แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 15:26-16:4ก)                                                                           

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เมื่อพระผู้ช่วยเหลือซึ่งเราจะส่งมาจากพระบิดา จะเสด็จมา คือพระจิตแห่งความจริง ผู้ทรงเนื่องมาจากพระบิดา พระองค์จะทรงเป็นพยานให้เรา ท่านทั้งหลายก็จะเป็นพยานให้เราด้วย เพราะท่านอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกแล้ว เราบอกเรื่องเหล่านี้แก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านจะไม่แคลงใจ เขาจะขับไล่ท่านออกจากศาลาธรรม เวลานั้นกำลังมาถึง เมื่อผู้ที่ฆ่าท่านจะคิดว่าตนกำลังถวายคารวกิจแด่พระเจ้า เขาจะทำเช่นนี้ เพราะเขาไม่รู้จักทั้งพระบิดาและเรา แต่เราบอกเรื่องนี้กับท่าน เพื่อว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง ท่านจะระลึกได้ว่าเราบอกท่านแล้ว”     


ยน 15:26 พระศาสนจักรคาทอลิกสอนว่า พระจิตเจ้าทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร บทยืนยันความเชื่อแห่งนิเชอาที่ใช้ภาวนาในพิธีบูชาขอบพระคุณนั้นยืนยันถึงความเชื่อว่า การปฏิสนธิของพระคริสตเจ้าในครรภ์ของพระนางพรหมจารีมารีย์เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า งานของพระจิตเจ้าส่องสว่างจิตใจเพื่อให้เข้าลึกในคำสอนของพระคริสตเจ้า และมอบพลังให้แก่น้ำใจเพื่อการดำเนินชีวิตตามคำสอนเหล่านั้น

พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยพระบิดาและพระบุตร

CCC ข้อ 244 จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าได้รับการเปิดเผยจากการที่พระองค์ท่านถูกส่งมาในกาลเวลา พระบิดาทรงส่งพระจิตเจ้ามายังบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรในพระนามของพระบุตรและจากองค์พระบุตรโดยตรงหลังจากที่พระบุตรเสด็จกลับไปหาพระบิดาแล้ว การส่งพระบุคคลของพระจิตเจ้าลงมาหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้วเป็นการเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพโดยสมบูรณ์

CCC ข้อ 245 ความเชื่อที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยอัครสาวกเกี่ยวกับพระจิตเจ้าได้รับการประกาศเป็นทางการในสภาสังคายนาสากลครั้งที่ 2 ที่นครคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 ว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายยังเชื่อในพระจิต องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้บันดาลชีวิต ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” โดยวิธีนี้ พระศาสนจักรยอมรับว่าพระบิดาทรงเป็น “บ่อเกิดและที่มาของพระเทวภาพทั้งหมด” ถึงกระนั้น จุดเริ่มนิรันดรของพระจิตเจ้าก็มิใช่จะไม่มีความสัมพันธ์กับพระบุตร “ข้าพเจ้าทั้งหลายยังเชื่อว่าพระจิตเจ้าซึ่งเป็นพระบุคคลที่สามในพระตรีเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวและเท่ากับพระเจ้าพระบิดาและพระบุตร ทรงมีพระสภาวะหนึ่งเดียวและพระธรรมชาติหนึ่งเดียว [...]ซึ่งไม่เป็นของพระบิดาและพระบุตรเท่านั้น แต่กล่าวได้ว่าเป็นพระจิตพร้อมกันทั้งของพระบิดาและพระบุตร” สูตรยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรของสภาสังคายนาที่นครคอนสแตนติโนเปิลก็ประกาศว่า “พระองค์ (คือพระจิตเจ้า) ทรงรับการถวายสักการะและพระสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร”

CCC ข้อ 246 ธรรมประเพณีสูตรยืนยันความเชื่อในภาษาละตินประกาศว่าพระจิตเจ้าทรงเนื่องมา “จากพระบิดาและพระบุตร” (“a Patre Filioque”) สภาสังคายนาที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1438 อธิบายว่า “พระจิตเจ้า [...] ทรงมีสารัตถะและความเป็นอยู่จากพระบิดาและพร้อมกับจากพระบุตรด้วย (พระจิตเจ้า) ทรงเนื่องมาจากทั้งสองพระบุคคลพร้อมกันตั้งแต่นิรันดรประหนึ่งว่ามาจากจุดเริ่มแรกและด้วยการระบายลมปราณเดียวกัน [...] และเนื่องจากว่าพระบิดาเองประทานทุกสิ่งที่เป็นของพระบิดาเองแก่พระบุตรเมื่อทรงให้กำเนิดแก่พระบุตรเว้นแต่ความเป็นพระบิดา การที่พระจิตสืบเนื่องมาจากพระบุตร พระบุตรก็ทรงมีตั้งแต่นิรันดรจากพระบิดาผู้ให้กำเนิดแก่พระองค์ (คือพระบุตร) ตั้งแต่นิรันดรด้วย”

CCC ข้อ 247  การประกาศว่า “และพระบุตร” (Filioque) ไม่ได้มีอยู่ในสูตรยืนยันความเชื่อซึ่งประกาศที่นครคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 แต่พระสันตะปาปานักบุญเลโอซึ่งทรงรักษาธรรมประเพณีโบราณของพระศาสนจักรละตินและอเล็กซานเดรีย ได้ประกาศวลีนี้เป็นข้อความเชื่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 447 แล้ว ก่อนที่กรุงโรมจะรู้และยอมรับสูตรยืนยันความเชื่อของปี ค.ศ. 381 นี้ในสภาสังคายนาที่เมืองคัลเชโดนเมื่อปี ค.ศ. 451 เสียด้วย การใช้วลีนี้ (“และพระบุตร” หรือ “Filioque”) ในสูตรยืนยันความเชื่อค่อยๆ (ระหว่างช่วงเวลาศตวรรษที่ 8 ถึง 11) เป็นที่ยอมรับเข้ามาในพิธีกรรมภาษาละติน ถึงกระนั้น การที่พิธีกรรมในภาษาละตินนำวลี “และพระบุตร” (หรือ “Filioque”) เข้ามาในสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนานีเชอา-คอนสแตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นข้อโต้แย้งกันกับพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์มาจนถึงทุกวันนี้

CCC ข้อ 248 ธรรมประเพณีทางตะวันออกเน้นเป็นพิเศษถึงลักษณะของพระบิดาในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดแรกที่เกี่ยวกับพระจิตเจ้า เมื่อประกาศว่าพระจิตเจ้า “ทรงเนื่องมาจากพระบิดา” (ยน 15:26) ก็ประกาศว่าพระองค์ทรงเนื่องมาจากพระบิดาผ่านทางพระบุตร ส่วนธรรมประเพณีทางตะวันตกยืนยันเป็นพิเศษถึงความสัมพันธ์ร่วมพระธรรมชาติเดียวกันของพระบิดากับพระบุตร ดังนั้นจึงกล่าวว่าพระจิตเจ้าทรงสืบเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร การกล่าวเช่นนี้ “เป็นการถูกต้องสมเหตุสมผล” เพราะลำดับแต่นิรันดรของพระบุคคลของพระเจ้าหมายความว่าพระบิดาในฐานะที่ทรงเป็น “จุดเริ่มต้นที่ไม่มีจุดเริ่มต้น” (principium sine principio) ทรงเป็นบ่อเกิดแรกของพระจิตเจ้า แต่ในฐานะที่ทรงเป็นพระบิดาของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว จึงทรงเป็นจุดเริ่มต้นเพียงจุดเดียวพร้อมกับพระบุตรที่พระจิตเจ้าทรงเนื่องมาจากนั้น “ดังจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน” ด้วย ลักษณะเสริมกันและกันที่ถูกต้องไม่มีอะไรขัดข้องนี้ ถ้าเราไม่เรียกร้องเคร่งครัดเกินไป ย่อมไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ประกาศพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน


ยน 15:27 คริสตชนฆราวาสมีส่วนร่วมในสมณภาพของพระคริสตเจ้าโดยทางศีลล้างบาป พวกเขาได้รับการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็น “สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์” โดยอาศัยความเป็นสงฆ์ทั่วไปของผู้มีความเชื่อ (แตกต่างจากศาสนบริกรแห่งสงฆ์) บรรดาคริสตชนฆราวาสเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ คุณธรรม และแบบอย่างของพวกเขาต่อผู้อื่น

พันธกิจของฆราวาส

CCC ข้อ 941 บรรดาฆราวาสมีส่วนร่วมพระสมณภาพของพระคริสตเจ้า รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์มากยิ่งๆ ขึ้น แผ่ขยายพระหรรษทานของศีลล้างบาปและศีลกำลังออกไปในทุกมิติของชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว สังคม และชีวิตของพระศาสนจักร และดังนี้จึงทำให้กระแสเรียกให้ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปต้องบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นจริงขึ้นมา

CCC ข้อ 942 เนื่องจากพันธกิจประกาศกของตน บรรดาฆราวาส “ยังได้รับเรียกให้เป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าในทุกเรื่องในท่ามกลางสังคมมนุษย์ด้วย”

CCC ข้อ 943 เนื่องจากพันธกิจกษัตริย์ของตน บรรดาฆราวาสอาจขจัดอำนาจของบาปในตนเองและในโลกออกไปได้โดยการสละตนเองและโดยความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของตน

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition) วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลปัสกา