วันอาทิตย์พระทรมาน
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 23:1-49)
เวลานั้น ทุกคนในที่ประชุมลุกขึ้น นำพระเยซูเจ้าไปมอบให้ปีลาต เขาเหล่านั้นตั้งข้อกล่าวหาพระองค์โดยพูดว่า “เราพบคนคนนี้ยุยงประชาชนของเรา ห้ามเสียภาษีแก่พระจักรพรรดิ และอ้างว่าตนเป็นพระคริสต์ กษัตริย์” ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านพูดเองแล้ว” ปีลาตจึงพูดกับบรรดาหัวหน้าสมณะและประชาชนว่า “เราไม่พบความผิดข้อใดในคนคนนี้” แต่พวกเขาย้ำอีกว่า “เขาก่อกวนประชาชน เที่ยวสั่งสอนทั่วแคว้นยูเดีย โดยเริ่มตั้งแต่แคว้นกาลิลีจนถึงที่นี่” เมื่อปีลาตได้ยินดังนี้จึงถามว่า “คนนี้เป็นชาวกาลิลีหรือไม่” เมื่อทราบว่าพระองค์ทรงอยู่ในอำนาจของกษัตริย์เฮโรด จึงส่งพระองค์ไปให้กษัตริย์เฮโรด ซึ่งในขณะนั้นประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม
เมื่อกษัตริย์เฮโรดทอดพระเนตรเห็นพระเยซูเจ้า ก็ทรงยินดีมาก เพราะทรงได้ยินเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า มีพระประสงค์จะเห็นพระองค์มานานแล้ว และทรงหวังจะได้เห็นอัศจรรย์จากพระเยซูเจ้าบ้าง กษัตริย์เฮโรดตรัสถามพระเยซูเจ้าหลายเรื่อง แต่พระเยซูเจ้ามิได้ทรงตอบแต่ประการใด บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ซึ่งอยู่ที่นั่นร่วมกันกล่าวหาพระเยซูเจ้าอย่างรุนแรง กษัตริย์เฮโรดพร้อมกับบรรดาทหารสบประมาทเยาะเย้ยพระเยซูเจ้า ให้พระองค์สวมเสื้อสีฉูดฉาด และส่งกลับไปมอบให้ปีลาต กษัตริย์เฮโรดและปีลาตซึ่งแต่ก่อนเป็นศัตรูกัน ก็กลับเป็นเพื่อนกัน
ปีลาตเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะ บรรดาผู้นำและประชาชน แล้วพูดกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายนำชายผู้นี้มาหาเราในฐานะเป็นผู้ยุยงประชาชนให้กบฏ เราไต่สวนเขาต่อหน้าท่านทั้งหลายแล้ว แต่ไม่พบว่าเขามีความผิดประการใดตามที่ท่านกล่าวหา กษัตริย์เฮโรดก็ไม่ทรงพบความผิดประการใดด้วย จึงทรงส่งเขากลับมาให้เราอีก ท่านก็เห็นแล้วว่า เขาไม่ได้ทำผิดที่ควรจะมีโทษถึงตาย เพราะฉะนั้น เราจะสั่งให้เฆี่ยนเขา แล้วปล่อยไป” แต่ประชาชนร้องตะโกนพร้อมกันว่า “ฆ่าเขาเสีย ปล่อยบารับบัสให้เรา” บารับบัสผู้นี้ถูกจำคุกเพราะก่อการจลาจลในเมืองและฆ่าคน
ปีลาต้องการปล่อยพระเยซูเจ้า จึงพูดกับประชาชนอีก แต่คนเหล่านั้นร้องตะโกนกลับมาว่า “เอาไปตรึงกางเขน เอาไปตรึงกางเขน” ปีลาตพูดกับประชาชนเป็นครั้งที่สามว่า “เขาทำผิดอะไร เราไม่พบว่าเขาทำผิดอะไรที่ควรจะมีโทษถึงตาย ดังนั้น เราจะให้เฆี่ยนเขาและปล่อยไป” แต่ประชาชนยังคงตะโกนเสียงดังต่อไป ขอให้เอาพระองค์ไปตรึงกางเขน และเสียงของประชาชนดังขึ้นๆ
ปีลาตจึงตัดสินให้เป็นไปตามคำเรียกร้องของประชาชน ปล่อยคนที่ถูกจำคุกเพราะก่อการจลาจลและฆ่าคน และมอบพระเยซูเจ้าให้เขาจัดการตามความพอใจ
ขณะที่บรรดาทหารนำพระองค์ออกไป พวกเขาเกณฑ์ชายคนหนึ่งชื่อซีโมนชาวไซรีนซึ่งกำลังกลับจากชนบท วางไม้กางเขนบนบ่าของเขาให้แบกตามพระเยซูเจ้า ประชาชนจำนวนมากติดตามพระองค์ไปรวมทั้งสตรีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งข้อน-อกคร่ำครวญถึงพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงหันพระพักตร์มาทางสตรีเหล่านี้ ตรัสว่า “ธิดาเยรูซาเล็มเอ๋ย อย่าร้องไห้สงสารเราเลย แต่จงร้องไห้สงสารตนเองและลูกๆ เถิด เพราะวันนั้นจะมาถึง เมื่อประชาชนจะพูดว่า ‘หญิงที่เป็นหมัน ครรภ์ที่มิได้ให้กำเนิดบุตร และนมที่มิได้เลี้ยงลูกก็เป็นสุข’ เวลานั้นประชาชนจะพูดกับภูเขาว่า ‘จงถล่มลงมาทับเราเถิด’ และพูดกับเนินเขาว่า ‘จงกลบเราไว้เถิด’ เพราะถ้าเขาทำกับไม้สดเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับไม้แห้ง” บรรดาทหารนำผู้ร้ายสองคนไปประหารพร้อมกับพระองค์ด้วย
เมื่อมาถึงสถานที่ที่เรียกว่าเนินหัวกะโหลก บรรดาทหารตรึงพระองค์ที่นั่นพร้อมกับผู้ร้ายสองคน คนหนึ่งอยู่ข้างขวาและอีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” ทหารนำเสื้อผ้าของพระองค์ไปจับสลากแบ่งกัน
ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น ส่วนบรรดาผู้นำเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” แม้แต่บรรดาทหารก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย เขานำเหล้าองุ่นเปรี้ยวเข้ามาถวาย พลางกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ” มีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว”
ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน พูดดูหมิ่นพระองค์ว่า “แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ จงช่วยตนเองและช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ” แต่อีกคนหนึ่งดุเขา กล่าวว่า “แกไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือที่มารับโทษเดียวกันกับท่านผู้นี้ สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย” แล้วเขาทูลว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์”
ขณะนั้น เป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน ทั่วแผ่นดินมืดไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมง เพราะดวงอาทิตย์มืดลง ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์
เมื่อนายร้อยเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า พูดว่า ‘ชายคนนี้เป็นผู้ชอบธรรมแน่ทีเดียว’ ประชาชนที่มาชุมนุมกันดูเหตุการณ์นี้ เมื่อเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ข้อน-อก พากันกลับไป ทุกคนที่รู้จักคุ้นเคยกับพระองค์ รวมทั้งบรรดาสตรีที่ติดตามพระองค์มาจากแคว้นกาลิลีต่างยืนอยู่ห่างๆ คอยดูเหตุการณ์นี้
ลก 23:2 ความผิดฐานยุยงให้เกิดการจลาจลมีโทษถึงตาย และข้อกล่าวหาที่พระคริสตเจ้าได้รับนั้นเทียบเท่ากับของบารับบัส ผู้ต้องหาที่เป็นอาชญากร
ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตาย[426]เพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้ จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏ ข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า
ลก 23:3 กษัตริย์ของชาวยิว : โหราจารย์ผู้มาจากทิศตะวันออกที่เข้าเฝ้าพระคริสตกุมารเป็นผู้มอบพระนามนี้แด่พระองค์ ปีลาติได้คิดถึงกษัตริย์ในทางการเมือง ซึ่งชัดเจนว่าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงเป็นเช่นนั้น พระวาจาของพระคริสตเจ้าโดยนักบุญยอห์นที่กล่าวว่า “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้” (ยน 18:36) ทำให้เราเข้าใจในเรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 528 การที่พระเยซูกุมารทรงแสดงองค์(แก่บรรดาโหราจารย์)เป็นการที่พระเยซูเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ของอิสราเอล ทรงสำแดงพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าและเป็นพระผู้กอบกู้โลก การสมโภชนี้เฉลิมฉลองการที่บรรดา “โหราจารย์” จากทิศตะวันออกมานมัสการพระเยซูกุมาร พร้อมกันนั้นยังเฉลิมฉลองการที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างที่แม่น้ำจอร์แดนและงานมงคลสมรสที่หมู่บ้านคานา ในบรรดา “โหราจารย์” เหล่านี้ พระวรสารแลเห็นผู้แทนศาสนาของชนต่างชาติที่อยู่โดยรอบนั้นเป็นคนกลุ่มแรกที่รับข่าวดีถึงความรอดพ้น(ของมนุษยชาติ)ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงนำมาให้โดยการทรงรับสภาพเป็นมนุษย์ การที่บรรดาโหราจารย์มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการกษัตริย์ของชาวยิว แสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นได้รับแรงบันดาลใจจากดวงดาวของกษัตริย์ดาวิดซึ่งหมายถึงพระเมสสิยาห์ ให้มาแสวงหาพระผู้ทรงเป็นกษัตริย์ของนานาชาติ การมาถึงของบรรดาโหราจารย์หมายถึงการที่ชนต่างศาสนามาพบพระเยซูเจ้าและนมัสการพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า และยอมรับว่าตนจะมานมัสการพระผู้กอบกู้โลกไม่ได้นอกจากจะหันมาหาชาวยิว และรับพระสัญญาของพระเมสสิยาห์ตามที่มีบันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม วันสมโภชพระคริสต์ทรงแสดงองค์แสดงว่านานาชาติเข้ามาอยู่ในครอบครัวของบรรดาบรรพบุรุษ(ของอิสราเอล) และเข้ามารับ “ศักดิ์ศรีเป็นประชากรอิสราเอล” ด้วย
ลก 23:3-12 พระคริสตเจ้าทรงถูกไต่สวนจากเฮโรด อันทิปาส ซึ่งเป็นราชบุตรของกษัตริย์เฮโรดมหาราช ผู้ได้บัญชาให้ประหารทารกเพศชายในสมัยที่พระคริสตเจ้าประสูติมา พันธกิจของพระคริสตเจ้าบนโลกนี้จะสิ้นสุดลงเหมือนดังตอนเริ่มต้นภายใต้เครื่องหมายแห่งการเบียดเบียน
พระธรรมล้ำลึกปฐมวัยของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 530 การเสด็จหนีไปอียิปต์และการประหารเด็กทารกผู้บริสุทธิ์[242] แสดงให้เห็นการต่อต้านของความมืดต่อแสงสว่าง “พระองค์เสด็จมาสู่บ้านเมืองของพระองค์ แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์” (ยน 1:11) ตลอดพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าจะถูกหมายด้วยการถูกเบียดเบียน ผู้ที่เป็น(ศิษย์)ของพระองค์ย่อมมีส่วนในการถูกเบียดเบียนพร้อมกับพระองค์ด้วย การเสด็จกลับจากอียิปต์ ชวนให้เราคิดถึงการ(ที่ชาวอิสราเอล)อพยพออกจากอียิปต์ และแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้กอบกู้โดยสมบูรณ์ด้วย
พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มย่างพระเมสสิยาห์
CCC ข้อ 600 เวลาทุกขณะเป็นปัจจุบันสำหรับพระเจ้าอยู่เสมอ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสถาปนาแผนการนิรันดร “การกำหนดไว้ล่วงหน้า” (predestination) แล้ว ซึ่งรวมถึงการตอบสนองโดยอิสระของมนุษย์แต่ละคนต่อพระหรรษทานของพระองค์ในแผนการนี้: “ในเมืองนี้กษัตริย์เฮโรดและ ปอนทิอัสปีลาตร่วมกับคนต่างชาติและประชากรอิสราเอลต่อสู้กับพระเยซูเจ้าผู้รับใช้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์ทรงเจิมไว้ เพื่อทำให้พระประสงค์ที่ทรงกำหนดไว้ด้วยพระอานุภาพสำเร็จไป” (กจ 4:27-28) พระเจ้าทรงอนุญาตการกระทำที่เกิดจากความมืดบอดของเขาเพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จเป็นจริง
