แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ฤทธิ์กุศล
    เราเชื่อว่ามนุษย์มีพื้นฐานของความรู้สึกนึกคิดที่จะกระทำดี กระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ซึ่งพื้นฐานหรือความรู้สึกดังกล่าวนี้ เราเรียกในทางศาสนาว่า “ฤทธิ์กุศล” อันหมายถึง ความโน้มเอียงไปในทางที่ดี

    เราจำแนกฤทธิ์กุศลออกเป็น 2 ประการ คือ ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ และฤทธิ์กุศลที่เกี่ยวกับความประพฤติ หรือ จะเรียกฤทธิ์กุศลตามธรรมชาติก็น่าจะได้
    ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ    เป็นพระพรที่พระเจ้าทรงมอบให้กับเราโดยตรงประกอบด้วย ความเชื่อ ความไว้ใจและความรัก
    ความเชื่อ    คือ พระพรพิเศษที่ทรงประทานให้เรา เชื่อในข้อความจริงต่างๆ ที่เกินสติปัญญาของมนุษย์ ยากที่จะเข้าใจได้ตามลำพังตัวเราเอง เราไม่สามารถจะมีความเชื่อได้ถ้าพระองค์ไม่ทรงประทานให้...เราจึงพบว่ามีหลายคนที่ได้เรียนและรู้จักพระเจ้า รู้จักศาสนาคาทอลิกเป็นอย่างดี แต่ก็มิได้เป็นคาทอลิก ไม่มีความเชื่อแบบคาทอลิก สิ่งที่เขามีเป็นเพียง “ความรู้” เท่านั้นเอง ถามว่าทำไมก็ตอบได้ว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า
    ความไว้ใจ    คือ เรามั่นในว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้สร้าง ผู้ดูแลช่วยเหลือเราตลอดเวลาในทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างไรก็ดีเราต้องออกแรงกระทำหน้าที่ต่างๆ ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วย มิใช่ไม่ทำอะไรเลย รอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว อย่างนี้เขาเรียกว่า “ไว้ใจเกินไป” ซึ่งไม่ถูกต้อง หรือ บางครั้งก็คิดว่าตนเองเท่านั้นทำได้ทุกอย่าง เช่นนี้ เขาก็เรียกว่า “ขาดความไว้ใจ” ซึ่งก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน ที่ถูกคือ จงทำทุกสิ่งด้วยเต็มกำลังความสามารถแล้วที่เหลือพระเจ้าจะทรงกระทำให้ครบถ้วน
    ความรัก    คือ    ความรู้สึกและชีวิตของเราที่เชื่อ วางใจต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์    ความจริงแล้วถ้าเราเชื่อมั่นในผู้ใดผู้หนึ่ง เราก็จะไว้ใจเขาศรัทธาในตัวเขา กระทำตามที่เขาบอกและพร้อมที่จะกระทำสิ่งที่ดีๆ สำหรับเขา    ซึ่งที่แท้เราเรียกว่า “ความรัก” นั่นเอง
    ความรักจึงเป็นฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าทรงมอบให้กับเรา รักพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง
    ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “ความรัก” คือ หลักของคำสอนในศาสนาคริสต์ เพราะเป็นองค์พระเยซูคริสตเจ้าเองที่ทรงนำความรักนี้มามอบให้มนุษย์ด้วยพระองค์เอง    เพื่อให้มนุษย์จะได้รู้จักรักพระองค์และรักเพื่อนมนุษย์ เรียกได้ว่าความหมายของความรักอันเป็นสาระหรือหลักของศาสนาคริสต์นี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายเลยเพราะคำว่า “รักพระเป็นเจ้าสุดจิตใจและรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” บ่งบอกถึงลักษณะของความรักได้อย่างชัดเจนในตัวอยู่แล้ว (ดูที่ปกหลัง)
    สำหรับฤทธิ์กุศลอันเกี่ยวกับความประพฤติ    ซึ่งหมายถึง ความโน้มเอียงที่จะให้เราคิดดี พูดดี ทำดี ประพฤติปฏิบัติตนถูกต้องตามศีลธรรม เป็นเรื่องที่มนุษย์สามารถเรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เราจำแนกออกเป็น 4 เรื่องที่สำคัญ คือ
1. ความฉลาดรอบคอบ    หมายถึง รู้จักคิดหาวิธีการที่จะดำเนินชีวิตในทางที่ดีและหลีกหนีความไม่ดีต่างๆ เป็นเรื่องของสติปัญญา
2. ความยุติธรรม    หมายถึง จิตใจที่รู้จักให้ความเคารพในสิทธิของผู้อื่น ทั้งเรื้องทรัพย์สินและชื่อเสียงของเขา
3. ความเข้มแข็ง        หมายถึง สภาพของจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน สามารถต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ในชีวิต โดยเฉพาะต่อการประจญล่อลวงให้ทำผิด
4. ความมัธยัสถ์        หมายถึง การรู้จักบังคับตนเอง ให้อยู่ในคุณค่าแห่งการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจในโลกีย์ วิสัยต่างๆ
    จะเห็นได้ว่า ฤทธิ์กุศลอันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์นี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ คือ ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ซึ่งมาจากพระเจ้าเป็นพื้นฐาน