แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 5:33-39)                         

เวลานั้น มีผู้ทูลพระเยซูเจ้าว่า “ศิษย์ของยอห์นจำศีลอดอาหารและอธิษฐานภาวนาบ่อยๆ ศิษย์ของชาวฟาริสีก็ทำเช่นเดียวกัน ส่วนศิษย์ของท่านกินและดื่ม” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านจะให้ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวถูกแยกจากไป วันนั้นผู้รับเชิญจะจำศีลอดอาหาร”

พระองค์ยังตรัสอุปมาให้เขาฟังอีกว่า “ไม่มีใครฉีกผ้าจากเสื้อใหม่ไปปะเสื้อเก่า เพราะเสื้อใหม่จะขาด และผ้าจากเสื้อใหม่จะไม่เข้ากับเสื้อเก่าอีกด้วย”

“ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า เพราะเหล้าใหม่จะทำให้ถุงหนังขาด เหล้าจะรั่ว และถุงหนังก็จะเสีย แต่ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่ ไม่มีใครที่ดื่มเหล้าองุ่นเก่าแล้วอยากดื่มเหล้าใหม่ เพราะเขาย่อมกล่าวว่า ‘เหล้าเก่านั้นดีกว่า’” 


ลก 5:33-39  พระคริสตเจ้ามิได้ทรงต้องการวิพากษ์วิจารณ์ข้อปฏิบัติเรื่องการจำศีลอดอาหาร อันที่จริงพระองค์เองก็ทรงจำศีลอดอาหารด้วย (เทียบ ลก 4:2) เพียงแต่พระองค์ทรงต้องการชี้ให้เห็นว่า การประทับอยู่ของพระองค์นั้นคือต้นเหตุแห่งความชื่นชมยินดีอันยิ่งใหญ่ และเวลาของการจำศีลอดอาหารจะมาในภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จไปแล้ว การจำศีลอดอาหารหมายถึงการเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ ผ่านทางการมีส่วนร่วมแบกกางเขนของพระคริสตเจ้าด้วยการมัธยัสถ์ตนเอง

การกลับใจภายใน

CCC ข้อ 1430 เช่นเดียวกับในสมัยของบรรดาประกาศกแล้ว การที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้กลับใจและเปลี่ยนชีวิตนั้น ก่อนอื่นไม่มุ่งถึง “การสวมผ้ากระสอบและโปรยเถ้าบนศีรษะ” การจำศีลอดอาหารและทรมานกาย แต่มุ่งโดยเฉพาะถึงการเปลี่ยนความคิดภายใน การเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าไม่มีการกลับใจภายในเช่นนี้ กิจการภายนอกที่แสดงความทุกข์ถึงบาปก็ไร้ผลและเป็นการมุสาตรงกันข้าม การกลับใจภายในย่อมเป็นแรงผลักดันให้แสดงเครื่องหมายออกมาภายนอกเป็นท่าทางและกิจการแสดงการกลับใจ

การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

CCC ข้อ 1438 เทศกาลและวันกลับใจใช้โทษบาปที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม (เทศกาลมหาพรต ทุกวันศุกร์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เป็นช่วงเวลาพิเศษของพระศาสนจักรเพื่อการปฏิบัติการกลับใจและชดเชยบาป ช่วงเวลาเหล่านี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการฝึกด้านจิตใจ พิธีกรรมชดเชยบาป การเดินทางแสวงบุญเป็นเครื่องหมายของการกลับใจชดเชยบาป การสละตนโดยสมัครใจเช่นการจำศีลอดอาหารและการให้ทานการแบ่งปันฉันพี่น้อง (กิจการเมตตาธรรมและแพร่ธรรม)

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1969 ธรรมบัญญัติใหม่ปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การให้ทาน การอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหาร โดยจัดให้กิจการเหล่านี้มุ่งไปหา “พระบิดา […] ผู้ทรงหยั่งรู้ในที่ลับ” ผิดกับผู้ที่ต้องการ “ให้ใครๆ เห็น” บทภาวนาของธรรมบัญญัติใหม่นี้ก็คือบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”


ลก 5:36-39 การเปรียบเทียบเหล่านี้บ่งชี้ว่า พันธสัญญาใหม่จะมาแทนที่พันธสัญญาเดิม

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขาเท่านั้น “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนาย เพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า […] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ

ธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 592 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงลบล้างธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานแก่อิสราเอลบนภูเขาซีนาย แต่ทรงปรับปรุงให้สมบูรณ์ ทรงปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน เพื่อทรงเปิดเผยความหมายสุดท้าย และเพื่อทรงไถ่กู้การล่วงละเมิดธรรมบัญญัตินี้

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)