ประกาศก (Prophet)
เนื่องจากชาวอิสราเอลมีโลกทัศน์ที่เป็นเอกภาพ เชื่อมโยงทุกแง่มุมของชีวิตกับความเชื่อในพระเจ้า จึงเป็นการยากที่จะแยกเรื่องศาสนาจากเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจจากเรื่องสังคมและวัฒนธรรม บัญญัติ 10 ประการและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการตราขึ้นมาตั้งแต่สมัยโมเสส เป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต โดยไม่มีการแยกว่าอะไรเป็นกฎทางศาสนา อะไรเป็นกฎทางสังคม กระนั้นก็ดี สมาชิกในสังคมต่างก็มีบทบาทที่แตกต่างกันไป มีบุคคลสามประเภทซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการอบรม สั่งสอน ตักเตือนและให้การศึกษาชาวอิสราเอล คือ พระสงฆ์ ประกาศกและนักปราชญ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องศาสนา สังคมหรือการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องส่วนรวม คำพูดและกิจกรรมของบุคคลเหล่านี้จะมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในพระเจ้าและบัญญัติของพระองค์ ในที่นี้จะกล่าวถึงประกาศกเท่านั้น เพราะมีความสำคัญมากที่สุดในความเชื่อของชาวคริสต์ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระเยซูโดยตรง
โดยทั่วไปมักเข้าใจว่า Prophet หมายถึง ผู้พยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้า ซึ่งก็ไม่ผิดเสียเลยทีเดียว แต่ในประวัติศาสตร์แห่งความรอด Prophet มีหน้าที่มากกว่านั้น ท่านเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระเจ้า ทำหน้าที่ประกาศสิ่งที่พระเจ้าต้องการ สั่งสอนและตักเตือนให้ชาวอิสราเอลซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะแปลว่า “ประกาศก” ซึ่งประกาศสาสน์จากพระเจ้าทั้งที่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบันและอนาคต ด้วยเหตุนี้ ประกาศกหลายท่านจึงได้ “พยากรณ์” เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ในความหมายที่กว้าง ประกาศกองค์แรกคืออับราฮัม เพราะท่านก็เป็นผู้ประกาศพระวาจาของพระเจ้า เป็นผู้ใกล้ชิดและรับทราบถึงรหัสธรรมของพระเจ้า และพระเจ้าก็ทรงรับฟังคำอธิษฐานของท่าน ทั้งหมดนี้ก็เป็นคุณลักษณะสำคัญของประกาศก ต่อไปก็คือโมเสส ซึ่งได้รับการยกย่องหลังจากได้ถึงแก่มรณกรรมว่า “ตั้งแต่นั้นมา ไม่เคยมีประกาศกคนใดเกิดขึ้นในอิสราเอลเหมือนโมเสส ที่พระยาห์เวห์ทรงรู้จักเป็นการส่วนตัว” (ฉธบ 34:10) นอกจากนี้ยังมีประกาศกอีกบางองค์ในยุคผู้วินิจฉัย ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก
ประกาศกในความหมายที่แคบเกิดขึ้นในยุคที่มีการปกครองโดยกษัตริย์ เริ่มจากซามูแอลซึ่งเป็นผู้นำคนสุดท้ายของผู้วินิจฉัย และเป็นประกาศกในยุคของกษัตริย์ซาอูลและดาวิด ประชากรอิสราเอลต่างก็ยอมรับหน้าที่และบทบาทของประกาศกซามูแอล “ซามูแอลเติบโตขึ้นและพระเจ้าทรงสถิตกับท่าน มิให้วาจาของท่านตกไปเปล่าแต่คำเดียว ตั้งแต่คนดานถึงเบเออร์เชบาก็ทราบว่าซามูแอลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า” (1ซมอ 3:19-20)
นับแต่ซามูแอลซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 11 จนถึงศตวรรษที่ 8 มีประกาศกอีกมากมาย แต่ที่สำคัญและได้รับการกล่าวถึงคือนาธาน ผู้กล่าวเตือนสติดาวิดในความผิดของตน และเป็นผู้ให้คำปรึกษากับดาวิดในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนา การเมืองและสังคม
ระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 5 ถือได้ว่าเป็นยุคคลาสสิกของประกาศก เพราะมีข้อเขียนหรือหนังสือที่เกี่ยวกับคำสั่งสอนของท่านเหล่านี้ นับได้ 16 องค์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่าองค์ใหญ่ มีอยู่ 4 องค์คือ อิสยาห์ เยเรมีย์ เอเสเคียลและดาเนียล กลุ่มที่สองเรียกว่าองค์เล็ก มีอยู่ 12 องค์ คือ อาโมส มิคาห์ โฮเชยา เศฟันยาห์ ฮะบากุก นาฮูม โยเอล โอบาดี ฮักกัย โยนาห์ เศคาริยาห์ มาลาคี
ประกาศกทุกองค์จะได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้า โดยมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังกรณีของซามูแอลเมื่อแรกเริ่มทำหน้าที่ประกาศก “แล้วพระวิญญาณของพระเจ้าจะมาสิงสถิตกับท่านอย่างมากและท่านจะเผยพระวจนะกับคนเหล่านั้น เปลี่ยนเป็นคนละคน เมื่อหมายสำคัญเหล่านี้เกิดแก่ท่านแล้ว จงกระทำอะไรตามแต่มีโอกาสเถิด เพราะพระเจ้าทรงสถิตกับท่าน” (1ซมอ 10:6-7)
เนื้อหาของคำสอนของบรรดาประกาศกเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคมในยุคสมัยของตน บางองค์มีชีวิตอยู่ในช่วงที่ไม่มีสงคราม บางองค์อยู่ในยุคที่ชาวอิสราเอลต้องตกระกำลำบาก ในเมื่อเป็นประกาศกของพระเจ้า ท่านจึงทั้งตักเตือน ขู่ คาดโทษและปลอบโยน พร้อมทั้งพยากรณ์อนาคตซึ่งพระเจ้าจะทรงกระทำที่สำคัญคือ การฟื้นฟูอาณาจักรอิสราเอล การเสด็จมาของพระเมสสิ-ยาห์ ความสงบสุข ความมั่งคั่งและอำนาจ ทำให้ชาวอิสราเอลเกิดความหวังและยึดมั่นในความสัมพันธ์กับพระเจ้า อย่างไรก็ดี คำสั่งสอนและพยากรณ์ส่วนหนึ่งคงไม่ได้มีจุดหมายแต่เพียงสำหรับชาวอิสราเอลเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงประวัติศาสตร์ ความรอดทั้งหมดซึ่งยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะสิ้นโลก เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตีความ อิสยาห์ซึ่งได้กล่าวถึงการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ไว้มากกว่าประกาศกคนใด ได้ประกาศสาสน์ของพระเจ้าว่า “ดูเถิด เราจะสร้างฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ เพราะสิ่งเก่าก่อนนั้นจะไม่จำหรือนึกได้อีก แต่จงชื่นบานและเปรมปรีดิ์เป็นนิตย์ในสิ่งซึ่งเราสร้างขึ้น.. เราจะเปรมปรีดิ์ด้วยเยรูซาเล็มและชื่นบานด้วยชนชาติของเรา จะไม่ได้ยินเสียงร้องไห้ในเมืองนั้นอีก และเสียงครวญครางในนั้นจะไม่มี” (อสย 65:17-20)
นอกจากการสั่งสอนแล้ว ประกาศกบางองค์ยังทำสิ่งอัศจรรย์ในนามของพระเจ้า เพื่อเป็นการยืนยันความจริงบางประการ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญเพราะปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลว่า ประกาศกเทียมก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน