แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 13:31-33ก, 34-35)                                                                                             

เวลานั้น เมื่อยูดาสออกไปแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บัดนี้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ และพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ด้วย ถ้าพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ พระเจ้าจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในพระองค์ด้วย และจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในทันที ลูกทั้งหลายเอ๋ย เราจะอยู่กับท่านอีกไม่นาน ท่านจะแสวงหาเรา เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่า ท่านเป็นศิษย์ของเรา” 


ยน 13:31-35  พระคริสตเจ้าทรงสรุปเนื้อหาคำสอนทั้งหมดของพระองค์ในบทบัญญัติใหม่ “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” ทรงขอให้บรรดาศิษย์ของพระองค์รักผู้อื่นด้วยจิตใจของพระองค์ คือของพระคริสตเจ้าเอง พระองค์ทรงทำให้เห็นชัดเจนว่า ความรักแบบนี้จะดึงดูดผู้อื่นให้เข้าหาพระวรสารและสู่การกลับใจได้    

ลักษณะเฉพาะของประชากรของพระเจ้า

CCC ข้อ 782 ประชากรของพระเจ้ามีลักษณะเฉพาะที่ทำให้ประชากรนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากทุกกลุ่มชน ทั้งในด้านศาสนา เชื้อชาติ การเมือง และวัฒนธรรม

  - เป็นประชากรของพระเจ้า พระเจ้าไม่ทรงเป็นพระเจ้าเฉพาะของประชากรใดๆ แต่พระองค์ทรงเลือกเขามาเป็นประชากรสำหรับพระองค์จากผู้ที่ไม่เคยเป็นประชากรมาก่อน “เป็นชนชาติที่ทรงเลือกสรรไว้ เป็นสมณราชตระกูล เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์” (1 ปต 2:9)

  - ใครคนหนึ่งมาเป็นสมาชิกของประชากรนี้ไม่ใช่โดยการถือกำเนิดทางร่างกาย แต่โดยการบังเกิด “จากเบื้องบน” “จากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:2-5) นั่นคืออาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้าและอาศัยศีลล้างบาป

  - ประชากรนี้มีพระเยซูคริสตเจ้า (ผู้รับเจิม พระเมสสิยาห์) เป็นศีรษะ เพราะการเจิมเดียวกันคือพระจิตเจ้าหลั่งจากศีรษะลงมายังร่างกาย ซึ่งก็คือ “ประชากรของพระเมสสิยาห์” นั่นเอง

  - “ประชากรนี้มีศักดิ์ศรีและอิสรภาพของบุตรพระเจ้าเป็นเงื่อนไข พระจิตเจ้าประทับในจิตใจของเขาประหนึ่งประทับในพระวิหาร”

  - “ประชากรนี้มีบัญญัติใหม่ให้รักกันเหมือนดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักเราเป็นกฎหมาย” นี่เป็นกฎหมาย “ใหม่” ของพระจิตเจ้า

  - พันธกิจของประชากรนี้ คือต้องเป็นเกลือของแผ่นดินและแสงสว่างของโลก “เป็นเมล็ดพันธุ์มั่นคงแห่งเอกภาพ ความหวังและความรอดพ้นสำหรับมวลมนุษยชาติ”

  - ในที่สุด จุดหมายของประชากรนี้ก็คือ “พระอาณาจักรของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเริ่มไว้ตั้งแต่ทรงเนรมิตสร้างโลก จะต้องขยายตัวออกไป จนพระองค์จะทรงทำให้สมบูรณ์เมื่อสิ้นพิภพ”

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและบรรดาประกาศก” (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้า ที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา

“พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”

CCC ข้อ 2822 พระประสงค์ของพระบิดาของเราก็คือ “ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้นและรู้ความจริงที่สมบูรณ์” (1 ทธ 2:4) พระองค์ “ทรงอดกลั้น […] ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดต้องพินาศ” (2 ปต 3:9) พระบัญชาของพระองค์ซึ่งสรุปรวมพระบัญชาอื่นๆ ทั้งหมดและแสดงถึงพระประสงค์ทั้งหมดของพระองค์ก็คือให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา


ยน 13:34-35  พระบัญญัติยิ่งใหญ่นี้เรียกร้องเราให้ “รักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน” และ ให้ “รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มธ 22:37, 39) พระบัญญัติใหม่ที่พระคริสตเจ้าประทานให้นี้เรียกร้องเราให้กลายเป็นพระคริสต์อีกองค์หนึ่งเพื่อเราจะได้มีเมตตาและรักอย่างพระองค์   

ความรัก  

CCC ข้อ 1822 ความรักเป็นคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้าที่ช่วยให้เรารักพระเจ้าเหนือสิ่งใดเพราะเห็นแก่พระองค์และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองเพราะเห็นแก่ความรักของพระเจ้า         

