บรรดาอัครสาวก และผู้สืบทอดเจตนารมณ์
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยพระศาสนจักรให้ดำรงรักษาและถ่ายทอดข่าวประเสริฐของพระเยซูอย่างถูกต้องแก่ทุกคน จนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก คนเหล่านั้นคือบรรดาอัครสาวกที่พระเยซูทรงใช้ไป รวมถึงบรรดาผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของอัครสาวกเหล่านั้น องค์พระเยซูไม่ได้ทรงเขียนหนังสือด้วยพระองค์เอง แต่ทรงเรียกพวกศิษย์ให้มารวมกันอยู่ใกล้ชิดพระองค์เพื่อถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ แก่ผู้คนในยุคต่อไป และเพื่อให้เป็นพยานถึงชีวิตความตายและการกลับคืนชีพของพระองค์ หลังจากความตายและการกลับคืนชีพ พระเยซูทรงใช้พวกเขาเหล่านั้นไปทั่วโลกในฐานะตัวแทนของพระองค์ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยอห์น 20:21) “ผู้ใดฟังท่าน ผู้นั้นฟังเรา” (ลูกา 10:16) พระเยซูทรงทั่งให้อัครสาวกเหล่านี้ออกไปสั่งสอนประชาชาติให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ (มัทธิว 28:19) และหลังจากได้รับมอบหมายหน้าที่จากพระเยซูผู้ทรงกลับคืนชีพ อัครสาวกทั้ง 12 คน โดยเฉพาะผู้ที่พระเยซูทรงเรียกเป็นพิเศษภายหลังการทรงกลับคืนชีพ อย่างเปาโลก็ออกไปสั่งสอนทั่วโลก พวกเขาประกาศข่าวประเสริฐแก่ทุกคนในฐานะที่เป็นพระวาจาของพระเจ้า ไม่ใช่ในฐานะที่เป็น “คำพูดของมนุษย์” (1เธสะโลนิกา 2:13)
เมื่อเกิดกลุ่มของสัตบุรุษพวกเขาก็เลี้ยงดูสั่งสอนและนำคนเหล่านั้นให้เดินบนหนทางของความรอดพ้นเหมือนอย่างผู้เลี้ยงแกะดูแลแกะของตน (ยอห์น 21:15-17) หน้าที่ของอัครสาวกตามที่พระเยซูทรงมอบหมายนั้น เป็นหน้าที่และคุณสมบัติแท้ของพระศาสนจักรที่จะต้องทำสืบต่อไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก อัครสาวกจึงได้พยายามคัดสรรแต่งตั้งเฉพาะสำหรับผู้สืบทอดงานของอัครสาวก แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 2 พระศาสนจักรสถาปนาตำแหน่ง พระสังฆราช (Episcopos) และผู้ช่วยพระสังฆราช คือ พระสงฆ์
บุคคลเหล่านี้ประกาศข่าวประเสริฐของพระคริสต์แก่ทุกคนในฐานะชุมพาบาล ให้สัตบุรุษเป็นหนึ่งเดียวกัน และสั่งสอนพร้อมทั้งนำพวกเขาให้ทำพิธี “กินเลี้ยงอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1โครินธ์ 11:20) ตามที่พระเยซูทรงมอบหมาย พวกเขาให้ศีลศักดิ์สิทธิ์แก่สัตบุรุษ และตามพระคัมภีร์ บรรดาผู้ร่วมงานและผู้สืบทอดตำแหน่งของอัครสาวกเหล่านี้จะได้รับการปกมือเพื่อแต่งตั้งด้วย (2ทิโมธี 1:6) นั่นหมายความว่า ด้วยการปกมือนั้นพวกเขาได้รับมอบภาระหน้าที่และคำสวดภาวนาของอัครสาวก และขณะเดียวกันก็รับพระคุณของพระจิตพระผู้ช่วยในภาระหน้าที่เหล่านั้นด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระสังฆราชหรือพระสงฆ์ทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากจากจุดอ่อนหรือจุดบกพร่อง เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้กันเสมอว่าพระสังฆราชหรือพระสงฆ์ไม่ใช่ผู้วิเศษหรือซุปเปอร์แมน แต่เป็นเพียงผู้ที่พระเยซูทรงมอบหมายพระวาจาและพระทัยของพระองค์ ตลอดจนศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาปไว้ พวกเขาเป็นผู้ที่นำพระวาจาและพระทัยของพระเยซู รวมทั้งศีลมหาสนิทและศีลอภัยบาปของพระองค์ไปให้ผู้คนมากมายจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก โดยการรับใช้เช่นนี้ พวกเขาช่วยให้ทุกคนได้พบพระเยซูคริสต์ และได้เข้าใจว่าความรอดพ้นคือพระคุณของพระคริสต์ ในบรรดาผู้นำพระศาสนจักรตามคำมอบหมายของพระเยซูนั้น อัครสาวกเปโตรและผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากท่าน เป็นผู้มีภาระหน้าที่เป็นพิเศษกว่าคนอื่นตรงที่พระเยซูทรงแต่งตั้งเปโตรเป็นรากฐานของพระศาสนจักร ทั้งทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ และทรงสัญญากับเปโตรว่า ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้จะผูกไว้ในสวรรค์ ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย (มัทธิว 16:18-19) หลังจากทรงกลับคืนชีพ พระเยซูทรงสั่งให้เปโตรเลี้ยงแกะของตนเองด้วย (ยอห์น 21:15-17) วันที่สมโภชพระจิตเจ้า