หลักการมีชีวิตในศีลธรรมของคาทอลิก
แหล่งที่มา CCC 1691-2051
ถ้าฉันสามารถป้องกันหัวใจดวงหนึ่งมิให้แตกสลายได้
ฉันก็จะไม่มีชีวิตอยู่อย่างไร้ประโยชน์
ถ้าฉันสามารถช่วยชีวิตคนหนึ่งให้พ้นจากความเจ็บปวด
หรือช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของคนหนึ่งได้
ฉันก็จะไม่มีชีวิตอยู่อย่างไร้ประโยชน์
- Emily Dickinson (เอมิลี ดิ๊กคินสัน)
เข็มกลัดรูปยิ้ม
สภาพห่างเหินที่น้อยที่สุดระหว่างคนสองคนคือ การยิ้ม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1963 บริษัทประกันภัยชื่อ the State Mutual Life Assurance เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับความไว้วางใจ เพราะการรวมบริษัทเข้าด้วยกัน ผู้บริหารจึงจ้างศิลปินคนหนึ่งชื่อ ฮาร์วีย์ บอล (Harvey Ball) ให้วาดรูปยิ้มเพื่อใช้ทำเข็มกลัด ที่จะช่วยเพิ่มความเบิกบานของพนักงานในสำนักงาน เขาน่าจะวาดเพียงรูปยิ้ม โดยไม่มีอย่างอื่น คือ ไม่มีตา ไม่มีจมูก
“ผมต้องเลือกเอาแบบหนึ่ง” นายบอลกล่าว “ผมควรใช้วงเวียนและทำให้ดูเรียบร้อยที่สุด แต่ผมตัดสินใจวาดด้วยมือตัวเองเพื่อให้รูปยิ้มมีลักษณะพิเศษบางอย่าง” เขาชอบรอยยิ้มที่โค้งเล็กน้อยของตน แต่ก็มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง คือ “รูปยิ้มที่คว่ำลงกลับเป็นรูปบึ้ง” ดังนั้นเขาจึงเติมตาสองข้างและระบายรูปให้มีสีเหลือง บริษัทประกันภัยทำเข็มกลัดรูปยิ้มในครั้งแรกจำนวนหนึ่งร้อยเม็ด นายบอลได้รับค่าจ้าง 45 เหรียญสำหรับงานนี้ ทุกคนมีความสุข
แต่สองสามปีต่อมา ผู้ผลิตสิ่งแปลกใหม่สองราย ได้นำข้อความว่า “ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดีของคุณนะ” มารวมกับรูปใบหน้ายิ้ม และเรื่องต่อจากนี้ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปคือ ได้มีการผลิตเข็มกลัดแบบนี้ออกมาประมาณห้าสิบล้านชิ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 ฮาร์วีย์ บอล ไม่เคยจดลิขสิทธิ์รูปหน้ายิ้มไว้เลย ดังนั้นเขาจึงไม่ได้รับเงินใดๆ อีกจากการผลิตเข็มกลัดรูปยิ้ม
“เรื่องที่ผมไม่สามารถทำเงินจากรูปหน้ายิ้มได้จำนวนมาก มิใช่เรื่องที่ทำให้ยุ่งใจเลย เงินมิใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง คุณสามารถขับรถได้ครั้งละหนึ่งคันเท่านั้น และคุณก็สามารถทานเนื้อสเต็กได้ครั้งละหนึ่งชิ้นเท่านั้น”
เมื่อเร็วๆ นี้ ฮาร์วีย์ได้จัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 75 ปี เขาได้เรียนรู้ว่า ความสุขนั้นมิได้อยู่ที่ขนมเค้กวันเกิด หรือการทำเงินล้านจากภาพไอคอนที่แสดงวัฒนธรรม เขาบอกว่า “คุณต้องรู้จักพิจารณาเรื่องความสุขอย่างถูกต้อง ชีวิตของผมเปลี่ยนไปเมื่อวันเสาร์ที่ 21 เมษายน 1945 เวลาบ่าย 4 โมง บนเกาะโอกินาวา โชคดีจริงๆ! ลูกปืนใหญ่ของญี่ปุ่นลูกหนึ่งระเบิดขึ้นตรงหน้าผม มันทำให้เพื่อนสองคนที่อยู่ทางด้านซ้าย กับผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ด้านหน้าของผมตาย ผู้ชายที่อยู่ทางด้านขวามือได้รับบาดเจ็บ ส่วนผมไม่ได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้ควรช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคุณใช่ไหม ในเวลานั้นผมเป็นสุขที่ยังมีชีวิตอยู่ และเวลานี้ผมคิดว่าการทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่คุณสามารถด้วยความรับผิดชอบนั่นแหละจะทำให้คุณมีความสุข” (เรียบเรียงจากบทความเรื่อง “Are You Happy Yet?” โดย Stan Grossfield จาก Boston Globe Sunday Magazine ฉบับวันที่ 19 มกราคม 1997, หน้า 14-15,66)
หลักศีลธรรมคาทอลิก คือ ชีวิตในพระคริสตเจ้า
The World Database on Happiness บันทึกรายชื่อเอกสารที่มีเรื่องความสุขไว้ถึง 2,475 รายการ มีทั้งที่เป็นหนังสือ, บทความวารสาร, วิทยานิพนธ์และรายงานการประชุม จากการรวบรวมสิ่งที่ค้นพบสรุปได้ว่า (1) ความสัมพันธ์ใกล้ชิด รวมทั้งการสมรสที่มีความสุขและศาสนา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการได้รับความสุข (2) ความมีเสน่ห์ของร่างกายไม่ได้เป็นหลักประกันการเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคน (3) ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนามากกว่าเป้าหมายทางสังคม เช่น สันติภาพและความเสมอภาค ที่มนุษย์ยึดมั่นอยู่ในใจ
ภาคสามของหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก เกี่ยวกับการมีชีวิตในศีลธรรมของคาทอลิก ที่ได้ชื่อว่า “ชีวิตในพระคริสตเจ้า” ตอนที่ 1 วางพื้นฐานของการมีชีวิตในศีลธรรม ตอนที่ 2 เกี่ยวข้องกับพระบัญญัติสิบประการ โดยเนื้อหาบอกไว้ชัดเจนว่าการดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรมจะนำไปสู่การบรรลุความปรารถนาที่มนุษย์ต้องการอย่างยิ่งและความสุขที่เราทุกคนโหยหา ในบทนี้เราพิจารณาเกี่ยวกับพื้นฐานของการมีชีวิตในศีลธรรม บทต่อๆ ไปจะเกี่ยวกับเรื่องพระบัญญัติสิบประการ โดยเรียงตามลำดับ
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกอธิบายองค์ประกอบพื้นฐาน 9 ประการ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างสภาวะต่างๆ สำหรับการมีชีวิตในศีลธรรมและความสุขอันเป็นผลจากการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ดังต่อไปนี้
พระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า
องค์ประกอบทั้งหลายในเรื่องหลักศีลธรรมเริ่มด้วยการเข้าใจตัวเราเองว่าเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า แล้วการเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้าหมายความว่าอะไร? ลักษณะต่อไปนี้เป็นบางส่วนของคำตอบ
- ข้าพเจ้ามีปัญญาที่สามารถรู้ความจริง รวมถึงความจริงขั้นสูงสุดเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า และการรู้สำนึกในความเชื่อว่า พระเป็นเจ้าคือองค์ความจริง
- ข้าพเจ้ามีความตั้งใจประการหนึ่งคือ จะรักสิ่งดีงามในโลก และสิ่งที่ดีอย่างแท้จริง นั่นคือพระเป็นเจ้า
- ข้าพเจ้าได้รับพระพรแห่งเสรีภาพ ข้าพเจ้ามีเสรีที่จะกระทำสิ่งที่ควรกระทำ และมิใช่เพียงสิ่งที่ข้าพเจ้ายินดี
- ข้าพเจ้ามักจะมีความว้าวุ่นใจเพราะบาปกำเนิด นี่หมายความว่าข้าพเจ้ามีช่วงเวลาที่รู้สึกลำบากใจ เพราะรู้ความจริงและต้องฝ่าฟันเพื่อความจริงนั้น ข้าพเจ้าสังเกตการขัดแย้งหนึ่งภายในการตัดสินใจของข้าพเจ้า บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าเลือกสิ่งที่ไม่ควร และไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควร ข้าพเจ้ามีความโน้มเอียงที่จะใช้ความมีเสรีภาพของข้าพเจ้าไปทางชั่วร้าย
- ข้าพเจ้ามีชีวิตใหม่ในพระจิต เพราะศีลล้างบาปที่ข้าพเจ้าได้รับและการมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ พระหรรษทานเหล่านี้ช่วยข้าพเจ้ามิใช่ เพื่อให้”เป็นพระฉายาลักษณ์”ของพระเป็นเจ้าเท่านั้น แต่เพื่อให้ “ปฎิบัติ” ในฐานะรูปจำลองของพระเป็นเจ้า อีกทั้งเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากบาปกำเนิดและบาปที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วย
- ข้าพเจ้ามีจุดหมายอยู่ที่ชีวิตอันรุ่งโรจน์ในสวรรค์
เพราะข้าพเจ้าเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าจึงสามารถมีความสุขได้ ความสามารถรู้และรักได้ด้วยความสมัครใจเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้พบแหล่งที่มาของความชื่นชมยินดีที่ถาวรเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ ความสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าชั่วกาลนาน
ข้าพเจ้าถูกเรียกให้มามีความสุข
องค์ประกอบประการที่สองมีอยู่ในเรื่องความสุขแท้จริง(the Beatitudes) (มธ 5:3-12) ในเรื่องความสุขอย่างแท้จริงแปดประการ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้มามีความสุข และทรงบอกวิธีการที่จะได้รับความสุขนั้นด้วย ความสุขที่แท้จริงตามที่พระองค์ทรงสอนเป็นตัวกระตุ้นความมีศีลธรรมได้ดีที่สุด พระเป็นเจ้าทรงปลูกฝังความปรารถนาที่จะเป็นสุขแต่กำเนิดไว้ในข้าพเจ้า ข้าพเจ้าน่าจะค้นพบได้ว่าพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำให้ข้าพเจ้าพอใจได้ “พระเป็นเจ้าเจ้าข้า การที่ข้าพเจ้าคิดแสวงหาพระองค์ถูกต้องไหม? เพราะในการแสวงหาพระองค์ พระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแสวงหาชีวิตที่เป็นสุข ขอให้ข้าพเจ้าได้มุ่งค้นหาพระองค์ เพื่อให้วิญญาณข้าพเจ้ามีชีวิต เพราะว่าร่างกายของข้าพเจ้าได้รับชีวิตชีวาจากวิญญาณของข้าพเจ้า และวิญญาณของข้าพเจ้าได้รับความมีชีวิตชีวาจากพระองค์ (St. Augustine, Confession, 10,20)
“เรื่องความสุขแท้จริงบอกให้เรารู้ว่าจุดหมายสุดท้ายซึ่งพระเป็นเจ้าทรงเรียกเราคือ พระอาณาจักรสวรรค์, การมองของพระเป็นเจ้า, การมีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเป็นเจ้า, ชีวิตนิรันดร, การเป็นบุตร, การพักผ่อนในพระเป็นเจ้า” (CCC 1726)
พระเป็นเจ้าทรงสร้างเรามาในโลกนี้เพื่อให้รู้จัก, รัก และรับใช้พระองค์ และอยู่กับพระองค์ในสวรรค์ เรื่องความสุขแท้จริงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกนี้ พระบัญญัติสิบประการ, บทเทศน์บนภูเขา และอำนาจสอนของพระศาสนจักร แสดงให้เรารู้วิธีดำเนินชีวิตที่จะได้รับความสุขแท้จริง เนื่องจากความโน้มเอียงไปในทางบาปของเรา เราจึงไม่สามารถเป็นสุขอย่างสมบูรณ์ได้บนโลกนี้ แต่เราจะมีความปีติยินดีอย่างแท้จริงในสวรรค์
เสรีภาพและความรับผิดชอบของมนุษย์
องค์ประกอบประการที่สามในเรื่องหลักศีลธรรมของคริสตชน คือ การใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ พระเป็นเจ้าทรงสร้างเราให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะบุคคล หมายความว่า เราสามารถคิดริเริ่มและควบคุมการกระทำของตนเองได้ เรามิใช่หุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมโดยอำนาจจากภายนอกหรือแรงผลักดันภายในใจ เป็นความจริงที่ว่ามีการบีบคั้นจากสังคม และในบางกรณีเป็นแรงผลักดันจากภายในจิตใจ ซึ่งบางครั้งสามารถครอบงำเรา โดยปกติเรามีเสรีที่จะกระทำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เสรีภาพของเราก็มีมูลมาจากสติปัญญาและความตั้งใจของเรา
“ลักษณะซึ่งถูกกล่าวโทษหรือความรับผิดชอบสำหรับการกระทำหนึ่ง อาจได้รับการลดทอนหรือการทำให้หมดไป เพราะความไม่รู้, การข่มขู่บังคับ, ความกลัว และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจิตใจหรือสังคม” (CCC 1746)
เรายิ่งทำดีมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเป็นอิสระมากขึ้นเท่านั้น เรายิ่งทำชั่วมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเป็นทาสของบาปมากขึ้นเท่านั้น แล้วเราก็จะสูญเสียเสรีภาพ เสรีภาพทำให้เรารู้จักรับผิดชอบพฤติกรรมของเรา สิทธิการใช้เสรีภาพของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนา เป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแยกจากศักดิ์ศรีของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เสรีภาพมิได้หมายถึง สิทธิที่จะพูดหรือทำทุกๆสิ่งที่เราพอใจ แต่เป็นสิ่งที่เราควร ตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า มนุษย์ผู้มีเสรีอย่างแท้จริงโดยนัยนี้ มีโอกาสที่จะเป็นสุขมากที่สุด
หลักศีลธรรมเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์
เราจะบอกได้อย่างไรว่าการกระทำใดถูกต้องตามหลักศีลธรรมอย่างแท้จริง? องค์ประกอบประการที่สี่พยายามตอบปัญหานี้ การกระทำตามหลักศีลธรรมต้องประกอบด้วยสามส่วน คือ (1) การกระทำเอง (2) เหตุจูงใจให้กระทำ (3 ) สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม ทั้งสามส่วนต้องดีเพื่อให้เกิดการกระทำที่ดี กฎศีลธรรมอาจช่วยบอกเราได้ว่าการกระทำใดดีหรือเลว การข่มขืนเป็นการกระทำผิด เช่นเดียวกับการทำแท้ง การกระทำบางอย่างเห็นได้ชัดเจนเสมอว่าผิด เช่น ความชั่วร้ายโดยเจตนา นี่คือส่วนที่เป็นรูปธรรมของการกระทำตามหลักศีลธรรม
ส่วนที่สองของการกระทำตามหลักศีลธรรม คือ ความตั้งใจ อะไรบ้างเป็นความตั้งใจที่ผิดศีลธรรม? ตัวอย่างเช่น ความเกลียดชัง, ความโลภ, ความใคร่, ความอิจฉา, ความเกียจคร้าน, ความประสงค์ร้าย, ความสิ้นหวัง นี่คือนามธรรมของการกระทำที่ผิดศีลธรรม
ส่วนที่สามของการกระทำตามหลักศีลธรรมคือ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมทั้งหลายมีส่วนช่วยเพิ่มหรือลดคุณงามความดีหรือความเลวร้ายทางศีลธรรมของการกระทำ (เช่น ปริมาณสิ่งของที่ขโมย) และยังลดหรือเพิ่มความรับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้กระทำ (เช่น การกระทำด้วยความกลัวตาย)
เพื่อให้การกระทำหนึ่งดีงามตามหลักศีลธรรม ทุกส่วนจึงต้องดี เช่น ตัวการกระทำเอง, ความตั้งใจของผู้กระทำ และสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ทว่าจุดหมายของการกระทำไม่สนับสนุนความถูกต้องให้กับวิธีกระทำ เราไม่อาจกระทำชั่วเพื่อให้ความดีเกิดขึ้น
มโนธรรมทางศีลธรรม
องค์ประกอบประการที่ห้าในเรื่องคำสอนด้านศีลธรรมของคริสตชน คือ การพัฒนามโนธรรมทางศีลธรรมที่ถูกต้อง มโนธรรมคืออะไร?
“มโนธรรม เป็นการวินิจฉัยของวิจารณญาน ซึ่งบุคคลใช้เพื่อจำแนกแยกแยะคุณภาพทางศีลธรรมของการกระทำที่เป็นรูปธรรม (CCC 1796)
การมีมโนธรรมที่ดีต้องผ่านการฝึกฝนและการอบรมตลอดชีวิต พระวาจาของพระเป็นเจ้าเป็นแสงที่สำคัญซึ่งให้ความสว่างแก่มโนธรรมของเรา เราต้องทำความเข้าใจพระวาจาให้ถ่องแท้ ด้วยความเชื่อและการภาวนา พร้อมกับนำไปปฏิบัติ มโนธรรมของเรายังได้รับความรู้จากคำแนะนำอันรอบคอบของผู้อื่น, ความประพฤติที่ดีของพวกเขา และคำสั่งสอนอันทรงอำนาจของพระศาสนจักร การตรวจสอบมโนธรรมอย่างสม่ำเสมอโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพรต่างๆ ของพระจิตจะช่วยเราพัฒนามโนธรรมที่สามารถเข้าใจศีลธรรมได้
มโนธรรมที่ได้รับการหล่อหลอมมาอย่างดี จะวินิจฉัยเรื่องทั้งหลายได้ถูกต้องตามวิจารณญานและความดีงามแท้จริงที่พระปรีชาญาณของพระเป็นเจ้าประสงค์ ทุกครั้งที่เราพบกับการเลือกซึ่งเกี่ยวกับศีลธรรม มโนธรรมของเราอาจวินิจฉัยได้ถูกต้องตามวิจารณญานและบัญญัติของพระเป็นเจ้า หรือในทางตรงกันข้ามอาจวินิจฉัยผิดไปจากวิจารณญานและบัญญัติของพระเป็นเจ้า
“มนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำตามการวินิจฉัยของมโนธรรมของเขาทุกครั้งไป มโนธรรมอาจยังอยู่ในความเขลาหรือทำการวินิจฉัยผิดพลาด ความไม่รู้และความผิดพลาดเช่นนั้นไม่ได้รับการยกเว้นความผิดเสมอไป” (CCC 1800-01) ผู้ศึกษาเรื่องนี้ควรอ่านคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกข้อ 1790-94
การปฏิบัติคุณธรรม
ถ้าเราต้องการเป็นผู้มีความสุข เราต้องเป็นคนมีศีลธรรม และถ้าเราต้องการเป็นคนมีศีลธรรม เราก็ต้องปฏิบัติคุณธรรมแบบมนุษย์และคุณธรรมทางเทววิทยา นี่คือองค์ประกอบประการที่หก คุณธรรมแบบมนุษย์เป็นนิสัยของปัญญาและเจตนา ที่ดูแลพฤติกรรมของเราและควบคุมอารมณ์ของเรา คุณธรรมเหล่านี้นำทางความประพฤติของเราให้สอดคล้องกับความเชื่อและวิจารณญาน คุณธรรมบางประการที่ว่านี้ได้แก่อะไรบ้าง? คุณธรรมแบบมนุษย์ประกอบด้วย การมีวินัยในตนเอง, ความเห็นอกเห็นใจ, ความรับผิดชอบ, มิตรภาพ, การทำงาน, ความกล้าหาญ, ความพากเพียร, ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดี ตามคำสั่งสอนที่สืบต่อกันมา เราจัดกลุ่มคุณธรรมเหล่านี้ไว้ใน “คุณธรรมหลัก” ที่ประกอบด้วย ความรอบคอบ, ความยุติธรรม, ความกล้าหาญ และความพอดี
เราจะมีคุณธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร? วิธีที่หนึ่งคือ การฟังเรื่องราวของคนมีคุณธรรมซึ่งเร้าใจให้เราปฏิบัติตามคุณธรรมนั้น วิธีที่สองคือแบบอย่างที่ดีของบุคคลอื่นผู้กระตุ้นเราให้เลียนแบบคุณธรรมทั้งหลาย วิธีที่สามคือการศึกษาถึงคุณค่าแห่งคุณธรรมและวิธีการที่จะได้คุณธรรมเหล่านั้นมา วิธีที่สี่คือการทำซ้ำแล้วซ้ำอีกตามธรรมเนียมปฏิบัติจนกระทั่งซึมเข้าสู่ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเรา วิธีที่ห้าคือความตั้งใจประพฤติคุณธรรมและความพากเพียรแสวงหาคุณธรรมทั้งหลาย วิธีที่หกคือการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การภาวนาต่อพระจิตเพื่อวอนขอพระพรเจ็ดประการ ให้ช่วยเหลือเรา คือ พระดำริ, สติปัญญา, ความคิดอ่าน, ความเข้มแข็ง, ความรู้, ความศรัทธา และความยำเกรงพระเป็นเจ้า
นอกจากนั้นเรายังควรปฏิบัติคุณธรรมทางเทววิทยา คือ ความเชื่อ, ความหวัง และความรัก อันเป็นพรที่พระเป็นเจ้าทรงประทานให้โดยตรง และจัดการเราให้มีความสัมพันธ์อันสำคัญแก่ชีวิตกับสามพระบุคคลแห่งพระตรีเอกภาพ เหตุที่ได้ชื่อว่าคุณธรรมทางเทววิทยาเพราะคุณธรรมทั้งสามนำทางเราอย่างชัดเจนสู่ความเชื่อและความหวังในพระเป็นเจ้า และการยอมทำตามแผนการของพระองค์ด้วยความรัก คุณธรรมทางเทววิทยามีผลต่อคุณธรรมทางศีลธรรมทั้งหมด, การยกระดับคุณธรรมทั้งหมดขึ้นสู่ระดับพระเจ้า พร้อมด้วยการเพิ่มความมั่นคงและประสิทธิผลของคุณธรรมทั้งหลายในชีวิตของเรา
ความเข้าใจในเรื่องบาป
การพูดเกี่ยวกับหลักศีลธรรมและหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบาปน่าจะเป็นสิ่งไร้สาระ ความเข้าใจในเรื่องบาปเป็นองค์ประกอบประการที่เจ็ดของคำสอนเกี่ยวกับหลักศีลธรรมในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก เมื่อนานมาแล้วในวัฒนธรรมของเราได้มีการปฏิเสธเรื่องบาป ซึ่งเป็นเหตุให้จิตแพทย์ ชื่อ คาร์ล เมนนิงเกอร์(Karl Menninger) เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เรื่อง “สิ่งใดที่กลายเป็นบาป(Whatever Became of Sin)” เขาเขียนไว้ว่า ในเวลาที่มนุษย์ยอมรับการกระทำบาปของตน, ไปสารภาพกับพระสงฆ์ และได้รับการอภัยบาปแล้ว เมื่อนั้นบาปได้กลายเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่ถูกนำขึ้นสู่การตัดสินและลงโทษโดยการจำคุกหรือประหารชีวิต ในที่สุดบาปก็กลายเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง หรือโรคจิตชนิดหนึ่งซึ่งถูก “สารภาพ” กับจิตแพทย์และได้รับการรักษาด้วยการบำบัด
เขาได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อปรัมปราเรื่องนี้ผิดจริงๆ และชี้แจงเหตุที่ควรทำให้ความสับสนนี้เกิดความกระจ่าง ใช่,คนป่วยโรคจิตควรไปหานักบำบัด และอาชญากรควรไปยังห้องพิจารณาตัดสินคดีความ แต่คนบาปควรยอมรับความผิดทางจิตวิญญาณของตนต่อผู้มีอำนาจแท้จริง และรับการอภัยโทษพร้อมกับการยกบาป
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกเห็นด้วยเต็มที่กับความคิดนี้ การเอาความสำนึกเรื่องบาปกลับคืนมาเป็นการกระทำที่มีการมองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงทางศีลธรรม ซึ่งทำให้เรามีกระบวนการตัดสินตนเองอย่างซื่อตรง ทั้งยังมีโอกาสได้รับการไถ่ด้วย ถ้าไม่มีบาปแล้วทำไมจึงเรียกพระเยซูเจ้าว่าพระผู้ไถ่ และทำไมพระองค์จึงต้องทนทรมานอย่างมากบนไม้กางเขนเพื่อเรา? ทำไมพระองค์จึงต้องกลับคืนพระชนมชีพจากความตายเพื่อให้เราได้มีชีวิตใหม่และพระหรรษทานมากมายซึ่งช่วยเราให้ออกห่างจากบาป?
บาปคืออะไร? บาปคือคำพูด, ความคิด, การกระทำ หรือความปรารถนาที่ขัดต่อกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้า และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์และเพื่อนมนุษย์ บาปเป็นการกระทำโดยความไม่เชื่อฟังพระเป็นเจ้า และขัดแย้งกับวิจารณญาน บาปทำลายธรรมชาติของมนุษย์และทำร้ายความเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์
การกระทำบาปหนักคือ การที่เรากระทำบางสิ่งโดยรู้และตั้งใจที่จะต่อต้านกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างรุนแรง และขัดแย้งกับจุดหมายสุงสุดของเรา บาปหนักทำลายความรักซึ่งเราต้องการเพื่อความสุขนิรันดร ถ้าเราไม่สำนึกผิดถึงบาปหนัก เราก็จะประสบความตายนิรันดร
บาปเบาคือ ความไม่เรียบร้อยทางศีลธรรม ซึ่งเราสามารถควบคุมได้ด้วยความรัก(charity)ที่บาปเบายังยอมให้คงอยู่ในจิตใจของเรา การทำบาปซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้เป็นบาปเบาก็ตามจะทำให้เกิดกิเลสต่างๆในตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บาปต้นเจ็ดประการ คือ จองหอง, อิจฉา, ลามก, โมโห, เกียจคร้าน, ความตะกละ และความโลภ (อ่านเพิ่มเติมในหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก 1846-76 และบทที่เกี่ยวกับศีลอภัยบาป พร้อมทั้งทบทวนเนื้อหาเรื่องบาปกำเนิด เพื่อเสริมสิ่งที่ได้กล่าวไว้ในบทเรียนนี้)
ความสำนึกในเรื่องชุมชนและความยุติธรรมในสังคม
องค์ประกอบประการที่แปดสำหรับชีวิตในศีลธรรมของคริสตชนคือ การรู้สำนึกคุณความดีของชุมชนมนุษย์ของเราพร้อมกับมนุษย์ทุกคน และกระแสเรียกให้ทำงานของเราเพื่อเสริมสร้างอาณาจักรที่มีความรัก, ความยุติธรรม และความเมตตากรุณาของพระคริสตเจ้า พระตรีเอกภาพ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสามพระบุคคลที่มีความรักสมบูรณ์เป็นเครื่องผูกมัด บนแผ่นดินนี้เราถูกเรียกให้มารวมตัวกันเป็นชุมชนท่ามกลางมวลมนุษย์ มีความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยความรัก ในแง่หนึ่งภาพความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ก็สะท้อนให้เห็นจิตใจของพระเป็นเจ้า
