วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 11:1-45)
เวลานั้น ชายคนหนึ่งชื่อลาซารัสกำลังป่วย เขาเป็นชาวเบธานี หมู่บ้านของมารีย์ และมารธาพี่สาว มารีย์คือหญิงที่ใช้น้ำมันหอมชโลมองค์พระผู้เป็นเจ้า ใช้ผมเช็ดพระบาท ลาซารัสที่กำลังป่วยนี้ เป็นพี่ชายของมารีย์ พี่น้องทั้งสองคนจึงส่งคนไปทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า คนที่พระองค์ทรงรักกำลังป่วย” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทราบข่าวนี้ ก็ตรัสว่า “โรคนี้มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย แต่เพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า เพราะโรคนี้ พระบุตรของพระเจ้าจะได้รับพระสิริรุ่งโรจน์” พระเยซูเจ้าทรงรักมารธากับน้องสาว และลาซารัส หลังจากทรงทราบว่า ลาซารัสกำลังป่วย พระองค์ยังคงประทับอยู่ที่นั่นอีกสองวัน ต่อจากนั้นพระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรากลับไปแคว้นยูเดียกันเถิด” บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระอาจารย์ ชาวยิวเพิ่งพยายามเอาหินขว้างพระองค์ แล้วพระองค์ยังจะกลับไปที่นั่นอีกหรือ” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “วันหนึ่งมีสิบสองชั่วโมงมิใช่หรือ ถ้าใครเดินเวลากลางวันก็ไม่สะดุดเพราะเห็นแสงสว่างของโลกนี้ แต่ถ้าใครเดินเวลากลางคืน ก็สะดุดเพราะเขาไม่มีแสงสว่างเพื่อนำทาง” เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเสริมว่า “ลาซารัสเพื่อนของเรากำลังหลับอยู่ แต่เรากำลังจะไปปลุกให้ตื่น” บรรดาศิษย์จึงทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเขาหลับอยู่ เขาก็จะหายจากโรค” พระเยซูเจ้าตรัสถึงความตายของลาซารัส แต่บรรดาศิษย์คิดว่า พระองค์ตรัสถึง “การนอนหลับ” ดังนั้นพระองค์จึงตรัสอย่างชัดเจนว่า “ลาซารัสตายแล้ว เรายินดีสำหรับท่านทั้งหลายที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่น เพื่อท่านจะได้เชื่อเรา ไปหาเขากันเถิด” ทมัส ที่เรียกกันว่าฝาแฝด กล่าวกับศิษย์คนอื่น ๆ ว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด” เมื่อเสด็จมาถึง พระเยซูเจ้าทรงพบว่าลาซารัสถูกฝังในคูหามาสี่วันแล้ว หมู่บ้านเบธานีอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ห่างกันราวสามกิโลเมตร ชาวยิวจำนวนมากมาหามารธาและมารีย์เพื่อปลอบใจนางในการตายของพี่ชาย เมื่อมารธารู้ว่า พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จมา นางก็ออกไปรับเสด็จ ส่วนมารีย์ยังคงนั่งอยู่ที่บ้าน มารธาทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย แต่บัดนี้ ดิฉันรู้ดีว่า สิ่งใดที่พระองค์ทรงวอนขอจากพระเจ้า พระเจ้าจะประทานให้” พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า “พี่ชายของท่านจะกลับคืนชีพ” มารธาทูลว่า “ดิฉันรู้ว่า เขาจะกลับคืนชีพเมื่อมนุษย์ทุกคนจะกลับคืนชีพในวันสุดท้าย” พระเยซูเจ้าตรัสกับนางว่า เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเรา แม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย ท่านเชื่อเช่นนี้หรือ’ มารธาทูลตอบว่า “เชื่อพระเจ้าข้า ดิฉันเชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ที่จะต้องเสด็จมาในโลกนี้” เมื่อมารธาทูลดังนี้แล้ว นางก็ไปเรียกมารีย์น้องสาว กระซิบบอกว่า “พระอาจารย์อยู่ที่นี่ และทรงเรียกน้องด้วย” เมื่อมารีย์ได้ยินดังนั้น ก็รีบลุกขึ้นไปเฝ้าพระองค์ พระเยซูเจ้ายังไม่ได้เสด็จเข้าในหมู่บ้าน แต่ยังประทับอยู่ในที่ที่มารธามาเฝ้า ชาวยิวซึ่งอยู่ที่บ้านกับมารีย์เพื่อปลอบใจนาง เมื่อเห็นนางรีบลุกขึ้นออกไป ก็ตามไปด้วย คิดว่านางคงจะไปร้องไห้ที่คูหาฝังศพ เมื่อมารีย์มาถึงที่ที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ และเห็นพระองค์ ก็กราบพระบาท ทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย” พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นนางกำลังร้องไห้ และชาวยิวที่ตามมาก็ร้องไห้ด้วย พระองค์ทรงสะเทือนพระทัยและเศร้าโศกมาก ตรัสถามว่า “ท่านฝังเขาไว้ที่ไหน” เขาทูลว่า “พระเจ้าข้า เชิญเสด็จมาทอดพระเนตรเถิด” พระเยซูเจ้าทรงกันแสง ชาวยิวจึงพูดว่า “ดูซิ พระองค์ทรงรักเขาเพียงไร” แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “พระองค์ทรงรักษาคนตาบอดได้ จะทำให้คนนี้ไม่ตายไม่ได้หรือ” พระเยซูเจ้าทรงสะเทือนพระทัยอีก เสด็จถึงคูหาฝังศพ ซึ่งเป็นโพรงหินมีหินแผ่นหนึ่งปิดอยู่ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงยกแผ่นหินออก” มารธาน้องสาวของผู้ตายทูลว่า “พระเจ้าข้า ศพมีกลิ่นแล้ว เพราะฝังมาถึงสี่วัน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรามิได้บอกท่านหรือว่า ถ้าท่านมีความเชื่อ ท่านจะเห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” คนเหล่านั้นจึงยกแผ่นหินออก พระเยซูเจ้าทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า พระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ก็เพื่อประชาชนที่อยู่รอบข้าพเจ้า เขาจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงดังว่า “ลาซารัสเอ๋ย จงออกมาเถิด” ผู้ตายก็ออกมา มีผ้าพันมือพันเท้า และผ้าคลุมใบหน้าด้วย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงเอาผ้าออกและให้เขาไปเถิด” ชาวยิวหลายคนที่มาเยี่ยมมารีย์ และเห็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ ก็เชื่อในพระองค์
ยน 11:1-44 ในการทำให้ลาซารัสกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้ามิเพียงแสดงว่าพระองค์ทรงมีฤทธานุภาพทำให้คนตายกลับคืนชีพสู่ชีวิตได้เท่านั้น แต่ทรงพระองค์เองนี่แหละคือการกลับคืนชีพและชีวิต เหตุการณ์ที่น่าทึ่งนี้เป็นเครื่องหมายของการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการกลับคืนชีพของมนุษย์ทุกคนในวันสุดท้ายเมื่อพระคริสตเจ้าจะทรงทำให้ผู้ตายในความเชื่อกลับคืนชีพไปสู่ชีวิตนิรันดร์ และผู้ไม่เชื่อไปสู่การลงโทษนิรันดร
พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ
CCC ข้อ 994 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม พระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต
ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร
CCC ข้อ 1001 กลับคืนชีพเมื่อไร? การกลับคืนชีพจะเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด “ในวันสุดท้าย” (ยน 6:30-40,44,54; 11:24) “เมื่อสิ้นพิภพ” ใช่แล้ว การกลับคืนชีพของผู้ตายต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดกับการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า “เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ตามพระบัญชา เมื่อมีเสียงหัวหน้าทูตสวรรค์และเสียงแตรของพระเจ้า บรรดาผู้ตายในพระคริสตเจ้าจะกลับคืนชีพก่อน” (1 ธส 4:16)
ยน 11:1-5 พระคริสตเจ้าทรงมีมิตรภาพใกล้ชิดเป็นพิเศษกับลาซารัส มารธา และมารีย์ มารีย์คือหญิงที่ใช้น้ำมันหอมชโลมองค์พระผู้เป็นเจ้า : เป็นการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องจนกว่าจะถึงบทต่อไป (เทียบ ยน 12:1-8) มิได้เกิดขึ้นเพื่อความตาย : อันที่จริงลาซารัสได้ตายทางกายภาพไปแล้ว แต่พระคริสตเจ้าทรงทราบว่าพระองค์จะทรงทำให้เขากลับสู่ชีวิตทางกายภาพอีกครั้งหนึ่ง
ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์
CCC ข้อ 1939 หลักการ “ความร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน” ซึ่งยังอาจเรียกได้อีกว่า “มิตรภาพ” หรือ “ความรักด้านสังคม” เป็นการเรียกร้องโดยตรงให้มนุษยชาติและคริสตชนรวมตัวกันเหมือนพี่น้อง ความผิด “ประการแรกที่มีอยู่ในปัจจุบันและแพร่ขยายนำความเสียหายอย่างกว้างขวางนั้นอยู่ที่การลืมไปว่ามนุษย์จำเป็นต้องร่วมอยู่ด้วยกันและมีความรักต่อกัน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของการที่มนุษย์มีต้นกำเนิดร่วมกันและมีธรรมชาติรู้จักคิดตามเหตุผลเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติใด นอกจากนั้นการถวายบูชาไถ่กู้ที่พระคริสตเจ้าทรงถวายบนไม้กางเขนให้มวลมนุษย์กลับคืนดีกับพระบิดานิรันดรนั้นก็ยังสั่งไว้เช่นเดียวกันด้วย”
การมอบตนเองทั้งหมดเป็นของถวาย
CCC ข้อ 2347 คุณธรรมความบริสุทธิ์พัฒนาขึ้นในมิตรภาพ (การเป็นเพื่อน) คุณธรรมนี้แสดงให้บรรดาศิษย์เห็นว่าเขาจะต้องติดตามและประพฤติตามแบบฉบับของพระองค์ผู้ทรงเลือกสรรเราให้เป็นมิตรสหายของพระองค์อย่างไร พระองค์ทรงมอบพระองค์แก่พวกเราโดยสิ้นเชิงและทรงทำให้เรามีส่วนในพระเทวภาพของพระองค์ ความบริสุทธิ์จึงเป็นคำสัญญาของอมตภาพ (ความไม่มีวันตาย) ความบริสุทธิ์แสดงออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิตรภาพต่อเพื่อนมนุษย์ มิตรภาพที่มีอยู่ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศนับได้ว่าเป็นยิ่งใหญ่สำหรับทุกคน มิตรภาพนี้นำไปหาความสัมพันธ์ด้านจิตใจ
ยน 11:6 พระคริสตเจ้าทรงรออยู่เป็นเวลาสองวันก่อนที่จะเสด็จไปยังเบธานี ทรงทราบว่าลาซาลัสได้ตายไปแล้ว เมื่อเสด็จถึงที่นั่น พระองค์ทรงกระทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่น่าพิศวงในการทำให้ลาซารัสกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เขาได้ถูกฝังไปสี่วันแล้ว การกลับคืนชีพของลาซารัสเป็นดังภาพล่วงหน้าแห่งการกลับคืนพระชนมชีพจากความตายของพระองค์
พระคูหาว่างเปล่า
CCC ข้อ 640 ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า? พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (ลก 24:5-6) ในบรรดาเหตุการณ์ของวันปัสกา รายละเอียดประการแรกที่พบได้ก็คือ พระคูหาว่างเปล่า เรื่องนี้ในตัวเองไม่เป็นข้อพิสูจน์โดยตรง การที่พระศพของพระคริสตเจ้าไม่อยู่ในพระคูหาอาจได้รับคำอธิบายอย่างอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นพระคูหาที่ว่างเปล่าก็ยังเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับทุกคน การที่บรรดาศิษย์พบพระคูหาว่างเปล่าก็เป็นก้าวแรกเพื่อจะยอมรับความจริงเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ โดยเฉพาะในกรณีของบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วในกรณีของเปโตร ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” (ยน 20:2) ยืนยันว่าตนเข้าไปในพระคูหา ได้เห็น “ผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น” (ยน 20:6) และมีความเชื่อ ข้อความนี้ชวนให้คิดว่าเขาได้พบว่าการที่พระวรกายไม่อยู่แล้วในพระคูหาว่างเปล่าไม่อาจเป็นการกระทำของมนุษย์ได้ และพระเยซูเจ้ามิได้เพียงแต่ทรงกลับมาทรงพระชนมชีพเหมือนมนุษย์ทั่วไปดังเช่นในกรณีของลาซารัส
