แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:22-29)           

เวลานั้น ประชาชนที่ยังอยู่บนฝั่งตรงข้าม สังเกตเห็นว่า มีเรืออยู่ที่นั่นเพียงลำเดียว และจำได้ว่าพระเยซูเจ้ามิได้เสด็จลงเรือไปกับบรรดาศิษย์ บรรดาศิษย์ไปกันตามลำพังเท่านั้น แต่เรือลำอื่นจากเมืองทิเบเรียสมายังสถานที่ที่พวกเขาได้กินขนมปัง เมื่อประชาชนเห็นว่าทั้งพระเยซูเจ้า และบรรดาศิษย์ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว ก็ลงเรือ มุ่งไปที่เมืองคาเปอรนาอุมเพื่อตามหาพระเยซูเจ้า เมื่อพบพระองค์ที่ฝั่งตรงข้าม จึงทูลถามว่า “พระอาจารย์ ท่านมาที่นี่เมื่อไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านแสวงหาเรา มิใช่เพราะได้เห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ แต่เพราะได้กินขนมปังจนอิ่ม อย่าขวนขวายหาอาหารที่กินแล้วเสื่อมสลายไป แต่จงหาอาหารที่คงอยู่และนำชีวิตนิรันดรมาให้ อาหารนี้บุตรแห่งมนุษย์จะประทานให้ท่าน เพราะพระเจ้าพระบิดาทรงประทับตรารับรองบุตรแห่งมนุษย์ไว้แล้ว” เขาเหล่านั้นจึงทูลว่า “พวกเราจะต้องทำอะไรเพื่อให้กิจการของพระเจ้าสำเร็จ” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “กิจการของพระเจ้า ก็คือให้ท่านทั้งหลายเชื่อในผู้ที่พระองค์ทรงส่งมา”


ยน 6:22-34 ประชาชนได้ติดตามพระคริสตเจ้าไปยังเมืองคาเปอรนาอุม สถานที่ซึ่งพระองค์ทรงสอนพวกเขาในศาลาธรรมเกี่ยวกับความหมายแท้จริงของอัศจรรย์การทวีขนมปัง พวกเขาแสวงหาเครื่องหมายคล้ายกับมานนาที่ชาวอิสราเอลได้รับในทะเลทรายเมื่อพวกเขาเดินทางในที่เปลี่ยวไปยังดินแดนแห่งพระสัญญา แม้ว่ามานนามาจากสวรรค์ก็จริง สามารถหล่อเลี้ยงได้เพียงร่างกายเท่านั้น แต่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์เองเป็นอาหารแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ

ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์

CCC ข้อ 423 เราเชื่อและประกาศว่าพระเยซูเจ้าจากเมืองนาซาเร็ธ ซึ่งทรงถือกำเนิดเป็นชาวยิวจากธิดาแห่งอิสราเอลที่เมืองเบธเลเฮม ในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรดมหาราชและพระจักรพรรดิซีซาร์ออกัสตัสที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างไม้ ได้สิ้นพระชนม์โดยทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม ขณะที่ปอนติอัสปีลาตเป็นข้าหลวงปกครองในรัชสมัยพระจักรพรรดิทีเบริอัส ทรงเป็นพระบุตรนิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ “พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” (ยน 13:3) “เสด็จลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13; 6:33) มารับสภาพมนุษย์ เพราะ “พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง [...] และจากความไพบูลย์ของพระองค์ เราทุกคนได้รับพระหรรษทานต่อเนื่องกัน” (ยน 1:14, 16)

พระจิตเจ้าทรงเตรียมให้รับพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1094 จากความสอดคล้องของพันธสัญญาทั้งสองนี้เอง เราจึงจัดคำสอนเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วจึงเป็นคำสอนของบรรดาอัครสาวกและบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร คำสอนนี้เปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อความที่เขียนไว้ในพันธสัญญาเดิม นั่นคือพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า วิธีการนี้เรียกว่าคำสอน “อธิบายรูปแบบ” เพราะเปิดเผยความใหม่ของพระคริสตเจ้าจาก “รูปแบบ” (types) ที่กล่าวล่วงหน้าถึงพระองค์โดยใช้เหตุการณ์ คำพูดและสัญลักษณ์ในพันธสัญญาเดิม รูปแบบในพันธสัญญาเดิมเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยโดยการอ่านแบบใหม่เช่นนี้ในพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระคริสตเจ้าประทานให้ ดังนี้ น้ำวินาศและเรือของโนอาห์เป็นรูปแบบของความรอดพ้นอาศัยศีลล้างบาป เช่นเดียวกับเมฆและการข้ามทะเลแดง รวมทั้งน้ำจากหินผาล้วนเป็นรูปแบบของพระพรฝ่ายจิตที่พระคริสตเจ้าประทานให้ มานนาในถิ่นทุรกันดารเป็นรูปแบบหมายล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท “ขนมปังแท้จากสวรรค์” (ยน 6:32)

CCC ข้อ 1095 เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เทศกาลมหาพรต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนปัสกา จึงอ่านและรื้อฟื้นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน หรือเป็น “วันนี้” อีกครั้งหนึ่งในพิธีกรรมของตน แต่เรื่องนี้ยังเรียกร้องให้การสอนคำสอนช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อเปิดตนเพื่อเข้าใจแผนการความรอดพ้นในมิติด้านจิตตามที่พิธีกรรมของพระศาสนจักรเปิดเผยและช่วยให้ดำเนินชีวิตตามแผนการดังกล่าว

CCC ข้อ 1096 พิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของชาวคริสต์ การรู้จักความเชื่อและชีวิตด้านศาสนาของประชากรชาวยิวดีขึ้น ดังที่ทุกวันนี้ยังแสดงให้เห็นในการยืนยันความเชื่อและการปฏิบัติในชีวิต อาจช่วยให้เข้าใจลักษณะบางประการของพิธีกรรมของชาวคริสต์ได้ดียิ่งขึ้น พระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมทั้งสำหรับชาวยิวและชาวคริสต์ เพื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า ตอบรับพระวาจานี้ อธิษฐานภาวนาสรรเสริญและวอนขอสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย เพื่อเข้ามาขอพระเมตตากรุณาจากพระเจ้า โดยโครงสร้างแล้ว วจนพิธีกรรมมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมของชาวยิว พิธีกรรมสวดทำวัตรและบทภาวนาอื่นๆ รวมทั้งสูตรทางพิธีกรรมก็มีรูปแบบและเนื้อหาคล้ายๆ กัน เช่นเดียวกับรูปแบบบทภาวนาที่น่าเคารพที่สุดของเรา เช่น บท “ข้าแต่พระบิดา” บท “ขอบพระคุณ” ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบทภาวนาในธรรมประเพณีของชาวยิว ความสัมพันธ์ของพิธีกรรมของชาวยิวและพิธีกรรมของคริสตชน รวมทั้งความแตกต่างของเนื้อหาด้วย เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในวันฉลองใหญ่ๆ ของปีพิธีกรรม เช่นในวันฉลองปัสกา ทั้งคริสตชนและชาวยิวฉลองปัสกา สำหรับชาวยิว ฉลองปัสกามุ่งสู่อนาคตของประวัติศาสตร์ แต่สำหรับคริสตชน ฉลองปัสกาสำเร็จไปแล้วในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแม้ว่ายังมีการรอคอยอยู่ตลอดเวลาให้ปัสกานี้สำเร็จโดยสมบูรณ์

การตั้งศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1338 พระวรสารสหทรรศน์ทั้งสามฉบับและนักบุญเปาโลเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทถ่ายทอดไว้ให้เราทราบ ส่วนนักบุญยอห์นกล่าวถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอร์นาอุมพระวาจาเหล่านี้เตรียมทางไว้สำหรับการตั้งศีลมหาสนิท พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์ว่าทรงเป็นขนมปัง/อาหารให้ชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์


ยน 6:27  ประทับตรารับรอง : เป็นสัญลักษณ์หนึ่งใกล้เคียงกับการเจิม บ่งบอกถึงประสิทธิผลถาวร เราเรียก “เครื่องหมาย” หรือ “ลักษณะ” ที่ไม่สามารถลบเลือนได้ ซึ่งศีลล้างบาป ศีลกำลังและศีลบวช จารึกไว้ในผู้รับว่า “ตราประทับ” ตราประทับของพระจิตเจ้าเป็นเครื่องหมายว่าเราเป็นของพระคริสตเจ้า ได้รับการเสริมกำลังจากพระองค์และมุ่งมั่นจะรับใช้พระองค์ การยืนยันนี้อ้างอิงถึงพระจิตเจ้าผู้กำลังจะเสด็จมา

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 698 “ตราประทับ” เป็นสัญลักษณ์คล้ายกับสัญลักษณ์ “การเจิม” พระคริสตเจ้าคือผู้ที่ “พระเจ้าพระบิดาทรงประทับตราไว้แล้ว” (ยน 6:27) และพระบิดายังทรงประทับตราพวกเราไว้กับ พระบุตรด้วย เนื่องจากตราประทับหมายความว่าการเจิมของพระจิตเจ้ามีผลที่ไม่อาจลบออกได้ในศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช ธรรมประเพณีทางเทววิทยาบางสายจึงใช้ภาพของ “ตราประทับ” (ภาษากรีกว่า “sphragos”) เพื่อแสดงถึง “คุณสมบัติ” ที่ไม่อาจลบออกได้จากผู้ที่ได้รับศีลเหล่านี้ จึงทำให้ไม่อาจรับศีลทั้งสามนี้ซ้ำได้อีก

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์

เครื่องหมายและจารีตพิธีของศีลกำลัง

CCC ข้อ 1296 พระเยซูเจ้าเองทรงประกาศว่าพระองค์ทรงได้รับประทับตราของพระบิดา คริสตชนก็ได้รับการประทับตราอย่างหนึ่งด้วย “ผู้ที่ทรงตั้งเราและท่านทั้งหลายในพระคริสตเจ้าและทรงเจิมเรานั้นคือพระเจ้า พระองค์ทรงประทับตราเราและประทานพระจิตเจ้าไว้ในดวงใจของเราเป็นเครื่องประกันด้วย” (2 คร 1:21-22) ตราประทับของพระจิตเจ้านี้หมายถึงการเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคริสตเจ้าโดยสิ้นเชิง หมายความว่าคนหนึ่งต้องรับใช้พระองค์ตลอดไป และยังเป็นคำสัญญาว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขาในการพิพากษายิ่งใหญ่เมื่อสิ้นพิภพด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)