แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

คริสตวิทยาเรื่องพระวาจา


11.    เมื่อเห็นว่าสิ่งต่างๆที่มีความเป็นอยู่เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพอาศัยพระวาจา เราก็เข้าใจถ้อยคำของผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรูที่ว่า “ในอดีต พระเจ้าตรัสกับบรรพบุรุษของเราโดยทางประกาศกหลายวาระและหลายวิธี ครั้นสมัยนี้เป็นวาระสุดท้าย พระองค์ตรัสกับเราโดยทางพระบุตร พระเจ้าทรงสถาปนาพระบุตรให้เป็นทายาทครอบครองทุกสิ่ง พระองค์ทรงสร้างจักรวาลเดชะพระบุตรนี้” (ฮบ 1:1-2) ช่างงดงามยิ่งเมื่อเห็นว่าพันธสัญญาเดิมทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าทรงใช้สื่อสารกับเราด้วยพระวาจา “พระองค์ทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม (เทียบ ปฐก 25:18) และกับชนชาติอิสราเอลโดยทางโมเสส (เทียบ อพย 24:8) พระองค์ทรงแสดงพระองค์ด้วยพระวาจาและด้วยกิจการให้ประชากรที่ทรงได้มานั้นรู้ว่า ทรงเป็นพระเจ้าแท้และทรงชีวิตเพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ประชากรอิสราเอลมีประสบการณ์รู้ว่าวิธีการที่พระองค์ทรงใช้ปฏิบัติกับมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร และเมื่อพระองค์ตรัสกับพวกเขาด้วยวาจาของบรรดาประกาศก พวกเขาก็ค่อยๆเข้าใจชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงวิธีการของพระเจ้า และบอกให้นานาชาติทราบถึงวิธีการของพระองค์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย (เทียบ สดด 22:27-28; 96:1-3; อสย 2:1-4; ยรม 3:17)”
    การถ่อมพระองค์ลงของพระเจ้านี้สำเร็จไปอย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน เมื่อพระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ พระวาจา(หรือพระวจนาตถ์)นิรันดรที่สำแดงองค์ในการเนรมิตสร้างและทรงสื่อสารกับมนุษย์ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นนี้ ได้มาเป็นมนุษย์ในองค์พระคริสตเจ้า “เกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” (กท 4:4) ที่นี่พระวาจาไม่ได้แสดงองค์เป็นคำพูด ความคิดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ. ที่นี่เราอยู่ต่อหน้าพระบุคคลของพระเยซูเจ้า เรื่องราวพิเศษหนึ่งเดียวของพระองค์คือพระวาจาสุดท้ายที่พระเจ้าตรัสกับมนุษยชาติ เราจึงเข้าใจได้ว่า “การที่ใครคนหนึ่งเข้ามาเป็นคริสตชนนั้น ไม่ใช่เพราะความต้องการทางจริยธรรม หรือเพราะความคิดที่สูงส่ง แต่เพราะเขาได้สัมผัสกับเหตุการณ์หนึ่ง กับบุคคลหนึ่งที่ทำให้เขามีจุดหมายใหม่ของชีวิตและก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจในเวลาเดียวกัน”  การรื้อฟื้นการพบปะและความตระหนักนี้ก่อให้เกิดความพิศวงในใจของผู้มีความเชื่อถึงการริเริ่มจากพระเจ้า ที่มนุษย์ไม่อาจใช้เหตุผลหรือการคิดค้นของตนคาดคิดได้เลยว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะนี่เป็นความใหม่ที่ไม่เคยได้ยิน และเหตุผลของมนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ “พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน 1:14ก) ถ้อยคำเหล่านี้ไม่เป็นเพียงภาพพจน์ที่ไพเราะ แต่สะท้อนประสบการณ์ที่เกิดขึ้น นักบุญยอห์นซึ่งเป็นพยานโดยตรงบอกเราว่า “เราได้เห็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ เป็นพระสิริรุ่งโรจน์ที่ทรงรับจากพระบิดาในฐานะพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริง” (ยน 1:14ข) ความเชื่อของอัครสาวกเป็นพยานยืนยันว่าพระวาจานิรันดรได้มาเป็นเหมือนกับเราคนหนึ่ง พระวาจาของพระเจ้าแสดงออกด้วยวาจาของมนุษย์อย่างแท้จริง     

