การภาวนา
การภาวนา คือ การสนทนากับพระเป็นเจ้าเพื่อจุดประสงค์ 4 ประการหลัก คือ
1. เพื่อนมัสการ เราต้องนมัสการพระเป็นเจ้าเพราะพระองค์ทรงสร้างเรามา และทรงสร้างสิ่งสารพัดเพื่อเรา การนมัสการ เป็นการแสดงคารวะถวายความเคารพชั้นสูงสุด คำว่านมัสการในศาสนาคาทอลิกเราจึงใช้กับพระเป็นเจ้าเท่านั้น
2. เพื่อขอบพระคุณ แน่นอนว่าเราต้องโมทนาคุณ หรือ ของคุณพระเป็นเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจของเราจริงๆ ถ้าหากว่าเราสำนึกถึงพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงประทานพระพรแก่ชีวิตของเรา เราไม่มีทางที่จะขอบพระคุณพระเป็นเจ้าได้สมกับความรักที่ทรงมีต่อเรา เราจึงต้องโมทนาคุณพระองค์อย่างเต็มที่ดังที่ได้กล่าวแล้ว
3. เพื่อขอขมาโทษ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสำนึกในข้อบกพร่องและความผิดที่เรากระทำ ต้องพร้อมเสมอที่จะกราบขอขมาโทษพระองค์ด้วยความสุภาพถ่อมตน ด้วยจริงใจและตั้งใจที่จะไม่กระทำความผิดอีกต่อไป
4. เพื่อวอนขอพระพรที่เราต้องการ ข้อนี้เป็นข้อที่เราทุกคนกระทำกันบ่อยที่สุด เพราะเมื่อพูดถึงการภาวนา ส่วนใหญ่เกือบร้อยทั้งร้อยก็จะคิดว่าสวดภาวนาวอนขออะไรจากพระ จนทำให้คำว่า “สวดขอพระ” ติดปากติดใจของเราทุกคนเมื่อเป็นเช่นนี้เวลาเราภาวนา เราควรจะคำนึงจุดประสงค์ทั้ง 4 ประการของการภาวนาด้วย มิใช่กระทำเพียงประการที่ 4 คือ ภาวนาเพื่อขอเพียงอย่างเดียวดังที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าจะพูดถึง วิธีการภาวนา เราสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การภาวนาส่วนรวม และการภาวนาส่วนตัว
การภาวนาส่วนรวม คือ การร่วมกันหลายภาวนาพร้อมๆ กัน เช่น การสวดสายประคำร่วมกัน การร่วมถวายบูชามิสซา ซึ่งเป็นการภาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฯลฯ ลักษณะชองการภาวนาร่วมกัน จึงต้องมีบทสวดเดียวกัน ให้ทุกคนได้ภาวนาด้วยกัน จึงเป็นการภาวนาออกเสียง อาจจะเป็นคำสวดหรือเป็นบทเพลงก็ได้... การภาวนาด้วยกันนี้เป็นพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าที่ทรงต้องการให้ประชากรของพระองค์ “ชุมนุม” กันเพื่อกราบนมัสการสรรเสริญพระองค์ ดังพระวาจาที่บอกว่า “ที่ใดมี 2-3 คนชุมนุมกันภาวนาในนามของเรา เราจะประทับอยู่ในท่ามกลางพวกเขา...” (มธ 18 19-20)
ดังนั้น พระศาสนจักรจึงสนับสนุนส่งเสริมให้เราร่วมกันภาวนา การไปชุมนุมกันทุกวันอาทิตย์ ร่วมถวายมิสซาจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เป็นคำตอบว่า “ทำไมเราต้องไปร่วมพิธีมิสซาด้วยกันที่วัด” ได้เป็นอย่างดี การร่วมกันภาวนายังเป็นโอกาสให้เราได้พบปะเป็นกำลังใจให้กันและกันในการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย
การภาวนาส่วนตัว คือ การอธิษฐานภาวนาโดยลำพังตนเอง กระทำได้ในทุกโอกาส ทุกสถานที่ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น อาจะภาวนาได้ในขณะเดินทาง ขณะทำงาน ใช้เวลาเล็กน้อยก่อนเดินทางขอความปลอดภัยในการเดินทาง ก่อนนอน ตื่นนอน ฯลฯ
การภาวนส่วนตัวนี้จึงกระทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีบทภาวนาที่แน่นอนตายตัวเหมือนการภาวนาส่วนรวม เราสามารถอธิษฐานตามที่เราต้องการ เหมือนกับการสนทนากับผู้ที่เราเคารพ รัก ไว้ใจ รู้สึกอย่างไรก็บอกอย่างนั้น ต้องการอะไรก็กราบทูลตามที่ประสงค์ เรามักจะเรียกการภาวนาส่วนตัวนี้ว่า “รำพึงภาวนา” หลายคนชอบการภาวนาเช่นนี้ เพราะตรงประเด็น ตรงตามความต้องการ แต่อย่าลืมว่าความดีส่วนรวมย่อมมาก่อนความดีส่วนตัวเสมอ ดังนั้น จะต้องไม่ลืมให้ความสำคัญของการภาวนาส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดีปกติแล้ว คนที่รักการภาวนาจะไม่ขาดทั้ง 2 วิธีการ เขาจะกระทำทั้ง 2 วิธีอย่างดีและสม่ำเสมอ
บทภาวนาที่สำคัญ
พระศาสนจักรให้ความสำคัญของบทภาวนาที่สำคัญที่สุด คือ “บทข้าแต่พระบิดา” สาเหตุเพราะบทภาวนาบทนี้เป็นบทภาวนาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสอนให้ศิษย์ภาวนาด้วยพระองค์เอง
วันหนึ่ง พระเยซูคริสตเจ้าตรัสแก่บรรดาสาวกว่า “เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าเป็นเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม และตามมุมเสาเพื่อให้ใครๆ เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว..ส่วนท่านเมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัวปิดประตูอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตอยู่ทุกแห่ง แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งจะประทานบำเหน็จให้ท่าน...”
...ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การประจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ (มธ 6 : 5-13)
ในบทข้าแต่พระบิดานี้ มีสาระสำคัญ 7 ข้อ โดย 3 ข้อแรกเป็นการภาวนาแด่พระเป็นเจ้า ให้คนรู้จักกราบไหว้นมัสการและเคารพเชื่อฟังพระองค์ในโลกนี้ ดังเช่นเดียวกับในสวรรค์ และ 4 ข้อหลัง เป็นการขอพระเป็นเจ้าโปรดประทานอาหารฝ่ายกาย และวิญญาณ ขอทรงยกบาปของเรา และทรงช่วยให้เราเอาชนะการประจญล่อลวงต่างๆ
“บทวันทามารีย์”
เป็นบทภาวนาที่คริสตชนคาทอลิกถือเป็นบทภาวนารองจากบทข้าแต่พระบิดาก็ว่าได้ เพราะเป็นบทภาวนาที่พระเป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ อัครเทวดาคาเบรียล กล่าวเคารพต่อพระนางมารีย์ เมื่อมาแจ้งสารของพระเป็นเจ้าแก่พระนาง ซึ่งเราทราบว่าสารนั้นคือการเลือกและทรงสถาปนาให้พระนางมารีย์เป็นมารดาของพระองค์ในโลกนี้
นอกจานั้น ยังบรรจุคำคำนับของ นางเอลีซาเบธ ในวันที่พระนางเสด็จไปเยี่ยม (ลก 1 : 39-45) “วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก
สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย อาแมน”
สำหรับตอนที่สองนี้ พระศาสนจักรแต่เติม เพื่อขอพระนางมารีย์ทรงโปรดวิงวอนพระเป็นเจ้าเพื่อทุกๆ คนด้วย นอกจากนี้ ยังมีบทภาวนาอื่นๆ อีกมากมายซึ่งก็มีประโยชน์และมีความหมายสำหรับชีวิตของเราเช่นกัน