พันธสัญญาแห่งซีนาย (Alliance of Sinai)
ประมาณกันว่าชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ในศตวรรษที่ 15 หรือ 13 ก่อน ค.ศ. และใช้เวลาเร่ร่อนเดินทางอยู่นานนับ 40 ปี ระหว่างการเดินทางนี้เองที่ชาวอิสราเอลได้เริ่มรู้จักพระเจ้าของบรรพบุรุษของตนอีกครั้งหนึ่ง
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงการเดินทางในที่เปลี่ยวหรือทะเลทราย ซึ่งความจริงคงไม่ใช่ภูมิประเทศที่มีแต่ทราย แต่มีต้นไม้ หญ้าและน้ำอยู่บ้าง เพียงแต่ไม่เหมาะเพื่อทำการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ชาวอิสราเอลได้รับความลำบาก บ่อยครั้งก็ให้นึกถึงชีวิตที่อียิปต์ แต่พระเจ้าก็ไม่ได้ทรงทอดทิ้งพวกเขา ทรงอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา จนพวกเขากล่าวว่า “ไม่มีชนชาติใดแม้ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตามจะมีพระเจ้าอยู่ใกล้ชิด ดังที่พระยาห์เวห์ พระเจ้าของเราทรงสถิตอยู่ใกล้ชิดเรา” (ฉธบ 4:7)
การออกจากประเทศอียิปต์เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร แต่การเลือกสรรนี้สมบูรณ์เมื่อพระเจ้าทรงสถาปนาพันธสัญญากับชาวอิสราเอลที่ภูเขาซีนาย พระเจ้าทรงมอบหมายหน้าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งความรอดให้กับชาวอิสราเอล คือ ให้เป็นผู้เตรียมรับเสด็จพระเมสสิยาห์ ซึ่งจะเสด็จมาช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์อันเนื่องมาจากบาป ทั้งนี้ชาวอิสราเอลต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงมอบหมายโดยผ่านทางโมเสสและผู้นำ บัญญัติ 10 ประการ มีดังนี้
ท่านต้องไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา
ท่านต้องไม่ทำรูปเคารพสำหรับตน ไม่ว่าจะเป็นรูปสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบน หรือซึ่งอยู่ในแผ่นดินเบื้องล่าง หรือซึ่งอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน
ท่านต้องไม่กราบไหว้รูปเคารพหรือนมัสการรูปเหล่านั้น เพราะเรา คือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่านเป็นพระเจ้าที่ไม่ยอมให้มีคู่แข่ง เป็นพระเจ้าที่ลงโทษความผิดบิดาที่เกลียดชังเรา ไปถึงลูกหลานจนถึงสามสี่ชั่วอายุคน แต่เราแสดงความรักมั่นคงต่อผู้ที่รักเราและปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา จนถึงพันชั่วอายุคน
ท่านต้องไม่กล่าวพระนามพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่านอย่างไม่เหมาะสม4 เพราะพระยาห์เวห์จะไม่ทรงละเว้นโทษผู้ที่กล่าวพระนามของพระองค์อย่างไม่เหมาะสม
จงระลึกถึงวันสับบาโต ว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน แต่วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าน บุตรชาย บุตรหญิง บ่าวไพร่ชายหญิง สัตว์ใช้งานหรือคนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่กับท่าน เพราะในหกวัน พระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้า แผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านี้ แต่ในวันที่เจ็ด พระองค์ทรงพักผ่อน เพราะฉะนั้น พระยาห์เวห์ทรงอวยพระพรวันสับบาโต และทรงทำให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์
จงนับถือบิดามารดา เพื่อท่านจะได้มีอายุยืนอยู่ในแผ่นดินที่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านประทานให้ท่าน
อย่าฆ่าคน
อย่าล่วงประเวณี
อย่าลักขโมย
อย่าเป็นพยานเท็จใส่ร้ายเพื่อนบ้าน
อย่าโลภมักได้บ้านเรือนของเพื่อนบ้าน อย่าโลภมักได้ภรรยาของเพื่อนบ้าน หรือบ่าวไพร่ชายหญิง โค ลา หรือทรัพย์สินใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน”
คัมภีร์ไบเบิลเล่าเรื่องพิธีการสถาปนาพันธสัญญาไว้ว่า
“โมเสสบันทึกพระวาจาทุกคำของพระยาห์เวห์ไว้ เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เขาสร้างพระแท่นบูชาไว้ที่เชิงเขา และตั้งหินสิบสองก้อนไว้เป็นตัวแทนทั้งสิบสองเผ่าของอิสราเอล เขาให้ชายหนุ่มชาวอิสรา-เอลเป็นผู้ถวายเครื่องเผาบูชา และฆ่าโคถวายแด่พระยาห์เวห์เป็นศานติบูชา โมเสสรองเลือดครึ่งหนึ่งใส่ชามไว้ แล้วพรมเลือดอีกครึ่งหนึ่งบนพระแท่นบูชา เขาเอาหนังสือพันธสัญญาขึ้นมาอ่านให้ประชากรฟัง ประชากรตอบว่า 'พวกเราจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัส' โมเสสนำเลือดในชามประพรมประชากรกล่าวว่า 'นี่คือโลหิตแห่งพันธสัญญาที่พระยาห์เวห์ทรงกระทำกับท่าน ตามพระวาจาเหล่านี้ทั้งหมด” (อพย 24:4-8)
ด้วยลักษณะของพันธสัญญาดังกล่าว ชาวคริสต์เชื่อว่า ชาวอิสราเอลเป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นแบบอย่างของชาวคริสต์และศาสนจักรที่พระเยซูจะทรงตั้งขึ้น แบบอย่างนี้รวมถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกด้วยภาษาที่เป็น “บุคลาธิษฐาน” พระยาห์เวห์ทรง “รัก” “หวงแหน” “โกรธ” “อิจฉา” ฯลฯ ซึ่งชี้ให้เห็นโลกทัศน์ที่มีเอกภาพ ทุกสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือร้ายจะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ถ้าหากซื่อสัตย์และปฏิบัติตามกฎบัญญัติของพระองค์ ก็จะได้พระพร หากไม่ปฏิบัติตามก็จะได้รับการลงโทษ ตลอดระยะเวลาที่เร่ร่อนก่อนกลับสู่แผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญา ชาวอิสราเอลก็สามารถ “ผ่านการทดลอง” โดยได้รับ “แผ่นดินทั้งที่พระองค์ทรงปฏิญาณว่าจะให้แก่บรรพบุรุษของเขา เมื่อเขาทั้งหลายยึดแล้วก็เข้าไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่นั่น และพระเจ้าประทานให้เขามีความสงบทุกด้าน… สรรพสิ่งอันดีทุกอย่างซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาต่อประชาชนอิสราเอลนั้นก็ไม่ขาดสักสิ่งเดียว สำเร็จทั้งสิ้น” (ยชว 23:43-45) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างสงบสันติ เพราะชาวอิสราเอลเองก็ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเสมอไป การดิ้นรนต่อสู้ดำเนินต่อไป ด้วยความหวังว่าสักวัน พระเมสสิยาห์จะเสด็จมาพร้อมกับสันติภาพที่คงทนถาวร