วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 24:35-48)
เวลานั้น ศิษย์ทั้งสองคนจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทางและเล่าว่าตนจำพระองค์ได้เมื่อทรงบิขนมปัง ขณะที่บรรดาศิษย์กำลังสนทนากันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ท่ามกลางพวกเขา ตรัสว่า ‘สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด’ เขาต่างตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี แต่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านวุ่นวายใจทำไม เพราะอะไรท่านจึงมีความสงสัยขึ้นในใจ จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูกอย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี’ ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงแสดงพระหัตถ์และพระบาท ให้เขาเห็น เขามีความยินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า ‘ท่านมีอะไรกินบ้าง’ เขาได้ถวายปลาย่างชิ้นหนึ่งแด่พระองค์ พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าเขา
หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า ‘นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เราได้กล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน ทุกสิ่งที่มีเขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศกและเพลงสดุดีจะต้องเป็นความจริง’ แล้วพระองค์ทรงเปิดดวงปัญญาของเขาให้เข้าใจพระคัมภีร์ ตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมานและจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สามจะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติได้กลับใจเพื่อรับอภัยบาปโดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้’
ลก 24:36-43 การประจักษ์ของพระคริสตเจ้าแก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ในห้องชั้นบนนั้นเป็นหลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้นถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระองค์ทรงแสดงรอยแผลแห่งพระทรมานให้พวกเขาดูและยังเสวยต่อหน้าพวกเขาอีกด้วย พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ทรงมีพระวรกายด้วย ทว่าเป็นพระวรกายรุ่งโรจน์ การประจักษ์นี้หักล้างสมมติฐานใดๆ ที่ว่ารูปลักษณ์ของพระองค์เป็นเพียงภาพลวงตาหรือเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น และยังสอนเราเกี่ยวกับธรรมชาติของร่างกายเราที่จะกลับฟื้นคืนชีพสักวันหนึ่งด้วย
การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนม์
CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น –โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน– จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว
CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี”) แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง
ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร
CCC ข้อ 999 กลับคืนชีพอย่างไร พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพพร้อมกับพระวรกายของพระองค์ “จงดูมือและเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริงๆ” (ลก 24:39) แต่พระองค์ก็มิได้ทรงกลับมายังชีวิตของโลกนี้ เช่นเดียวกัน “ทุกคนจะกลับคืนชีพพร้อมกับร่างกายที่เขามีอยู่ขณะนี้” ในพระองค์ แต่ร่างกายนี้จะเปลี่ยนรูปไปเป็นร่างกายที่รุ่งโรจน์ เป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (spiritual body) (1 คร 15:44)
“บางคนอาจถามว่า ‘คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบใด’ ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้นจะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอย่างอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ด มิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น [...] สิ่งที่หว่านลงไปนั้นเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก [...] ผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไม่เน่าเปื่อย [...] ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้นี้จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อยและร่างกายที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย” (1 คร 15:35-37, 42, 52-53)
