วันอังคาร สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 16:5-11)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “บัดนี้เรากำลังไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา ไม่มีผู้ใดถามเราว่า ‘พระองค์จะเสด็จไปไหน’ แต่เพราะเราได้บอกเรื่องเหล่านี้กับท่าน ใจของท่านจึงมีแต่ความทุกข์ เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราไปนั้นก็เป็นประโยชน์กับท่าน เพราะถ้าเราไม่ไป พระผู้ช่วยเหลือก็จะไม่เสด็จมาหาท่าน แต่ถ้าเราไป เราจะส่งพระองค์มาหาท่าน เมื่อพระองค์เสด็จมา พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน บาปของโลกคือ เขาไม่ได้เชื่อในเรา ความถูกต้องคือ เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา และท่านจะไม่เห็นเราอีก การตัดสินคือ ซาตานเจ้านายแห่งโลกนี้ถูกตัดสินลงโทษแล้ว”
ยน 16:1-15 การเบียดเบียนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นรวมไปถึงการถูกขับไล่ออกจากศาลาธรรมและการเป็นมรณะสักขีด้วย พระจิตเจ้าทรงดูแลอยู่เสมอเพื่อมิให้ความเชื่อผิดพลั้งและประทานความเข้มแข็งแก่พระศาสนจักรในทุกสถานการณ์ อีกทั้งทรงนำทางพระศาสนจักร “สู่ความจริงทั้งครบ” ดังนั้นทุกคำสอนของพระศาสนจักรจึงได้รับการปกป้องไว้จากความผิดพลาดทั้งปวง
พระเยซูคริสตเจ้า
CCC ข้อ 729 เมื่อถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าจะทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าพระจิตเจ้าจะเสด็จมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพจะเป็นการทำให้พระสัญญาแก่บรรดาบรรพบุรุษเป็นความจริง พระบิดาจะประทานพระจิตแห่งความจริง “พระผู้ช่วยเหลือ” (Parakletos) อีกองค์หนึ่งตามคำอธิษฐานของพระเยซูเจ้า พระบิดาจะประทานพระองค์ในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าจะทรงส่งพระองค์มาจากพระบิดา เพราะพระองค์ทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดา พระจิตเจ้าจะเสด็จมา เราจะรู้จักพระองค์ พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป จะทรงพำนักอยู่กับเรา จะทรงสอนทุกสิ่งแก่เรา และจะทรงช่วยให้เราระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้และจะทรงเป็นพยานถึงพระองค์ พระจิตเจ้าจะทรงนำเราไปพบความจริงทุกข้อและจะทรงบันดาลให้พระคริสตเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงแสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป ของความถูกต้อง และของการตัดสิน
ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
CCC ข้อ 1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเตด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน
พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2615 ยิ่งกว่านั้น เมื่อการอธิษฐานภาวนาของเรารวมกับการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าแล้ว พระบิดายังประทาน “ผู้ช่วยเหลืออีกองค์หนึ่ง […] เพื่อจะอยู่กับท่านตลอดไป คือพระจิตแห่งความจริง” (ยน 14:16-17) มิติใหม่ประการนี้ของการอธิษฐานภาวนาและเงื่อนไขปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนเป็นความสัมพันธ์ความรักกับพระบิดา ไม่เพียงผ่านทางพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังในพระองค์อีกด้วย “จนถึงบัดนี้ ท่านยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเราเลย จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ เพื่อความยินดีของท่านจะสมบูรณ์” (ยน 16:24)