เปโตรในฐานะผู้แทนของอัครสาวกได้ประกาศข่าวประเสริฐเรื่องการกลับคืนชีพของพระเยซู (กิจการอัครสาวก 2:14-36) หลังจากการทำพันธกิจด้วยความกระตือรือร้นนับเป็นสิบๆ ปี เปโตรได้ถวายชีวิตแด่พระเยซูเจ้าที่กรุงโรม เหมือนศิลามั่นคงที่เป็นรากฐานรองรับตัวตึกให้ยั่งยืนตลอดไป ภาวะหน้าที่ของเปโตรผู้เป็นศิลาของพระศาสนจักรจำเป็นต้องมีผู้สานต่อตลอดไปเพื่อความสามัคคีธรรม และความเชื่อของพระศาสนจักรจะได้รับการรักษาให้มั่นคงสืบไปจนถึงวันสุดท้ายของแผ่นดินโลก เพราะฉะนั้น ชาวคริสต์จึงต้องมั่นใจว่าภาระหน้าที่ของเปโตรไม่ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับความตายของเปโตร และผู้สืบทอดภาระหน้าที่การดำรงรักษาสามัคคีธรรมและความเชื่อในฐานะพระสันตะปาปาต่อจากเปโตร คือพระสังฆราชของเมืองที่เปโตรดำเนินชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายปีจนถึงวาระสุดท้าย เมื่อท่านถวายชีวิตเพื่อพระเยซูผู้ทรงดูแลรักษาพวกเขาที่พระองค์ทรงใช้ไปจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก นอกจานี้ พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ ทรงดูแลพวกเขาให้รักษาพันธสัญญาใหม่ที่ทำไว้โดยผ่านทางพระเยซูให้ดำรงอยู่ในความถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อพระสังฆราชทั้งหลายทั่วโลกหรือพระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นผู้นำของพระสังฆราชทั้งหลายประกาศด้วยเสียงหนึ่งเดียวกันต่อหน้าสาธารณชนว่า คำสอนใดเป็นความจริงที่พระเจ้าทรงเผยแสดง เราทั้งหลายก็สามารถมั่นใจได้ว่าคำสอนหรือคำประกาศนั้นถูกต้อง บางครั้งจากประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรที่ผ่านมา เราเห็นว่าบางครั้งบรรดาผู้นำพระศาสนจักรจำเป็นต้องประกาศยืนยันเช่นนั้น คำประกาศยืนยันเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากการคิดนึกเอาตามใจชอบ แต่พื้นฐานคำประกาศนั้นคือการเผยแสดงของพระเจ้า เท่าที่ผ่านมามีการประกาศในลักษณะนี้ไม่บ่อยนัก จะทำเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่ง เช่น เมื่อต้องการยุติแนวความคิดที่เป็นอันตรายคุกคามชีวิตของพระศาสนจักร และแน่นอนว่า นอกจากการประกาศยืนยันอย่างเป็นทางการเช่นนั้นแล้ว ชาวคริสต์ที่ต้องการรักษาความเป็นหนึ่งในพระศาสนจักรก็จะต้องเชื่อฟังการนำของพระสันตะปาปา พระสังฆราช และพระสงฆ์ด้วยความสัตย์ซื่อด้วย อันที่จริง สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับสัตบุรุษมากกว่าประกาศคำสอนซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนักก็คือ เทศนาประจำวันอาทิตย์ของพระสังฆราชหรือพระสงฆ์ หลักคำสอนของคริสตัง การนำส่วนบุคคล แต่การกระทำเหล่านี้มีขีดจำกัดในด้านความรู้หรือความบกพร่องของผู้นำพระศาสนจักรด้วย แต่ทั้งๆ ที่พระเยซูทรงตักเตือนไว้แล้ว (ลูกา 20:25) พระสันตะปาปา พระสังฆราช หรือพระสงฆ์บางองค์ในยุคนั้นก็ยังคงได้ใช้ชีวิตอย่างผู้มีอำนาจหรือคนร่ำรวยในสังคม อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำของพระศาสนจักรในยุคนี้ได้หันมาใส่ใจอย่างลึกซึ้งในคำสอนของเปโตรที่ว่า “ลงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ดูแลด้วยจำใจ จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง” (1เปโตร 5:2-3) ปัจจุบันนี้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกถือว่าการเป็นพระสงฆ์ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ความร่ำรวยหรือตำแหน่งทางสังคมอีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้ามพวกเขาจะต้องรับเอาไม้กางเขน “เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์” (มัทธิว 6:33) ดังนั้น การปฏิบัติภาระหน้าที่ของพระสงฆ์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำหรับคนที่พระคริสต์ทรงเรียกเช่นนี้นั้น การทรงเรียกมีคุณค่าสมควรแก่การถวายหมดทั้งชีวิตทีเดียว และเพราะพระคริสต์ทรงเรียกนี้เอง พวกเขาจึงต้อง “จับคันไถ” (ลูกา 9:62) ด้วยความกล้าและลงมือไถที่นาของพระองค์ และพระเจ้าผู้ส่งคนงาน “เก็บเกี่ยวข้าวของพระองค์” (มัทธิว 9:38) จะทรงโปรดให้ความยากลำบากของพวกเขากลายเป็นการเก็บเกี่ยวนิรันดร