ยน 11:7-16 เบธานีอยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มเป็นระยะทางสองไมล์ ดังนั้นการไปยังบ้านของลาซารัสจึงหมายถึงการกลับไปยังแคว้นยูเดียอีกครั้งหนึ่ง ที่นั่นบรรดาผู้นำชาวยิวได้วางแผนจับกุมพระคริสตเจ้า ทั้งพระองค์เองและบรรดาศิษย์ต่างตกอยู่อันตราย กำลังหลับอยู่ : ถึงแม้ผู้ได้รับศีลล้างบาปจะมีชีวิตนิรันดร์เมื่อได้กลับคืนชีพ เขาก็ยังต้องรับขอบเขตเหตุแห่งความตายฝ่ายกายของตน ทว่าความตายนั้นเป็นเสมือนการนอนหลับที่จะต้องตื่นขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาอัครสาวกเข้าใจพระวาจาของพระคริสตเจ้าในแบบของพวกเขา พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์เถิด : โทมัสได้แสดงความกล้าหาญออกมา แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงถูกทรยศ เขาก็ไม่ได้กล้าหาญเลย
“การเป็นพยานถึงความจริง”
CCC ข้อ 2473 การเป็นมรณสักขีคือการเป็นพยานอย่างสูงสุดถึงความจริงแห่งความเชื่อ การนี้หมายถึงการยอมกระทั่งตายเพื่อเป็นพยาน มรณสักขีเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพและเขาก็ยินดีร่วมตายกับพระองค์เพราะความรัก เขายังเป็นพยานถึงความจริงของความเชื่อและคำสอนของพระคริสตเจ้า เขาแสดงความกล้าหาญจนยอมตาย “ท่านทั้งหลายจงยอมให้ข้าพเจ้าเป็นอาหารของสัตว์ร้ายซึ่งจะอนุญาตให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระเจ้าได้”
สรุป - การเป็นพยาน
CCC ข้อ 2506 คริสตชนต้องไม่ “อายที่จะเป็นพยานถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2 ทธ 1:8) ด้วยการกระทำและคำพูด การเป็นมรณสักขีคือการเป็นพยานขั้นสูงสุดที่แสดงต่อความจริงแห่งความเชื่อ
ยน 11:21-22 ถึงแม้ความเชื่อของมารธา ความหวังในพระคริสตเจ้า และฤทธิ์อำนาจของพระองค์ในการทำให้ลาซารัสกลับฟื้นคืนชีพจากความตายนั้นเด่นชัดอยู่แล้ว นางก็มิได้วอนขอให้พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ เพราะนางน้อมรับพระประสงค์ของพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ
ความหวัง
CCC ข้อ 1817 ความหวังเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยให้เราใฝ่หาพระอาณาจักรสวรรค์และชีวิตนิรันดรเป็นความสุขของเรา โดยวางความมั่นใจของเราไว้กับพระสัญญาของพระคริสตเจ้า ไม่วางใจในกำลังของเรา แต่วางใจในความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้า “เราจงยึดมั่นโดยไม่หวั่นไหวในการประกาศความหวังที่เรามีอยู่ เพราะว่าพระองค์ผู้ประทานพระสัญญานั้นทรงซื่อสัตย์” (ฮบ 10:23) พระองค์ “ทรงหลั่งพระจิตเจ้าลงเหนือเราอย่างอุดมโดยทางพระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเรา เพื่อพระหรรษทานของพระองค์จะบันดาลให้เรากลับเป็นผู้ชอบธรรมและเป็นทายาทในความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร” (ทต 3:6-7)
CCC ข้อ 1818 คุณธรรมความหวังตอบสนองการแสวงหาความสุขที่พระเจ้าทรงวางไว้ในในของมนุษย์แต่ละคน รวบรวมการคาดหวังที่เป็นพลังบันดาลใจให้มนุษย์ประกอบกิจกรรมต่างๆ ชำระพลังบันดาลใจเหล่านี้ให้มุ่งหาอาณาจักรสวรรค์ ช่วยป้องกันไม่ให้หมดกำลังใจ คอยพยุงใจไว้ไม่ให้ท้อแท้ ช่วยเปิดใจให้กว้างมีความหวังว่าจะได้รับความสุขนิรันดร พลังผลักดันของความหวังช่วยปกป้องเราไว้จากความรักตนเอง (“ความเห็นแก่ตัว”) และนำเราให้แสวงหาความสุขที่มาจากความรัก
ยน 11:24 ชาวยิวจำนวนมากในศตวรรษแรกรวมทั้งชาวฟาริสีด้วย ต่างก็เชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพจากความตาย แต่ชาวสะดูสีเป็นกลุ่มชาวยิวที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้
พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ
CCC ข้อ 993 ชาวฟารีสี และผู้ร่วมสมัยกับพระคริสตเจ้าจำนวนมาก รอคอยการกลับคืนชีพพระเยซูเจ้าทรงสอนเรื่องนี้อย่างแข็งขัน พระองค์ทรงตอบชาวสะดูสีที่ปฏิเสธเรื่องนี้ว่า “ท่านไม่เข้าใจพระคัมภีร์และไม่รู้จักพระอานุภาพของพระเจ้า” (มก 12:24) ความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพตั้งอยู่บนความเชื่อในพระเจ้า “ผู้มิใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่เป็นพระเจ้าของผู้เป็น” (มก 12:27)
ยน 11:25 เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต : นี่เป็นการยืนยันถึงพระเทวภาพของพระคริสตเจ้าอย่างเป็นทางการ ความหวังของเราต่อการกลับคืนชีพและชีวิตนิรันดรนั้นขึ้นอยู่กับการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าและการไถ่กู้ของพระองค์โดยสิ้นเชิง โดยอาศัยความตายและการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ผู้ที่เชื่อจะได้กลับคืนชีพจากความตายและเข้าสู่ชีวิตนิรันดร
พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ
CCC ข้อ 994 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่มพระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต
ยน 11:33-35 พระเยซูเจ้าทรงกันแสง : พระคริสตเจ้าทรงเป็นมนุษย์ที่ครบครัน พระองค์จึงทรงมีความรู้สึกเสียใจอย่างมากต่อหน้าความตายของผู้ที่ทรงรัก ถึงแม้ว่าพระคริสตเจ้าทรงทราบว่าในอีกไม่ช้าพระองค์จะทรงทำให้ลาซารัสกลับคืนชีพจากความตาย พระองค์ก็ยังทรงรู้สึกทุกข์ใจอย่างลึกซึ้งต่อการจากไปของลาซารัส ด้วยความเศร้าโศกเสมือนคนในครอบครัวและเป็นเพื่อน
พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 472 พระวิญญาณมนุย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับนี้มีความรู้แบบมนุษย์จริงๆ ความรู้นี้โดยธรรมชาติแล้วไม่อาจเป็นความรู้ที่ไร้ขอบเขตได้ แต่ทำงานในสภาพความเป็นอยู่ของตนทางประวัติศาสตร์ตามสถานที่และเวลา เพราะเหตุนี้ พระบุตรของพระเจ้าเมื่อทรงรับเป็นมนุษย์จึงทรงรับสมรรถนะที่จะ “เจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทาน” (ลก 2:52) ได้ด้วย และดังนี้จึงต้องทรงค้นคว้าหาความรู้เรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทั่วไปต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ สภาพเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทรงประสงค์จะสละพระองค์มาทรงรับ “สภาพดุจทาส”
พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 531 ตลอดเวลาส่วนใหญ่ในพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพแวดล้อมคล้ายกับมนุษย์ส่วนมาก ทรงทำงานที่ต้องออกแรงเหมือนคนทั่วไป ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติทางศาสนาของชาวยิว ทรงดำเนินพระชนมชีพในชุมชน ตลอดช่วงเวลานี้ พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังบิดามารดา และ “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุและพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52)
ยน 11:39 ฝังมาถึงสี่วัน : ในช่วงศตวรรษแรกชาวยิวเชื่อกันว่า ร่างกายจะเริ่มเสื่อมโทรมในวันที่สี่หลังจากความตาย การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นในวันที่สามหลังการสิ้นพระชนม์ เพื่อให้สำเร็จไปตามคำทำนายที่ว่า พระกายของพระองค์ต้องไม่ประสบกับการเสื่อมสลายของความตาย (เทียบ สดด 16:9-10)
พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 472 พระวิญญาณมนุย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับนี้มีความรู้แบบมนุษย์จริงๆ ความรู้นี้โดยธรรมชาติแล้วไม่อาจเป็นความรู้ที่ไร้ขอบเขตได้ แต่ทำงานในสภาพความเป็นอยู่ของตนทางประวัติศาสตร์ตามสถานที่และเวลา เพราะเหตุนี้ พระบุตรของพระเจ้าเมื่อทรงรับเป็นมนุษย์จึงทรงรับสมรรถนะที่จะ “เจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทาน” (ลก 2:52) ได้ด้วย และดังนี้จึงต้องทรงค้นคว้าหาความรู้เรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับที่มนุษย์ทั่วไปต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ สภาพเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทรงประสงค์จะสละพระองค์มาทรงรับ “สภาพดุจทาส”