สิ่งที่ควรเกี่ยวโยงกับเรื่องชุมชนมนุษย์นี้ จึงควรเป็นการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคนอย่างลึกซึ้ง ทุกรัฐบาลและสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้องกับสังคมควรช่วยเหลือ พร้อมกับเพิ่มพูนคุณธรรมและศักดิ์ศรีของบุคคล สังคมมีหน้าที่รับผิดชอบการสร้างภาวะที่เอื้อต่อการงอกงามแห่งคุณธรรม และลำดับแห่งคุณค่าต่างๆ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตวิญญาณเป็นอันดับแรก เหนือกว่าคุณค่าใดๆทางร่างกายและทางความรู้สึก
รัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือธรรมชาติของมนุษย์เป็นหลัก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับระเบียบที่พระเป็นเจ้าทรงจัดไว้ด้วย อำนาจทางการเมืองต้องถูกใช้เพื่อความดีส่วนรวมของสังคม และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหนึ่ง อำนาจนี้ควรมีวิธีการที่ชอบด้วยศีลธรรม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสภาพการณ์ต่างๆในสังคมที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพของตนได้อย่างถูกต้อง ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมนุษย์ก็ได้รับการมุ่งหมายให้ส่งเสริมความดีส่วนรวม
ความดีส่วนรวมประกอบด้วย “สภาพการณ์ทั้งหมดโดยรวมในสังคม ซึ่งอำนวยให้หมู่คณะและสมาชิกแต่ละคนบรรลุถึงผลแห่งการปฏิบัติของตนได้อย่างสมบูรณ์ และง่ายยิ่งขึ้น” (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 26:1) (CCC 1924)
ความยุติธรรมทางสังคมเรียกร้องให้ประชาชนสามารถจัดตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อกระทำการจนบรรลุถึงเป้าหมายของพวกเขา ความประสงค์แห่งความยุติธรรมนี้ประกอบด้วย สิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมและความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งมาจากความเข้าใจถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ เราแต่ละคนควรนึกถึงผู้อื่นเหมือนกับเป็น “ตัวเองอีกคนหนึ่ง” การแสวงหาความยุติธรรมทางสังคมจะต้องค้นหาวิธีการลดความไม่เสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีมากเกินไป ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับมนุษย์ทุกคนเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคคล และเป็นคุณธรรมประการหนึ่งของคริสตชน พระเป็นเจ้าทรงเรียกเราให้มาแบ่งปันคุณความดีทั้งฝ่ายจิตใจและวัตถุแก่กันและกัน
กฎและพระหรรษทาน
แผนการช่วยให้รอดพ้นของพระเป็นเจ้าผ่านทางกฎและพระหรรษทาน จัดเป็นองค์ประกอบประการที่เก้าสำหรับการมีชีวิตในศีลธรรมของคริสตชน ในบัญญัติของพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงสอนเราให้รู้วิถีทางสู่ความสุขในสวรรค์ และวิถีทางมากมายที่มีความชั่วร้ายซึ่งเราต้องหลีกหนี กฎธรรมชาติ คือ วิถีทางของเราที่จะได้มีส่วนร่วมในคุณความดีและปรีชาญาณของพระเป็นเจ้า อีกทั้งแสดงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์เรา และสร้างพื้นฐานสำหรับสิทธิและหน้าที่ทั้งหลาย เนื่องจากกฎธรรมชาติมีส่วนร่วมในกฎบัญญัติของพระเป็นเจ้า จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างมั่นคงในประวัติศาสตร์ และยังคงใช้เป็นฐานอันมั่นคงของกฎศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมือง
พระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมมีขั้นแรกของกฎที่จะได้รับการเปิดเผย ซึ่งถูกสรุปไว้ในพระบัญญัติสิบประการ กฎนี้เตรียมโลกให้พร้อมรับพระวรสาร เราเรียกกฎใหม่นี้ว่า พระหรรษทานของพระจิต ซึ่งเราได้รับโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ ลักษณะสำคัญของพระหรรษทานที่ได้ปรากฏอยู่ในบทเทศน์บนภูเขาของพระคริสตเจ้า (มธ 7-9) เราได้รับพระหรรษทานเหล่านี้โดยการมีส่วนร่วมในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆอย่างกระตือรือร้น
เนื่องจากการช่วยให้รอดพ้นซึ่งพระเยซูเจ้าทรงกระทำสำเร็จด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระจิตจึงสามารถทำให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตของพระเป็นเจ้า พระจิตทรงทำให้เราออกห่างจากบาปและมุ่งไปหาพระเป็นเจ้าได้โดยใช้ผลการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสต์ การช่วยให้รอดพ้นนี้ยังได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า การทำให้ชอบธรรม(justification) ซึ่งรวมถึงการให้อภัยบาปต่างๆ และการทำให้จิตวิญญาณของเราได้อยู่กับพระเป็นเจ้า
เรามิอาจกล่าวได้อย่างหนักแน่นว่า การช่วยให้รอดพ้นและการทำให้ชอบธรรมที่เราได้รับ มาจากพระธรรมล้ำลึกปัสกา คือ การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ทั้งนี้เพราะ การดำเนินชีวิตในศีลธรรมของคริสตชนจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยการกระทำด้วยความรักและความเมตตาซึ่งมีอำนาจสูงสุดนี้, ที่เป็นความประสงค์ของพระบิดา, สำเร็จได้โดยพระคริสต์ และกลายเป็นประโยชน์แก่เราโดยกิจการของพระจิตในพระศาสนจักรและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพลงสรรเสริญซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางชื่อ “พระคุณพระเจ้า(Amazing Grace)” เตือนเราให้รู้สึกว่า บาปไม่ได้เป็นจุดสนใจที่สำคัญสำหรับการมีชีวิตในศีลธรรม ถึงแม้การมีอยู่และอิทธิพลของบาปจะส่งผลร้ายต่อโลกอย่างมหาศาล หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกยกระดับความคิดของเราให้รับรู้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับพลังแห่งพระเมตตาซึ่งหลั่งไหลออกมาเป็นพระหรรษทานที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ พระหรรษทานนี้หุ้มห่อเรา, นำหน้า, ตระเตรียม และชักจูงการตอบสนองอย่างอิสระของเราต่อความรักของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทานนี้แก่เราด้วยความเต็มใจ เพราะพระองค์ทรงรักเรา
สรุปได้ว่า เราควรได้รับการช่วยให้รอดพ้น ก็เพราะพระเป็นเจ้าทรงตั้งใจที่จะให้เรามีส่วนในงานแห่งพระหรรษทานนี้ ความเหมาะสมของเราจึงขึ้นอยู่กับพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าเป็นอันดับแรก และอันดับที่สองคือ การร่วมมือกับพระหรรษทานที่เราได้รับ ในทำนองเดียวกันเราต้องกล่าวว่า เราไม่ควรได้รับพระหรรษทานเบื้องต้นที่ทำให้เกิดการกลับใจ นี่คือ กิจการอิสระที่เป็นความกรุณาของพระจิต
การไตร่ตรองจากหนังสือคำสอน
1. พระศาสนจักรให้คำแนะนำด้านศีลธรรมซึ่งมั่นใจได้แก่เราอย่างไร?
“พระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม และบรรดาพระสังฆราชในฐานะอาจารย์แท้จริงเทศน์สอนความเชื่อซึ่งต้องเชื่อและนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตตามศีลธรรมแก่ประชากรของพระเป็นเจ้า พวกท่านยังมีหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องที่เป็นปัญหาทางศีลธรรมซึ่งเกี่ยวกับกฎธรรมชาติและวิจารณญาน ความไม่รู้พลั้งแห่งพระอาจารยานุภาพของบรรดาผู้อภิบาลครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ ของข้อความเชื่อทั้งปวง รวมถึงคำสอนด้านศีลธรรมด้วย และหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ ความจริงแห่งความเชื่อที่ช่วยให้รอดพ้นก็ไม่สามารถได้รับการรักษา, อธิบายให้ความกระจ่าง หรือปฏิบัติตามได้” (CCC 2050-51)
2. การตัดสินใจทางศีลธรรมอย่างถูกต้องจำเป็นสำหรับความรอดพ้นอย่างไร?
“ทางของพระคริสตเจ้า ‘นำเราไปสู่ชีวิต’ หนทางตรงข้าม ‘นำไปสู่หายนะ’ (มธ 7:13 เทียบ ฉธบ 30:15-20) นิทานเปรียบเทียบในพระวรสารเรื่องทางสองแพร่งยังคงปรากฏอยู่ในคำสอนของพระศาสนจักรเสมอ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการตัดสินใจทางศีลธรรมเพื่อความรอดพ้นของเรา อันเปรียบได้กับการเลือกทางเดิน โดยมีสองทางให้เลือก ทางหนึ่งนำไปสู่ชีวิต อีกทางหนึ่งนำไปสู่ความตาย และทางสองสายนี้มีความแตกต่างกันมาก (Didache 1,1;SCh 248,140)” (CCC 1696)
3. อะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเราปลูกฝังมโนธรรมของเรา?
“...มโนธรรมของแต่ละคนควรหลีกเลี่ยงการจำกัดตัวเองอยู่กับการพิจารณาตัดสินทางศีลธรรมเฉพาะการกระทำที่เป็นของตนโดยมโนธรรมของตนอย่างไม่สนใจผู้ใดเลย อันที่จริงมโนธรรมควรนำเอาความดีทุกประการ ดังที่ปรากฏในกฎศีลธรรม ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติและเรื่องที่ได้รับการเปิดเผย ทั้งที่อยู่ในบัญญัติของพระศาสนจักร และในคำสั่งสอนที่เชื่อถือได้ของผู้มีอำนาจสั่งสอนซึ่งเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ทางศีลธรรมมาใช้พิจารณาด้วย มโนธรรมและวิจารณญานของแต่ละคนไม่ควรมีลักษณะขัดแย้งกับกฎศีลธรรม หรือพระอาจารยานุภาพของพระศาสนจักร” (CCC 2039)
การเชื่อมโยงกับครอบครัว
ความเป็นครอบครัวหนึ่งถูกนำไปเกี่ยวพันกับการศึกษาอบรมด้านศีลธรรมและการเติบโตทางศีลธรรมส่วนบุคคล, คู่สมรสต่อคู่สมรสและพ่อแม่ต่อลูกๆ ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ การช่วยกันและกันให้เป็นบุคคลที่มีศีลธรรมแบบคริสตชน เป็นหนทางที่ดีที่สุดสู่ความสำเร็จสมปรารถนาและความสุขบนแผ่นดินนี้ รวมทั้งความบรมสุขในสวรรค์ จงจำไว้ว่า
เราเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า
ความปรารถนาความสุขเป็นตัวกระตุ้นสำคัญยิ่งสำหรับการเป็นคนมีศีลธรรม
การได้คุณธรรมเป็นสิ่งจำเป็น
ความเชื่อในพระเมตตาของพระเป็นเจ้า และผลการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสต์ปล่อยเราเป็นอิสระจากบาป โดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี
การปลูกฝังมโนธรรมประกอบด้วยการดำเนินชีวิตตามกฎธรรมชาติ และกฎที่ได้รับการเปิดเผย พร้อมกับความเต็มใจรับการแนะนำจากผู้มีอำนาจสอนของพระศาสนจักรเสมอ
ความเชื่อ, การภาวนา และกิจการของพระจิตทำให้ “แอกเบา และภาระหนักเป็นเรื่องที่ง่าย”
วิถีชีวิตที่มีคุณธรรมควรเป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษก่อนเรื่องใดๆ การช่วยกันและกันให้เติบโตในคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการข้ามถนนอย่างปลอดภัย การมีชีวิตในศีลธรรมเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง ที่มีความเบิกบานใจในการเดินทาง และรู้สึกเป็นสุขในความสำเร็จ เรามิได้ดำเนินชีวิตในศีลธรรมด้วยตัวเราเอง พระจิตทรงดำรงชีวิตและทรงช่วยเหลือมากมายเพื่อให้เราประสบผลสำเร็จในการแสวงหาของเรา และทรงกระทำมากกว่าที่เรานึกฝัน เพื่อให้เรามั่นใจในความก้าวหน้าทางศีลธรรมของเรา
1. หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก บอกอะไรคุณเกี่ยวกับการเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเป็นเจ้า? ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในหลักศีลธรรม? ทำไมเราจึงสามารถพูดได้ว่าความปรารถนาความสุขเป็นตัวกระตุ้นที่ดีเยี่ยมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม?
2. คุณมีความคิดเรื่องบาปอย่างไร? คุณจะบรรยายความเกี่ยวพันระหว่างความคิดเรื่องบาปกับพระกรุณาของพระเป็นเจ้า และการช่วยให้รอดพ้นของพระคริสตเจ้าอย่างไร? คุณได้รับประโยชน์จากศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีมากเพียงใด?
3. คุณตรวจสอบมโนธรรมของคุณอย่างไร? คุณได้ทำอะไรบ้างเพื่อปลูกฝังมโนธรรมที่ถูกต้อง? มีกระแสวัฒนธรรมใดบ้างที่บั่นทอนความมีศีลธรรม?
คำภาวนาในครอบครัว
ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก และความกรุณา พระองค์ประทานพระบัญญัติสิบประการที่ภูเขาซีนายแก่เรา เพื่อเป็นสิ่งชี้นำด้านศีลธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตของเรา แล้วความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์จะได้แน่นแฟ้นขึ้นและสมบูรณ์ในที่สุด พระเยซูเจ้าผู้เป็นพระบุตรของพระองค์ประทานบทเทศน์บนภูเขา เพื่อให้เราเข้าใจแนวความคิดเกี่ยวกับกฎใหม่ของพระองค์ ซึ่งมุ่งหมายให้เรามีความคิดที่ถูกต้อง และนำเราสู่ความชื่นชมยินดีบางส่วนในปัจจุบัน และความบรมสุขในสวรรค์ ขอพระองค์ทรงส่งพระจิตมายังครอบครัวของเรา เพื่อนำเราออกห่างจากบาป มุ่งสู่วิถีชีวิตที่มีคุณธรรมซึ่งปรับเปลี่ยนเราให้เป็นเหมือนพระคริสต์ และเตรียมเราสำหรับชีวิตนิรันดรกับพระองค์ เราสรรเสริญพระองค์ สำหรับพระพรอันยิ่งใหญ่นี้ และขอพระองค์โปรดให้เรายังคงตอบรับพระองค์เสมอไปด้วยเถิด
อรรถาธิบายคำ
คุณธรรมแบบมนุษย์(Human Virtues): คุณธรรมแบบมนุษย์ เป็นนิสัยของปัญญาและเจตนาที่จะดูแลพฤติกรรม และควบคุมอารณ์ของเรา
คุณธรรมหลัก(Cardinal Virtues): คุณธรรมหลัก ประกอบด้วยความรอบคอบ, ความยุติธรรม, ความกล้าหาญ และความพอดี คุณธรรมแบบมนุษย์เหล่านี้นำความประพฤติของเราไปตามความเชื่อและวิจารณญาน
คุณธรรมทางเทววิทยา(Theological Virtues): คุณธรรมทางเทววิทยา ประกอบด้วย ความเชื่อ ความหวัง และความรัก เป็นพระพรของพระจิต ซึ่งมุ่งให้เรามีความเชื่อและความหวังในพระเป็นเจ้า พร้อมทั้งความรักที่จะอุทิศตนแด่พระองค์ คุณธรรมทางเทววิทยายกระดับคุณธรรมหลักให้สูงขึ้นและทำให้สมบูรณ์