ลักษณะที่เด่นชัดแห่งความเชื่อของคริสตชนที่เป็นผู้ใหญ่
ตามทัศนะของคุณพ่อแบร์นาร์ด แฮริ่ง (Bernard Haring ค.ศ. 1912-1997) อาจารย์เทววิทยาด้านศีลธรรมคณะพระมหาไถ่ ท่านเขียนหนังสือ Christian Maturity : Holiness in Today’s World (St. Paul Publications, England, 1983.) สรุปใจความสำคัญ 21 ประการ ดังต่อไปนี้
1. รักความจริง คริสตชนที่มีความเชื่อแบบผู้ใหญ่ รู้ว่าพระคริสตเจ้าเป็นความจริง นำเราไปหาพระบิดา (ยน 18: 36-38) รู้ต้นกำเนิด จุดหมายปลายทาง และกระแสเรียกของมนุษย์
ความเชื่อเช่นนี้ ช่วยคริสตชนให้เป็นคนซื่อสัตย์ กล่าวคือ คิดซื่อ พูดซื่อ และปฏิบัติซื่อ ด้วยความสุขุมรอบคอบ (มธ 7: 6)
2. มีศิลปะในการสนทนา (บสร 4: 23-26, 5: 11-14, 20: 5-8) เมื่อรักความจริง ต้องมีศิลป์ในการสนทนารู้จักเลือกคู่คุย พร้อมที่จะเป็นผู้ฟัง ช่วยเหลือ และตั้งใจที่จะช่วยแสวงหาปัญญา
ต้องรู้จักสนทนากับพระเจ้าก่อนบุคคลใด และสนทนากับพี่น้องเพื่อนร่วมทาง นั่นคือ การเลียนแบบพระเยซูเจ้า ที่ฟังพระวาจา ฟังคนฉลาด ฟังความต้องการของประชาชน และเสียงร้องของคนบาป พระองค์สนทนากับศิษย์ กับประชาชน กับหญิงชาวสะมาเรีย (เทียบ ยน 4)
ศิลปะในการสนทนาเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ พ่อ แม่ ลูก ครู ศิษย์ ฯลฯ ต้องมีศิลปในการสนทนาด้วยความเพียรทนและเคารพ เพื่อแสวงหาความจริง และช่วยแก้ไขปัญหาทั่วไป เราต้องสนทนาด้วยความเชื่อเพื่อสร้างสันติ และความยุติธรรมในสังคม
3. ชื่นชมในสิ่งงดงาม นักบุญโทมัส อาไควนัส กล่าวว่า ความงามเป็นชื่อหนึ่งที่แสดงลักษณะของพระเป็นเจ้า สิ่งสร้างเผยแสดงถึงพระสิริรุ่งโรจน์ และความงดงามของพระองค์ ความงามมีค่าเหนือผลประโยชน์และกำไร
ผู้ที่เข้าใจความหมายของความงามแท้ จะไม่ลดตนไปกับแรงกระตุ้นเรื่องเพศ แต่มีสายตากว้างไกล เห็นความจริง ใจเมตตา สงบ สันติ เห็นสิ่งงดงามบริสุทธิ์ เห็นความน่ารักของผู้ให้กำเนิด
ผู้ที่ชื่นชมในความงามของธรรมชาติ จะระลึกถึงพระผู้สร้าง ผู้เป็นปฐมเหตุ จะเข้าใจว่าความงามเป็นพระหรรษทาน ดังเช่น นักบุญฟรังซิส อัสซีซี โลกต้องการคนเช่นนี้ เพื่อสอนเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ให้รักความงาม ซึ่งฉายแสดงถึงความดีและความจริง ซึ่งจะช่วยปลดเปลื้องโลกจากความน่าเกลียด แห่งความกดขี่ และความรุนแรง
4. คริสตชนต้องรู้จักพักผ่อน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และมีวันฉลอง กล่าวคือ เป็นชาวคริสต์ต้องร่าเริง ร่วมทุกข์ร่วมสุข การพักผ่อน การเล่น งานฉลอง นอกจากเป็นการพักผ่อนจากงาน และฟื้นฟูกำลังเพื่อทำงานต่อไป ยังมีความหมายในตัวเองแก่ทุกคนผู้แสวงหาความหมายแท้ของชีวิตด้วย (มก 2: 27)
ชาวคริสต์ไม่ลืมว่า พิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์เป็นสิ่งสำคัญ ที่ให้ความหวังแก่ชีวิตของเรา และการเป็นคนมีอารมณ์ขันไม่ขัดอะไรกับชีวิตคริสตชน
5. สื่อมวลชน เราไม่ลืมหรือมองข้ามความสำคัญของสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบัน ว่าเป็นเครื่องมือประกาศพระวาจาได้ หากเรารู้จักเลือกใช้ เพื่อปลุกสำนึกต่อสภาพสังคม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาและสร้างสันติ เป็นเสียงของผู้ที่ไร้เสียง ช่วยเหลือคนตกทุกข์ หิวโหย ประสบภัยต่างๆ เป็นเครื่องมือที่ดี เพื่อให้เกิดการจัดการ ช่วยเหลือ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เราไม่ลืมด้วยว่า สื่อสารมวลชนมีอันตรายเช่นกัน หากมนุษย์ใช้ในทางที่ผิด สื่อสารมวลชน ได้แก่ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์
6. ต้องร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสังคม ร่วมมือในการสำรวจความเห็นประชามติ เมื่อมีการสำรวจ เช่น เรื่องประชาธิปไตย ส่งเสริมเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เรื่องพระศาสนจักร ยืนยันข้อนี้ (ข้อ 37)
7. เด่นในความเชื่อ (ดู อฟ 6: 13-17 ; ฟป 3: 8-17) เอกลักษณ์ของเราคือ ดำเนินชีวิตเป็นพยานและช่วยเหลือผู้อื่น สำนึกว่าทุกสิ่งมาจากพระเป็นเจ้า สำนึกในพระหรรษทานแห่งความเชื่อ และยินดีอุทิศตนเป็นผู้รับใช้พระวรสาร สนใจความต้องการของสังคมปัจจุบันด้วยการมีเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน (พระศาสนจักร ข้อ 41)
8. คริสตชนสนใจเพื่อนต่างศาสนา หรือสนใจผู้ที่ไม่สนใจศาสนา (Atheism) (ดู GS 19-22) ในสภาพสังคมปัจจุบัน เราต้องเป็นพยานยืนยันความเชื่อในชีวิตปัจจุบัน พ่อแม่ต้องปฏิบัติศาสนาเป็นตัวอย่างแก่ลูก
9. คริสตชนที่มีครอบครัวแล้วต้องซื่อสัตย์ต่อคู่ชีวิต ไม่มีชู้ ไม่หย่าร้าง ต้องรักษาสัญญาของศีลสมรสจนตลอดชีวิต โดยรู้จักภาวนาเสมอ (อ่าน 1 คร 1: 4-9 ; 2 คร 1: 18-22)
10. คริสตชนต้องสนใจคนชรา “สิ่งที่น่าชมยิ่งคือปรีชาญาณของผู้ชรา การรู้จักไตร่ตรองและการตัดสินของบุคคลสำคัญ” (บสร 25: 5) ให้ความเคารพและกตัญญูต่อผู้สูงอายุ อย่าทอดทิ้ง ไม่ถือว่าคนแก่ไร้ค่า พวกเขามักจะรู้สึกโดดเดี่ยว เราจึงต้องสนใจเยี่ยมเยียนผู้ป่วยและคนชรา
11. สนใจเยาวชน (1 ทธ 5: 1-12 ; 1 ยน 2: 13-14) ให้เขารู้จักคุณค่าของชีวิตวัยรุ่น อบรมเขาให้เป็นคนรับผิดชอบ พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น ให้เขารู้จักใช้เสรีภาพ เป็นผู้ใหญ่ (Maturation) และศรัทธา
12. รู้จักเคารพร่างกาย สำนึกว่าร่างกายเป็นวิหารของพระจิตเจ้า (2 คร 4: 10-14) เมื่อได้รับศีลล้างบาป และศีลกำลัง จึงต้องเคารพร่างกาย รักษาความบริสุทธิ์ (Chastity) ต้องรักษาร่างกายให้มีสุขภาพดีแต่อย่าปรนเปรอ หรือสนใจแต่งตัวเกินควร
13. รู้จักใช้ภาษาบริสุทธิ์แห่งความจริงและความรัก พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ให้เป็นชายและหญิง (ปฐก 1-3) ให้พึ่งพาอาศัยกันและกัน เพราะฉะนั้นเราจึงแต่งงาน มีครอบครัว แต่บางคนถือชีวิตโสดด้วยใจอิสระ เพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์
ดังนั้น ไม่ว่าชีวิตแต่งงานหรือถือโสด ก็มีความสุขได้ เพียงดำเนินชีวิตติดตามพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขน และไม่เห็นแก่ตัว
14. รับผิดชอบชีวิตด้วยความรัก สำหรับคริสตชน ชีวิตฝ่ายร่างกายไม่ได้มีความดีสูงสุดมากกว่าคุณค่าอื่นๆ แต่การมอบชีวิตของใครคนหนึ่งช่วยเหลือผู้อื่น ถือเป็นความรักขั้นสูง (เทียบ ยน 15:13) ดังนั้น กางเขนของพระคริสตเจ้าจึงกลายเป็นกางเขนที่ให้ชีวิตสมบูรณ์แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์
การทำแท้งจึงเป็นบาปหนัก การตัดสินประหารชีวิต พระศาสนจักรไม่ยอมรับ เพราะเราต้องปกป้องชีวิต และไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง
15. สุขภาพและความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอด คนพิการ คนโรคเรื้อน คนหูหนวก (ลก 7: 18-23) เป็นพันธกิจเร่งด่วนแม้ในวันสับบาโต การมีสุขภาพดีไม่ใช่แค่ทำงานได้เท่านั้น สุขภาพดีต้องฝ่ายร่างกายและจิตใจด้วย เราไม่สงสัยเลยว่า ความป่วยไข้และความทุกข์เป็นโอกาสให้เราพบความศักดิ์สิทธิ์สมกับเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า
16. ตายกับพระคริสตเจ้า คริสตชนดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ แตกต่างจากเพื่อนพี่น้องต่างความเชื่อ ซึ่งกลัวความตาย เพราะเรามั่นใจในคำสัญญาและพระหรรษทานของพระเจ้า ดังคำสอนของนักบุญเปาโลที่ว่า “การมีชีวิตอยู่ก็คือพระคริสตเจ้า และการตายก็เป็นกำไร” (ฟป 1: 21-24) “ชีวิตในพระคริสตเยซูนั้นช่วยท่านให้พ้นจากกฎของบาปและกฎของความตาย” (รม 8: 2)
17. รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (นิเวศน์วิทยา) ให้เราคิดถึงนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ที่รักสัตว์และต้นไม้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เห็นธรรมชาติต่างสรรเสริญพระเจ้า
ศิษย์พระคริสตเจ้าต้องช่วยแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้สร้าง ต้องช่วยเรารักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์ทำบาป เกิดน้ำท่วมโลก พระเจ้าทรงพิทักษ์โนอาห์ผู้ชอบธรรมและครอบครัว โนอาห์ได้ช่วยชีวิตของสัตว์แต่ละชนิด (ปฐก 7-9)
18. อุทิศตนเพื่อวัฒนธรรม พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (มธ 25: 14-21) สอนเราเรื่องการดำเนินชีวิตเต็มความสามารถ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นกระบวนการส่งเสริมความยุติธรรมและสันติสุข เพื่อความดีส่วนรวม ดังที่พระเจ้าให้ความสามารถแก่เรา สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ยืนยันว่าพระศาสนจักรต้องยอมรับวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อ “ชุมชนแห่งความเชื่อ ต้องหยั่งรากในชีวิตของสังคม และประยุกต์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น” (งานธรรมทูต 19)
19. เศรษฐกิจปัจจุบัน และการดำเนินชีวิตความสุขแท้ 8 ประการ ไม่มีใครรับใช้นายสองคนพร้อมกันได้ เขาจะรักนายคนหนึ่ง และดูหมิ่นนายอีกคนหนึ่ง ท่านรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้ (ลก 16: 13)
ประสบการณ์ของเราคริสตชนตระหนักดีว่า บาปมีจริงในสังคมที่เน้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยอาศัยสื่อมวลชน สอนให้ซื้อมาก บริโภคมาก แสดงออกมากๆ ซึ่งขัดกับจิตตารมณ์พระวรสาร เรื่องความสุขแท้ (เทียบ มธ 6: 25-33)
20. คริสตชนและการเมือง นักบุญเปาโลสอนว่า “ทุกคนจงนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจปกครอง เพราะไม่มีอำนาจใดที่ไม่มาจากพระเจ้า” (รม 13: 1) สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เน้นอำนาจอื่นนอกจากผู้ที่สืบตำแหน่งของอัครสาวกว่า “พวกเขาก็ประกาศพระวรสาร ในอำนาจของพระเจ้า... ในหลายด้านพวกเขาแตกต่างจากการสนับสนุนของบ้านเมือง” (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ 76) คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรสนับสนุนการพัฒนาด้านประชาธิปไตย ยึดหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และประชาชนมีส่วนในการเลือกตั้ง เพื่อความดีของส่วนรวม
21. ส่งเสริมสันติภาพ “เกลือเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกลือจืดท่านจะนำสิ่งใดมาทำให้เกลือเค็มอีกเล่า จงมีเกลือไว้ในท่านเถิด และจงอยู่อย่างสันติกับผู้อื่น” (มก 9: 50) “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” (มธ 5: 9) คริสตชนมีหน้าที่เป็นพยานถึงความยุติธรรมและสันติภาพ เราต้องพร้อมที่จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการไม่รุนแรง ดังเช่น มหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์คิง ได้ยึดหลักนี้ คือ การไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อยืนยันความจริง ความรัก ความยุติธรรม และการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity) กับผู้ยากไร้ เพราะเป็นคำสอนเรื่องความสุขแท้ โอวาทบนภูเขา ตามชีวิตและคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า
สรุปโดย พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์
30 พฤษภาคม 2556
ที่มา คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม