะทรงเรียกเขาเป็นบุตรของพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะประทานพระบัลลังก์ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษให้แก่เขา เขาจะปกครองวงศ์ตระกูลของยาโคบตลอดไปและพระอาณาจักรของเขาจะไม่สิ้นสุดเลย” พระนางมารีย์จึงทรงถามทูตสวรรค์ว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไรเพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี” ทูตสวรรค์ตอบว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่านและพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน เพราะฉะนั้น บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า ดูซิ เอลีซาเบธ ญาติของท่าน ทั้งๆ ที่ชราแล้ว ก็ยังตั้งครรภ์บุตรชาย ใครๆ คิดว่านางเป็นหมัน แต่นางก็ตั้งครรภ์ได้หกเดือนแล้ว เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้”

      พระนางมารีย์จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” แล้วทูตสวรรค์ก็จากพระนางไป


ลก 1:26-38 เรื่องราวของการแจ้งสารนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์โดยอำนาจของพระจิตเจ้า การรับเอากายเป็นมนุษย์ได้สำเร็จลุล่วงไปตามแผนการของพระเจ้า ซึ่งอาศัยการยินยอมโดยเสรีของพระนางมารีย์ (CCC ข้อ 723) ผ่านทางการตอบ “ตกลง” ที่เสียสละของพระนาง พระนางมารีย์ทรงกลายเป็นแบบฉบับแห่งความเชื่อ ความใจดี และการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยสมบูรณ์ คำที่ทูตสวรรค์ทักทายพระนางมารีย์นั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทวันทามารีย์ เหตุการณ์แจ้งสารนี้เป็นข้อรำพึงที่ 1 ของพระธรรมล้ำลึกแห่งความชื่นชมยินดีของการสวดสายประคำ และก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของบททูตสวรรค์แจ้งข่าวอีกด้วย 

CCC ข้อ 144 ในเรื่องความเชื่อ การยอมรับ (หรือการเชื่อฟัง – จากรากศัพท์ OB-AUDIRE) คือการมอบตนเองอย่างเสรีให้อยู่ภายใต้พระวาจาที่ได้รับฟัง เพราะพระเจ้าซึ่งทรงเป็นความจริงทรงแสดงความจริงด้วยพระวาจาของพระองค์ พระคัมภีร์เสนออับราฮัมแก่เราให้เป็นแบบอย่างของความเชื่อฟังเช่นนี้ พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นการยอมรับความเชื่อเช่นนี้อย่างสมบูรณ์

CCC ข้อ 484 เมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ “เวลาที่กำหนดไว้” (กท 4:4) ก็มาถึง เป็นการทำให้พระสัญญาและการเตรียมสำเร็จลง พระนางมารีย์ทรงได้รับเชิญให้ปฏิสนธิพระองค์ซึ่งมี “พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์” (คส 2:9) เมื่อพระนางถามว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี” (ลก 1:34) พระดำรัสตอบจากพระเจ้าก็คือ พระนางจะปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน” (ลก 1:35)

CCC ข้อ 485 พันธกิจของพระจิตเจ้าเกี่ยวข้องกับพันธกิจของพระบุตรและถูกจัดไว้สำหรับพันธกิจนี้เสมอ พระจิตเจ้าซึ่งเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ประทานชีวิต” ทรงถูกส่งมาเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่พระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารีและบันดาลให้พระนางทรงครรภ์ปฏิสนธิพระบุตรของพระบิดานิรันดร ให้พระบุตรรับสภาพมนุษย์จากสภาพมนุษย์ของพระนาง

  CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)

CCC ข้อ 487 ความจริงที่ชาวคาทอลิกเชื่อเกี่ยวกับพระนางมารีย์ตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อนี้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า แต่ความจริงที่ความเชื่อนี้สอนเกี่ยวกับพระนางมารีย์ยังอธิบายความเชื่อในพระคริสตเจ้าให้ชัดเจนด้วย

CCC ข้อ488 “พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์”(กท 4:4) แต่เพื่อทรงจัดเตรียมร่างกายไว้สำหรับพระบุตรนี้ พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์คนหนึ่งมีส่วนร่วมงานด้วย เพื่อการนี้ ตั้งแต่นิรันดร พระเจ้าทรงเลือกธิดาของอิสราเอล หญิงสาวชาวยิวจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี “หญิงพรหมจารีซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์” (ลก 1:26-27) ให้เป็นพระมารดาของพระบุตรของพระองค์ “พระบิดาเจ้าผู้ทรงพระกรุณาทรงประสงค์ให้มีการยอมรับของพระมารดาก่อนที่พระบุตรจะทรงรับสภาพมนุษย์ ก็เพื่อว่า หญิงคนหนึ่งได้นำเรามนุษย์ไปสู่ความตายฉันใด หญิงอีกคนหนึ่งก็จะนำเราไปรับชีวิตฉันนั้น”

  CCC ข้อ 489 ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดของพันธสัญญาเดิม พันธกิจของสตรีศักดิ์สิทธิ์หลายคนได้เตรียมพันธกิจของพระนางมารีย์แล้ว ตั้งแต่แรกเริ่ม นางเอวาซึ่งแม้มิได้เชื่อฟังพระเจ้า ก็ได้รับพระสัญญาจากพระองค์ว่านางจะมีเชื้อสายผู้หนึ่งซึ่งจะมีชัยชนะต่อเจ้ามารร้าย และรับพระสัญญาว่าจะเป็นมารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลายจากพระสัญญานี้ แม้นางซาราห์จะชรามากแล้ว ก็ยังให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งเหนือความคาดหมายของมนุษย์ พระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่ใครๆ คิดว่าไร้พลังและอ่อนแอ เพื่อทรงแสดงว่าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา ทรงเลือกนางอันนา มารดาของซามูเอล นางเดโบราห์ รูธ ยูดิธ เอสเธอร์ และสตรีอื่นๆ อีกหลายคน พระนางมารีย์ “ทรงเด่นในหมู่ผู้ต่ำต้อยและยากจนขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาเหล่านี้มีความมั่นใจหวังจะได้รับความรอดพ้นจากพระองค์ และก็ได้รับ ในที่สุด หลังจากที่ได้รอคอยพระสัญญามาเป็นเวลานาน กาลเวลาและแผนการกอบกู้แบบใหม่ก็สำเร็จลงในธิดาผู้สูงส่งแห่งศิโยนผู้นี้”

CCC ข้อ 490 เพื่อพระนางมารีย์จะได้เป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ พระนาง “ทรงได้รับพระพรจากพระเจ้าหลายประการที่เหมาะสมกับบทบาทยิ่งใหญ่เช่นนี้” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าวแก่พระนาง ได้กล่าวทักทายพระนางว่า “ท่านผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน” (ตามสำนวนภาษาละตินว่า “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน”) จำเป็นอย่างยิ่งที่พระนางจะต้องได้รับการนำจากพระหรรษทาน (หรือความโปรดปราน) ของพระเจ้าเพื่อจะได้ตอบสนองการเรียกที่ได้รับแจ้งนี้ด้วยความเชื่ออย่างอิสระเสรี

CCC ข้อ 494 เมื่อทรงได้รับแจ้งว่าพระนางจะให้กำเนิด “พระบุตรของพระเจ้าสูงสุด” อาศัยพระอานุภาพของพระจิตเจ้าทั้งที่ยังทรงเป็นพรหมจารีอยู่ พระนางมารีย์ก็ทรง “ปฏิบัติตามความเชื่อ” ตอบโดยทรงทราบแน่ว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) ดังนี้ เมื่อพระนางมารีย์ทรงตอบสนองพระวาจาของพระเจ้า ก็ทรงเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า และทรงถวายตนทั้งหมดแก่พระบุคคลและพันธกิจของพระบุตร โดยที่ไม่มีบาปใดหน่วงเหนี่ยวพระนางไว้ เพื่อจะได้รับใช้พระธรรมล้ำลึกการไถ่กู้ของพระบุตรโดยอยู่ใต้อำนาจและร่วมงานกับพระบุตรอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า นักบุญอีเรเนกล่าวไว้ว่า “เมื่อพระนางทรงเชื่อฟัง ก็ทรงเป็นเหตุของความรอดพ้นสำหรับพระนางเองและสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด”ดังนี้ ปิตาจารย์บางท่านยินดีกล่าวในบทเทศน์ของตนพร้อมกับท่านนักบุญว่า “ปมที่ความไม่เชื่อฟังของนางเอวาผูกไว้นั้นได้รับการแก้ออกแล้วโดยความเชื่อฟังของพระนางมารีย์ ปมที่นางเอวาพรหมจารีได้ผูกไว้ด้วยความไม่เชื่อ พระนางพรหมจารีมารีย์ก็ได้แก้ออกแล้วโดยความเชื่อ” และเมื่อเปรียบเทียบกับนางเอวาแล้ว ท่านเหล่ านั้นก็เรียกพระนางมารีย์ว่า “มารดาของผู้มีชีวิต” และยังกล่าวหลายครั้งอีกว่า “ความตาย(เข้ามา)ทางนางเอวา ชีวิต(เข้ามา)ทางพระนางมารีย์”

CCC ข้อ 495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25)   แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (THEOTOKOS) โดยแท้จริง

CCC ข้อ 496 นับตั้งแต่สูตรแสดงความเชื่อแบบแรกๆ แล้ว พระศาสนจักรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า โดยยืนยันถึงลักษณะทางกายภาพของเหตุการณ์นี้ด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิ “เดชะพระจิตเจ้า[…]โดยไม่มีเชื้อพันธุ์ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” ในการปฏิสนธิจากพรหมจารีนี้ บรรดาปิตาจารย์แลเห็นเครื่องหมายจากการที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมารับสภาพมนุษย์เหมือนกับสภาพมนุษย์ของเรา นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอค (ต้นศตวรรษที่ 2) กล่าวไว้ดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าท่านทั้งหลายมีความเชื่อมั่นเต็มที่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราโดยธรรมชาติมนุษย์ทรงบังเกิดโดยแท้จริงในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าตามพระประสงค์และโดยพระอานุภาพของพระเจ้า ทรงบังเกิดจริง ๆ จากหญิงพรหมจารี...พระกายถูกตะปูตรึงบนไม้กางเขนเพื่อพวกเราสมัยปอนทิอัส ปีลาต....ทรงรับทรมานโดยแท้จริงเพื่อจะทรงกลับคืนพระชนมชีพโดยแท้จริงด้วย”

CCC ข้อ 497 เรื่องที่เล่าในพระวรสารเข้าใจว่าการปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารีเป็นผลงานของพระเจ้า ทั้งยังอยู่เหนือความเข้าใจและความสามารถของมนุษย์ ทูตสวรรค์บอกโยเซฟเรื่องมารีย์ซึ่งเป็นภรรยาว่า “เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) พระศาสนจักรมองเห็นเหตุการณ์นี้เป็นการทำให้พระสัญญาที่ประกาศกอิสยาห์เคยกล่าวไว้ (ตามสำนวนภาษากรีกของ มธ 1:23) สำเร็จไป “หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์และจะคลอดบุตรชาย” (อสย 7:14)

CCC ข้อ 723 พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้แผนการของพระบิดาสำเร็จเป็นจริงในพระนางมารีย์ พระนางพรหมจารีทรงปฏิสนธิและประสูติพระบุตรของพระเจ้า เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้าและความเชื่อ พระนางพรหมจารีจึงให้กำเนิดพระบุตรอย่างพิเศษสุด

CCC ข้อ 2571 เพราะอับราฮัมเชื่อพระเจ้า เขาจึงดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตามพันธสัญญากับพระองค์ พร้อมที่จะต้อนรับบุคคลลึกลับที่มาเยี่ยมในกระโจมของตน การต้อนรับแขกแปลกหน้าลึกลับที่มัมเรครั้งนี้เป็นการเกริ่นการแจ้งข่าวเรื่องบุตรแห่งพระสัญญาที่แท้จริง ตั้งแต่นั้นใจของอับราฮัมจึงมีความรู้สึกเหมือนกับพระเมตตาขององค์พระผู้เป็นเจ้าต่อมนุษย์และกล้าที่จะวอนขอพระองค์เพื่อเขาเหล่านั้นด้วยความกล้าอย่างมั่นใจ


ลก 1:28 การทักทาย : ในภาษากรีกคำว่า chaire หมายถึง “ความชื่นชมยินดี”  เปี่ยมด้วยหรรษทาน : ในภาษากรีก kecharitomene บ่งบอกว่าพระนางมารีย์ “ได้เป็นและยังคงเป็น” ผู้เปี่ยมด้วยพระหรรษทานของพระเจ้า ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นพระมารดาของพระเจ้า kecharitomene ยังนำเราไปสู่หลักคำสอนในเรื่องการปฏิสนธินิรมลด้วย ซึ่งถือได้ว่าพระนางมารีย์ทรงตั้งครรภ์ด้วยพระหรรษทานอันบริบูรณ์ โดยปราศจากรอยเปื้อนของบาปกำเนิดโดยผ่านทางบุญบารมีแห่งการไถ่บาปของพระบุตรของพระนาง เป็นที่ยอมรับมานานในธรรมประเพณีคาทอลิกว่า ข้อความเชื่อนี้ได้รับการรับรองถึงความไม่ผิดพลั้งโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9  IN INEFFABILIS DEUS. 

CCC ข้อ 490 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:26-38) 

CCC ข้อ 491 ตลอดเวลาหลายศตวรรษในอดีต พระศาสนจักรมั่นใจว่าพระนางมารีย์เป็นผู้ที่ “พระเจ้าโปรดปราน” (“เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน”) ให้รับการไถ่กู้ตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ ข้อความเชื่อเรื่องการปฏิสนธินิรมลของพระนาง ที่สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงประกาศเมื่อปี ค.ศ. 1854 สอนว่า “ตั้งแต่ทรงเริ่มปฏิสนธิ พระนางพรหมจารีมารีย์ทรงได้รับพระหรรษทานและอภิสิทธิพิเศษของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โดยทรงคำนึงถึงบุญบารมีของพระคริสต์เยซู พระผู้กอบกู้มนุษยชาติ ปกป้องไว้ให้พ้นจากมลทินทุกประการของบาปกำเนิด”

CCC ข้อ 492 ความรุ่งเรือง “ของความศักดิ์สิทธิ์พิเศษ” ที่พระนาง “ทรงได้รับตั้งแต่ขณะแรกที่ทรงปฏิสนธิ” ทั้งหมดนี้ มาจากพระคริสตเจ้า พระนางทรง “ได้รับการไถ่กู้ด้วยวิธีการสูงส่งโดยคำนึงถึงพระบุญญาบารมีของพระบุตรของพระนาง” พระบิดา “ทรงอวยพรพระนางโดยประทานพระพรนานาประการของพระจิตเจ้าจากสวรรค์เดชะพระคริสตเจ้า” (อฟ 1:3) มากกว่าบุคคลอื่นใดๆ พระองค์ “ทรงเลือกสรร” พระนาง “ในพระคริสตเจ้าแล้วตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก เพื่อให้พระนางศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความรัก” (อฟ 1:4)

CCC ข้อ 493 บรรดาปิตาจารย์ในธรรมประเพณีจารีตตะวันออกเรียกพระมารดาของพระเจ้าว่า “ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด” (PANAGIAN) ท่านเหล่านั้นกล่าวชมพระนางว่า “ทรงปลอดจากมลทินทุกอย่างของบาป เป็นดังสิ่งสร้างใหม่ที่พระจิตเจ้าทรงประดิษฐ์ขึ้นมา” โดยพระหรรษทานของพระเจ้าพระนางมารีย์ยังทรงคงบริสุทธิ์จากบาปส่วนตัวตลอดพระชนมชีพของพระนางด้วย

CCC ข้อ 722 พระจิตเจ้าประทานพระหรรษทานเพื่อเตรียมพระนางมารีย์ พระนางซึ่งเป็นพระมารดาของผู้ที่ “พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) นั้นจำเป็นต้อง “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางจึงทรงได้รับการปฏิสนธิในพระหรรษทานอย่างสมบูรณ์ ไร้บาปทั้งมวล เป็นผู้ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งมวล เป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับของประทานประเสริฐเหลือที่จะกล่าวได้ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ทูตสวรรค์กาเบรียลทักทายพระนางในฐานะ “ธิดาแห่งศิโยน” ว่า “วันทา” (แปลตามตัวอักษรว่า “จงยินดีเถิด”) ในบทเพลงสรรเสริญของพระนาง พระนางทรงทำให้การขอบพระคุณของประชากรทุกคนของพระเจ้า และดังนี้จึงทำให้การขอบพระคุณของพระศาสนจักรด้วย ขึ้นไปหาพระบิดาในองค์พระจิตเจ้า ขณะที่พระนางทรงกำลังอุ้มพระบุตรนิรันดรในพระครรภ์ของพระนาง

CCC ข้อ 2676 แนวความคิดทั้งสองแนวของการอธิษฐานภาวนาต่อพระนางมารีย์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในบท “วันทามารีย์”

          “วันทามารีย์” (แปลตามตัวอักษรว่า “จงยินดีเถิด มารีย์”) บท “วันทามารีย์” เริ่มด้วยคำทักทายของทูตสวรรค์กาเบรียล พระเจ้าเองทรงทักทายพระนางมารีย์ผ่านทางทูตสวรรค์ของพระองค์  คำภาวนาของเรากล้านำคำทักทายพระนางมารีย์นี้มาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยคิดถึงการที่พระเจ้าทรงทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ และชื่นชมยินดีเหมือนกับที่ทรงยินดีในพระนาง

          “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิดกับท่าน” คำทักทายของทูตสวรรค์ทั้งสองประโยคนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระนางมารีย์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทับอยู่กับพระนาง พระหรรษทานที่พระนางได้รับอย่างเต็มเปี่ยมก็คือการที่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดพระหรรษทานทั้งหมดประทับอยู่ด้วย “จงเปล่งเสียงยินดีเถิด […] ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย […] องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ในเจ้า” (ศฟย 3:14,17) พระนางมารีย์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ด้วย ทรงเป็นธิดาแห่งศิโยน เป็นหีบพันธสัญญา เป็นสถานที่ที่พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ด้วย พระนางทรงเป็น “ที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์” (วว 21:3) “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางทั้งหมดเป็นของพระองค์ผู้เสด็จมาประทับอยู่ในพระนางซึ่งจะประทานพระองค์ให้แก่โลก

          “ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” หลังคำทักทายของทูตสวรรค์ เรานำคำทักทายของนางเอลีซาเบธมาเป็นคำทักทายของเราด้วย นางเอลีซาเบธ “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” (ลก 1:41) นางเป็นคนแรกในลำดับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่จะประกาศว่าพระนางมารีย์ได้รับพระพรเป็นสุข[26] “เธอเป็นสุขที่เชื่อ....” (ลก 1:45) พระนางมารีย์ “ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” เพราะได้เชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริง เพราะความเชื่อ อับราฮัมจึงเป็นผู้ที่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะท่าน” (ปฐก 12:3) อาศัยความเชื่อ พระนางมารีย์ก็เป็นมารดาของผู้มีความเชื่อทั้งหลายเพราะโดยทางพระนางชนทุกชาติทั่วแผ่นดินได้รับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระพรจากพระเจ้า “พระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก”


ลก 1:31 เยซู : ชื่อภาษาฮีบรูนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น (YHWH)” ซึ่งเป็นการเน้นถึงทั้(เอกลักษณ์และพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ โดยทางพระบุคคล พระวาจา และการกระทำของพระองค์ คือการเปิดเผยที่สมบูรณ์ของพระเจ้าต่อประชากร และการพลีบูชาบนกางเขนของพระองค์นั้นได้นำความรอดพ้นมาสู่โลก

CCC ข้อ 430 “เยซู” ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงช่วยให้รอดพ้น” เมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลมาแจ้งข่าว ท่านถวายพระนามให้พระองค์ว่า “เยซู” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็แสดงถึงพันธกิจของพระองค์ด้วย ในเมื่อไม่มีใคร “อภัยบาปได้ นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) พระองค์จึง “จะทรงช่วยประชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาป” (มธ 1:21) ในพระเยซูเจ้าพระบุตรนิรันดรของพระองค์ ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ดังนี้ ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าจึงทรงเริ่มประวัติศาสตร์ของพระองค์ที่จะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นขึ้นมาใหม่

CCC ข้อ 431 ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระเจ้าไม่ทรงต้องการเพียงช่วยอิสราเอลให้พ้น “จากการเป็นทาส” (ฉธบ 5:6) ช่วยให้ออกมาจากอียิปต์ พระองค์ยังทรงช่วยเขาให้พ้นจากบาปด้วย เพราะบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้าเสมอ พระองค์เท่านั้นจึงทรงอภัยบาปได้ เพราะเหตุนี้ อิสราเอลซึ่งมีสำนึกยิ่งๆ ขึ้นอยู่เสมอว่าบาปครอบคลุมมนุษย์ทั้งมวล จึงไม่อาจแสวงหาความรอดพ้นได้อีกนอกจากจะร้องหาพระนามของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นเท่านั้น

CCC ข้อ 435 พระนามเยซูเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐานภาวนาของคริสตชน คำภาวนาทางพิธีกรรมทุกบทล้วนลงท้ายด้วยสูตรว่า “อาศัยพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย” บท “วันทามารีย์” มีจุดยอดอยู่ที่คำว่า “และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” บทภาวนายกจิตใจของคริสตชนตะวันออกที่เรียกว่า “บทภาวนาเยซู” (JESUS PRAYER) มีข้อความว่า “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระเมตตาข้าพเจ้าคนบาปเถิด” คริสตชนจำนวนมาก อย่างเช่นนักบุญโยนออฟอาร์ค สิ้นใจขณะที่ออกพระนาม “เยซู” จากปากของตน

CCC ข้อ 2812 ในที่สุด พระนามของพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้รับการเปิดเผยและประทานให้เราในพระเยซูเจ้าพระผู้ไถ่ที่ทรงรับสภาพมนุษย์ ได้รับการเปิดเผยจากสภาพที่พระองค์เองทรงเป็น จากพระวาจาที่ตรัสและจากการถวายบูชาของพระองค์ การเปิดเผยนี้เป็นหัวใจของคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในฐานะมหาสมณะ เมื่อตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา ข้าพเจ้าถวายตนเป็นบูชาสำหรับเขา เพื่อเขาจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริงด้วย” (ยน 17:19) เพราะว่าพระเยซูเจ้าทรง “บันดาลความศักดิ์สิทธิ์” แก่พระนามของพระองค์ ก็ยังทรง “แสดง” พระนามของพระบิดาให้แก่เราด้วย เมื่อปัสกาของพระเยซูเจ้าสิ้นสุดแล้ว พระบิดาก็ประทานพระนามที่ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นให้แก่พระองค์ด้วยโดยทรงประกาศว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าพระบิดา


ลก 1:32-33 ดาวิดบรรพบุรุษของเขา : ถึงแม้ว่าพระคริสตเจ้าไม่ใช่บุตรของยอแซฟโดยธรรมชาติ แต่ภายใต้กฎหมายของชาวยิวนั้น ถือว่าพระองค์ทรงเป็นบุตรของท่าน และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเป็นลูกหลานของดาวิดเช่นเดียวกับบิดาเลี้ยงของพระองค์ วงศ์ตระกูลของยาโคบ : วลีนี้กล่าวถึงอาณาจักรของอิสราแอลทั้งหมด อันเป็นตัวแทนของบุตรทั้ง 12 คนของยาโคบ ซึ่งได้เป็นโดยการชัยชนะ การเนรเทศ และการแทรกซึมเข้าสู่ดินแดนของชาวต่างชาติ อาณาจักรใหม่ที่พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้นนี้คือผลงานของพระจิตเจ้า 

CCC ข้อ 559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด[326] พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ  พระศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพ มิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักร พระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า “ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า จงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “SANCTUS [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเ พื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

CCC ข้อ 709 ธรรมบัญญัติ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งพระสัญญาและพันธสัญญา น่าจะได้ปกครองดูแลจิตใจและสถาบันต่างๆ ของประชากรที่เกิดจากความเชื่อของอับราฮัม “ถ้าท่านทั้งหลายเชื่อฟังเราและรักษาพันธสัญญาของเราไว้ […] ท่านจะเป็นอาณาจักรสมณะ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (อพย 19:5-6) แต่หลังจากกษัตริย์ดาวิด อิสราเอลก็พ่ายแพ้การประจญที่จะแต่งตั้งกษัตริย์เหมือนกับชนชาติอื่น แต่พระอาณาจักรตามพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับดาวิดนั้นควรจะเป็นผลงานของพระจิตเจ้านั่นคือเป็นของคนที่มี “จิตใจยากจน”


ลก 1:34 เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไรเพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะเป็นพรหมจารี : แปลตามตัวอักษรจากภาษากรีก คือ “ข้าพเจ้าไม่รู้จักชายใด” ข้อความนี้บ่งบอกถึงความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์ การรับเอากายของพระคริสตเจ้าเป็นงานของพระเจ้าซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์

CCC ข้อ 484 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:26-38)

CCC ข้อ 497 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:26-38)

CCC ข้อ 498 บางครั้งหลายคนรู้สึกสับสนเรื่องการปฏิสนธิจากหญิงพรหมจารี เพราะพระวรสารของมาระโกและจดหมายต่างๆ ในพันธสัญญาใหม่ไม่กล่าวถึงเรื่องนี้บางคนอาจคิดว่านี่เป็นเพียงนิยายหรือความคิดทางเทววิทยาที่แต่งขึ้นโดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราต้องตอบข้อกังขานี้ว่า ความเชื่อเรื่องการปฏิสนธิของพระเยซูเจ้าจากหญิงพรหมจารีถูกโต้แย้ง ได้รับการเยาะเย้ย หรือความไม่เข้าใจอย่างรุนแรง ตลอดมาจากชาวยิวและชนต่างชาติผู้ไม่มีความเชื่อ เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดมาจากตำนานเทพของคนต่างศาสนา หรือจากการปรับให้เข้ากับความคิดร่วมสมัย ความเชื่อเท่านั้นอาจเข้าใจความหมายของเหตุการณ์นี้ได้ ความเชื่อเข้าใจเหตุการณ์นี้ “ในความสัมพันธ์กันของพระธรรมล้ำลึกต่างๆ” ในประมวลพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า นับตั้งแต่การรับสภาพมนุษย์จนถึงปัสกาของพระองค์ นักบุญอิกญาซีโอแห่งอันทิโอคก็เป็นพยานยืนยันถึงความสัมพันธ์นี้แล้วว่า “ความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์และการที่พระนางประสูติพระบุตรถูกซ่อนไว้ไม่ให้เจ้านายของโลกนี้ได้เห็น เช่นเดียวกับการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระธรรมล้ำลึกสามประการที่เราต้องประกาศนี้สำเร็จไปในความเงียบของพระเจ้า”

CCC ข้อ 499 การไตร่ตรองลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความเชื่อในการเป็นพระมารดาพรหมจารีทำให้พระ ศาสนจักรประกาศยืนยันว่าการเป็นพรหมจารีนี้เป็นความเป็นจริงและคงอยู่เสมอ แม้ในการประสูติพระบุตรพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ อันที่จริง การสมภพของพระคริสตเจ้า “มิได้ทำให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระนางด้อยลง แต่กลับทำให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น” พิธีกรรมของพระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองพระนางมารีย์ว่าทรงเป็น “aeiparthenos” หรือ “ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ”

CCC ข้อ 500 บางครั้งมีผู้แย้งคำสอนนี้โดยอ้างว่าพระคัมภีร์กล่าวถึง “พี่น้องชายหญิง” ของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรเข้าใจเสมอมาว่าข้อความเหล่านี้มิได้หมายถึงบุตรคนอื่นของพระนางพรหมจารีมารีย์ จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ “พี่น้อง” ของพระเยซูเจ้า (มธ 13:55) นี้เป็นบุตรของมารีย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งมัทธิวกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 28:1) ข้อความเหล่านี้จึงหมายถึงญาติใกล้ชิดตามสำนวนที่ใช้และรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม

  CCC ข้อ 501 พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระนางมารีย์ แต่ความเป็นพระมารดาฝ่ายจิตของพระนางมารีย์แผ่ขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาทรงกอบกู้ “พระนางประสูติพระบุตรซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก (เทียบรม 8:29) ซึ่งหมายถึงผู้มีความเชื่อที่พระนางทรงร่วมมือให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนด้วยความรักเยี่ยงมารดา”

CCC ข้อ 502 ถ้าพิจารณาความเชื่อร่วมกับเรื่องราวทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเปิดเผย เราอาจค้นพบเหตุผลที่พระเจ้าทรงมีในแผนการความรอดพ้นเมื่อทรงประสงค์ให้พระบุตรทรงประสูติจากพระมารดาพรหมจารี เหตุผลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระบุคลิกและพันธกิจกอบกู้ของพระคริสตเจ้า และยังขึ้นกับการยอมรับของพระนางมารีย์เพื่อจะมีส่วนร่วมในพันธกิจนี้เพื่อมวลมนุษย์อีกด้วย

CCC ข้อ 503 สภาพความเป็นพรหมจารีของพระนางมารีย์แสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ริเริ่มอย่างสมบูรณ์ในการที่พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงมีพระเจ้าเท่านั้นเป็นพระบิดา “พระองค์ไม่ทรงแตกต่างจากพระบิดาเลยเพราะพระธรรมชาติมนุษย์ที่ทรงรับเพื่อกอบกู้มนุษย์ [….] พระองค์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวทั้งของพระเจ้าและของมนุษย์ ทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าเหมือนพระบิดา และทรงมีพระธรรมชาติมนุษย์เหมือนพระมารดา แต่ทรงเป็นพระบุตรของพระบิดาโดยแท้จริงในทั้งสองพระธรรมชาติ”

  CCC ข้อ 504 พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางพรหมจารีมารีย์เดชะพระจิตเจ้าเพราะทรงเป็นอาดัมคนใหม่ ซึ่งทรงสถาปนาการเนรมิตสร้างใหม่ “มนุษย์คนแรกมาจากดิน เป็นมนุษย์ดิน มนุษย์คนที่สองมาจากสวรรค์” (1 คร 15:47) พระธรรมชาติมนุษย์ของพระคริสตเจ้านับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม เพราะพระเจ้า “ประทานพระจิตเจ้าให้พระองค์อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34) “จากความไพบูลย์ของพระองค์” ความไพบูลย์ซึ่งเป็นของพระองค์โดยเฉพาะเพราะทรงเป็นประมุขของมนุษยชาติที่ได้รับการไถ่กู้แล้ว“เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน1:16)

  CCC ข้อ 505 พระเยซูเจ้า อาดัมคนใหม่ ทรงใช้การที่ทรงปฏิสนธิจากพระมารดาพรหมจารีเพื่อสถาปนาการบังเกิดใหม่ของบรรดาบุตรบุญธรรมในพระจิตเจ้าอาศัยความเชื่อ “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร” (ลก 1:34) การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าไม่ได้ “เกิดจากสายเลือด มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:13) ชีวิตนี้ได้รับมาประหนึ่งจากหญิงพรหมจารี เพราะพระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์จากพระจิตเจ้า ความหมายของการที่มนุษย์ได้รับเรียกมามีความสัมพันธ์คล้ายการหมั้นไว้กับพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ไปในการที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาพรหมจารี

  CCC ข้อ 506 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีเพราะการเป็นพรหมจารีของพระนางเป็นเครื่องหมายความเชื่อ “ที่ไม่มีความสงสัยใดๆ เจือปน” และเป็นการมอบตนปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่แบ่งแยก ความเชื่อของพระนางทำให้พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ “พระนางมารีย์ทรงเป็นสุขเพราะทรงมีความเชื่อในพระคริสตเจ้ายิ่งกว่าเพราะทรงปฏิสนธิพระวรกายของพระคริสตเจ้า”

  CCC ข้อ 507 พระนางมารีย์ทรงเป็นทั้งพรหมจารีและมารดาเพราะทรงเป็นภาพลักษณ์และความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของพระศาสนจักร “เมื่อพระศาสนจักร […] รับพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเชื่อ ก็เป็นมารดา เพราะโดยการประกาศพระวาจาและอาศัยศีลล้างบาป ก็ให้กำเนิดบุตรที่ปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า และบังเกิดจากพระเจ้า ทำให้มี ชีวิตใหม่และอมต พระศาสนจักรเองก็เป็นดังพรหมจารีซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ที่ให้แก่พระสวามีไว้อย่างสมบูรณ์และบริสุทธิ์”

CCC ข้อ 508 พระเจ้าทรงเลือกสรรพระนางพรหมจารีมารีย์จากเชื้อสายของนางเอวาให้เป็นพระมารดาพระบุตรของพระองค์ พระนางทรง “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ทรงเป็น “ผลประเสริฐสุดของการกอบกู้ นับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ พระเจ้าทรงปกป้องพระนางไว้ให้พ้นจากมลทินทั้งสิ้นของบาปกำเนิดและพระนางทรงดำรงอยู่บริสุทธิ์จากบาปส่วนตัวทั้งหลายตลอดพระชนมชีพของพระนาง

CCC ข้อ 509 พระนางมารีย์ทรงเป็น “พระมารดาพระเจ้า” โดยแท้จริง เพราะพระนางทรงเป็นพระมารดาพระบุตรนิรันดรของพระเจ้า พระบุตรซึ่งทรงเป็นพระเจ้าได้ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์

CCC ข้อ 510 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีอยู่เสมอ “ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงปฏิสนธิพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงประสูติพระบุตรทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงครรภ์ ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงเลี้ยงดูพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีตลอดไป” ทรงเป็น “ผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” อย่างสมบูรณ์ (ลก 1:38)

CCC ข้อ 511 พระนางมารีย์พรหมจารีทรงร่วมงานกับพระเจ้า “เพื่อความรอดของมนุษยชาติด้วยความเชื่อและความเชื่อฟังอย่างอิสระ” พระนางทรงตอบรับพระเจ้า “แทนมวลมนุษยชาติ” โดยความเชื่อฟัง พระนางจึงกลายเป็นนางเอวาใหม่ มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย


ลก 1:35-37 ให้สังเกตเมื่อทูตสวรรค์กาเบรียลกล่าวถึงพระบุคคลของพระตรีเอกภาพ : “พระจิต” “พระผู้สูงสุด” และ “พระบุตรของพระเจ้า”  แผ่เงาปกคลุมท่าน : ในภาษากรีก EPISKIASEI เป็นคำเดียวกันกับที่ใช้ในตำนาน SEPTUAGINT  เพื่อกล่าวถึงวิธีการที่พระเจ้าทรง “ปกคลุม” หีบพระบัญญัติ และประทับอยู่กับชาวอิสราแอล (EPESKIAZEN; เทียบ อพย 40:35) คำนี้ยังปรากฏให้เห็นในการที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ (EPESKIAZEN; เทียบ ลก 9:34)  และในการรักษาด้วยเงาของเปโตร (EPISKIASEI: เทียบ กจ 5:15) การแสดงองค์ของพระเจ้าด้วยเมฆและแสงสว่างมักใช้ในพระคัมภีร์เพื่อบ่งบอกถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าที่ไม่สามารถปิดบังไว้ได้ ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้ : พระเจ้าทรงสามารถกระทำทุกสิ่งที่เกินขอบเขตความเป็นไปได้ของมนุษย์ ความเชื่อของพระนางมารีย์ทำให้พระนางทรงยอมรับพระพลานุภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้า เราก็เช่นกันที่รับรู้ถึงพระพลานุภาพของพระเจ้าในพิธีบูชาของพระคุณ เมื่อพระสงฆ์กล่าวถึงพระเจ้าในฐานะ “พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ดำรงชีพตลอดนิรันดร” 

CCC ข้อ  269 พระคัมภีร์กล่าวบ่อยๆ ว่าพระอานุภาพของพระเจ้าครอบคลุมทุกสิ่ง พระองค์ทรงได้รับพระนามว่า “พระผู้ทรงอานุภาพแห่งยาโคบ” (ปฐก 49:24; อสย 1:24 และที่อื่นๆ) “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพลัง” “ทรงเข้มแข็งและทรงอานุภาพ” (สดด 24:8-10) ดังนั้น พระเจ้าจึงทรงสรรพานุภาพ “ในท้องฟ้าและบนแผ่นดิน” (สดด 135:6) เพราะพระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งเหล่านี้ ไม่มีอะไรที่ทรงทำไม่ได้[92] และทรงจัดผลงานทุกสิ่งตามพระประสงค์ พระองค์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของจักรวาลที่ทรงจัดระเบียบให้อยู่ใต้พระอำนาจอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของประวัติศาสตร์ ทรงควบคุมจิตใจและเหตุการณ์ต่างๆ ตามพระประสงค์ “เพราะพระองค์ทรงเลือกใช้พระอานุภาพยิ่งใหญ่ได้เสมอ ใครเล่าจะต้านทานพลังแห่งพระกรของพระองค์ได้” (ปชญ 11:21)

CCC ข้อ 270 พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ การที่ทรงเป็นพระบิดาและพระอานุภาพนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพเยี่ยงพระบิดาโดยวิธีการที่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการของเรา โดยทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรม (“เราจะเป็นเหมือนบิดาของท่าน และท่านจะเป็นเหมือนบุตรและธิดาของเรา พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพตรัสดังนี้”: 2 คร 6:18) ในที่สุด เพราะทรงพระกรุณาอย่างที่สุด พระองค์ทรงสำแดงพระอานุภาพอย่างยิ่งโดยทรงอภัยบาปให้อย่างอิสระเสรี

  CCC ข้อ 271 พระสรรพานุภาพของพระเจ้าหาได้ไร้เหตุผลไม่ “ในพระเจ้านั้น พระอานุภาพ ความเป็นอยู่ พระประสงค์ พระปัญญา พระปรีชาและความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดในพระอานุภาพของพระเจ้าที่ไม่อาจอยู่ในพระประสงค์ที่ยุติธรรม และในพระปัญญาที่ทรงปรีชาของพระองค์ได้”

CCC ข้อ 272 ความเชื่อในพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพอาจถูกทดสอบได้จากประสบการณ์ความชั่วร้ายและความทุกข์ บางครั้งอาจดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ทรงอยู่ที่นี่และไม่ทรงสามารถขัดขวางความชั่วร้ายได้ ดังนั้นพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพจึงทรงเปิดเผยพระสรรพานุภาพของพระองค์ด้วยวิธีการที่ลึกลับอย่างมากในการที่พระบุตรทรงยินดีถ่อมพระองค์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ โดยวิธีนี้พระองค์ทรงพิชิตความชั่วร้าย ดังนี้พระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนจึงเป็นพระอานุภาพและพระปรีชาของพระเจ้า “ความโง่เขลาของพระเจ้ายังฉลาดยิ่งกว่าปรีชาญาณของมนุษย์ และความอ่อนแอของพระเจ้าก็ยังเข้มแข็งยิ่งกว่าพละกำลังของมนุษย์” (1 คร 1:25) เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงได้รับพระเกียรติ พระบิดาทรงแสดง “พระอานุภาพยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อเราผู้มีความเชื่อ” (เทียบ อฟ 1:19-22)

CCC ข้อ 273 ความเชื่อเท่านั้นอาจยอมรับวิธีการล้ำลึกที่พระเจ้าทรงสำแดงพระสรรพานุภาพได้ ความเชื่อนี้ภูมิใจในความอ่อนแอของตนเพื่อชักนำพละกำลังของพระคริสตเจ้าให้มาอยู่กับตน พระนามพรหมจารีมารีย์ทรงเป็นแบบฉบับสูงสุดของความเชื่อเช่นนี้ พระนางทรงเชื่อว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37) และทรงประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้ว่า “พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์” (ลก 1:49)

  CCC ข้อ 274 “ไม่มีสิ่งใดทำให้ความเชื่อและความหวังของเรามั่นคงได้เท่ากับการที่เรามีใจเชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้ เพราะถ้าเหตุผลของมนุษย์ยอมรับว่าพระเจ้าทรงสรรพานุภาพแล้ว   สิ่งใดไม่ว่าที่เราจำเป็นต้องเชื่อต่อไป แม้จะยิ่งใหญ่ น่าพิศวง และอยู่เหนือระเบียบและวิธีการของธรรมชาติสักเพียงไร เราก็อาจรับได้โดยไม่ลังเลใจเลยว่าเป็นเรื่องง่ายสำหรับพระองค์”

CCC ข้อ 275 เราประกาศพร้อมกับโยบผู้ชอบธรรมว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์ทรงกระทำได้ทุกสิ่ง ไม่มีผู้ใดขัดขวางพระประสงค์ของพระองค์ได้” (โยบ 42:2)

  CCC ข้อ 276 พระศาสนจักรเชื่อคำยืนยันของพระคัมภีร์ ถวายคำอธิษฐานภาวนาต่อ “พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพสถิตนิรันดร” (ภาษาละตินว่า “OMNIPOTENS SEMPITERNE DEUS….”) โดยเชื่อมั่นว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:37)

