วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น(ยน 10:31-42)
เวลานั้น ชาวยิวหยิบก้อนหินขึ้นจะขว้างพระพระเยซูเจ้าอีก พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เราได้แสดงกิจการที่ดีหลายอย่างจากพระบิดา แล้วท่านจะเอาก้อนหินขว้างเราเพราะกิจการใดเล่า” ชาวยิวตอบว่า “พวกเราจะเอาหินขว้างท่าน ไม่ใช่เพราะกิจการที่ดี แต่เพราะท่านพูดดูหมิ่นพระเจ้า ท่านเป็นเพียงมนุษย์ แต่ตั้งตนเป็นพระเจ้า”
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของท่านทั้งหลายว่า ‘เราได้กล่าวว่า ท่านทั้งหลายเป็นพระเจ้า พระคัมภีร์เรียกผู้รับพระวาจาของพระเจ้าว่า ‘เป็นพระเจ้า’ และพระคัมภีร์จะลบล้างไม่ได้ พระบิดาทรงบันดาลให้เราศักดิ์สิทธิ์ และทรงส่งเรามาในโลก แล้วทำไมท่านทั้งหลายจึงกล่าวหาว่าเราพูดดูหมิ่นพระเจ้า
เมื่อเราพูดว่า “เราเป็นบุตรของพระเจ้า” ถ้าเราไม่ทำกิจการของพระบิดาของเรา ท่านก็อย่าเชื่อเราเลย แต่ถ้าเราทำ แม้ว่าท่านทั้งหลายไม่เชื่อเรา อย่างน้อยก็จงเชื่อในกิจการที่เราทำนั้นเถิด แล้วท่านจะรู้และเข้าใจว่า พระบิดาสถิตอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” คนทั้งหลายพยายามจะจับกุมพระองค์อีก แต่พระองค์ทรงเลี่ยงพ้นจากเงื้อมมือของพวกเขาไปได้
พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำจอร์แดนอีกครั้งหนึ่ง กลับไปยังสถานที่ซึ่งแต่ก่อนนั้นยอห์นได้ทำพิธีล้าง พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่นั่น ประชาชนมาเฝ้าพระองค์ พูดว่า “ยอห์นไม่ได้ทำเครื่องหมายอัศจรรย์อะไรเลย แต่ทุกสิ่งที่ยอห์นกล่าวถึงชายคนนี้ก็เป็นความจริง” และที่นั่นหลายคนเชื่อในพระองค์
ยน 10:31-42 พระคริสตเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นพระเจ้า ดังนั้นฝ่ายศัตรูจึงเริ่มมีแผนการที่จะจับกุมพระองค์ พระองค์จึงทรงเชื้อเชิญผู้ที่ต่อต้านพระองค์ให้ยอมรับว่าการกระทำของพระองค์นั้นมาจากพระเจ้า
ประชาชนมาเฝ้าพระองค์ : แม้ว่าผู้มีอิทธิพลหลายคนจะร่วมกันสมคบคิดเพื่อต่อต้านพระองค์ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เชื่อในพระองค์
พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย
พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์ แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น
CCC ข้อ 594 พระเยซูเจ้าทรงประกอบกิจการหลายอย่างที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น เช่นการอภัยบาป ชาวยิวบางคนซึ่งไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ในพระองค์ จึงคิดว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อ้างว่าตนเป็นพระเจ้า และตัดสินว่าพระองค์ทรงดูหมิ่นพระเจ้า
ยน 10:35-38 พระคัมภีร์จะลบล้างไม่ได้ : พันธสัญญาเดิมยังคงมีอำนาจแม้จะอยู่ภายใต้พันธสัญญาใหม่ซึ่งมาแทนที่ แต่ก็ไม่ได้มาเพื่อการล้มล้างพันธสัญญาเดิม
พระบิดาทรงบันดาลให้เราศักดิ์สิทธิ์ : บันดาลให้เราศักดิ์สิทธิ์ หมายถึง “แยกออกด้วยเหตุที่ศักดิ์สิทธิ์” พระคริสตเจ้าทรงอ้างอิงถึงการถวายพระวิหาร ซึ่งทรงหมายถึงพระกายของพระองค์เอง
ทรงส่งเรามาในโลก : ดังที่พระบิดาทรงบันดาลให้พระบุตรศักดิ์สิทธิ์และทรงส่งพระองค์มาในโลกเพื่อทำให้พันธกิจของพระองค์สำเร็จไปฉันใด พระคริสตเจ้าก็ทรงบันดาลให้ผู้ติดตามพระองค์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำงานบนโลกต่อไปตามสถานภาพชีวิตของพวกเขาแต่ละคนฉันนั้น
เชื่อในกิจการ : อัศจรรย์ที่พระคริสตเจ้ากระทำแสดงให้เห็นถึงอำนาจของพระเจ้าในพระองค์ และดังนี้จึงชี้ให้เห็นถึงพระธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ด้วย
พระบุตรทรงเปิดเผยพระบิดาให้เรารู้จัก
CCC ข้อ 242 ในสมัยต่อมา พระศาสนจักรดำเนินตามธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวกก็ได้ประกาศในสภาสังคายนาครั้งแรกที่เมืองนีเชอาเมื่อปี ค.ศ. 325 ว่าพระบุตร “ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา” นั่นคือทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกันกับพระบิดา สภาสังคายนาสากลครั้งที่ 2 ซึ่งประชุมกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี ค.ศ. 381 ยังคงรักษาสูตรยืนยันความเชื่อของสภาสังคายนาแห่งนีเชอานี้ไว้และประกาศ “พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า ทรงบังเกิดจากพระบิดาก่อนกาลเวลา ทรงเป็นองค์ความสว่างจากองค์ความสว่าง ทรงเป็นพระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้ มิได้ทรงถูกสร้าง แต่ทรงบังเกิดร่วมพระธรรมชาติเดียวกับพระบิดา”
พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์
CCC ข้อ 262 การที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เปิดเผยว่าพระเจ้าทรงเป็นพระบิดานิรันดร และพระบุตรทรงมีพระธรรมชาติเดียวกันกับพระบิดา นั่นคือ (พระบุตร) ทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระบิดาและพร้อมกับพระบิดา
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 444 พระวรสารเล่าว่าในโอกาสสำคัญสองครั้ง คือเมื่อพระคริสตเจ้าทรงรับพิธีล้างและทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ พระบิดาทรงเปล่งพระสุรเสียงประกาศว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็น “พระบุตรเพียงพระองค์เดียว” ของพระเจ้า (ยน 3:16) และทรงใช้ตำแหน่งนี้ยืนยันว่าทรงดำรงอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่นิรันดร ทรงเรียกร้องให้ทุกคนมีความเชื่อ “ในพระนามของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า” (ยน 3:18) การประกาศความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้ปรากฏแล้วเมื่อนายร้อยโรมันประกาศเฉพาะพระพักตร์พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนว่า “ชายคนนี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในพระธรรมล้ำลึกปัสกาเท่านั้น ผู้มีความเชื่อจึงอาจให้ความหมายของตำแหน่ง “พระบุตรของพระเจ้า” ได้อย่างสมบูรณ์
เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า
CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ
พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์
CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวงช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)