ฉลองนักบุญซีโมน และนักบุญยูดาห์ อัครสาวก
(St. Simon and St. Jude, Apostles, feast)
1. นักบุญซีโมน ผู้รักชาติ (St. Simon the Zealot)
โดยแท้จริงแล้วเราไม่มีข้อมูลที่แน่นอนใดๆ เกี่ยวกับชีวิตของนักบุญองค์นี้ เช่น เราไม่รู้ว่าท่านไปเทศน์สอนพระวรสารที่ไหน และไม่รู้ว่าตายที่ไหน ทั้งไม่รู้ว่าท่านต้องรับทุกข์ทรมานแบบมรณสักขีอย่างไร แม้แต่หลุมศพของท่านอยู่ไหนก็ไม่มีใครรู้ แต่ชื่อที่ต่อท้ายท่านว่า "Zealot" (="ผู้รักชาติ") ได้ถูกนำมาตีความหมายเป็นนัยว่าอาจหมายถึง เป็นนักกฎหมาย ท่านต้องเป็นผู้ร้อนรนเป็นพิเศษต่อกฎหมายของโมเสส (Mosaic Law) หรืออาจจะหมายถึงว่าท่านเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มชาตินิยมที่ร้อนรนมาก ที่กำลังตระเตรียมปลดแอกของชาวโรมันที่น่ารังเกียจออกไป
ชาวกรีกและพวกคอปต์ มีธรรมประเพณีเล่าต่อกันมาว่า นักบุญซีโมนคือเจ้าบ่าวในงานแต่งงานที่เมืองคานาในแคว้นกาลิลี ที่ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงทำอัศจรรย์ในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์คนตัดไม้และช่างฟอกหนัง
2. นักบุญยูดาห์ ธัดเดอัส (St. Jude Thaddeus)
นักบุญยูดาห์ ธัดเดอัส เป็นน้องของนักบุญยากอบองค์เล็ก ซึ่งเป็นบุตรของอัลเฟอัส และดังนั้นก็เป็นญาติๆของพระเยซูเจ้า ท่านเป็นผู้ที่เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ซึ่ง Origen ได้กล่าวถึงว่า "เป็นจดหมายที่มีข้อคำสอนที่มีเนื้อหาแข็งกร้าวทั้งๆที่เขียนสั้นๆ" เป็นเพราะคำถามของนักบุญยูดาห์องค์นี้เองในช่วงระหว่างการเลี้ยงครั้งสุดท้าย ที่พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า พระองค์จะทรงแสดงองค์ให้แก่เพียงพวกคนเหล่านั้นที่ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามพระวาจาของพระองค์ (เทียบ ยน 14:23-24)
ตามธรรมประเพณีเล่าว่า นักบุญยูดาห์ได้เทศน์สอนความเชื่ออยู่ในปาเลสไตน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาได้ไปที่เปอร์เซียและอาร์เมเนีย และรับทรมานเป็นมรณสักขีที่นั่น ยังเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งจักรพรรดิ์ Domitian ได้เคยให้พวกหลานๆ ของนักบุญยูดาห์นำตัวท่านจากกาลิลีไปกรุงโรม แต่ได้ปล่อยตัวไป เพราะไม่พบว่าท่านเป็นคู่แข่งทางการเมืองแต่อย่างไร และเพราะท่านมีชื่อเดียวกับ ยูดาส อิสคาริโอท จึงทำให้ชื่อของยูดาห์ ธัดเดอัสนั้นไม่ค่อยมีคนสวดวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน ทำให้คล้ายๆกับว่า การจะสวดขอให้ท่านช่วยวิงวอนต่อพระเจ้าแทนเรานั้น เป็นความหวังสุดท้ายแล้วในกรณีที่ทางอื่นๆไร้ผล เหตุนี้แหละที่ความมีชื่อเสียงของท่านในฐานะเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคนที่แพ้เสมอ เริ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆในห้วงเวลาไม่นานมานี้
ชีวิตของอัครสาวกทั้งสองนี้ คือนักบุญซีโมน และนักบุญยูดาห์ แม้ถูกครอบคลุมด้วยข้อมูลที่พร่ามัวและไม่แน่นอน แต่ความใกล้ชิดของท่านทั้งสองที่มีต่อพระเยซูเจ้า ในฐานะมีส่วนร่วมในงานยิ่งใหญ่แห่งการไถ่บาป ก็เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพวกท่าน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข อันเนื่องมาจากการติดตามรอยพระบาทของพระเยซูคริสต์เจ้าอย่างใกล้ชิดมากกว่าการเป็นที่ล่วงรู้นั่งเอง
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)