วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 12:49-53)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ เรามีการล้างที่จะต้องรับ และเราเป็นทุกข์กังวลใจอย่างมากจนกว่าการล้างนี้จะสำเร็จ ท่านคิดว่าเรามาเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกหรือ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เรานำความแตกแยกมาต่างหาก ตั้งแต่นี้ไป คนห้าคนในบ้านหนึ่งจะแตกแยกกัน คนสามคนจะแตกแยกกับคนสองคน และคนสองคนจะแตกแยกกับคนสามคน บิดาจะแตกแยกกับบุตรชาย และบุตรชายจะแตกแยกกับบิดา มารดาจะแตกแยกกับบุตรหญิง และบุตรหญิงจะแตกแยกกับมารดา มารดาของสามีจะแตกแยกกับบุตรสะใภ้ และบุตรสะใภ้จะแตกแยกกับมารดาของสามี”
ลก 12:49-53 พระเจ้าประทานความรัก ความเมตตาและความรอดพ้นของพระองค์ให้แก่เรา ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้เราน้อมรับและตอบรับพระพรเหล่านี้ แม้พระองค์ประทานแก่เราแบบให้เปล่าและด้วยพระเมตตา แต่ไม่ใช่ทุกคนจะยินดีรับ และอาจเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกขึ้นแม้กระทั่งภายในครอบครัวได้ สิ่งนี้ชี้ชัดว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น "เครื่องหมายแห่งความขัดแย้ง" ในพระคัมภีร์ ไฟ คือสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า ความรัก การตัดสิน การชำระจากพระเจ้า และพลังของพระจิตเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเรา คำที่ใช้ในพระวาจาตอนนี้สามารถแปลความหมายได้ในหลายแง่มุม
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า
CCC 696 “เพลิง” – ขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระจิตเจ้า เพลิงหรือไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้า ประกาศกเอลียาห์ซึ่ง “เป็นเหมือนไฟ วาจาของเขาเผาผลาญเหมือนคบไฟ” (บสร 48:1) ได้อธิษฐานภาวนาวอนขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชาบนภูเขาคาร์แมล ซึ่งเป็นรูปแบบของพระจิตเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ทรงสัมผัส ยอห์นผู้ทำพิธีล้างซึ่ง “จะ ‘มีจิตใจ’ และพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:17) แจ้งข่าวถึงพระคริสตเจ้าว่าพระองค์คือผู้ที่ “จะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ลก 3:16) คือด้วยพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าเคยตรัสถึงว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49) เช้าวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือบรรดาศิษย์ใน “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น และโปรดให้เขาได้รับพระองค์เต็มเปี่ยม ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตจะยังรักษา “เพลิง” ที่มีความหมายอย่างมากนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำของพระจิตเจ้าไว้ตลอดไป “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)
ลก 12:50 เรามีการล้างที่จะต้องรับ : พระคริสตเจ้าทรงทำนายถึงการทรมานและความตายบนไม้กางเขนของพระองค์ว่าเป็นดังการล้างบาป ความปรารถนาอย่างแน่วแน่ของพระองค์ในการทำให้พระประสงค์ของพระบิดาและแผนการแห่งการไถ่กู้สำเร็จไปเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์บนแผ่นดินนี้ด้วยความรีบเร่ง ประหนึ่งว่าเวลาแห่งการตรึงกางเขนของพระองค์นั้นใกล้เข้ามาแล้ว
พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
CCC ข้อ 536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน (ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่งพระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง” ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาป ของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่
พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา
CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)
พิธีล้างของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5) “เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”
คำวอนขอเจ็ดประการ
CCC ข้อ 2804 ความเคลื่อนไหวชุดแรกนำเราเข้าไปหาพระองค์ เพื่อพระองค์โดยตรง นั่นคือ พระนาม ของพระองค์ พระอาณาจักรของพระองค์ พระประสงค์ของพระองค์ คุณลักษณะประการแรกของความรักก็คือความคิดก่อนใดหมดถึงผู้ที่เรารัก ในคำขอแต่ละข้อทั้งสามประการนี้เราไม่กล่าวถึง “ตัวเรา” เลย แต่ “ความปรารถนาเร่าร้อน” “ความกังวลใจ” ซึ่งบุตรที่รักมีต่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดายึดตัวเราไว้ “[พระนามพระองค์] จงเป็นที่สักการะ [พระอาณาจักร] จงมาถึง [พระประสงค์] จงสำเร็จ...” พระบิดาเจ้าทรงฟังคำขอร้องทั้งสามข้อนี้แล้วในการถวายบูชาของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ แต่เหตุการณ์เหล่านี้จะบรรลุถึงความสมบูรณ์สุดท้ายในความหวังเท่านั้น เพราะพระเจ้ายังไม่ได้เป็นทุกสิ่งในทุกคน
ลก 12:53 พวกเขาจะแตกแยกกัน : เราต้องให้ความสำคัญกับการติดตามและการรับใช้พระคริสตเจ้ามาเป็นอันดับแรกของชีวิต ถึงขั้นต้องอยู่เหนือความสัมพันธ์ในครอบครัวและภาระหน้าที่ต่างๆ ด้วย
พระเจ้าหนึ่งเดียว
CCC ข้อ 229 ความเชื่อในพระเจ้านำเราให้มุ่งไปหาพระเจ้าหนึ่งเดียว ในฐานะที่ทรงเป็นต้นกำเนิดและจุดหมายสุดท้ายของเรา และไม่ให้เราเห็นว่าอะไรอื่นดีกว่าพระองค์และนำมาทดแทนพระองค์
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)