แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

1. ผู้หว่าน (มธ 13:1-9; 18-23 เทียบ  มก 4:3-9  และ 8:5-8)
คำอธิบาย
ในบทที่ 13 นี้  มัทธิวรวบรวมเรื่องเปรียบเทียบของพระองค์ทั้ง 7 เรื่องเข้าไว้ด้วยกัน เราไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเล่าเรื่องเปรียบเทียบทั้ง 7 เรื่องนี้ในโอกาสเดียวกัน 
ในวันนั้น เขาไม่ทราบว่าเป็นวันไหนแน่  คงจะเป็นระหว่างปีที่ 2ที่พระองค์ออกเทศนาสั่งสอนฝูงชนที่ติดตามพระองค์  ส่วนชาวฟาริสียิ่งทียิ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระองค์  เพราะฉะนั้น จำเป็นที่พระองค์จะต้องอธิบายว่าอาณาจักรที่พระองค์กำลังสถาปนาขึ้นนั้นเป็นอะไรกันแน่

เสด็จออกจากบ้าน   คงจะเป็นบ้านของนักบุญเปโตรที่เมืองคาเปอร์นาอุม  ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมของพระองค์ในแคว้นกาลิลี
พระองค์จึงเสด็จประทับบนเรือ เมืองคาเปอร์นาอุมตั้งอยู่บนฝั่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี  ในขณะนั้นมีฝูงชนมากมายต่างก็เบียดเสียดอยากฟังพระวาจาของพระองค์ใกล้ๆ พระองค์จึงต้องเลือกหาที่เหมาะๆ เพื่อประชาชนจะได้เห็นและได้ฟัง พระองค์จึงประทับในเรือซึ่งจอดอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งเท่าไรนัก
ชายคนหนึ่งออกไปหว่านเมล็ดพืช โดยปกติเรื่องเปรียบเทียบที่พระองค์เล่ามักจะเล่ามาจากเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของชาวยิว  อาจเป็นไปได้ที่พระองค์เห็นกำลังหว่านข้าว  แล้วพระองค์ก็เล่าเรื่องเปรียบเทียบให้พวกเขาฟัง  ที่จริงตามริมทะเลสาปก็มีพื้นดินดี  และอาจใช้ทำนาปลูกข้าวสาลีได้  แต่โดยทั่วไป  แผ่นดินส่วนใหญ่ในปาเลสไตน์เป็นดินที่มีหินปนอยู่มาก  ผิวดินก็ไม่หนา  และหลายๆ แห่งมักจะมีหญ้าหนามขึ้น มีทางเดินแคบๆ ผ่านไปตามท้องทุ่ง
ขณะที่เขากำลังหว่าน ชาวนาใช้ผ้ากระสอบหรือผ้าหยาบๆ คาดเอว  ใช้มือซ้ายรวบชายผ้าข้างล่างทั้งสองขึ้น และใส่เมล็ดข้าวในนั้น ขณะที่เดินไปเขาก็หว่านเมล็ดข้าวไปทางขวาและซ้าย ข้างละประมาณ 1 เมตร (ปกติในปาเลสไตน์  ชาวนาหว่านข้าวหลังจากเริ่มฤดูฝน  ซึ่งเริ่มในเดือนพฤศจิกายน)
บางเมล็ดตกอยู่ริมทางเดิน บางทีเราอาจจะคิดว่าผู้หว่านซุ่มซ่ามไม่หว่านดีๆ ทำให้เสียข้าวโดยไร้ประโยชน์ แต่ขอให้เราเข้าใจว่าในปาเลสไตน์นั้นเขาหว่านก่อนไถ  ไม่เหมือนกับทางบ้านเรา  เขาหว่านแล้วไถกลบและแน่นจนเขาต้องไถทางเดินด้วย  แต่เมล็ดเหล่านี้ไม่สู้จะงอก ก็เพราะถูกคนผ่านไปผ่านมาเหยียบ หรือเพราะถูกนกจิกกินเสีย
บางเมล็ดตกบนพื้นหินที่มีดินเล็กน้อย หน้าพื้นดินในปาเลสไตน์บางแห่งบางมาก  มีหินอยู่ข้างล่าง เนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์และจากก้อนหิน มันงอกขึ้นมาทันที  แต่ไม่ช้าก็เฉาไปเพราะขาดความชุ่มชื้น  และไม่สามารถที่จะหยั่งรากได้