CCC ข้อ 437 ทูตสวรรค์แจ้งข่าวการสมภพของพระเยซูเจ้าว่าเป็นการสมภพของพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้แก่อิสราเอล “วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูตรเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:11) ตั้งแต่แรกแล้ว พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่พระบิดาทรงบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งมาในโลก” (ยน 10:36) เป็น “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งปฏิสนธิในพระครรภ์พรหมจารีของพระนางมารีย์ พระเจ้าทรงเรียกโยเซฟให้มารับพระนางมารีย์ผู้ทรงครรภ์แล้วเป็นภรรยา เพราะ “เด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางนั้นมาจากพระจิตเจ้า” (มธ 1:20) เพื่อให้พระเยซูเจ้า “ที่ขานพระนามว่า ‘พระคริสตเจ้า’” จะได้เกิดจากภรรยาของโยเซฟ อยู่ในลำดับวงศ์ตระกูลพระเมสสิยาห์ของกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:16)

CCC ข้อ 505 พระเยซูเจ้า อาดัมคนใหม่ ทรงใช้การที่ทรงปฏิสนธิจากพระมารดาพรหมจารีเพื่อสถาปนาการบังเกิดใหม่ของบรรดาบุตรบุญธรรมในพระจิตเจ้าอาศัยความเชื่อ “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร” (ลก 1:34) การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้าไม่ได้ “เกิดจากสายเลือด มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:13) ชีวิตนี้ได้รับมาประหนึ่งจากหญิงพรหมจารี เพราะพระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์จากพระจิตเจ้า ความหมายของการที่มนุษย์ได้รับเรียกมามีความสัมพันธ์คล้ายการหมั้นไว้กับพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ไปในการที่พระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาพรหมจารี

CCC ข้อ 506 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีเพราะการเป็นพรหมจารีของพระนางเป็นเครื่องหมายความเชื่อ “ที่ไม่มีความสงสัยใดๆ เจือปน” และเป็นการมอบตนปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่แบ่งแยก ความเชื่อของพระนางทำให้พระนางทรงเป็นพระมารดาของพระผู้ไถ่ “พระนางมารีย์ทรงเป็นสุขเพราะทรงมีความเชื่อในพระคริสตเจ้ายิ่งกว่าเพราะทรงปฏิสนธิพระวรกายของพระคริสตเจ้า”

CCC ข้อ 507 พระนางมารีย์ทรงเป็นทั้งพรหมจารีและมารดาเพราะทรงเป็นภาพลักษณ์และความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของพระศาสนจักร “เมื่อพระศาสนจักร […] รับพระวาจาของพระเจ้าด้วยความเชื่อ ก็เป็นมารดา เพราะโดยการประกาศพระวาจาและอาศัยศีลล้างบาป ก็ให้กำเนิดบุตรที่ปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า และบังเกิดจากพระเจ้า ทำให้มี ชีวิตใหม่และอมต พระศาสนจักรเองก็เป็นดังพรหมจารีซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ที่ให้แก่พระสวามีไว้อย่างสมบูรณ์และบริสุทธิ์”

CCC ข้อ 697 “เมฆและแสงสว่าง”  สัญลักษณ์ทั้งสองประการนี้แยกกันไม่ได้ในการสำแดงองค์ของพระจิตเจ้า ตั้งแต่การสำแดงพระองค์ในพันธสัญญาเดิมแล้ว เมฆทั้งที่มืดคลุ้มหรือส่องแสงจ้าเปิดเผยพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์   และกอบกู้ เป็นการเปิดเผยพระสิริรุ่งโรจน์ที่อยู่เหนือทุกสิ่งของพระองค์ เช่นกับโมเสสบนภูเขาซีนาย เหนือกระโจมนัดพบ ตลอดเวลาการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร แก่กษัตริย์ซาโลมอนในโอกาสถวาย   พระวิหาร ดังนั้น พระคริสตเจ้าทรงทำให้ภาพลักษณ์เหล่านี้สำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระจิตเจ้า พระจิตเจ้าทรง “แผ่เงา” ปกคลุมพระนางมารีย์พรหมจารีเพื่อให้พระนางปฏิสนธิและให้กำเนิดพระเยซูเจ้า บนภูเขาที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระจิตเจ้าเสด็จมาในเมฆซึ่งปกคลุมพระเยซูเจ้า โมเสสและประกาศกเอลียาห์รวมทั้งเปโตร ยากอบและยอห์น “และเสียงหนึ่งดังออกมาจากเมฆว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด’” (ลก 9:35) เมฆเช่นเดียวกันนี้เองในที่สุดก็ “บังพระเยซูเจ้าจากสายตา” ของบรรดาศิษย์ในวันที่เสด็จสู่สวรรค์ และจะเปิดเผยบุตรแห่งมนุษย์ในพระสิริรุ่งโรจน์ในวันที่พระองค์จะเสด็จกลับมา


ลก 1:38 ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า : ในการน้อมรับและเชื่อฟังพระเจ้านั้น พระนางมารีย์ทรงมอบถวายตัวพระนางทั้งครบเป็นของขวัญ ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด : คำกล่าวของพระนางมารีย์ในที่นี้แสดงถึงความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมและการน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้า พระนางไม่เพียงแต่ยอมรับแผนการของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังน้อมรับไว้ในชีวิตของพระนางอย่างสุดดวงใจ พระนางมารีย์ทรงมอบอุทิศตัวเองอย่างสมบูรณ์เพื่อองค์พระบุตรและพันธกิจของพระองค์ "พระบิดาแห่งความเมตตาทรงปรารถนาให้การเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์นี้ สำเร็จไปได้อาศัยการยินยอมในส่วนของพระมารดาผุ้ทรงถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ดังที่หญิงคนหนึ่งมีส่วนร่วมในการนำความตายเข้ามา ดังนั้นหญิงจึงควรมีส่วนร่วมในการนำชีวิตมาให้ด้วย " (LG 56; เทียบ LG 61) ดังนั้นพระนางมารีย์จึงได้รับยกย่องว่าเป็นเอวาใหม่ ดังที่นักบุญอีเรเนอุสอธิบายว่า “ปมของการไม่เชื่อฟังของเอวานั้น ได้รับการแก้โดยความเชื่อฟังของพระนางมารีย์ : สิ่งที่เอวาผูกมัดไว้โดยการไม่เชื่อฟังของนาง พระนางมารีย์ได้คลายออกด้วยความเชื่อของพระนาง” (AGAINST HERESIES, 3, 22, 4: PG 7/1, 959 A)

