เราคุ้นเคยกับคำว่า “ขอมิสซา” กันเป็นอย่างดี แต่หลายครั้งบางคนไม่เข้าใจความหมายเท่าไรนัก
- มิสซา คือการภาวนาที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งใหญ่ ดังที่ได้กล่าวไปในเนื้อหาสาระคำสอน ณ ที่นี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การขอมิสซา” ให้เข้าใจมากขึ้น
เมื่อมิสซาคือการภาวนา การขอมิสซา ก็คือการขอให้พระสงฆ์ถวายบูชาตามจุดประสงค์ที่ผู้ขอมิสซาปรารถนา ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภทคือ
1. มิสซาสุขสำราญ คือ มิสซาวอนขอพระพรสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น การที่จะต้องรับการผ่าตัด ต้องกระทำกิจการต่างๆ ต้องเดินทาง โอกาสแต่งงาน ฯลฯ หรือเป็นมิสซาโมทนาคุณพระเจ้าโดยผ่านทางพระแม่มารีย์ บรรดานักบุญก็ได้
2. มิสซาอุทิศให้ผู้ล่วงลับ คือมิสซาสำหรับวอนขอพระเมตตาสำหรับผู้ที่ตายไปแล้ว (มิสซาผู้ตาย) เช่น วิญญาณในไฟชำระ ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษ ที่ตายไปแล้ว ขอให้ท่านเหล่านั้นได้รับพระเมตตาไปสวรรค์โดยเร็ววัน ถ้าหากท่านยังมีข้อบกพร่องอยุ่
- ในความหมายของมิสซานั้น ถือเป็นมิสซาหรือการภาวนาอันเดียวกัน ทั้งมิสซาสุขสำราญและอุทิศให้ผู้ล่วงลับ กล่าวคือ คุณค่าของมิสซาเป็นคุณค่าที่ไม่สามารถจะประมาณได้ เพราะเป็นบูชาที่องค์พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ถวาย โดยมีพวกเราเป็นผู้ร่วมบูชานั้น ในแต่ละมิสซาจึงสามารถที่จะมีจุดประสงค์ได้ต่างกันตามที่ต้องการ ที่สำคัญอย่ามีเจตนาที่จะนำจุดประสงค์ต่างๆ กันเหล่านั้นมารวมกันมากๆ เพื่อเหตุผลทางเงินค่าทำบุญมิสซาจะได้มากๆ อย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ในแต่ละมิสซาสามารถมีจุดประสงค์หลายประการได้ ด้วยเหตุผลทางด้านการอภิบาล กล่าวคือผู้ขอมิสซาให้ทำที่วัดอยากจะร่วมมิสซาด้วยที่วัดนั้นๆ จึงมีความจำเป็นที่ต้องรวมจุดประสงค์ของมิสซา
วิธีขอมิสซา
- โดยปกติทางวัดจะมีซองขอมิสซาระบุรายละเอียดไว้หน้าซอง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของผู้ขอมิสซา เพียงแต่กรอกรายละเอียดลงในช่องว่างต่างๆ ให้ชัดเจน และนำส่งให้พระสงฆ์หรือจะใส่ในถุงทานก็ได้ เพียงแต่ให้ระวังว่าขอให้เขียนแล้วอ่านออก เพราะบางครั้งอ่านไม่ออกจริงๆ ครั้นจะไปถามใครก็ไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ขอ... ทางออกก็คือ “ตามจุดประสงค์ของผู้ขอ” ซึ่งใช้ได้ เพราะพระเป็นเจ้าพระองค์ทรงทราบแล้ว
- จงจำไว้ว่า เมื่อเราขอมิสซาแล้วให้สบายใจได้ เพราะถือว่าเราได้กระทำในส่วนของเราเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องกระทำมิสซาให้ตามจุดประสงค์นั้นๆ ดังนั้นพระสงฆ์จะต้องระมัดระวัง และจดมิสซาที่ได้รับมาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าพระเป็นเจ้าด้วย
- หลายครั้งหลายคนสังสัยว่าจะต้องขอมิสซาด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ ข้อนี้ขออธิบายว่า “เงินทำบุญมิสซา” มิได้ถูกกำหนดตายตัวลงไปว่าจะต้องมีมูลค่าเท่าไหร่ เพราะคุณค่าของมิสซามิได้เป็นเรื่องของราคา หากแต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางพระพรและความรักของพระองค์ แต่ถ้าจะให้คำตอบก็ต้องบอกว่า “ตามความเหมาะสม” กล่าวคือ เมื่อเป็น “เงินทำบุญ” เราก็ทำบุญตามกำลังศรัทธา จะมากจะน้อยมิใช่เรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องการทำบุญของหญิงม่ายและเศรษฐีในพระคัมภีร์นั้นเอง เราพอมีก็ให้มากหน่อย มีน้อยก็ให้เท่าที่ทำได้ แต่ก็มิใช่มีเงิน กิน เล่น เที่ยว ซื้อของราคาแพง เสื้อผ้าหรูๆ ราคาสูง แต่เวลาทำบุญมิสซา ทำบุญนิดหน่อย อย่างนี้เรียกว่าไม่เหมาะสม อีกประการหนึ่งเราไม่เรียก “ค่ามิสซา” เพราะมิใช่เรื่องของการซื้อขาย แลกเปลี่ยน
- โดยปกติแล้วพระสงฆ์จะนำเงินมิสซาไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของวัด เพื่อบริหารกิจการของวัด แต่พระศาสนจักรก็อนุญาตให้พระสงฆ์นำเงินมิสซาไปใช้ส่วนตัวได้เหมือนกัน แต่โดยปกติแล้วจะวันละประมาณ 100 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของพระสงฆ์ได้ (ถ้าวันไหนไม่ถวายมิสซาก็ไม่ได้มีสิทธิ์นี้) ในเรื่องนี้ก็อาจจะแตกต่างกันออกไป ตามกฎระเบียบของคณะหรือของสังฆมณฑลด้วยเหมือนกัน
- เมื่อใครก็ตามที่ขอมิสซา ก็ควรที่จะไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่ขอด้วย มิใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของพระสงฆ์ไปกระทำเท่านั้น เพราะในเมื่อเราเป็นผู้ขอมิสซาก็ควรจะร่วมถวายบูชามิสซากับพระสงฆ์ อย่าคิดว่าภาระหน้าที่ของเราอยู่เพียงแค่จ่ายเงินค่าทำบุญมิสซา เพราะบอกแล้วว่ามิสซามิใช่การซื้อขาย หรือถ้าไม่สามารถไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณได้ ก็ต้องสวดภาวนาระลึกถึงตามจุดประสงค์ของเราที่ได้ขอไปด้วย
ที่มา : หนังสือหลักธรรมคำสอนคาทอลิก - คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม