วันพุธสัปดาห์ที่ 30 (ปีคู่)
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 6:12-19)
ครั้งนั้น พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาและทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน ครั้นรุ่งเช้า พระองค์ทรงเรียกบรรดาศิษย์เข้ามาแล้วทรงคัดเลือกไว้สิบสองคน ประทานนามว่า “อัครสาวก” คือซีโมน ซึ่งเรียกว่าเปโตร อันดรูว์น้องชายของเขา ยากอบ ยอห์น ฟีลิป บาร์โธโลมิว มัทธิว โทมัส ยากอบบุตรอัลเฟอัส ซีโมนผู้มีสมญาว่า “ผู้รักชาติ” ยูดาสบุตรของยากอบ และยูดาสอิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้จะเป็นผู้ทรยศ
พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีศิษย์กลุ่มใหญ่และประชาชนจำนวนมากจากทั่วแคว้นยูเดีย จากกรุงเยรูซาเล็ม จากเมืองไทระ และจากเมืองไซดอนซึ่งอยู่ริมทะเล มาฟังพระองค์ และรับการรักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บของตน บรรดาผู้ที่ถูกปีศาจรบกวนได้รับการรักษาด้วย ประชาชนทุกคนพยายามสัมผัสพระองค์ เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์ รักษาทุกคนให้หาย
ลก 6:12-16 ในขณะที่มีหลายต่อหลายคนติดตามเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า พระองค์ได้ทรงเลือกชาย 12 คน ให้เป็นอัครสาวกของพระองค์ และหลังจากนั้น บรรดาอัครสาวกก็คัดเลือกคนอื่น ๆ อีกให้สานต่องานเผยแผ่ศาสนาของพวกเขา บรรดาบิชอปของพระศาสนจักรคาทอลิกโดยมีสมเด็จพระสันตปาปาผู้ทรงสืบทอดตำแหน่งจากเปโตร เป็นหัวหน้าของบรรดาผู้สืบตำแหน่งต่อจากอัครสาวกสิบสององค์ เลข 12 นั้น เป็นสัญลักษณ์ถึง 12 เผ่าพันธุ์ของอิสราเอล พระศาสนจักรที่พระคริสตเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นนั้น เป็นตัวแทนของอาณาจักรอิสราแอลใหม่ พระคริสตเจ้าทรงใช้เวลาหนึ่งคืนในการอธิษฐานภาวนา ก่อนที่จะเลือกอัครสาวกของพระองค์
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 880 เมื่อพระคริสตเจ้าทรงเรียกศิษย์สิบสองคนนั้น “ทรงแต่งตั้งเขาไว้ให้เป็นกลุ่มหรือคณะถาวร และทรงเลือกเปโตรให้เป็นหัวหน้า” “เช่นเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแต่งตั้ง นักบุญเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ก็รวมกันเป็นคณะอัครสาวกกลุ่มเดียว ในทำนองเดียวกันสมเด็จพระสันตะปาปาผู้สืบตำแหน่งต่อจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชก็รวมกันเป็นผู้สืบตำแหน่งต่อมาจากบรรดาอัครสาวกด้วย”
CCC ข้อ 881 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ซีโมนคนเดียวที่ทรงให้นามว่า “เปโตร” เป็นศิลาตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงมอบกุญแจ(พระศาสนจักร)ให้เขา ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อภิบาลดูแลฝูงแกะทั้งหมด “เห็นได้ชัดว่าบทบาทที่จะผูกและแก้ที่เปโตรได้รับนี้ยังได้ทรงมอบให้แก่ คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนอีกด้วย” บทบาทผู้อภิบาลนี้ของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับรากฐานของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชสืบต่อบทบาทนี้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุข
CCC ข้อ 882 สมเด็จพระสันตะปาปา พระสังฆราชแห่งกรุงโรมและผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร “เป็นบ่อเกิดและเป็นรากฐานถาวรที่เราแลเห็นได้ของเอกภาพทั้งของบรรดาพระสังฆราชและของบรรดาผู้มีความเชื่อทั้งหลาย” “สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอำนาจบริบูรณ์สูงสุดเหนือพระศาสนจักรตามบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้แทนของพระคริสตเจ้าและผู้อภิบาลดูแลพระศาสนจักรทั้งหมดและทรงใช้อำนาจนี้ได้อย่างอิสระเสรีเสมอ”
CCC ข้อ 883 “ส่วนคณะพระสังฆราชมีอำนาจปกครองร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปา […] ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าคณะเท่านั้น” สภาพระสังฆราชนี้ในตนเอง “แม้จะอยู่ใต้บังคับ(ของพระสันตะปาปา)ก็ยังมีอำนาจสูงสุดและสมบูรณ์เหนือพระศาสนจักรสากล แต่อำนาจนี้อาจมีผลบังคับได้โดยที่พระสันตะปาปาทรงเห็นชอบด้วยเท่านั้น”
CCC ข้อ 884 “สภาพระสังฆราชใช้อำนาจเหนือพระศาสนจักรสากลนี้ด้วยวิธีการอย่างสง่าในสภาสังคายนาสากล” “แต่สภาสังคายนาสากลก็เป็นเช่นนั้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการรับรองหรืออย่างน้อยการรับรู้จากผู้สืบตำแหน่งของเปโตร”
CCC ข้อ 885 “สภาพระสังฆราชในฐานะที่รวบรวมมาจากพระสังฆราชจำนวนมาก จึงแสดงให้เห็นความแตกต่างและความเป็นสากลของประชากรของพระเจ้า ในฐานะที่แสดงให้เห็นเอกภาพของฝูงแกะของพระคริสตเจ้าที่อยู่ใต้ปกครองของประมุขหนึ่งเดียว”
CCC ข้อ 886 “พระสังฆราชแต่ละองค์เป็นที่มาและรากฐานที่แลเห็นได้ของเอกภาพภายในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตน” ในฐานะนี้บรรดาพระสังฆราช “ปฏิบัติงานอภิบาลปกครองของตนเหนือประชากรของพระเจ้าส่วนที่ถูกมอบหมายไว้ให้ปกครองดูแล” โดยมีคณะสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาพระสังฆราช พระสังฆราชแต่ละองค์จึงมีส่วนร่วมความเอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง ซึ่งเขาทำได้โดยเฉพาะ “เมื่อปกครองพระศาสนจักรของตนอย่างดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากล” และทำเช่นนี้ “เพื่อผลประโยชน์ของพระกายทิพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประหนึ่งพระศาสนจักร(ท้องถิ่น)ทั้งหลายที่รวมเป็นร่างกายเดียวกันด้วย” ความเอาใจใส่ดูแลนี้จะต้องขยายโดยเฉพาะไปสู่คนยากจน และผู้ที่ถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ และยังขยายไปสู่บรรดาธรรมทูตผู้ทำงานอยู่ทั่วโลกด้วย
CCC ข้อ 887 พระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีวัฒนธรรมเดียวกันมักรวมกันเป็นเขตปกครองที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเรียกว่า “ภาคปกครองของพระสังฆัยกา” (Patriarchatus) หรือ “ภาค” บรรดาพระสังฆราชของเขตปกครองเหล่านี้อาจมาร่วมประชุมสมัชชาหรือสภาสังคายนาประจำแคว้นได้ “โดยวิธีคล้ายกันนี้ สภาพระสังฆราชต่างๆ ในปัจจุบันจึงอาจช่วยเหลือได้อย่างมากและมีประสิทธิผลเพื่อทำให้จิตตารมณ์การรวมตัวกันถูกนำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจัง”
CCC ข้อ 1577 “บุรุษที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วเท่านั้นจึงรับศีลบวชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกบุรุษสิบสองคนให้มารวมกันเป็นคณะอัครสาวก และบรรดาอัครสาวกก็ได้ทำเช่นเดียวกันเมื่อเลือกผู้ร่วมงาน เพื่อสืบต่องานของตนต่อไป คณะพระสังฆราชซึ่งมีคณะสงฆ์ร่วมสมณภาพอยู่ด้วยและคงอยู่จนกว่าพระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกจึงทำให้คณะอัครสาวกทั้งสิบสองคนยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ พระศาสนจักรรู้ดีว่าตนมีความสัมพันธ์กับองค์พระผู้เป็นเจ้าอาศัยพันธะการเลือกนี้เอง เพราะเหตุนี้ การบวชสตรีจึงเป็นไปไม่ได้
CCC ข้อ 2600 พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการอธิษฐานภาวนาในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาก่อนการปฏิบัติพันธกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น ก่อนที่พระบิดาจะทรงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในการรับพิธีล้าง เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ ก่อนจะทรงทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จไปโดยการรับทนทรมานของพระองค์ พระองค์ยังทรงอธิษฐานภาวนาก่อนถึงเวลาที่จะทรงมอบพันธกิจอย่างเด็ดขาดแก่บรรดาอัครสาวก ก่อนจะทรงเลือกและเรียกศิษย์สิบสองคน ก่อนที่เปโตรจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระคริสต์ของพระเจ้า” และเพื่อหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกจะไม่เสียความเชื่อเมื่อถูกประจญการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเหตุการณ์ความรอดพ้นที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นการมอบถวายความตั้งพระทัยแบบมนุษย์ของพระองค์ไว้กับพระประสงค์ที่เปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา
ลก 6:17-49 นักบุญมัทธิวได้เล่าถึงบทเทศน์บนภูเขา ในขณะที่นักบุญลูกาบันทึกคำเทศน์บนที่ราบ ซึ่งไม่มีความขัดแย้งที่สำคัญใดๆ เป็นไปได้ที่พระคริสตเจ้าอาจเทศน์สอนแก่ผู้คนจำนวนมากในสถานที่ต่างๆ กัน และอาจกล่าวถึงประเด็นเดียวกันในหลายๆครั้ง
CCC ข้อ1724 พระบัญญัติสิบประการ คำเทศน์บนภูเขา และคำสอนของบรรดาอัครสาวกล้วนบอกให้เรารู้จักหนทางไปสู่อาณาจักรสวรรค์ เราค่อยๆ ร่วมเดินทางไปตามทางนี้ทีละก้าวโดยกิจการประจำวันที่ได้รับการค้ำจุนจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้า อาศัยพระวาจาของพระคริสตเจ้าคอยช่วยเหลือ เราย่อมค่อยๆ บังเกิดผลในพระศาสนจักรเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า
ลก 6:17 เมืองไทระ และเมืองไซดอน : ชื่อเมืองของคนต่างศาสนาสองเมืองจากทางเหนือของปาเลสไตน์
ลก 6:19 ประชาชนทุกคนพยายามสัมผัสพระองค์ : การสัมผัสทางกายกับพระคริสตเจ้าด้วยจิตวิญญาณแห่งความเชื่อนั้น เพียงพอที่จะรักษาให้หายจากโรคร้ายได้ การเชื่อมโยงระหว่างการกระทำภายนอก กับพระหรรษทานแห่งการรักษานั้น ปรากฎขึ้นเฉพาะอย่างยิ่งในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศีลเจิมคนไข้
CCC ข้อ 695 “การเจิม” การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเจิมเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเจิมครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเจิมของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า (“พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม” อยู่หลายคน กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ แต่พระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น “ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น “พระคริสตเจ้า” พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสิเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้น ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเจิม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า “เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์” ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน
CCC ข้อ 1116 “พระอานุภาพซึ่งออกมา” จากพระวรกายของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงพระชนม์และบันดาลชีวิตให้ตลอดเวลา พระราชกิจของพระจิตเจ้าผู้ทรงทำงานอยู่ในพระวรกายทิพย์ของพระองค์ ได้แก่พระศาสนจักรนี้เองเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็น “งานชิ้นเอก” ของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่และนิรันดร
CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)