บางเมล็ดตกลงในพงหนาม ให้เราคิดว่าเขาหว่านข้าวลงไปในกอหนามนี้ที่เหี่ยวแห้ง  หรือมิฉะนั้นก็ในที่ที่มีซากกอหนามอยู่หนาแน่น  เมื่อเขาไถก็ยังไม่สามารถจะเอารากมันขึ้นมาได้  ภายหลังทั้งข้าวและกอหนามก็โตขึ้นพร้อมกัน  แต่กอหนามนั้นแข็งแรงกว่า  ก็แย่งน้ำเลี้ยงและอากาศและแสงแดด  ต้นข้าวอ่อนๆ สู้ไม่ได้ก็เฉาไป
บางเมล็ดตกในที่ดินดี แน่นอนต้นข้าวก็เจริญงอกงามและแข็งแรง และให้ผล 30 เท่าบ้าง 60 เท่าบ้าง และ 100  เท่าบ้าง (ดินดีหมายถึงผิวดินหนามาก เก็บสะอาด ไม่มีรากหญ้าหนาม ดินอ่อน  ร่วน  มีปุ๋ยและความชุ่มชื้น)
ใครมีหู ก็จงฟังเถิด พระองค์ทรงทราบว่าผู้ฟังบางคนมีใจแข็งกระด้างเพราะความจองหอง หรือเพราะไม่ยินดียินร้ายในเรื่องศาสนา  แต่พระองค์ก็ได้ทำหน้าที่ของพระองค์แล้ว  เป็นหน้าที่ของชาวยิวที่จะต้องพิจารณาและพยายามเข้าใจความหมายที่พระองค์สั่งสอน
เพราะฉะนั้น จงฟังความหมายของอุปมา เราโชคดีที่อัครสาวกขอให้พระองค์ทรงอธิบายเรื่องเปรียบเทียบนี้  เพื่อเราจะได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง  และเพื่อจะได้ใช้เป็นตัวอย่างในการเข้าใจคำเปรียบเทียบเรื่องอื่นๆ ของพระองค์
พระวาจาเกี่ยวกับอาณาจักร เมล็ดพืชที่ผู้หว่านหว่านนั้นคือพระวรสาร (ข่าวดีที่นำความรอดให้แก่เรา) ที่พระเยซูเจ้าทรงนำมามอบให้แก่มนุษย์ทุกคน 
พระองค์เองเป็นผู้หว่านที่สำคัญ  ภายหลังอัครสาวก และผู้สืบตำแหน่งอัครสาวกในพระศาสนจักรก็เป็นผู้หว่านด้วย
เมล็ดที่ตกริมทาง คนที่รู้สึกเฉยๆ ต่อเรื่องที่เกี่ยวกับวิญญาณ  คนนี้เอาใจใส่แต่ของฝ่ายโลก  แม้เขาจะฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้าเพราะความมักรู้มักเห็นหรือเพราะอคติเพื่อจับผิด ฯลฯ  เขาจะไม่รู้จักค่าของมัน
มารร้าย ปีศาจไม่รู้จักว่าลำบากอย่างไร  ในการที่จะให้เขาลืมพระวาจานั้น เหมือนกับนกที่บินผ่านมาและจิกเมล็ดบนข้างทางเสีย
เมล็ดที่ตกบนพื้นหินที่มีดินเล็กน้อย คำอธิบายของพระองค์ชัดเจนดีอยู่แล้ว  พระองค์หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติศาสนาอย่างผิวเผิน  ศาสนาไม่ได้ฝังรากลึกอยู่ในตัวเขา เขาอาจจะรู้คำสอนบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ลืมไปทีละเล็กละน้อย  เขาไม่รู้แจ้งเห็นจริงในคำสอน  และไม่ได้ปฏิบัติศาสนาอย่างจริงจัง พอถูกเบียดเบียนข่มเหงหรือขาดผลประโยชน์ส่วนตัว  เขาก็เริ่มลังเลใจแล้ว  และเขาจะทิ้งคำสอนของพระองค์ง่ายๆ เขาต้องการเป็นคริสตังเฉพาะเมื่อคอยเขาอยู่บนภูเขาทาบอร์  ไม่ใช่บนภูเขากัลวารีโอ  เขาต้องการมงกุฎโดยไม่ต้องการกางเขน