ลก 23:16 พระวรสารฉบับอื่นเพิ่มเติมว่า มีประเพณีที่... ต้องปล่อยนักโทษคนหนึ่งตามคำขอร้องของประชาชนในวันฉลอง
ลก 23:26-49 เราพบในเรื่องที่นักบุญลูกาเล่าถึงการตรึงกางเขนของพระเยซูเจ้าว่าเป็นแบบอย่างสุดท้ายแห่งความรัก พระทรมานของพระคริสตเจ้ารวบรวมไว้ด้วยคุณธรรมทุกประการที่เราควรเลียนแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและความทุกข์ยาก แม้ขณะที่พระองค์ทรงดำเนินไปสู่สถานที่แห่งการตรึงกางเขนและความตาย พระองค์ก็ยังทรงมีเวลาที่จะบรรเทาทุกข์ผู้อื่น อภัยให้แก่ผู้เบียดเบียนพระองค์ ภาวนา ประกาศความรอดพ้นให้แก่โจรที่กลับใจ และมอบพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้า ฝูงชนที่เห็นเหตุการณ์และแม้แต่นายร้อยโรมันต่างถูกกระตุ้นให้กลับใจและเชื่อในความเป็นพระเจ้าของคริสตเจ้า
การที่เรามีส่วนร่วมการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 618 ไม้กางเขนเป็นการถวายบูชาเพียงหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า คนกลางเพียงผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ แต่เนื่องจากว่าพระองค์ “ทรงประหนึ่งว่ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคน”ในพระบุคคลพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ “พระองค์จึงประทานให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสร่วมส่วนในพระธรรมล้ำลึกปัสกาได้โดยวิธีการที่พระเจ้าทรงทราบ”พระองค์ทรงเรียกร้องให้บรรดาศิษย์แบกไม้กางเขนของตนและตามพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อเราและประทานแบบฉบับไว้ให้เราดำเนินตามรอยพระบาท พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการถวายบูชาไถ่กู้ของพระองค์ก่อนผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการถวายบูชานี้ด้วย การนี้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์ในองค์พระมารดาของพระองค์ ผู้ทรงมีส่วนร่วมพระธรรมล้ำลึกพระทรมานไถ่กู้ของพระองค์อย่างลึกซึ้งมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น “นี่คือบันไดแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวเพื่อขึ้นสวรรค์ และไม่มีบันไดอื่นใดอีกนอกจากไม้กางเขนที่เราจะใช้เดินขึ้นสวรรค์ได้”
ลก 23:26 ตามกฎหมายโรมัน ในกรณีที่จำเป็นบรรดาพลเรือนสามารถช่วยงานบริการชั่วคราวได้ ซีโมนชาวไซรีนที่ได้ช่วยแบกกางเขนจึงเป็นเครื่องหมายแห่งการเชื้อเชิญขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้บรรดาผู้ติดตามพระองค์ร่วมมีส่วนในการแบกกางเขนของพระองค์ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน
CCC ข้อ 2029 “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง จงแบกไม้กางเขนของตนและติดตามเรา” (มธ 16:24)
ลก 23:27-31 ...ที่มิได้เลี้ยงลูกก็เป็นสุข : พระคริสตเจ้าทรงเตือนบรรดาสตรีถึงเรื่องที่กรุงเยรูซาเล็มจะต้องถูกทำลาย โดยสอนว่าพวกเขาจะเป็นสุขหากพวกเขาไม่มีลูกและไม่ต้องเห็นลูกๆ ของพวกเขาต้องทุกข์ทรมานเมื่อวันนั้นจะมาถึง
ถ้าเขาทำเช่นนี้... กับไม้แห้ง : ไม้แห้งนั้นเหมาะสำหรับเผาไหม้มากกว่าไม้สด พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์เปรียบได้กับไม้สด ดังนั้นความทุกข์ทรมานของผู้กระทำผิดย่อมต้องรุนแรงมากกว่า
มนุษย์ตกอยู่ในบาป
CCC ข้อ 385 พระเจ้าทรงความดีไร้ขอบเขตและพระราชกิจของพระองค์ทุกอย่างก็ดีด้วย ถึงกระนั้นไม่มีผู้ใดที่หนีพ้นประสบการณ์เรื่องความทุกข์ ความชั่วร้ายในธรรมชาติ – สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสัมพันธ์กับขอบเขตจำกัดของสิ่งสร้างโดยเฉพาะ – รวมทั้งปัญหาเรื่องความชั่วร้ายด้านจริยธรรม ความชั่วร้ายมาจากไหน นักบุญออกัสตินเคยถามว่า “ข้าพเจ้าพยายามค้นหาว่าความชั่วมาจากไหน แต่ก็หาไม่พบ” และการค้นคว้าที่เจ็บปวดของท่านก็จะไม่ประสบความสำเร็จนอกจากเมื่อท่านได้กลับใจมาพบพระเจ้าผู้ทรงชีวิตแล้ว เพราะ “ความลึกลับของความชั่วร้าย” (เทียบ 2 ธส 2:7) นั้นเข้าใจไม่ได้นอกจากจะพิจารณาถึงธรรมล้ำลึกเรื่องความเคารพเลื่อมใสพระเจ้า การเปิดเผยความจริงถึงความรักของพระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้าแสดงให้เห็นขอบเขตของความชั่วร้ายและความยิ่งใหญ่เกินคาดของพระหรรษทาน เราจึงต้องพิจารณาปัญหาเรื่องที่มาของความชั่วร้ายโดยใช้ความเชื่อหันไปมองพระองค์(พระคริสตเจ้า)ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงพิชิตความชั่วร้าย
ลก 23:33 ตรึงพระองค์ : การประหารในลักษณะนี้มีไว้ใช้กับอาชญากรที่เหี้ยมโหดที่สุดผู้ไม่ใช่ชาวโรมันเท่านั้น การตอกตะปูตรึงกับกางเขนทำให้ผู้ถูกตรึงสิ้นใจอย่างช้าๆ เพราะเสียเลือดและขาดอากาศ น้ำหนักของร่างกายที่อ่อนแอจะปล่อยตัวลงทำให้กดทับระบบทางเดินหายใจ กางเขนเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญและศรัทธาที่สุดของศาสนาคริสต์
การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษย์ในแผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเจ้า “ พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบตามพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว”
CCC ข้อ 599 การสิ้นพระชนม์อย่างโหดร้ายของพระเยซูเจ้าในสภาพน่าสมเพชไม่ได้เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากเหตุบังเอิญมาพบกัน เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับแผนการของพระเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึก ดังที่นักบุญ เปโตรอธิบายให้ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มฟังตั้งแต่การเทศน์ครั้งแรกในวันเปนเตกอสเต “พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบในเงื้อมมือของท่านตามที่พระเจ้ามีพระประสงค์” (กจ 2:23) วิธีพูดเช่นนี้ของพระคัมภีร์ไม่หมายความว่าผู้ที่มอบพระเยซูเจ้าเป็นเพียงผู้รับคำสั่งมาปฏิบัติตามในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแผนที่พระเจ้าทรงเขียนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
ลก 23:34 พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด : พระคริสตเจ้าทรงพระเมตตาต่อผู้ที่ทำร้ายพระองค์ เหมือนดังที่พระองค์ทรงพระเมตตาต่อทหารที่ถูกตัดใบหูในระหว่างที่พระองค์ทรงถูกจับกุม พระวาจาของพระองค์ที่ตรัสบนไม้กางเขนแสดงให้เห็นว่าการอธิษฐานภาวนาและการพลีพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระวาจาของพระคริสตเจ้าเตือนเราให้ภาวนาและอภัยแก่ผู้ที่เบียดเบียนเรา การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไม่ได้ตำหนิชาวยิวในสมัยของพระคริสตเจ้าหรือลูกหลานของพวกเขาเท่านั้น ทว่าทุกคนด้วยบาปกำเนิดและบาปที่ได้กระทำล้วนเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อการถูกตรึงของพระองค์ นำเสื้อผ้าของพระองค์ไป... แบ่งกัน : ตามธรรมเนียมปฏิบัติข้าวของของนักโทษจะตกเป็นของทหารที่รักษาการ ตลอดเรื่องเล่าเกี่ยวกับการตรึงกางเขนทำให้ระลึกถึงบทเพลงสดุดีที่ 22
พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์
CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวง ช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด
ชาวยิวโดยรวมไม่มีความผิดในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 597 ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษ และมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจพระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้” จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำมาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”
คนบาปทุกคนเป็นผู้ทำให้พระคริสตเจ้าต้องทรงรับทรมาน
CCC ข้อ 598 พระศาสนจักรไม่เคยลืมความจริงนี้ในการสั่งสอนความเชื่อเป็นทางการและในการเป็นพยานยืนยันของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เลยว่า “บรรดาคนบาปเป็นผู้ก่อให้เกิดและส่งเสริมความทุกข์ทรมานทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าทรงรับทน” เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าบาปของเรามีผลกระทบต่อพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่ลังเลใจเลยที่จะสอนว่าบรรดาคริสตชนต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งในการที่พระเยซูเจ้าทรงต้องรับทรมาน แต่บ่อยมากเขากลับปัดความรับผิดชอบนี้ไปไว้กับชาวยิวเท่านั้น “เราต้องตัดสินว่าทุกคนที่ยังตกในบาปบ่อยๆ มีความผิดนี้ เนื่องจากว่าบาปของเราเป็นเหตุให้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าต้องทรงรับทรมาน ผู้ที่ตกในความผิดและเกลือกกลั้วอยู่ในบาปจึงยังตรึงกางเขน พระบุตรของเจ้า ในตนเองและสบประมาทพระองค์ ความผิดนี้ในตัวเราดูเหมือนจะหนักกว่าในชาวยิวเสียอีก เพราะ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ “ถ้าเขาเหล่านั้นรู้ เขาคงไม่ตรึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (1 คร 2:8) พวกเราทั้งรู้จักพระองค์และประกาศความเชื่อในพระองค์ แต่เมื่อเราปฏิเสธพระองค์โดยการกระทำ เราก็เป็นเหมือนกับว่าลงมือทำร้ายพระองค์” “แม้แต่ปีศาจก็ไม่ได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แต่ท่านได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขนพร้อมกับเขาเหล่านั้น (=ชาวยิว?) และยังคงตรึงพระองค์บนไม้กางเขน พอใจอยู่ในความชั่วและบาป”
พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2605 พระเยซูเจ้า เมื่อถึงเวลาที่พระองค์จะต้องปฏิบัติตามแผนการความรักของพระบิดา ก็ทรงอนุญาตให้เราเห็นความลึกซึ้งสุดจะหยั่งถึงได้ของการอธิษฐานภาวนาเยี่ยงบุตรของพระองค์ ไม่เพียงแต่ก่อนจะทรงมอบพระองค์โดยอิสระเท่านั้น (“พระบิดาเจ้าข้า...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด”: ลก 22:42) แต่ทว่าจนถึงพระวาจาสุดท้ายบนไม้กางเขน เมื่อการอธิฐานภาวนาและการมอบพระองค์กลายเป็นสิ่งเดียวกัน “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลก 23:34) “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) “แม่ นี่คือลูกของแม่ […] นี่คือแม่ของท่าน” (ยน 19:26-27) “เรากระหาย” (ยน 19:28) “ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) จนกระทั่ง “ทรงเปล่งเสียงดัง” แล้วจึงสิ้นพระชนม์
พระวาจาของพระเจ้า
CCC ข้อ 2653 พระศาสนจักร “จึงขอเตือนอย่างหนักแน่นเป็นพิเศษให้คริสตชนทั้งหลาย […] ได้อ่านพระคัมภีร์บ่อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ ‘ความรู้ล้ำเลิศถึงพระเยซูคริสตเจ้า’ (ฟป 3:8) […] ให้เขาระลึกด้วยว่าการอ่านพระคัมภีร์จะต้องมีการภาวนาควบคู่อยู่ด้วยเสมอ เพื่อจะเป็นการสนทนาของพระเจ้ากับมนุษย์ เพราะว่า ‘เราพูดกับพระเจ้าเมื่อเราภาวนา เราฟังพระองค์เมื่อเราอ่านพระวาจา’”
ลก 23:38 ในการตรึงกางเขนของชาวโรมัน พวกเขามักติดป้ายที่บ่งบอกถึงข้อกล่าวหาของอาชญากร
ลก 23:39-43 เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่าการที่บุคคลหนึ่งยอมรับโทษที่ตนได้ทำด้วยความเต็มใจเป็นคุณค่าที่สามารถช่วยชดเชยได้ ซึ่งก็คือคุณค่าแห่งการไถ่กู้ อีกทั้งยังหมายถึงการพิพากษาส่วนบุคคลทันทีหลังความตายและการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่วิญญาณจะได้รับความรอดพ้นหรือไปสู่ความพินาศด้วย
พระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13) และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขน ให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า”(กจ 2:36)
การพิพากษาทีละคน
CCC ข้อ 1021 ความตายทำให้ชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นเวลาเปิดไว้เพื่อจะรับหรือไม่ยอมรับพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เห็นในพระคริสตเจ้า พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงการพิพากษาโดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการพบกับพระคริสตเจ้าเมื่อจะเสด็จมาเป็นครั้งที่สอง แต่หลายครั้งก็ยังกล่าวถึงการตอบแทนการกระทำของแต่ละคนทันทีหลังจากความตายโดยสัมพันธ์กับกิจการและความเชื่อของเขา นิทานเปรียบเทียบเรื่องยาจกลาซารัส และพระดำรัสของพระคริสตเจ้ากับโจรที่กลับใจบนไม้กางเขน เช่นเดียวกับข้อความอื่นอีกหลายตอนในพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงชะตากรรมสุดท้ายของวิญญาณ ซึ่งอาจแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน
การป้องกันตัวที่ถูกกฎหมาย
CCC ข้อ 2266 รัฐต้องพยายามตอบสนองความจำเป็นที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของวิธีการกระทำของผู้ที่ทำลายสิทธิของผู้อื่นและกฎพื้นฐานของความสัมพันธ์สาธารณะ ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองมีสิทธิและหน้าที่จะลงโทษตามอัตราส่วนความหนักเบาของความผิด การลงโทษมีเจตนาแรกเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากความผิด เมื่อผู้ทำผิดยินดีรับโทษด้วยเต็มใจ การลงโทษย่อมมีค่าเป็นการชดเชย ดังนั้น การลงโทษ นอกจากจากจะเป็นการปกป้องและป้องกันความปลอดภัยของสังคมและบุคคลแล้ว ยังมีเจตนาที่เป็นโอสถบำบัดรักษา ต้องช่วยนำการแก้ไขมาให้ผู้กระทำผิดเท่าที่จะทำได้ด้วย
พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา
CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชน ผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิด ความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว” นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”
ลก 23:45 ม่านในพระวิหารแยกสถานที่การประทับอยู่ของพระเจ้าในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งจากบริเวณที่ประชาชนอยู่ ม่านที่ฉีกขาดจากด้านบนถึงด้านล่างหมายความว่าการพลีพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเปิดหนทางให้สัตบุรุษบรรลุถึงการประทับของพระเจ้าได้ โดยอาศัยการเป็นหนึ่งเดียวของเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ เราสามารถเข้าสู่ชีวิตนิรันดรของพระตรีเอกภาพได้
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 441 ความงามของสรรพสิ่ง ระเบียบและความกลมกลืนของโลกที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเป็นผลจากความแตกต่างของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่เหล่านี้มีระหว่างกัน มนุษย์ค่อยๆ ค้นพบทุกสิ่งเหล่านี้เป็นกฎของธรรมชาติที่ทำให้นักวิชาการรู้สึกพิศวง ความงามของสิ่งสร้างสะท้อนความงามไร้ขอบเขตของพระผู้สร้าง และต้องเป็นแรงบันดาลให้สติปัญญาและเจตจำนงของมนุษย์มีความเคารพและยอมรับความงามนี้
พระเยซูคริสตเจ้า
CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)
ความหมายของความตายของคริสตชน
CCC ข้อ 1011 พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์เมื่อตายไปหาพระองค์ เพราะเหตุนี้ คริสตชนจึงอาจมีความรู้สึกถึงความปรารถนาเกี่ยวกับความตายเหมือนกับความปรารถนาของนักบุญเปาโลได้ “ข้าพเจ้าปรารถนาจะพ้นจากชีวิตนี้ไปเพื่ออยู่กับพระคริสตเจ้า” (ฟป 1:23) และเปลี่ยนแปลงความตายของตนให้กลายเป็นกิจการแสดงความเชื่อฟังและความรักต่อพระบิดาตามพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้า “ความรักของข้าพเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขนแล้ว […] มีน้ำไหลและพูดในตัวข้าพเจ้า กล่าวภายในข้าพเจ้าว่า ‘จงมาหาพระบิดาเถิด’” “ข้าพเจ้าปรารถนาเห็นพระองค์ / ข้าพเจ้าอยากตาย” “ข้าพเจ้าไม่ตาย ข้าพเจ้ากำลังเข้าในชีวิต”
ลก 23:46 ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ : โดยการภาวนาด้วยบทเพลงสดุดี 31:5 พระคริสตเจ้าทรงยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยเต็มพระทัยแม้ต้องสิ้นพระชนม์ก็ตาม แบบอย่างของพระองค์แสดงให้เห็นว่า เราเองก็สามารถเปลี่ยนความทุกข์ทรมานและความตายของเราให้เป็นกิจการไถ่กู้แห่งความรักและความนอบน้อมต่อพระบิดาเจ้าสวรรค์ได้ด้วยเช่นกัน
พระเยซูคริสตเจ้า
CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)
CCC ข้อ 1011 (อ่านเพิ่มเติมด้านบน ลก 23:45)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)