แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 9 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 12:1-12)                         

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสเรื่องอุปมาให้บรรดาผู้นำชาวยิวฟังว่า “ชายคนหนึ่งปลูกองุ่นไว้สวนหนึ่ง ทำรั้วล้อม ขุดบ่อย่ำผลองุ่น สร้างหอเฝ้า ให้ชาวสวนเช่า แล้วก็ออกเดินทางไปต่างเมือง เมื่อถึงเวลากำหนด เขาก็ใช้ผู้รับใช้คนหนึ่งไปหาคนเช่าสวน เพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิตของสวน แต่คนเช่าสวนจับผู้รับใช้คนนั้นทุบตี แล้วไล่กลับไปมือเปล่า เจ้าของสวนจึงส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนตีหัวและด่าว่าผู้รับใช้คนนี้อย่างหยาบคาย เจ้าของสวนส่งผู้รับใช้ไปอีกคนหนึ่ง คนเช่าสวนก็ฆ่าเขา เจ้าของสวนยังส่งผู้รับใช้คนอื่นไปอีกหลายคน ก็ถูกคนเช่าสวนทุบตีบ้าง ฆ่าเสียบ้าง เจ้าของสวนยังมีคนเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง คือบุตรสุดที่รัก เขาจึงส่งบุตรไปเป็นคนสุดท้าย โดยคิดว่า ‘พวกนั้นคงจะเกรงใจลูกของเราบ้าง’ แต่คนเช่าสวนเหล่านั้นพูดกันว่า ‘คนคนนี้เป็นทายาท เราจงฆ่าเขาเถิด มรดกจะได้ตกเป็นของเรา’ แล้วเขาก็จับบุตรของเจ้าของสวนฆ่า ทิ้งศพไว้นอกสวน เจ้าของสวนจะทำอย่างไร เขาจะมาทำลายคนเช่าสวนเหล่านั้น แล้วยกสวนให้คนอื่นเช่า 

ท่านทั้งหลายไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ตอนนี้หรือว่า ‘หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งเสียนั้น ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำเช่นนั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์กับเรายิ่งนัก’” บรรดาผู้นำชาวยิวพยายามจับกุมพระองค์ เพราะรู้ว่าพระองค์ตรัสอุปมานี้กระทบถึงเขา แต่เขายังเกรงประชาชนอยู่จึงผละจากพระองค์ไป 


มก 12:1-12  อุปมาเรื่อง คนเช่าสวนชั่วร้าย เป็นเรื่องที่ใช้เปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้น ในฐานะที่พระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้าง พระองค์ทรงเปรียบเสมือนเจ้าของสวน และประชากรเลือกสรรเป็นดังผู้เช่าสวนซึ่งมีหน้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ผู้รับใช้เปรียบดังประกาศกที่คนเช่าสวนปฏิเสธ ทุบตี และบางครั้งก็ฆ่า ที่สุด เจ้าของสวนได้ส่งบุตรของตน ผู้เปรียบได้กับพระคริสตเจ้า และพระองค์ก็ทรงถูกประหารด้วยเช่นกัน เจ้าของสวนจึงขับไล่ผู้เช่าสวนชั่วร้ายและเลือกผู้ที่จะทำตามความประสงค์ของเขา  องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำเช่นนั้น : โดยอ้างอิงบทเพลงสดุดีที่ 118 พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยว่า แม้แต่การกระทำของมนุษยชาติที่ปฏิเสธพระคริสตเจ้าก็ยังเข้าอยู่ในแผนการแห่งความรอดพ้นของพระเจ้า บรรดาผู้จาริกที่ไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มต่างนิยมสวดภาวนาด้วยเพลงสดุดีบทนี้ 

  

พระญาณเอื้ออาทรและความชั่วร้ายที่เป็นอุปสรรค  

CCC ข้อ 311 บรรดาทูตสวรรค์และมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสร้างที่มีสติปัญญาและอิสระเสรี ต้องดำเนินไปสู่จุดหมายสุดท้ายของตนโดยการเลือกที่อิสระเสรีและมีความรักต่อสิ่งที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นเขาเหล่านี้จึงอาจผิดหลงไปได้ และในความเป็นจริงก็ได้ทำบาปแล้ว ดังนี้ ความชั่วทางจริยะ ที่หนักกว่าความชั่วทางวัตถุอย่างเทียบกันไม่ได้จึงเข้ามาในโลก พระเจ้าไม่ใช่ต้นเหตุของความชั่วทางจริยะแต่ประการใด ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม ถึงกระนั้นพระองค์ทรงอนุญาตให้ความชั่วเกิดขึ้น เพราะทรงรักษาอิสระเสรีของสิ่งที่ทรงเนรมิตสร้าง และทรงทราบที่จะทำให้ความดีเกิดขึ้นจากความชั่วนั้นได้ด้วยวิธีการลึกลับ

“เพราะพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ […] เนื่องจากว่าพระองค์ทรงความดีอย่างสูงสุด คงจะทรงยอมไม่ได้ให้มีความชั่วใดๆ ในผลงานของพระองค์ นอกจากว่าจะทรงสรรพานุภาพและทรงความดีจนทรงทำความดีได้จากความชั่วด้วย” 

CCC ข้อ 312 ดังนี้ เมื่อเวลาผ่านไป เราจึงอาจค้นพบได้ว่าพระเจ้า โดยพระญาณเอื้ออาทรที่ทรงสรรพานุภาพ ทรงทำให้ความดีเกิดขึ้นได้จากผลของความชั่วที่สิ่งสร้างของพระองค์ได้ทำไป รวมทั้งความชั่วทางจริยะด้วย “ไม่ใช่พวกพี่ที่ส่งฉันมาที่นี่ แต่เป็นพระเจ้า [...] พวกพี่วางแผนทำร้ายฉัน แต่พระเจ้าทรงเปลี่ยนให้ร้ายกลายเป็นดี [...] เพื่อรักษาชีวิตของหลายคนไว้” (ปฐก 45:8; 50:20) จากความชั่วทางจริยะยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้น คือจากการที่ พระบุตรของพระเจ้าทรงถูกปฏิเสธไม่ยอมรับและถูกประหารชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากบาปของมวลมนุษย์ อาศัยความอุดมบริบูรณ์แห่งพระหรรษทานของพระองค์ พระเจ้าทรงก่อให้เกิดความดีสูงสุด คือการที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์และพวกเราได้รับการไถ่กู้ ถึงกระนั้นเพราะเหตุนี้ความชั่วก็มิได้กลายเป็นความดี 

CCC ข้อ 313 “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์” (รม 8:28) การเป็นพยานของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยเลิกยืนยันความจริงประการนี้ นักบุญแคธรินชาวซีเอนากล่าวแก่ผู้ที่รู้สึก “ไม่พอใจขาดความอดทนในหลายเหตุการณ์” และต่อต้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนว่า “พระเจ้าประทานเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดเพราะความรักและจัดการไว้ล่วงหน้าเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะจุดประสงค์อื่นใดเลย” นักบุญโทมัส โมร์ ก่อนจะถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีไม่นาน ปลอบโยนบุตรสาวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าไม่ทรงประสงค์เกิดขึ้นได้ สิ่งใดไม่ว่าที่พระองค์ทรงประสงค์ แม้เราจะเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้าย โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งดีที่สุด” ท่านผู้หญิงยูลีอานา แห่งนอริช ก็ยืนยันว่า “พระหรรษทานของพระเจ้าช่วยให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่าต้องยึดมั่นในความเชื่ออย่างเข้มแข็ง [...] และเชื่ออย่างกล้าหาญว่าทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี [...] ท่านจะเห็นเองว่าเหตุการณ์ในอนาคตทุกอย่างเป็นเรื่องดีทั้งนั้น” 

สรุป - พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้าย

CCC ข้อ 324 การที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายทั้งด้านวัตถุและด้านจริยะนั้นเป็นธรรมล้ำลึก ซึ่งพระเจ้าทรงอธิบายความหมายให้เราเข้าใจโดยอาศัยพระบุตร คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงสิ้นพระชนม์ กลับคืนพระชนมชีพ เพื่อทรงพิชิตความชั่วร้าย ความเชื่อทำให้เรามีความมั่นใจว่าพระเจ้าคงไม่ทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้าย ถ้าพระองค์ไม่อาจทรงทำให้ความดีเกิดขึ้นได้จากความชั่วร้ายนั้น ด้วยวิธีการที่เราจะรู้ได้อย่างสมบูรณ์ในชีวิตนิรันดรเท่านั้น  

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)