12.    ธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์และในสมัยกลางที่ไตร่ตรองถึง “คริสตวิทยาเรื่องพระวาจา” นี้ ได้ใช้สำนวนน่าฟังว่า “พระวจนาตถ์ทรงย่อองค์ลง”   “บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรใช้พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมฉบับภาษากรีก ได้พบถ้อยคำของประกาศกอิสยาห์ที่นักบุญเปาโลอ้างถึงด้วย เพื่อแสดงว่าพระเจ้าทรงประกาศหนทางใหม่ล่วงหน้าไว้แล้วในพันธสัญญาเดิม ที่ตรงนั้นเราอ่านว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าจอมจักรวาลจะทรงทำให้พระวาจาสัมฤทธิ์ผลโดยรวดเร็ว’ (เทียบ รม 9:28; อสย 10:23 ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า “(พระองค์ทรง)ทำให้พระวาจา [=แผนการ] สั้นและสำเร็จ”) องค์พระบุตรคือพระวจนาตถ์ พระวจนาตถ์นิรันดรนี้ทรงย่อองค์ลง - เล็กลงจนประทับอยู่ได้ในรางหญ้า พระองค์ทรงกลับเป็นทารก เพื่อเราจะเข้าใจพระวาจา(หรือพระวจนาตถ์)นี้ได้”  บัดนี้เราไม่เพียงแต่ได้ยินพระวาจาได้ พระวาจาไม่เพียงแต่มีเสียงเท่านั้น บัดนี้พระวาจายังมีพระพักตร์ที่เราแลเห็นได้ด้วย คือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ
    เมื่ออ่านเรื่องราวในพระวรสาร เราเห็นได้ว่าพระธรรมชาติมนุษย์ของพระเยซูเจ้าแสดงตนอย่างพิเศษสุดเช่นเดียวกับพระวาจาของพระเจ้าด้วย ในพระธรรมชาติมนุษย์ที่สมบูรณ์ พระองค์ทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาตลอดเวลา  พระเยซูเจ้าทรงฟังพระสุรเสียงของพระบิดาและทรงเชื่อฟังเสียงนั้นอย่างเต็มที่ พระองค์ทรงรู้จักพระบิดาและปฏิบัติตามพระวาจาของพระบิดา (เทียบ ยน 8:55) ทรงเล่าเรื่องพระบิดาให้เราฟัง (ยน 12:50) “พระวาจาที่พระองค์ทรงมอบให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามอบให้เขาแล้ว” (ยน 17:8) ดังนั้นพระเยซูเจ้าจึงแสดงว่าพระองค์คือพระวจนาตถ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงมอบองค์แก่เรา แต่ยังทรงเป็นอาดัมคนใหม่ด้วย เป็นมนุษย์แท้ที่ทุกขณะปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่ทำตามพระทัยของ พระองค์เอง “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุ และพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า และต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52) พระองค์ทรงฟังพระวาจาของพระเจ้าและปฏิบัติตามอย่างดีที่สุด และทรงแบ่งปันทุกสิ่งที่ทรงปฏิบัติให้แก่เราด้วย (เทียบ ลก 5:1)
    ในที่สุด พระภารกิจของพระเยซูเจ้าสำเร็จลงในธรรมล้ำลึกปัสกา ที่ตรงนี้เรากำลังอยู่ต่อหน้า “พระวาจาเรื่องไม้กางเขน” (เทียบ 1 คร 1:18) พระวาจาเงียบไป กลายเป็น “ความเงียบแห่งความตาย” เพราะพระองค์ได้ “ตรัส” จนหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือที่จะต้องสื่อให้เรารับรู้อีก บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้พิเคราะห์พระธรรมล้ำลึกประการนี้ จึงให้พระมารดาของพระเจ้าตรัสว่า “พระวาจา (หรือ ‘พระวจนาตถ์’) ของพระบิดาที่ทำให้สิ่งสร้างพูดได้นั้น ไม่มีคำพูด พระเนตรของพระองค์ดับลงไร้ชีวิต ทั้งๆที่เมื่อพระองค์ตรัสและส่งสัญญาณ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็เคลื่อนไหว”  ที่นี่ความรัก “ยิ่งใหญ่” นั้นที่สละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย (เทียบ ยน 15:13) ได้แบ่งปันตนเองกับพวกเราจริงๆ
    ในธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่นี้ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็น พระวาจาแห่งพันธสัญญาใหม่นิรันดร อิสรภาพของพระเจ้าและของมนุษย์ได้พบกันอย่างสมบูรณ์ในพระกายของพระองค์ที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน เป็นพันธสัญญาที่ดำรงอยู่ตลอดไปไม่มีวันจะยกเลิก เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิทในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ได้ตรัสถึง “พันธสัญญาใหม่อันยืนยง” ในพระโลหิตที่ทรงหลั่ง (เทียบ มธ 26:28; มก 14:24; ลก 22:20) แสดงว่าพระองค์คือลูกแกะบูชายัญแท้จริงที่บันดาลการไถ่กู้ให้รอดพ้นจากการเป็นทาสสำเร็จสมบูรณ์ไป
    ในธรรมล้ำลึกรุ่งโรจน์เรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ ความเงียบนี้ของพระวาจาแสดงออกในความหมายสมบูรณ์อย่างแท้จริง พระคริสตเจ้า พระวจนาตถ์ของพระเจ้า พระวจนาตถ์ที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ ถูกตรึงบนไม้กางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของทุกสิ่ง  ทรงเป็นผู้พิชิต ทรงเป็นผู้ปกครองทุกสิ่ง (Pantocrator) และทรงนำทุกสิ่งให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระองค์ (เทียบ อฟ 1:10) พระคริสตเจ้าจึงทรงเป็น “แสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) เป็นแสงสว่างที่ “ส่องในความมืด” (ยน 1:5) ที่ความมืดไม่อาจกลืนได้ (เทียบ ยน 1:5) เราจึงเข้าใจความหมายของเพลงสดุดีบทที่ 119 ได้อย่างดีที่ว่า “พระวาจาของพระองค์เป็นโคมส่องทางของข้าพเจ้า เป็นแสงสว่างส่องทางเดินให้ข้าพเจ้า” (ข้อ 105) พระวจนาตถ์ที่กลับคืนพระชนมชีพคือแสงสว่างจ้าที่ส่องทางเดินของเราตลอดเวลา ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วบรรดาคริสตชนต่างรู้ตระหนักว่า พระวาจา (หรือ “พระวจนาตถ์”) ของพระเจ้าทรงอยู่เป็นพระบุคคลในองค์พระคริสตเจ้า พระวาจาของพระเจ้าคือแสงสว่างแท้ที่มนุษย์ต้องการ ในการกลับคืนพระชนมชีพนี้เองที่พระบุตรของพระเจ้าทรงปรากฏเป็นแสงสว่างของโลก บัดนี้ โดยมีชีวิตกับพระองค์และในพระองค์ เราจึงมีชีวิตในแสงสว่างได้

13.    ถ้าจะว่าไปแล้ว เมื่อพูดถึงแก่นแท้ของ “คริสตวิทยาเรื่องพระวาจา” ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเน้นถึงเอกภาพของแผนการของพระเจ้าในองค์พระวจนาตถ์ที่รับธรรมชาติมนุษย์ พันธสัญญาใหม่จึงบอกเราว่า ธรรมล้ำลึกปัสกาสัมพันธ์กับพระคัมภีร์ในฐานะที่ทำให้พระคัมภีร์บรรลุถึงความบริบูรณ์ที่สุด. ในจดหมายถึงชาวโครินธ์ฉบับที่หนึ่ง นักบุญเปาโลกล่าวว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา “ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (15:3) และทรงกลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม “ตามความในพระคัมภีร์” (15:4) ดังนั้นท่านอัครสาวกจึงเปรียบเทียบเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า กับเรื่องราวที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญาเดิมกับประชากรของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงเปิดเผยให้เรารู้อีกว่าเรื่องนี้ทำให้ประวัติศาสตร์มีเหตุผลและความหมายแท้จริงของตน “ถ้อยคำของพระคัมภีร์”สำเร็จบริบูรณ์ในธรรมล้ำลึกปัสกา นั่นคือ การสิ้นพระชนม์นี้เกิดขึ้น ตามความในพระคัมภีร์ เป็นเหตุการณ์ที่มี พระวจนาตถ์อยู่ด้วย นั่นคือมีเหตุผลของตน การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นพยานยืนยันว่าพระวาจา (หรือพระวจนาตถ์) ของพระเจ้าได้รับ“ธรรมชาติมนุษย์” กลายเป็น“ประวัติศาสตร์”ของมนุษย์โดยแท้จริง  การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้ายังเกิดขึ้น “ในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์” ด้วย เพราะชาวยิวเชื่อว่าร่างกายย่อมเริ่มเสื่อมสลายในวันที่สาม พระวาจาในพระคัมภีร์จึงสำเร็จไปในองค์พระเยซูเจ้าซึ่งทรงกลับคืนพระชนมชีพก่อนที่พระกายจะเริ่มเสื่อมสลาย นักบุญเปาโลซึ่งถ่ายทอดคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวก (เทียบ 1 คร 15:3) จึงกล่าวยืนยันอย่างเปิดเผยว่าชัยชนะของพระคริสตเจ้าเหนือความตายเกิดขึ้นจากพระอานุภาพพระวาจาของพระเจ้า พระอานุภาพของพระเจ้านี้นำความหวังและความยินดีมาให้ นี่คือสาระของการเปิดเผยธรรมล้ำลึกปัสกาซึ่งนำความรอดพ้นมาให้มนุษยชาติ ในวันปัสกาพระเจ้าผู้ทรงลบล้างอำนาจของความชั่วและความตาย ทรงเปิดเผยพระองค์และพระอานุภาพแห่งความรักของพระตรีเอกภาพให้แก่เรา
    เมื่อระลึกถึงข้อคำสอนสำคัญของความเชื่อที่เรามี เราจะเห็นเอกภาพที่ลึกซึ้งระหว่างการเนรมิตสร้างกับการไถ่กู้ซึ่งเป็นเสมือนการเนรมิตสร้างขึ้นใหม่ และเป็นประวัติศาสตร์ความรอดพ้นซึ่งพระคริสตเจ้าทรงนำมาให้ได้ด้วย เราอาจใช้ตัวอย่างที่กาลิเลโอกาลิเลอีเคยใช้ เขาเปรียบสารพัดสิ่งสร้างว่าเป็นเสมือน “หนังสือ” เล่มหนึ่งซึ่งผู้แต่งแสดงตนให้ปรากฏในสิ่งสร้างทั้งปวง - หรืออาจเปรียบได้กับบทเพลง “ซิมโฟนี” บทหนึ่ง ซึ่งใน “ซิมโฟนี” บทนี้บางทีเราจะพบ “การบรรเลงเดี่ยว” (หรือ “โซโล”) ของเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งหรือเสียงของนักร้องคนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญที่รวบรวมความหมายของผลงานชิ้นนี้ไว้ทั้งหมด ผู้บรรเลง “โซโล” ผู้นี้ก็คือพระเยซูเจ้า... พระองค์คือบุตรแห่งมนุษย์ซึ่งรวมสวรรค์และแผ่นดิน สิ่งสร้างและพระผู้สร้าง ร่างกายและจิตไว้ด้วยกันในพระองค์ พระองค์ยังทรงเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและประวัติศาสตร์ เพราะในพระองค์พระผู้สร้างและสิ่งสร้างรวมกันอยู่อย่างมีระเบียบไม่สับสน”