ยน 16:7-17 บทบาทของพระเจ้ามีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาของพระศาสนจักรที่พระคริสตเจ้าได้ทรงสถาปนาขึ้น ในการเปิดเผยและการถวายเกียรติแด่พระคริสตเจ้าในฐานะพระผู้ไถ่ของโลก และในการทำหน้าที่เป็นผู้แก้ต่างและ "พระจิตแห่งความจริง" สำหรับบรรดาอัครสาวก พระองค์จะทรงลงโทษโลกสำหรับความบาปของการปฏิเสธพระคริสตเจ้า จะทรงประกาศการพิพากษาแก่ซาตานและผู้คนที่เข้าข้างมันด้วย แต่สำหรับผู้มีความเชื่อ พระจิตเจ้าจะทรงนำพวกเขาเข้าสู่ชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมในพระปรีชาญาณ ความรัก และความชื่นชมยินดีของพระองค์
พระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 434 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าทำให้พระนามของพระเจ้า “ผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น” ได้รับสิริรุ่งโรจน์ เพราะนับตั้งแต่เวลานั้นพระนามเยซูแสดงอานุภาพของพระนามอย่างสมบูรณ์ “พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น” (ฟป 2:9-10) บรรดาจิตชั่วเกรงกลัวพระนามของพระองค์ และบรรดาศิษย์ของพระองค์ก็ทำอัศจรรย์ในพระนามนี้ เพราะไม่ว่าเขาทั้งหลายจะขออะไรจากพระบิดาในพระนามของพระองค์ พระบิดาก็ประทานให้
ชื่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคริสตชน (Christian name)
CCC ข้อ 2157 คริสตชนมักเริ่มวันใหม่ เริ่มการอธิษฐานภาวนาและการทำกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมถวายวันของตนแด่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและอัญเชิญพระหรรษทานของพระผู้ไถ่ให้มาช่วยเขาในฐานะบุตรของพระบิดาให้ทำกิจการในพระจิตเจ้า เครื่องหมายกางเขนยังทำให้เรามีกำลังต่อสู้ในการประจญและความยากลำบากต่าง ๆ
CCC ข้อ 2615 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 16:1-15)
ความยืนหยัดมั่นคงในความรัก
CCC ข้อ 2745 การอธิษฐานภาวนาแยกออกจากชีวิตคริสตชนไม่ได้ เพราะกล่าวถึงเรื่องความรักและการสละตนแบบเดียวกันที่สืบเนื่องมาจากความรัก กล่าวถึงการปรับตนอย่างบุตรและคนรักกับแผนการของพระบิดา กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเราในพระจิตเจ้าให้ละม้ายคล้ายกันยิ่งๆ ขึ้นกับพระคริสตเยซู กล่าวถึงความรักเดียวกันต่อมวลมนุษย์ กล่าวถึงความรักนี้ที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา “เพื่อว่าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระบิดาจะประทานแก่ท่าน เราสั่งท่านทั้งหลายดังนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงรักกัน” (ยน 15:16-17)
“ผู้ที่รวมการอธิษฐานภาวนากับงานที่ต้องทำ รวมกิจการที่ควรทำกับการอธิษฐานภาวนา ก็อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ โดยวิธีนี้เท่านั้น เราจึงอาจรับพระบัญชาให้อธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอนี้ ทำให้เป็นจริงได้”
“พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”
CCC ข้อ 2815 คำวอนขอประการนี้ ซึ่งรวมคำวอนขอทุกข้อ พระเจ้าทรงฟังเหมือนกับเป็นการอธิษฐานภาวนาของพระคริสตเจ้า เช่นเดียวกับคำวอนขออีกหกข้อที่เหลือซึ่งตามมา การอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาของเราเป็นการอธิษฐานภาวนาของเรา ถ้าเราอธิษฐานในพระนามของพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทรงวอนขอในคำอธิษฐานมหาสมณะของพระองค์ว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดเฝ้ารักษาบรรดาผู้ที่ทรงมอบให้ข้าพเจ้าไว้ในพระนามของพระองค์” (ยน 17:11)
