มิติอันตกาลแห่งพระวาจาของพระเจ้า
14. จากที่กล่าวมานี้ทั้งหมด พระศาสนจักรแสดงความตระหนักว่า พร้อมกับพระเยซูคริสตเจ้าตนกำลังอยู่ต่อหน้าพระวาจาสุดท้ายของพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นทั้ง “เบื้องตนและบั้นปลาย” (วว 1:17) พระองค์ทรงให้ความหมายสุดท้ายแก่สิ่งสร้างและประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราจึงได้รับเรียกให้มีชีวิตอยู่ในกาลเวลา และเป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าในจำนวนประชากรยุคสุดท้ายของพระวาจา “ดังนั้นแผนการความรอดพ้นในพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นพันธสัญญาใหม่และเด็ดขาดนี้จะไม่ผ่านพ้นไปเลย และเราไม่ต้องรอคอยการเผยอะไรใหม่ให้กับมนุษย์ทั้งหลายอีกต่อไปก่อนจะถึงการปรากฏองค์อย่างรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา (เทียบ 1 ทธ 6:14; และ ทต 2:13)” ในช่วงเวลาแห่งสมัชชาบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจึงเน้นว่า “ลักษณะพิเศษของคริสตศาสนาแสดงให้เห็นชัดในพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งในเวลาเดียวกันทรงปรากฏมาเป็นจุดยอดแห่งการเปิดเผยความจริง ทรงทำให้พระสัญญาของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง ทรงเป็นคนกลางให้มนุษย์พบกับพระเจ้าได้ พระองค์ผู้ทรงเปิดเผยพระเจ้าให้เรารู้จัก (เทียบ ยน 1:18) คือพระวาจาหนึ่งเดียวและสุดท้ายที่พระเจ้าทรงมอบแก่มนุษย์” นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขนกล่าวความจริงเรื่องนี้อย่างน่าฟังว่า “เมื่อพระบิดาประทานพระบุตรซึ่งเป็นพระวาจาหนึ่งเดียวของพระองค์ให้เรา (เพราะพระองค์ไม่มีพระวาจาอื่นอีกแล้ว) ดังที่ได้ประทานแล้วนี้ พระองค์ตรัสและทรงเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมกันให้แก่เราด้วยพระวาจานี้ และไม่มีอะไรเหลือที่จะต้องตรัสอีก..... พระองค์ทรงเคยตรัสอะไรไว้บ้างโดยทางประกาศก บัดนี้พระองค์ตรัสและทรงเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างเพียงครั้งเดียวโดยพระวาจาเดียว พระองค์ประทานทุกสิ่ง คือพระบุตรของพระองค์ ให้แก่เรา ดังนั้นผู้ที่ยังอยากซักถามสิ่งใดจากพระเจ้า อยากขอนิมิตหรือการเปิดเผยใดๆจากพระองค์อีก ย่อมไม่เพียงแสดงความโง่ออกมาเท่านั้น แต่ยังทำผิดต่อพระองค์ที่ไม่ได้ปักตามองดูพระคริสตเจ้า แต่ไปแสวงหาสิ่งใดอื่นใหม่ๆนอกเหนือไปจากพระองค์”
เพราะฉะนั้นสมัชชาจึงเตือน “ให้ผู้มีความเชื่อได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อรู้จักแยกแยะพระวาจาของพระเจ้าจากการเปิดเผยส่วนตัวได้อย่างถูกต้อง” บทบาทของการเปิดเผยส่วนตัว...ไม่ใช่เพื่อทำให้การเปิดเผยขั้นสุดท้ายในพระคริสตเจ้า ‘สมบูรณ์’ แต่เพื่อช่วยให้การเปิดเผยในพระคริสตเจ้าในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ ถูกนำมาปฏิบัติในชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น” คุณค่าของการเปิดเผยส่วนตัวแตกต่างกันมากกับคุณค่าของการเปิดเผยทางการ – การเปิดเผยทางการเรียกร้องให้เราเชื่อ ในการเปิดเผยนี้พระเจ้าตรัสกับเราโดยใช้คำพูดของมนุษย์โดยใช้ชุมชนพระศาสนจักรที่มีชีวิต แต่มาตรการตัดสินว่าการเปิดเผยส่วนตัวใดเป็นการเปิดเผยจริงหรือไม่ก็คือ การเปิดเผยนั้นมุ่งถึงพระคริสตเจ้าหรือไม่ ถ้าการเปิดเผยนี้นำเราออกไปจากพระคริสตเจ้า การเปิดเผยนี้ก็ไม่มาจากพระจิตเจ้าแน่ๆ เพราะพระจิตเจ้าทรงนำเราเข้าหาพระวรสาร ไม่ใช่นำออกไปจากพระวรสาร การเปิดเผยส่วนตัวช่วยเหลือความเชื่อนี้และเป็นที่น่าเชื่อถือได้ก็เมื่อนำเรากลับไปหาการเปิดเผยทางการ ดังนั้นการที่พระศาสนจักรรับรองการเปิดเผยส่วนตัวจึงมีสาระสำคัญเพื่อแสดงว่า สาระของการเปิดเผยเช่นนี้ไม่มีสิ่งใดที่ขัดกับความเชื่อและศีลธรรม อนุญาตให้เผยแผ่และผู้มีความเชื่ออาจเห็นพ้องด้วยได้โดยใช้ความรอบคอบ การเปิดเผยส่วนตัวบางครั้งอาจเน้นความจริงบางประการ อาจส่งเสริมความศรัทธาในรูปแบบใหม่ๆ หรือตอกย้ำความศรัทธาที่มีอยู่แล้ว บางครั้งการเปิดเผยเช่นนี้อาจมีรูปแบบของการประกาศพระวาจาก็ได้ (เทียบ 1 ธส 5:19-21) และอาจนำความช่วยเหลือที่มีค่าให้เข้าใจและปฏิบัติตามพระวรสารดียิ่งขึ้นในสมัยปัจจุบันได้ เพราะฉะนั้นการเปิดเผยส่วนตัวจึงต้องไม่ถูกละเลยเสียทีเดียว การเปิดเผยส่วนตัวเช่นนี้อาจช่วยเหลือได้บ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร การเปิดเผยส่วนตัวจะต้องเป็นการหล่อเลี้ยงส่งเสริมความเชื่อ ความหวังและความรัก ซึ่งเป็นหนทางถาวรสำหรับทุกคนเพื่อบรรลุถึงความรอดพ้น