แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 6:1-5)                          

วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลี บรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวมาขยี้กิน ชาวฟาริสีบางคนจึงถามว่า “ทำไมท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตเล่า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านหรือว่ากษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำอะไรเมื่อหิวโหย พระองค์เสด็จเข้าในพระนิเวศของพระเจ้า ทรงหยิบขนมปังที่ตั้งถวายมาเสวยและประทานแก่ผู้ติดตาม ขนมปังนี้ใครจะกินไม่ได้นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น” แล้วพระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า “บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต” 


ลก 6:1-11  ชาวฟาริสีได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยของข้อปฏิบัติในวันสับปาโต และถือว่าชาวยิวที่เคร่งครัดต้องหลีกเลี่ยงงานทุกชนิดในวันสับปาโต พระคริสตเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าการสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและกิจเมตตาไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งแม้ในวันสับบาโตด้วย  พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมและทรงสั่งสอนที่นั่น :  ประชาชนยอมรับว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นรับบี หรืออาจารย์แห่งกฎของโมเสส

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนาย เพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า […] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ


ลก 6:3-4  ท่านไม่ได้อ่านหรือว่า กษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำอะไรเมื่อหิวโหย : เป็นการกล่าวแบบเหน็บแนมเล็กน้อยเนื่องจากชาวฟาริสีรู้จักพระคัมภีร์เป็นอย่างดี ขนมปัง 12 ก้อนเป็นขนมปังแห่งการประทับอยู่ที่ถูกนำมาวางไว้ในพระวิหารทุกวันสับบาโต และหลังจากนั้น บรรดาสมณะก็จะรับประทานก่อนจะถูกแทนที่ด้วยขนมปังใหม่ของวันสับบาโตถัดไป ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้รับอนุญาตให้กินขนมปังที่เป็นของถวายเพื่อประทังความหิว (เทียบ 1ซมอ 21:6) พระคริสตเจ้าทรงบอกเป็นนัยถึงสถานการณ์แบบเดียวกันว่า ความหิวของบรรดาศิษย์และความเป็นกษัตริย์ของพระองค์เองทำให้การกระทำนั้นมีเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

วันสับบาโต

CCC ข้อ 2173 พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)


ลก 6:5  บุตรแห่งมนุษย์ : พระนามที่เชื่อมโยงกับพระเมสสิยาห์นี้ถูกนำมาใช้ในหนังสือของประกาศกดาเนียลด้วย (เทียบ ดนล 7:13)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)