ศีลล้างบาป
ดังที่ได้ทราบมาบ้างแล้วว่า ศีลล้างบาปเป็นเสมือนบานประตูบานแรกที่จะนำเราให้เข้ามาเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งตามกฎหมายของพระศาสนจักร
จากข้อความเชื่อที่บอกว่ามนุษย์เราเกิดมามีบาปกำเนิดติดตัวมาด้วยทุกคน และเมื่อโตขึ้นรู้ความแล้วก็ได้กระทำผิดกระทำบาปด้วยตัวเองอีกมากมายพระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งศีลล้างบาปขึ้นเพื่อชำระล้างให้มนุษย์พ้นจากบาปกำเนิดและบาปที่ทำเองด้วย มีความหมายถึงการทำให้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า ให้มีชีวิตใหม่
ศีลล้างบาปจึงมีอำนาจแห่งการลบล้างบาปทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ผู้รับกลายเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรโดยสมบูรณ์ และทำให้สามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ถ้าจะเปรียบศีลล้างบาปกับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ศีลล้างบาปเปรียบเหมือนประตูหน้าบ้านที่ทุกคนในบ้านจะต้องผ่านเข้ามาเป็นอันดับแรก เพื่อเข้าไปยังห้องต่างๆ (ศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ) ภายในบ้าน ดังนั้น ศีลล้างบาปจึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ทุกคนจะต้องรับก่อนที่จะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ
การเป็นคริสตชนจึงจำเป็นต้องรับศีลล้างบาปเสมอ ศีลล้างบาปนี้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า หรือ ที่เราเรียกว่า “มีชีวิตพระ” อันหมายถึง การเป็นอวัยวะของพระเยซูคริสตเจ้าและพระศาสนจักรอย่างแท้จริงและศีลล้างบาปจะทำไห้เราได้รับการประทับตราอันไม่รู้เลือนในชีวิต คือ เราจะเป็นคริสตชนตลอดไป แม้ภายหลังเราอาจจะหลงลืมพระเป็นเจ้าไปก็ตาม ศีลล้างบาปจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รับได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ดังที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์มีองค์ประกอบสำคัญ คือ เครื่องหมายภายนอก และ บทภาวนาประจำศีล สำหรับศีลล้างบาปเครื่องหมายภายนอกที่สำคัญก็คือ การเทน้ำบนศีรษะของผู้รับศีล และประกอบกับบทภาวนาว่า “...ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” การกระทำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายของการชำระล้าง เพราะน้ำคือสิ่งที่ใช้ชำระล้างความสกปรกให้หมดไป มีความหมายลึกลงไปถึงการชำระชีวิต (ทั้งกายและวิญญาณ) ของผู้รับศีลให้ปราศจากบาปและความผิดต่างๆ ให้มีชีวิตพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
สาระบางประการที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับศีลล้างบาป
1. ผู้โปรดศีลล้างบาป โดยปกติจะเป็นพระสงฆ์ แต่ในกรณีจำเป็นอาจเป็นคริสตชนคนใดคนหนึ่งก็ได้ โดยให้ถือตามความเหมาะสม เช่น ไม่มีพระสงฆ์ก็อาจจะเป็น นักบวช บราเดอร์ ซิสเตอร์ ครูคำสอน หรือ สัตบุรุษที่ศรัทธาเป็นที่นับถือของสังคม แต่ต้องเป็นคริสตชนคาทอลิกด้วยและต้องมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะโปรดศีลล้างบาป
2. ผู้รับศีลล้างบาป เราแยกแยะผู้รับศีลล้างบาปได้เป็น 2 ประเภท คือ
ก. ผู้ที่เป็นทารก หมายถึง เด็กที่เกิดมาในครอบครัวคาทอลิก เมื่อเขาแข็งแรงแล้ว (โดยประมาณ 3 เดือน) บิดามารดาจะต้องนำเขาไปขอรับศีลล้างบาปกับพระสงฆ์ เพราะหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในฐานะบิดา-มารดา เมื่อโตขึ้นเราเรียกเด็กๆ เหล่านี้ว่า “คริสตังนอน” สาเหตุก็มาจากการที่มีคนอุ้มมาให้ล้างบาปหรือ นอนรับศีลล้างบาปนั่นเอง
ข. ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ (รู้ความแล้ว) โดยปกติเมื่อเด็กๆ ที่โตขึ้นมาจนรู้ความแล้ว เขาจะต้องเรียนคำสอน ต้องปฏิบัติศาสนกิจ คือ สวดภาวนา ร่วมพิธีกรรมได้ด้วยตัวเอง ต้องมีความเชื่อตามที่พระศาสนจักรสอน ซึ่งสรุปอยู่ใน “บทข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า” และตัวสินใจด้วยตัวเองที่จะรับศีลล้างบาป เราเรียกคริสตชนคาทอลิกประเภทนี้ว่า “คริสตังยืน” สาเหตุก็เพราะเขาเดินเข้าไปล้างลาปด้วยตัวของเขาเอง หรือ เข้าใจง่ายๆ คือ ยืนรับศีลล้างบาป
3. พ่อ-แม่อุปถัมภ์ (พ่อแม่ทูนหัว) พระศาสนจักรเรียกร้องให้ผู้รับศีลล้างบาปทุกคนต้องมีพ่อ-แม่อุปถัมภ์ คือ ต้องมีผู้คอยดูแลแนะนำให้ผู้รับศีลล้างบาปเติบโตขึ้นในความเชื่อและการเป็นคริสตชนคาทอลิกที่ดี โดยปกติจะเป็นเพศเดียวกับผู้รับศีลล้างบาป และ อายุมากกว่าผู้รับศีลล้างบาปพอสมควร ทั้งนี้ เพื่อจะได้สามารถดูแลชี้แนะลูกทูนหัวของตนได้ และป้องกันปัญหาชู้สาวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การเลือกพ่อ-แม่อุปถัมภ์จึงควรเป็นผู้ที่รู้จักมักคุ้นและเป็นที่เคารถนับถือของผู้รับศีลด้วย เป็นผู้ที่มีความเชื่อ ความศรัทธา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนอื่นได้
4. ชื่อนักบุญประจำตัว เวลารับศีลล้างบาป ทุกคนจะต้องเลือกนักบุญองค์ใดองค์หนึ่งเป็นชื่อนักบุญประจำตัว ถ้าเป็นทารกบิดา-มารดาหรือผู้ใหญ่จะเป็นคนเลือกให้ หรือ ถ้าผู้ล้างบาปเป็นผู้ใหญ่ อาจจะเลือกด้วยตัวเอง โดยศึกษาประวัติของนักบุญที่ตนชื่นชอบและเป็นแบบอย่างสำหรับตนเองก็ยิ่งดี โดยปกติก็จะเลือกนักบุญที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง แต่พระศาสนจักรก็มิได้ห้ามเลือกนักบุญที่เป็นเพศตรงข้ามกับตนเอง ที่สำคัญเขาต้องรู้จักรประวัติของท่านนักบุญประจำตัวของตนเองอย่างดี เพื่อเลียนแบบอย่างและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน
5. ทะเบียนล้างบาป ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนต้องได้รับการบันทึกประวัติและสถานภาพไว้ที่วัดของตนและถือเป็นหลักฐานสำคัญในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เราจึงถูกเรียกร้องให้นำใบสำเนาศีลล้างบาป ไปแสดงและต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน ทังนี้เพราะเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว
6. พิธีอื่นๆ ที่แทนศีลล้างบาป ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถจะรับศีลล้างบาปได้ ยังมีพิธีที่ถือว่าเป็นเสมือนศีลล้างบาปได้ คือ
ก.พิธีล้างบาปด้วยเลือด คือ การเป็นมรณสักขี เช่น คนหนึ่งมีความเชื่อในพระเป็นเจ้าแล้ว แต่ไม่มีโอกาสรับศีลล้างบาปแบบธรรมดา ถูกทำร้ายและตายยืนยันความเชื่อ
ข. พิธีล้างบาปด้วยความปรารถนา คือ การแสดงเจตนาความรัก ความเชื่อในพระเป็นเจ้าอย่างมั่นคง และไม่มีโอกาสรับศีลล้างบาป อยู่ในสถานะกำลังจะตาย แต่หาผู้โปรดศีลไม่ได้ เช่น เรือกำลังจะจม เครื่องบินกำลังจะตก ฯลฯ
ศีลล้างบาป
เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องเอาใจใส่และกระทำให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามคำสอนของพระศาสนจักร ทุกคนในที่นี้หมายถึงบรรดาผู้อภิบาล พระสงฆ์ ครูคำสอน บิดา-มารดา ผู้ปกครอง และผู้รับศีลฯ เอง เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นเสมือนประตูหน้าบ้าน ที่จะทำให้เราเข้าในห้องต่างๆ ภายในบ้านได้ ให้เราได้รับพระพรที่จำเป็นของชีวิตตามมาอีกมากมาย