แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 9 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 12:13-17)                       

เวลานั้น บรรดาผู้นำชาวยิวได้ส่งชาวฟาริสีและคนบางคนที่เป็นฝ่ายของกษัตริย์เฮโรดมาพบพระเยซูเจ้า หมายจะจับผิดพระวาจาของพระองค์ คนเหล่านั้นทูลว่า “พระอาจารย์ พวกเรารู้ว่า ท่านเป็นคนเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง ท่านไม่เห็นแก่หน้าใคร แต่สั่งสอนวิถีทางของพระเจ้าตามความจริง เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเสียภาษีแก่ซีซาร์ เราต้องเสียภาษีหรือไม่ต้องเสียภาษี” พระองค์ทรงทราบความเจ้าเล่ห์ของเขา จึงตรัสว่า “มาทดสอบเราทำไม เอาเงินเหรียญมาให้เราดูสักเหรียญหนึ่งซิ” เขาก็นำเงินเหรียญหนึ่งมาถวาย พระองค์จึงตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” เขาก็ตอบว่า “เป็นของซีซาร์” พระองค์จึงตรัสว่า “ของของซีซาร์จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้าก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” คนเหล่านั้นต่างประหลาดใจในพระองค์ 


มก 12:13-17 มีอีกคำถามหนึ่งที่ถูกตั้งมาเพื่อจับผิดพระคริสตเจ้าคือ การจ่ายภาษีให้กับผู้กดขี่อาจถูกมองว่าเป็นการทรยศต่อชาวยิว ในขณะที่การไม่จ่ายภาษีจะทำให้ชาวโรมันเกิดความโกรธเคือง คำตอบของพระคริสตเจ้านั้นเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างผู้มีความเชื่อกับอำนาจทางกฎหมาย กล่าวคือ ให้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ของตนต่อบ้านเมือง เว้นแต่จะขัดแย้งกับสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อพระเจ้า  ผู้ทรงเป็นเจ้านายเหนือทุกสิ่ง  เป็นของใคร : พระวาจาของพระคริสตเจ้าทำให้นึกถึง “ภาพลักษณ์และความคล้ายคลึง” ของพระเจ้าที่จารึกอยู่ในทุกวิญญาณ (ปฐก 1:26) เหมือนที่มีรูปของซีซาร์จารึกอยู่บนเหรียญเงิน ภาพลักษณ์และความคล้ายคลึงกับพระเจ้าก็สะท้อนให้เห็นในตัวมนุษย์ เราจ่ายภาษีให้แก่ซีซาร์ แต่เราต้องมอบตัวของเราแด่พระเจ้า

องค์พระผู้เป็นเจ้า

CCC ข้อ 450 นับตั้งแต่เริ่มแรกของประวัติศาสตร์คริสตศาสนาแล้ว การยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงอำนาจปกครองเหนือโลกและประวัติศาสตร์ ยังหมายถึงการยอมรับด้วยว่ามนุษย์ไม่ต้องยอมให้เสรีภาพของตนอยู่ใต้อำนาจใดๆ ในโลก แต่ต้องให้อยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าพระบิดาและของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิงเท่านั้น พระจักรพรรดิซีซาร์ไม่ใช่ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” พระศาสนจักร “เชื่อว่ากุญแจ ศูนย์กลางและจุดหมายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมดพบได้ในองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์ของตนเท่านั้น”

ชุมชนการเมืองและพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2244  สถาบันทุกอย่างได้รับแรงบันดาลใจ อย่างน้อยโดยปริยาย จากวิสัยทัศน์และชะตากรรมของมนุษย์ที่ทำให้เขาสร้างหลักการในการตัดสิน ลำดับค่านิยม แนวปฏิบัติของตน สังคมต่างๆส่วนใหญ่จัดตั้งสถาบันของตนโดยถือว่ามนุษย์มีความสำคัญมากกว่าสิ่งของ มีแต่ศาสนาที่ได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า พระผู้เนรมิตสร้างและพระผู้ไถ่ เท่านั้นที่รับรู้บ่อเกิดและชะตากรรมของมนุษย์อย่างแจ้งชัด  พระศาสนจักรจึงเชิญชวนผู้มีอำนาจทางการเมืองให้ประเมินคำตัดสินและการตกลงใจของตนตามความจริงที่ได้รับการดลใจในเรื่องพระเจ้าและมนุษย์สังคมที่ไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับการดลใจนี้โดยอ้างว่าตนไม่ต้องขึ้นกับพระเจ้าย่อมมีแนวโน้มที่จะแสวงหามาตรการและจุดหมายของตนในตัวเองหรือหยิบยืมมาจากอุดมการณ์ประการใดประการหนึ่ง และไม่ยอมรับมาตรฐานความดีความชั่วที่มีอยู่จริง และอ้างว่าตนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือมนุษย์และโชคชะตาของเขาไม่ว่าอย่างเปิดเผยหรืออย่างลับๆ ดังที่ประวัติศาสตร์แสดงให้ปรากฏอยู่