CCC ข้อ 64 อาศัยบรรดาประกาศก พระเจ้าทรงจัดให้ประชากรของพระองค์มีความหวังจะได้รับความรอดพ้น โดยการรอคอยพันธสัญญาใหม่อันยืนยงที่ทรงกำหนดไว้สำหรับมวลมนุษย์ และทรงจารึกไว้ในใจของทุกคน บรรดาประกาศกประกาศล่วงหน้าถึงการกอบกู้ประชากรของพระเจ้าจนถึงที่สุดให้บริสุทธิ์จากความไม่ซื่อสัตย์ทั้งปวง ประกาศความรอดพ้นที่ครอบคลุมชนทุกชาติ บรรดาผู้ยากจนและต่ำต้อยขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยเฉพาะ จะมีความหวังนี้ บรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายท่าน เช่น นางซาราห์ เรเบคาห์ ราเคล มีเรียม เดโบราห์ ฮันนาห์ ยูดิธ เอสเธอร์ ได้รักษาความหวังนี้ไว้อย่างเหนียวแน่น พระนางมารีย์ทรงเป็นภาพบริสุทธิ์ที่สุดของความหวังประการนี้

CCC ข้อ 488 “พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์” (กท 4:4) แต่เพื่อทรงจัดเตรียมร่างกายไว้สำหรับพระบุตรนี้ พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์คนหนึ่งมีส่วนร่วมงานด้วย เพื่อการนี้ ตั้งแต่นิรันดร พระเจ้าทรงเลือกธิดาของอิสราเอล หญิงสาวชาวยิวจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี “หญิงพรหมจารีซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์” (ลก 1:26-27) ให้เป็นพระมารดาของพระบุตรของพระองค์ “พระบิดาเจ้าผู้ทรงพระกรุณาทรงประสงค์ให้มีการยอมรับของพระมารดาก่อนที่พระบุตรจะทรงรับสภาพมนุษย์ ก็เพื่อว่า หญิงคนหนึ่งได้นำเรามนุษย์ไปสู่ความตายฉันใด หญิงอีกคนหนึ่งก็จะนำเราไปรับชีวิตฉันนั้น”

  CCC ข้อ 489 ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดของพันธสัญญาเดิม พันธกิจของสตรีศักดิ์สิทธิ์หลายคนได้เตรียมพันธกิจของพระนางมารีย์แล้ว ตั้งแต่แรกเริ่ม นางเอวาซึ่งแม้มิได้เชื่อฟังพระเจ้า ก็ได้รับพระสัญญาจากพระองค์ว่านางจะมีเชื้อสายผู้หนึ่งซึ่งจะมีชัยชนะต่อเจ้ามารร้าย และรับพระสัญญาว่าจะเป็นมารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย[132]จากพระสัญญานี้ แม้นางซาราห์จะชรามากแล้ว ก็ยังให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งเหนือความคาดหมายของมนุษย์ พระเจ้าทรงเลือกสิ่งที่ใครๆ คิดว่าไร้พลังและอ่อนแอ เพื่อทรงแสดงว่าทรงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญา ทรงเลือกนางอันนา มารดาของซามูเอล นางเดโบราห์ รูธ ยูดิธ เอสเธอร์ และสตรีอื่นๆ อีกหลายคน พระนางมารีย์ “ทรงเด่นในหมู่ผู้ต่ำต้อยและยากจนขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาเหล่านี้มีความมั่นใจหวังจะได้รับความรอดพ้นจากพระองค์ และก็ได้รับ ในที่สุด หลังจากที่ได้รอคอยพระสัญญามาเป็นเวลานาน กาลเวลาและแผนการกอบกู้แบบใหม่ก็สำเร็จลงในธิดาผู้สูงส่งแห่งศิโยนผู้นี้”

CCC ข้อ 490-493 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:28)

CCC ข้อ 494 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 1:26-38)

CCC ข้อ 508 พระเจ้าทรงเลือกสรรพระนางพรหมจารีมารีย์จากเชื้อสายของนางเอวาให้เป็นพระมารดาพระบุตรของพระองค์ พระนางทรง “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ทรงเป็น “ผลประเสริฐสุดของการกอบกู้ นับตั้งแต่ทรงปฏิสนธิ พระเจ้าทรงปกป้องพระนางไว้ให้พ้นจากมลทินทั้งสิ้นของบาปกำเนิดและพระนางทรงดำรงอยู่บริสุทธิ์จากบาปส่วนตัวทั้งหลายตลอดพระชนมชีพของพระนาง

CCC ข้อ 509 พระนางมารีย์ทรงเป็น “พระมารดาพระเจ้า” โดยแท้จริง เพราะพระนางทรงเป็นพระมารดาพระบุตรนิรันดรของพระเจ้า พระบุตรซึ่งทรงเป็นพระเจ้าได้ทรงรับสภาพเป็นมนุษย์

CCC ข้อ 510 พระนางมารีย์ทรงเป็นพรหมจารีอยู่เสมอ “ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงปฏิสนธิพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงประสูติพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงครรภ์ ทรงเป็นพรหมจารีเมื่อทรงเลี้ยงดูพระบุตร ทรงเป็นพรหมจารีตลอดไป” ทรงเป็น “ผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” อย่างสมบูรณ์ (ลก 1:38) 

CCC ข้อ 2617  การอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ถูกเปิดเผยให้เราเห็นตอนรุ่งอรุณของเวลาที่กำหนด ก่อนที่พระบุตรของพระเจ้าจะทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และก่อนที่พระจิตเจ้าจะเสด็จมา การอธิษฐานภาวนาของพระนางก็ร่วมงานเป็นพิเศษกับแผนการพระกรุณาของพระบิดา เมื่อทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวการปฏิสนธิของพระคริสตเจ้า ในวันเปนเตกอสเตเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักร พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า[88] มนุษยชาติได้รับของประทานจากพระเจ้าที่พระองค์ทรงหวังไว้ตั้งแต่เริ่มแรกอาศัยความเชื่อของหญิงผู้รับใช้ที่ถ่อมตนของพระองค์ พระนางซึ่งพระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงบันดาลให้ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ได้ตอบสนองพระองค์โดยการถวายตัวพระนางโดยสิ้นเชิง “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” วลี “ขอให้เป็นไป” นี้เป็นการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน เราเป็นของพระองค์ได้ทั้งหมดก็เพราะพระองค์ทรงเป็นของเราทั้งหมดนั่นเอง

CCC ข้อ 2827 “พระเจ้าทรงฟัง [...] ผู้ที่ [...] ปฏิบัติตามพระประสงค์เท่านั้น” (ยน 9:31) การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ ทรงพลังอย่างยิ่ง การอธิษฐานภาวนานี้ยังเป็นการวอนขอร่วมกับพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า และร่วมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เคยเป็น “ที่โปรดปราน” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะเขาเหล่านี้ไม่ได้ปรารถนาอะไรอื่นนอกจากพระประสงค์ของพระองค์  “ไม่มีอะไรผิดจากความจริงเมื่อเราเข้าใจว่า ‘พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์’ มีความหมายเหมือนกับว่า ‘สำเร็จในพระศาสนจักรเหมือนในองค์พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา’ เหมือนดังในบุรุษผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา และในสตรีที่เป็นเจ้าสาวของพระองค์”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE WITH COMMENTARIES BASED ON THE CATECHISM OF THE CATHOLIC CHURCH, IGNATIUS BIBLE EDITION)