แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 12:39-48)               

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “พึงรู้ไว้เถิด ถ้าเจ้าของบ้านรู้ว่าขโมยจะมาเวลาใด เขาคงไม่ปล่อยให้ขโมยงัดแงะบ้านของตน ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย” เปโตรทูลว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสอุปมานี้สำหรับพวกเราหรือสำหรับทุกคน” องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ใครเป็นผู้จัดการที่ซื่อสัตย์และรอบคอบซึ่งนายจะแต่งตั้งให้ดูแลผู้รับใช้อื่นๆ เพื่อปันส่วนอาหารให้ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับใช้คนนั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังทำดังนี้ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะแต่งตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของตน แต่ถ้าผู้รับใช้คนนั้นคิดว่า ‘นายจะมาช้า’ และเริ่มตบตีผู้รับใช้ทั้งชายและหญิง กินดื่มจนเมามาย นายของผู้รับใช้คนนั้นจะกลับมาในวันที่เขามิได้คาดหมาย ในเวลาที่เขาไม่รู้ นายจะแยกเขาออก ให้ไปอยู่กับพวกคนที่ไม่ซื่อสัตย์

ผู้รับใช้ที่รู้ใจนายของตน แต่ไม่เตรียมพร้อมและไม่ทำตามใจนาย จะต้องถูกเฆี่ยนมาก แต่ผู้รับใช้ที่ไม่รู้ใจนาย แม้ทำสิ่งที่ควรจะถูกเฆี่ยน ก็จะถูกเฆี่ยนน้อย ผู้ใดได้รับฝากไว้มาก ผู้นั้นก็จะถูกทวงกลับไปมากด้วย” 


ลก 12:35-48  การคาดสะเอว (คือการเหน็บชายเสื้อเข้ากับเข็มขัดเพื่อไม่ให้ผ้าพันเท้าเวลาทำกิจกรรมต่างๆ) ส่วนการจุดโคมไฟไว้เป็นเครื่องหมายของการเตรียมพร้อมและการเฝ้าระวัง พระคริสตเจ้าทรงเตือนผู้ติดตามของพระองค์ให้เฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่มีใครรู้ว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงเมื่อใด แต่ละคนมีกระแสเรียกเฉพาะของตนที่ต้องทำให้สมบูรณ์อย่างขยันขันแข็งในชีวิตนี้ด้วยความรักและจิตตารมณ์แห่งการรับใช้ คนรับใช้ที่คิดว่าเจ้านายของตนจะยังไม่กลับบ้าน และไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่เจ้านายมอบหมายให้ เขาจะต้องถูกจัดการอย่างเข้มงวดเมื่อนายกลับมา ทั้งนี้หมายความว่าความล้มเหลวในการดำเนินชีวิตตามแนวพระวรสารจะทำให้สูญเสียโอกาสแห่งความสุขทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหน้าด้วย ส่วนผู้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาจะได้รับรางวัลอย่างมากมายเมื่อเจ้านายกลับมา

เมื่อประสบความยากลำบากที่จะอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2730 ถ้าพิจารณาด้านบวก การต่อสู้กับจิตใจของเราที่ต้องการควบคุมและเป็นเจ้าของของเราก็คือการคอยเฝ้าระวัง ความตั้งใจ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงย้ำถึงการเฝ้าระวัง พระองค์ทรงหมายถึงพระองค์เสมอ หมายถึงการเสด็จมาของพระองค์ หมายถึงวันสุดท้ายและหมายถึงแต่ละวัน หมายถึง “วันนี้” พระองค์ตรัสถึงเจ้าบ่าวที่มาเวลาเที่ยงคืน แสงสว่างที่จะต้องไม่ดับก็คือแสงของความเชื่อ “ใจข้าพเจ้าคิดถึงพระวาจาที่ว่า ‘จงแสวงหาใบหน้าของเราเถิด’” (สดด 27:8)

“โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ” (ตามตัวอักษรว่า “อย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าไปในการประจญ”)

CCC ข้อ 2849 การต่อสู้เช่นนี้และชัยชนะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้นอกจากด้วยการอธิษฐานภาวนา อาศัยการอธิษฐานภาวนา พระเยซูเจ้าทรงพิชิตมารผจญตั้งแต่แรก รวมทั้งในการต่อสู้กับการทนทุกข์ทรมานครั้งสุดท้าย ในการวอนขอพระบิดาของเราครั้งนี้ พระคริสตเจ้าทรงรวมเราไว้กับการต่อสู้กับการทนทุกข์ครั้งสุดท้ายของพระองค์ด้วย มีการกล่าวอยู่ตลอดเวลาให้เรามีใจตื่นเฝ้าระวัง ร่วมกับการตื่นเฝ้าระวังของพระองค์ การตื่นเฝ้าเป็น “การคอยเฝ้าระวังจิตใจ” และพระเยซูเจ้าทรงวอนขอพระบิดาให้ทรงเฝ้ารักษาพวกเราไว้ในพระนามของพระองค์ พระจิตเจ้าทรงพยายามปลุกเร้าเราไว้ตลอดเวลาให้คอยตื่นเฝ้าเช่นนี้ คำขอข้อนี้มีความหมายจริงจังเป็นพิเศษในความสัมพันธ์กับการผจญในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเราในโลกนี้ คำวอนขอข้อนี้วอนขอให้เรามีความยืนหยัดมั่นคงจนถึงวาระสุดท้าย “ดูเถิด เรามาเหมือนขโมย ผู้ที่ตื่นเฝ้า... ย่อมเป็นสุข” (วว 16:15)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)