“พระองค์จะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย”
CCC ข้อ 627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย”เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46) เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่
ยน 11:41-43 ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่... ทรงส่งข้าพเจ้ามา : ในการที่พระคริสตเจ้าทรงมอบแบบอย่างของการอธิษฐานภาวนาแก่เรา พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าทรงภาวนาต่อพระบิดาเจ้าอยู่บ่อยๆ ทรงเริ่มการภาวนาด้วยการขอบคุณเพื่อสอนเราว่า พระเจ้าพระบิดาจะประทานสิ่งดีที่สุดแก่ผู้อ่อนน้อมต่อพระประสงค์ของพระองค์อยู่เสมอด้วยความรัก
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2604 นักบุญยอห์นเล่าถึงเรื่องการอธิษฐานภาวนา(ของพระเยซูเจ้า)อีกเรื่องหนึ่งก่อนที่จะทรงปลุกลาซารัสให้กลับคืนชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เริ่มด้วยการขอบพระคุณเช่นเดียวกัน “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงฟังคำของข้าพเจ้า” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าพระบิดาทรงฟังคำขอร้องของพระองค์เสมอ พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปทันทีว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระองค์ทรงฟังข้าพเจ้าเสมอ” ซึ่งก็หมายความว่าพระเยซูเจ้าเองก็ทรงวอนขอพระบิดาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าที่เริ่มด้วยการขอบพระคุณจึงเปิดเผยให้เรารู้ว่าจะต้องวอนขออย่างไร ก่อนที่จะทรงได้รับสิ่งที่ทรงขอ พระเยซูเจ้าทรงร่วมสนิทกับพระองค์ผู้ประทานและประทานพระองค์เองในสิ่งที่ประทานให้ พระองค์ผู้ประทานนั้นประเสริฐกว่าของประทาน พระองค์ทรงเป็น “ขุมทรัพย์” และในพระองค์ก็มีพระทัยของพระบุตร ซึ่งเป็นของประทาน “ที่ทรงเพิ่มให้” อีกด้วย “คำอธิษฐานในฐานะสมณะ” ของพระเยซูเจ้ามีที่พิเศษในแผนการความรอดพ้น เราจะพิจารณาคำอธิษฐานภาวนานี้ในปลายของ “ตอนที่หนึ่ง” นี้ คำอธิษฐานภาวนานี้เปิดเผยให้เราเห็นว่าการอธิษฐานภาวนาของพระมหาสมณะของเราเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และในเวลาเดียวกันก็มีเนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนเราในคำอธิษฐานภาวนาของเราต่อพระบิดาซึ่งจะได้รับคำอธิบายในตอนที่สอง
ยน 11:43 ทรงเปล่งพระสุรเสียงดัง : แสดงถึงเครื่องหมายของการกลับคืนชีพในวันสุดท้าย พระคริสตเจ้าจะทรงเรียกผู้ตายให้กลับคืนสู่ชีวิตอีกครั้งหนึ่งเมื่อพวกเขาได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ ภาษาที่พระองค์ทรงใช้ในการทำให้ลาซารัสกลับคืนชีพจากความตายนั้นมีความคล้ายคลึงกับภาษาที่ใช้ในพิธีขับไล่ปีศาจ ซึ่งแสดงถึงอำนาจสูงสุดของพระคริสตเจ้าเหนือความตาย
ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร
CCC ข้อ 1001 ลับคืนชีพเมื่อไร? การกลับคืนชีพจะเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด “ในวันสุดท้าย” (ยน 6:30-40,44,54; 11:24) “เมื่อสิ้นพิภพ” ใช่แล้ว การกลับคืนชีพของผู้ตายต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดกับการเสด็จกลับมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า “เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ตามพระบัญชา เมื่อมีเสียงหัวหน้าทูตสวรรค์และเสียงแตรของพระเจ้า บรรดาผู้ตายในพระคริสตเจ้าจะกลับคืนชีพก่อน” (1 ธส 4:16)
ยน 11:44 การกลับคืนชีพของลาซารัสนั้นมีความแตกต่างจากการกลับคืนชีพในวันสุดท้ายหรือจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า กล่าวคือ ลาซารัสถูกนำกลับมาสู่รูปแบบชีวิตก่อนตายของเขา ดังนั้น เขายังจะต้องทำประสบการณ์ของความตายทางกายภาพอีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับคืนชีพในวันพิพากษาครั้งสุดท้ายนั้นมิใช่เป็นการเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งของชีวิตในโลกนี้ แต่เป็นการรวมระหว่างวิญญาณของผู้ชอบธรรมเข้ากับร่างกายของพวกเขาในสภาพที่รุ่งโรจน์เข้าสู่ชีวิตนิรันดร พระกายรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าหลังการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์นั้นทำให้เราเข้าใจถึงสภาวะรุ่งโรจน์ที่เราจะได้รับในสวรรค์
CCC ข้อ 640 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 11:6)
สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว
CCC ข้อ 646 การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าไม่ใช่การกลับมามีชีวิตในโลกนี้อีกดังเช่นในกรณีของการกลับคืนชีพที่ทรงบันดาลให้เกิดขึ้นก่อนวันปัสกา เช่น กรณีบุตรสาวของไยรัส หนุ่มที่เมืองนาอิม ลาซารัส เหตุการณ์เหล่านี้เป็นอัศจรรย์ แต่บุคคลที่กลับคืนชีพอย่างอัศจรรย์เหล่านี้ก็ได้รับชีวิตในโลกนี้ “ตามปรกติ” อาศัยพระอานุภาพของพระเยซูเจ้า และต่อมาเขาก็จะตายอีก แต่การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงโดยสาระสำคัญ ในพระวรกายที่กลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงก้าวข้ามจากสภาพของความตายไปรับชีวิตใหม่ที่อยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระวรกายของพระเยซูเจ้าได้รับพระอานุภาพของพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม มีส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระชนมชีพของพระเจ้าในสภาพพระสิริรุ่งโรจน์ จนว่าเปาโลอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ว่า “พระองค์ทรงเป็นมนุษย์สวรรค์”
ยน 11:45-57 ชาวฟาริสีและหัวหน้าสมณะตื่นตระหนกกับปาฏิหาริย์ของการปลุกลาซารัสให้ฟื้นคืนชีพ จึงตัดสินใจหาทางจับกุมพระคริสตเจ้าและต้องการประหารชีวิตพระองค์ งานฉลองปัสกาที่ใกล้เข้ามาจึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการจับกุมพระองค์ เนื่องจากพระองค์จะยังทรงพำนักอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อร่วมงานฉลอง
เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า
CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ
พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพต่อพระวิหาร
CCC ข้อ 593 พระเยซูเจ้าทรงให้ความเคารพต่อพระวิหาร เสด็จขึ้นไปที่นั่นในวันสมโภชที่ชาวยิวต้องเดินทางไปร่วม และยังทรงมีความรักอย่างยิ่งต่อที่ประทับของพระเจ้าในหมู่มนุษย์แห่งนี้ พระวิหารยังแจ้งล่วงหน้าถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าว่าพระวิหารจะถูกทำลายแต่การที่ทรงแจ้งล่วงหน้าเช่นนี้เป็นการแจ้งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์และการเข้าสู่ยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ซึ่งในยุคใหม่นี้พระกายของพระองค์จะเป็นพระวิหารสมบูรณ์ที่สุด
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)