แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์สัปดาห์ที่ 22 (ปีคู่)

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา(ลก 4:16-30)

 เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงเจริญวัย ในวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรมเช่นเคย ทรงยืนขึ้นเพื่อทรงอ่านพระคัมภีร์ มีผู้ส่งม้วนหนังสือประกาศกอิสยาห์ให้พระองค์ พระเยซูเจ้าทรงคลี่ม้วนหนังสือออก ทรงพบข้อความที่เขียนไว้ว่า พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วพระเยซูเจ้าทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้เจ้าหน้าที่และประทับนั่งลง สายตาของทุกคนที่อยู่ในศาลาธรรมต่างจ้องมองพระองค์ พระองค์จึงทรงเริ่มตรัสว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” ทุกคนสรรเสริญพระองค์และต่างประหลาดใจในถ้อยคำน่าฟังที่พระองค์ตรัส

เขากล่าวกันว่า “นี่เป็นลูกของโยเซฟมิใช่หรือ” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านคงจะกล่าวคำพังเพยนี้แก่เราเป็นแน่ว่า ‘หมอเอ๋ย จงรักษาตนเองเถิด สิ่งที่พวกเราได้ยินว่าเกิดขึ้นที่เมืองคาเปอรนาอุมนั้น ท่านจงทำที่นี่ในบ้านเมืองของท่านด้วยเถิด’ แล้วพระองค์ยังทรงเสริมอีกว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน

     เราบอกความจริงอีกว่าในสมัยประกาศกเอลียาห์ เมื่อฝนไม่ตกเป็นเวลาสามปีหกเดือน และเกิดความอดอยากครั้งใหญ่ทั่วแผ่นดิน มีหญิงม่ายหลายคนในอิสราเอล แต่พระเจ้ามิได้ทรงส่งประกาศกเอลียาห์ไปหาหญิงม่ายเหล่านี้ นอกจากหญิงม่ายที่เมืองศาเรฟัทในเขตเมืองไซดอน ในสมัยประกาศกเอลีชา มีคนโรคเรื้อนหลายคนในอิสราเอล แต่ไม่มีใครได้รับการรักษาให้หายจากโรค นอกจากนาอามานชาวซีเรียเท่านั้น’”

เมื่อคนที่อยู่ในศาลาธรรมได้ยินเช่นนี้ ทุกคนโกรธเคืองยิ่งนัก จึงลุกขึ้นขับไล่พระองค์ออกไปจากเมือง นำไปที่หน้าผาของเนินเขาที่เมืองตั้งอยู่ ตั้งใจจะผลักพระองค์ลงไป แต่พระองค์ทรงดำเนินฝ่ากลุ่มคนเหล่านั้น แล้วเสด็จจากไป


 ลก 4:16 ศาลาธรรม : สถานที่ที่ชาวยิวใช้นมัสการพระเจ้าและอธิบายคำสอน


 ลก 4:18-19 ข้อความเหล่านี้ของประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 61:1) ได้ถูกตีความไปอย่างกว้างขวางในศตวรรษแรก ชาวยิวต้องการชี้ให้เห็นว่า พระเมสสิยาห์คือผู้นำที่ทรงพลังที่จะปลดปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระจากโรมัน ส่วนพระคริสตเจ้าทรงมอบการเป็นอิสระจากบาปและความตายให้กับประชากรของพระองค์ ถ้อยคำที่ว่า “พระคริตเจ้าได้ประกาศข่าวดีแห่งการไถ่กู้แก่คนยากจน / อิสระแก่ผู้ที่ถูกจองจำ / และดวงใจที่เป็นสุขแก่ผู้ที่เศร้าหมอง” ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในบทขอบพระคุณที่ 5 ในพิธีบูชาขอบพระคุณ พระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้: คำว่า พระคริสตเจ้า มีความหมายเดียวกับคำว่าพระเมสสิยาห์ในภาษาฮีบรู ซึ่งหมายความว่า “ผู้ได้รับการเจิม” พระเยซูเจ้าคือผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมไว้ผู้ซึ่งความเป็นมนุษย์ของพระองค์ได้รับการเจิมจากพระจิตเจ้าอย่างสมบูรณ์พระองค์คือพระคริสตเจ้าตั้งแต่วินาทีแห่งการปฏิสนธิ กล่าวคือ ด้วยเหตุผลของความเป็นหนึ่งเดียวของสองธรรมชาติในพระบุคคลของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงรับพระหรรษทานอย่างเต็มเปี่ยม

 คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ695 "การเจิม” การใช้น้ำมันเจิมยังหมายถึงพระจิตเจ้า จนกลายเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน” ด้วย ในพิธีรับคริสตชนใหม่ การเพิ่มเป็นเครื่องหมายของศีลกำลัง ซึ่งในพระศาสนจักรตะวันออกเรียกว่า “การเจิมน้ำมันคริสมา” แต่เพื่อจะเข้าใจความหมายทั้งหมดของการนี้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกลับไปยังการเพิ่มครั้งแรกที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ คือการเพิ่มของพระเยซูเจ้า พระคริสตเจ้า ("พระเมสสิยาห์” ในภาษาฮีบรู) หมายถึง “ผู้รับเจิม”ของพระจิตเจ้า ในพันธสัญญาเดิมมี “ผู้รับเจิม" อยู่หลายคน” กษัตริย์ดาวิดทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษ” แตพระเยซูเจ้าทรงเป็น “ผู้รับเจิม” พิเศษสุดของพระเจ้า พระธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรทรงรับมานั้น ได้รับเจิมทั้งหมดจากพระจิตเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงได้รับแต่งตั้งจากพระจิตเจ้าเป็น "พระคริสตเจ้า" พระนางมารีย์พรหมจารีทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าเดชะพระจิตเจ้าผู้ทรงใช้ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวเมื่อทรงประสูติว่าทรงเป็นพระคริสตเจ้า และยังดลใจผู้เฒ่าสีเมโอนให้เข้ามาในพระวิหารเพื่อจะได้เห็นพระคริสต์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าฯ พระคริสตเจ้าทรงรับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม และพระพลังของพระจิตเจ้าออกจากพระคริสตเจ้าเมื่อพระองค์ทรงรักษาโรคและประทานความรอดพ้นๆ ในที่สุด พระจิตเจ้ายังทรงปลุกพระเยซูเจ้าให้กลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” บัดนี้พระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระคริสตเจ้า” (ผู้รับเพิ่ม) โดยสมบูรณ์ในสภาพมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือความตาย ทรงหลั่งพระจิตเจ้าอย่างอุดมบริบูรณ์จนกระทั่งว่า “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์" ร่วมกับพระธรรมชาติมนุษย์ของพระบุตรพระเจ้า "เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ตามมาตรฐานความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ4:13) หรือเป็น “พระคริสตเจ้าสมบูรณ์" ตามสำนวนของนักบุญออกัสติน

 CCC ข้อ714เพราะเหตุนี้ พระคริสตเจ้าจึงทรงเริ่มประกาศข่าวดีโดยทรงนำข้อความนี้ของประกาศกอิสยาห์มาเป็นของพระองค์ (ลก 4:18-19): “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้าเพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจนทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำคืนสายตาแก่คนตาบอดปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”

 CCC ข้อ2443พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน  ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5)  เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า

 CCC ข้อ453 นาม “พระคริสตเจ้า” หมายความว่า “ผู้รับเจิม” หรือ “พระเมสสิยาห์”  พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้าเพราะ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) พระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่จะต้องมา” (ลก 7:19) เป็นความหวังของชาวอิสราเอล


 ลก 4:24 ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน: ประกาศกหลายคนในพันธสัญญาเดิมได้ถูกปฏิเสธหรือแม้กระทั่งต้องรับการเบียดเบียนจากประชาชนของพวกเขาเองด้วย

 CCC ข้อ558พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนให้คิดถึงความตายของบรรดาประกาศกซึ่งถูกฆ่าที่กรุงเยรูซาเล็ม323 ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังเน้นที่จะเรียกกรุงเยรูซาเล็มให้เข้ามารวมอยู่รอบพระองค์ “กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราอยากรวบรวมบุตรของเจ้าเหมือนดังแม่ไก่รวบรวมลูกไว้ใต้ปีก แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องการ” (มธ 23:37ข) เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงพระกันแสงสงสารเมืองนั้น”324 และยังทรงแสดงความปรารถนาในพระทัยอีกด้วย “ถ้าในวันนี้เจ้าเพียงแต่รู้จักทางนำไปสู่สันติก็จะเป็นการดี แต่ทางนั้นถูกซ่อนไว้จากดวงตาของเจ้าเสียแล้ว” (ลก 19:42)


 ลก 4:25-30 ในสมัยของประกาศกเอลียาห์และประกาศกเอลีชา ชาวอิสราเอลนั้นไม่มีความเชื่อเสียเลย ดังนั้นพระเจ้าจึงประทานพระพรให้กับคนต่างศาสนาแทน ประกาศกเอลียาห์ได้ดูแลหญิงม่ายต่างศาสนาในเมืองไซดอน (เทียบ 1พกษ17:9) ส่วนประกาศกเอลีชาได้รักษาคนโรคเรื้อนจากซีเรีย (เทียบ 2พกษ5:10-14) การอ้างอิงของพระคริสตเจ้าในที่นี้เป็นการวิจารณ์ผู้ที่ขาดความเชื่อและหยิ่งจองหองที่ต้องการแต่เพียงเครื่องหมายภายนอก 

 CCC ข้อ548เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มาเครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน294 อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

 CCC ข้อ1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า  ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน  พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา  เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)