CCC ข้อ 1000 “วิธีการที่ว่าการกลับคืนชีพเกิดขึ้นได้อย่างไร” นี้อยู่เหนือจินตนาการและความเข้าใจของเรา เราเข้าถึงได้ด้วยความเชื่อเท่านั้น แต่การที่เรามีส่วนร่วมในศีลมหาสนิทก็เป็นการชิมลางแล้วถึงการที่ร่างกายของเราจะรับความรุ่งโรจน์โดยทางพระคริสตเจ้า
“เมื่อขนมปังที่มาจากดินได้รับการเรียกพระพรจากพระเจ้าแล้วไม่ใช่ขนมปังธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นศีลมหาสนิทที่ประกอบด้วยสององค์ประกอบจากแผ่นดินและจากสวรรค์ฉันใด ร่างกายของเราที่รับศีลมหาสนิทก็ไม่ใช่ร่างกายที่เสื่อมสลายได้ แต่มีความหวังของการกลับคืนชีพฉันนั้น”
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2605 พระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลาที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตามแผนการความรักของพระบิดา ก็ทรงอนุญาตให้เราเห็นความลึกซึ้งสุดจะหยั่งถึงได้ของการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระองค์ ไม่เพียงแต่ก่อนจะทรงมอบพระองค์โดยอิสระเท่านั้น (“พระบิดาเจ้าข้า... อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” : ลก 22:42) แต่ทว่าจนถึงพระวาจาสุดท้ายบนไม้กางเขน เมื่อการอธิฐานภาวนาและการมอบพระองค์กลายเป็นสิ่งเดียวกัน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) “แม่ นี่คือลูกของแม่ […] นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) “เรากระหาย” (ยน 19:28) “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) จนกระทั่ง “ทรงเปล่งเสียงดัง” แล้วจึงสิ้นพระชนม์
ลก 24:44-49 เช่นเดียวกับที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำกับบรรดาศิษย์ระหว่างทางไปเอมมาอูส พระองค์ทรงเปิดใจของบรรดาอัครสาวกให้ทราบถึงความหมายของพระคัมภีร์ ทรงมอบหมายให้พวกเขามุ่งหน้าสั่งสอนนานาชาติให้กลับใจและรับความรอดพ้น แต่ทรงบอกให้พวกเขารอคอย "พระสัญญาของพระบิดาของเรา" คือองค์พระจิตเจ้าที่พระองค์จะทรงส่งมา เมื่อได้รับพลังจากพระจิตเจ้าแล้ว บรรดาศิษย์ของพระคริสตเจ้าก็เริ่มงานการประกาศพระวรสารและการเผยแผ่ข่าวดีของพระศาสนจักรไปทั่วทุกมุมโลก
การดลใจของพระเจ้าและความจริงในพระคัมภีร์
CCC ข้อ 108 ถึงกระนั้นความเชื่อของคริสตชนก็ไม่ใช่ “ศาสนาตามหนังสือ” คริสตศาสนาเป็นศาสนา “ตาม พระวาจา” ของพระเจ้า พระวาจานี้ไม่ใช่ “ถ้อยคำที่เขียนไว้ไม่มีเสียง” แต่เป็น “พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) ซึ่งรับสภาพมนุษย์และทรงชีวิต” เพื่อไม่ให้พระคัมภีร์เป็นเพียงตัวอักษรที่ตายแล้ว จึงจำเป็นที่พระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ (หรือ “พระวาจา”) นิรันดรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต จะต้องเปิดใจของเราอาศัยพระจิตเจ้า ให้เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์”
พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาดทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้”
CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)
พระองค์จะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย
CCC ข้อ 627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย”เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46) เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่
พระเยซูคริสตเจ้า
CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)
อำนาจกุญแจ
CCC ข้อ 981 หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกออกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาปฏิบัติ “ภารกิจการคืนดี” (2 คร 5:18) นี้ โดยประกาศว่าพระเจ้าทรงอภัยบาปแก่มนุษย์ตามที่พระคริสตเจ้าทรงได้รับอำนาจนี้มาเพื่อประทานแก่เรา และยังทรงมอบอำนาจให้เขาอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาปและทำให้ทุกคนได้คืนดีกับพระเจ้าและกับ พระศาสนจักรโดยอำนาจกุญแจที่เขาได้รับมาจากพระคริสตเจ้าด้วย
พระศาสนจักร “รับกุญแจอาณาจักรสวรรค์เพื่อจะได้มีการอภัยบาปในพระศาสนจักรอาศัย พระโลหิตของพระคริสตเจ้าและผลงานของพระจิตเจ้า ในพระศาสนจักรนี้ วิญญาณที่ตายไปแล้วเพราะบาปก็ฟื้นขึ้นมาอีก เพื่อมีชีวิตร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ประทานพระหรรษทานช่วยเราให้รอดพ้น”
ศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 1118 ศีลศักดิ์สิทธิ์เป็น “ของพระศาสนจักร” ในสองความหมายดังนี้ คือ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ “โดยพระศาสนจักร” และ “เพื่อพระศาสนจักร” ศีลศักดิ์สิทธิ์มีได้ “โดยพระศาสนจักร” ก็เพราะว่าพระศาสนจักรเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์” (เครื่องหมายและเครื่องมือ) ของการกระทำของพระคริสตเจ้าผู้ทรงทำงานโดยพระพันธกิจของพระจิตเจ้าในพระศาสนจักร ศีลศักดิ์สิทธิ์ยังมีไว้ “เพื่อพระศาสนจักร” ก็เพราะว่า “พระศาสนจักรสร้างขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ” เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แสดงและถ่ายทอดพระธรรมล้ำลึกความสัมพันธ์กับพระเจ้า-องค์ความรัก พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียวในสามพระบุคคลให้แก่มนุษย์ โดยเฉพาะในศีลมหาสนิท
CCC ข้อ 1119 พระศาสนจักรซึ่งรวมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นเสมือนศีรษะ ร่วมเป็น “บุคคลล้ำลึกบุคคลเดียวกัน” ทำงานในศีลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับเป็น “ชุมชนสมณะ” “ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบ” โดยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ประชากรสมณะเหมาะที่จะประกอบพิธีกรรม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้มีความเชื่อบางคนที่ได้รับศีลบวช “ได้รับแต่งตั้งให้เลี้ยงดูพระศาสนจักรด้วยพระวาจาและพระหรรษทานของพระเจ้าในพระนามของพระคริสตเจ้า”
CCC ข้อ 1120 ศาสนบริการของผู้รับศีลบวช หรือ “สมณภาพเพื่อศาสนบริการ” มีไว้เพื่อรับใช้สมณภาพที่มาจากศีลล้างบาป สมณภาพเพื่อศาสนบริการแสดงว่าพระคริสตเจ้าเองทรงทำงานใน ศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เดชะพระจิตเจ้าเพื่อพระศาสนจักร พันธกิจประทานความรอดพ้นที่พระบิดาทรงมอบไว้กับพระบุตรผู้ทรงรับสภาพมนุษย์นี้ถูกมอบไว้แก่บรรดาอัครสาวกและผ่านต่อไปแก่ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน ท่านเหล่านี้รับพระจิตของพระเยซูเจ้าเพื่อปฏิบัติงานในพระนามและพระบุคคลของพระองค์ ศาสนบริการของผู้รับศีลบวชจึงเป็นพันธะจากศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกิจกรรมทางพิธีกรรมกับสิ่งที่บรรดาอัครสาวกเคยพูดและทำไว้ และผ่านทางท่าน กับสิ่งที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและรากฐานของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เคยตรัสและทรงทำไว้
CCC ข้อ 1121 ศีลศักดิ์สิทธิ์สามประการ คือ ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลบวช นอกจากประทานพระหรรษทานแล้ว ยังประทานตรา หรือ “เครื่องหมาย”ที่ทำให้คริสตชนมีส่วนในสมณภาพของพระคริสตเจ้าและเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรตามสถานะและบทบาทที่ต่างกัน การมีภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรเช่นนี้เป็นผลงานของพระจิตเจ้าและไม่มีวันจะลบออกได้ แต่คงอยู่ตลอดไปในคริสตชนเป็นความพร้อมเพื่อจะรับพระหรรษทาน เป็นเสมือนคำสัญญาและประกันว่าพระเจ้าจะทรงปกป้องเขา และเป็นเสมือนการเรียกให้เข้ามาร่วมพิธีคารวกิจต่อพระเจ้าและรับใช้พระศาสนจักร เพราะฉะนั้นศีลทั้งสามนี้จึงรับซ้ำอีกไม่ได้เลย
ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ
CCC ข้อ 1122 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกไปประกาศ “ในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47) “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” (มธ 28:19) พันธกิจทำพิธีล้างบาปจึงเป็นพันธกิจเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ รวมอยู่ในพันธกิจการประกาศข่าวดี เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์มีการเตรียมตัวโดยพระวาจาของพระเจ้าและโดยความเชื่อซึ่งเป็นการเห็นพ้องกับพระวาจานี้
“ประชากรของพระเจ้าก่อนอื่นหมดมารวมกันโดยพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต […] ศาสนบริการด้านศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกร้องการประกาศพระวาจา เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นศีลแห่งความเชื่อซึ่งเกิดขึ้นและรับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจา”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)