CCC ข้อ 2245 “พระศาสนจักรซึ่งโดยเหตุผลของหน้าที่และความสามารถของตน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรเลยกับชุมชนทางการเมือง […] แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายและผู้ปกป้องศักดิ์ศรีที่เหนือกว่าของบุคคลมนุษย์” พระศาสนจักร “ให้ความเคารพนับถือและส่งเสริมเสรีภาพทางการเมืองและความรับผิดชอบของประชาชน”

CCC ข้อ 2246 เป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “ที่จะตัดสินเรื่องศีลธรรม แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบทางการเมืองด้วย เมื่อสิทธิพื้นฐานของบุคคลหรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้องให้ทำเช่นนี้ โดยใช้วิธีการทุกอย่าง และเพียงแต่วิธีการที่สอดคล้องกับพระวรสารและผลประโยชน์ของทุกคนตามเวลาและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเท่านั้น”

คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องสังคม

CCC ข้อ 2420 พระศาสนจักรตัดสินความถูกผิดด้านศีลธรรมในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม “ในเมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลหรือความรอดพ้นของวิญญาณเรียกร้องให้ทำเช่นนี้” พระศาสนจักรมีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติในระเบียบศีลธรรมแตกต่างจากพันธกิจของอำนาจทางบ้านเมือง พระศาสนจักรสนใจเรื่องทรัพยากรทางโลกส่วนรวมของทุกคนในฐานะที่ทรัพยากรเหล่านี้ถูกจัดไว้ให้มุ่งหาความดีสูงสุดซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของเรา พระศาสนจักรจึงพยายามที่จะปลูกฝังท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพยากรของโลกในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม

CCC ข้อ 2421 คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรได้พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 19 เมื่อพระวรสารต้องเผชิญหน้ากับสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างมุ่งผลิตผลเพื่อการบริโภคซึ่งมีความคิดแบบใหม่เกี่ยวกับสังคม รัฐ และอำนาจปกครอง รวมทั้งรูปแบบใหม่ของแรงงานและการถือกรรมสิทธิ์ พัฒนาการความรู้ของพระศาสนจักรในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นพยานว่าคำสอนของพระศาสนจักร รวมทั้งความหมายแท้จริงของธรรมประเพณีนั้นยังทรงคุณค่าถาวรและทันสมัยใช้ได้อยู่เสมอ

CCC ข้อ 2422 คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับสังคมประกอบด้วยประมวลคำสอนที่พระศาสนจักรอธิบายความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ด้วยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้าโดยคำนึงถึงพระวาจาทั้งหมดที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเปิดเผยไว้ คำสอนนี้ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจการ กระทำของผู้มีความเชื่อมากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับของมนุษย์ผู้มีน้ำใจดียิ่งขึ้นเท่านั้น

CCC ข้อ 2423 คำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับสังคมเสนอหลักการให้คิดพิจารณา เสนอมาตรการเพื่อตัดสิน ให้คำแนะนำเพื่อการกระทำทุกระบอบการปกครองที่ใช้หลักการด้านเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมล้วนขัดกับธรรมชาติและการกระทำของบุคคลมนุษย์ทั้งสิ้น

CCC ข้อ 2424   ทฤษฎีที่ใช้ผลกำไรเป็นตัวกำหนดเพียงอย่างเดียวและเป็นจุดหมายสุดท้ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมเป็นที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม ความกระหายเงินทองอย่างไร้ระเบียบมีแต่จะก่อให้เกิดผลร้ายอยู่เสมอ ความกระหายนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุต่างๆ ของการต่อสู้กันที่ทำลายระเบียบของสังคม ระบอบการปกครองที่ถือว่า “สิทธิพื้นฐานของแต่ละบุคคลและหมู่คณะมีความสำคัญน้อยกว่าองค์กรจัดการการผลิตส่วนรวม” ย่อมขัดกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ การกระทำทุกอย่างที่ทำให้บุคคลกลายเป็นเพียงเครื่องมือหากำไรเท่านั้น ทำให้มนุษย์กลายเป็นทาส นำไปสู่การบูชาเงินทองและช่วยให้ลัทธิอเทวนิยมเผยแพร่ยิ่งขึ้น “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (มธ 6:24; ลก 16:13)

CCC ข้อ 2425 พระศาสนจักรปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จและไม่ยอมรับพระเจ้าที่ในสมัยปัจจุบันนี้มักควบคู่ไปกับ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” หรือ “สังคมนิยม” นอกจากนั้นยังปฏิเสธไม่ยอมรับลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) ในการปฏิบัติ “ลัทธิทุนนิยม” (capitalism) รวมทั้งการที่กฎหมายการตลาดมีอำนาจเหนือการงานของมนุษย์ การจัดระเบียบเศรษฐกิจโดยใช้ระเบียบที่ส่วนกลางกำหนดไว้แล้วเพียงอย่างเดียวเป็นการทำผิดต่อหลักการความสัมพันธ์ทางสังคม เพราะว่า “ยังมีความต้องการบางอย่างของมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตลาด” จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดระเบียบการตลาดอย่างมีเหตุผลและ (ส่งเสริม) การริเริ่มทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงลำดับที่ยุติธรรมของคุณค่าต่างๆ และผลประโยชน์ส่วนรวม

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)