CCC ข้อ 1823 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความรักเป็นบัญญัติใหม่ของพระองค์ พระองค์ทรงรักบรรดาศิษย์ของพระองค์ “จนถึงที่สุด” (ยน 13:1) ทรงแสดงความรักของพระบิดาที่ทรงรับมา เมื่อบรรดาศิษย์รักกัน เขาก็ประพฤติตามแบบความรักของพระเยซูเจ้าที่เขารับเข้ามาในตนด้วย ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “พระบิดาทรงรักเราอย่างไร เราก็รักท่านทั้งหลายอย่างนั้น จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด” (ยน 15:9) และยังตรัสอีกว่า “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)       

CCC ข้อ 1824 ความรักซึ่งเป็นผลของพระจิตเจ้าและความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติ ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าและพระคริสต์ของพระองค์ “จงดำรงอยู่ในความรักของเราเถิด ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา ท่านก็จะดำรงอยู่ในความรักของเรา” (ยน 15:9-10)      

CCC ข้อ 1825 พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น “ศัตรูอยู่” (รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา ให้เรารักเด็กเล็กๆ และคนยากจน เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย            นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง   หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)       

CCC ข้อ 1826 ท่านอัครสาวกยังกล่าวอีกว่า ถ้าไม่มีความรัก “ข้าพเจ้าก็ไม่เป็นอะไรเลย” และสิ่งใดๆ ไม่ว่าที่เป็นสิทธิพิเศษ เป็นการรับใช้ แม้กระทั่งเป็นคุณธรรม.... ถ้าข้าพเจ้าไม่มีความรัก “ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยสำหรับข้าพเจ้า” ความรักอยู่เหนือคุณธรรมทุกอย่าง เป็นที่หนึ่งในบรรดาคุณธรรมเกี่ยวกับพระเจ้า “ขณะนี้ยังมีความเชื่อ ความหวังและความรักอยู่ทั้งสามประการ แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งหมดคือความรัก” (1 คร 13:13)      

CCC ข้อ 1827 การปฏิบัติคุณธรรมทุกประการต้องได้รับอิทธิพลและพลังบันดาลใจจากความรักเป็น “ที่รวมความสมบูรณ์” (เทียบ คส 3:14) ความรักเป็นรูปแบบของคุณธรรมทั้งหลาย รวมคุณธรรมต่างๆไว้และจัดให้สัมพันธ์กัน เป็นบ่อเกิดและจุดหมายของการที่คริสตชนปฏิบัติคุณธรรม ความรักให้กำลังและชำระสมรรถนะแบบมนุษย์ของเราที่จะรัก ทำให้สมรรถนะนี้สูงขึ้นให้มีความสมบูรณ์เหนือธรรมชาติเหมือนความรักของพระเจ้า      

CCC ข้อ 1828 การดำเนินชีวิตตามศีลธรรมที่ได้รับพลังบันดาลใจจากความรักทำให้คริสตชนมีอิสรภาพทางจิตของบรรดาบุตรของพระเจ้า เขาย่อมอยู่ต่อหน้าพระเจ้าไม่ใช่ในฐานะผู้รับใช้ด้วยความกลัวเยี่ยงทาส และเหมือนลูกจ้างที่คอยรับค่าจ้าง แต่เหมือนกับบุตรที่ตอบสนองความรักของพระองค์ผู้ “ทรงรักเราก่อน” (1 ยน 4:19). “ถ้าเราหลีกเลี่ยงความชั่วเพราะกลัวจะถูกลงโทษ เราก็ยังอยู่ในความรู้สึกแบบทาส ถ้าเราแสวงหาผลประโยชน์แบบค่าจ้าง ทำตามคำสั่งเพื่อผลประโยชน์ของเรา และดังนี้เราก็ทำตัวเราเป็นเหมือนกับลูกจ้าง หรือถ้าเราทำตนซื่อสัตย์และมีความรักต่อพระผู้ทรงวางกฎไว้ให้เรา […] เราก็ทำตนเป็นเสมือนบุตรในที่สุด”      

CCC ข้อ 1829  ผลของความรักคือ ความยินดี สันติ ความเมตตากรุณา ความรักเรียกร้องให้ทำดีต่อทุกคน ตักเตือนกันฉันพี่น้อง เอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ใกล้ชิดโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน มีใจกว้าง เป็นมิตรภาพและการอยู่ร่วมกัน “ความรักเป็นความสำเร็จของกิจกรรมทุกอย่างของเรา ความรักเป็นจุดหมายทำให้เราวิ่งไปหา เมื่อเรามาถึงความรักแล้ว เราก็จะพักผ่อนได้”    

“เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”

CCC ข้อ 2842 คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน)จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)     

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)