ยน 16:8-11 การเปิดเผยของพระเจ้าซึ่งสำเร็จสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า และได้รับการรับรองในความจริงโดยพระจิตเจ้า ทำให้โลกตระหนักถึงความเป็นจริงและความชั่วร้ายของบาปอย่างเจ็บปวด ผู้ปกครองของโลกนี้ถูกตัดสิน : โดยอาศัยการทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงเอาชนะความชั่วร้าย รวมทั้งตัวการหลักของมัน ซึ่งคือซาตานนั่นเอง
มนุษย์ตกในบาป
CCC ข้อ 385 พระเจ้าทรงความดีไร้ขอบเขตและพระราชกิจของพระองค์ทุกอย่างก็ดีด้วย ถึงกระนั้นไม่มีผู้ใดที่หนีพ้นประสบการณ์เรื่องความทุกข์ ความชั่วร้ายในธรรมชาติ – สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสัมพันธ์กับขอบเขตจำกัดของสิ่งสร้างโดยเฉพาะ – รวมทั้งปัญหาเรื่องความชั่วร้ายด้านจริยธรรม ความชั่วร้ายมาจากไหน นักบุญออกัสตินเคยถามว่า “ข้าพเจ้าพยายามค้นหาว่าความชั่วมาจากไหน แต่ก็หาไม่พบ” และการค้นคว้าที่เจ็บปวดของท่านก็จะไม่ประสบความสำเร็จนอกจากเมื่อท่านได้กลับใจมาพบพระเจ้าผู้ทรงชีวิตแล้ว เพราะ “ความลึกลับของความชั่วร้าย” (เทียบ 2 ธส 2:7) นั้นเข้าใจไม่ได้นอกจากจะพิจารณาถึงธรรมล้ำลึกเรื่องความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า การเปิดเผยความจริงถึงความรักของพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นขอบเขตของความชั่วร้ายและความยิ่งใหญ่เกินคาดของพระหรรษทาน เราจึงต้องพิจารณาปัญหาเรื่องที่มาของความชั่วร้ายโดยใช้ความเชื่อหันไปมองพระองค์ (พระคริสตเจ้า) ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงพิชิตความชั่วร้าย
บาปดั้งเดิม (บาปกำเนิด) – ความจริงที่เป็นสาระสำคัญของความเชื่อ
CCC ข้อ 388 ความเข้าใจว่าบาปคืออะไรปรากฏชัดควบคู่ไปพร้อมกับวิวัฒนาการของการเปิดเผย แม้ว่าประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมพยายามหาความเข้าใจสภาพความทุกข์ยากของมนุษย์จากเรื่องที่หนังสือปฐมกาลเล่าถึงการตกในบาป แต่ก็ไม่อาจเข้าถึงความหมายสุดท้ายของเรื่องนี้ได้ เพราะความหมายนี้จะปรากฏชัดเจนเมื่อพิจารณาถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น เราจำเป็นต้องรู้ว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทานเช่นเดียวกับที่อาดัมเป็นบ่อเกิดของบาป พระจิตเจ้า พระผู้ช่วยเหลือที่พระคริสตเจ้าทรงส่งมานั้น เสด็จมาเพื่อทรง “แสดงให้โลกเห็นความหมายของบาป” (ยน 16:8) เมื่อทรงเปิดเผยพระองค์ผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของโลก
CCC ข้อ 389 เราอาจกล่าวได้ว่าคำสอนเรื่องบาปกำเนิดเป็น “ส่วนที่ตรงข้าม” ของข่าวดีนี้ – พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ไถ่ของมวลมนุษย์ ทุกคนต้องการความรอดพ้นและพระเจ้าประทานความรอดพ้นแก่ทุกคนผ่านทางพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรซึ่งมีความคิดของพระคริสตเจ้า รู้ว่าเราไม่อาจ มองข้ามการเปิดเผยเรื่องบาปกำเนิดได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า
การกลับใจภายใน
CCC ข้อ 1433 นับตั้งแต่วันปัสกาแล้ว พระจิตเจ้าทรงพิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าตนได้ทำบาปเพราะไมได้เชื่อในพระองค์ที่พระบิดาทรงส่งมา แต่พระจิตเจ้าพระองค์นี้ที่ทรงเปิดเผยบาป ยังทรงเป็นพระผู้ทรงบรรเทา พระองค์ประทานพระหรรษทานแก่ใจมนุษย์เพื่อจะได้เป็นทุกข์ถึงบาปและกลับใจ
CCC ข้อ 2615 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 16:7-17)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)