เมล็ดที่ตกในพงหนาม ขึ้นดีกว่าพวกที่ตกตามทางและตามดินหินเล็กน้อย  แต่ที่สุดก็อับเฉาอีกเหมือนกัน เพราะความกังวลฝ่ายโลกและความผูกพันกับทรัพย์สมบัติ เขาเชื่อในพระวาจาของพระเยซูเจ้า  เขารู้จักคุณค่าของมัน เขาอยากติดตามพระองค์ และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เหมือนกัน  แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่สามารถจะละทิ้งโลกได้ เขาจับคันไถแล้ว แต่ยังเหลียวหลัง (เศรษฐีหนุ่ม) เขาต้องการความสุขสบายในโลกนี้ และความสุขในโลกหน้าด้วย เขาต้องการรับใช้นายสองคน  แต่พระเยซูเจ้าเคยตรัสไว้ว่า เจ้าจะรับใช้พระเป็นเจ้าและเงินทองในเวลาเดียวกันไม่ได้ (มธ 6:24) ความจริง ทรัพย์สมบัติเป็นพระพรของพระ  (เป็นต้นในพันธสัญญาเดิม) พระองค์ไม่เคยต่อต้านคนรวย  แต่พระองค์ต้องการประณามวิธีใช้เงินทองในทางที่ผิด  แต่ถ้าเขาใช้อย่างดีและถูกต้องก็เป็นโอกาสให้เขาได้ใกล้ชิดพระองค์  (เช่น  ทำบุญทำทานช่วยเหลือคนยากจน ฯลฯ)
บางเมล็ดตกในที่ดินดี ก็เจริญเติบโตงอกงามและผลิตผลมาก  เปรียบเหมือนวิญญาณที่เตรียมพร้อมที่จะรับพระโอวาทของพระเป็นเจ้า  และปฏิบัติตามด้วยใจเสียสละ  ด้วยความยินดี  และด้วยความพากเพียร  (เทียบ  ลก 8:15) เขาพร้อมจะร่วมมือกับพระเป็นเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง  นี่แหละเขาเข้าใจพระวาจา  เขาต้อนรับพระวาจา
  คำสอน
เราอาจประยุกต์อุปมานี้กับคนสองจำพวก  คือ
ก. ผู้ฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า
ข. ผู้ประกาศพระวาจาพระเป็นเจ้า
ก. ถ้าหากเราประยุกต์อุปมานี้กับผู้ฟังพระวาจาของพระเยซูเจ้า  เราจะเห็นว่าพระองค์ต้องการเตือนผู้ฟัง  และผู้ฟังนั้นอาจจะฟังพระวาจาของพระองค์ในแบบต่างๆ กัน  และผลที่ได้รับก็ย่อมแตกต่างกันด้วย  พูดง่ายๆ ก็คือ  ผลนั้นขึ้นอยู่กับผู้ฟัง (เรื่องจะขำขึ้นอยู่กับว่าเราเล่าให้ใครฟัง  ถ้าหากผู้ฟังมีอารมณ์ไม่ดีหรือไม่เคยยิ้มเลย  เรื่องก็ไม่ขำ  แต่เมื่อเขาเล่าให้คนที่มีอารมณ์ขันและพร้อมที่จะหัวเราะหรือยิ้ม เรื่องก็ขำ)
ในอุปมานั้นผู้ฟังเป็นใครนัก
พวกแรกคือ  พวกที่ปิดประตูไม่ยอมรับความจริงเลย  เป็นต้นทางด้านวิญญาณ เพราะฉะนั้น คำพูดใดๆ ก็ตามไม่สามารถผ่านเข้าไปในความนึกคิดของเขา  คล้ายๆ กับเมล็ดข้าวที่ตกลงบนทางเท้าที่แข็ง  เพราะถูกคนเหยียบย่ำและข้าวไม่สามารถหยั่งรากได้  เพราะใจแข็ง  สาเหตุมีอยู่หลายประการ  เช่น
อคติ  ซึ่งทำให้มนุษย์เราตาบอด  และไม่อยากเห็นความจริง  และไม่ยอมรับความจริง  ซึ่งมีสาเหตุมาจากความจองหองก็ได้ (นาธานาแอล  บาร์โธโลมิว) “นาซาเร็ธจะมีอะไรดีเล่า” ตอบฟิลิป  เมื่อฟิลิปบอกว่าได้พบพระเมสสิยาห์แล้ว คือพระเยซูเจ้า ชาวนาซาเร็ธ  (ยน 1:45-46) ซึ่งไม่ยอมรู้สิ่งที่ควรจะต้องรู้  หรืออาจจะเกิดมาจากความกลัวของใหม่  และไม่อยากคิดถึงเรื่องใหม่ๆ เพราะกลัวว่าตัวจะต้องเปลี่ยนความคิดเก่าๆ หรืออาจจะเกิดจากความประพฤติไม่ดีของเราก็ได้  เมื่อได้ยินคำเทศน์ คำตักเตือนก็ไม่อยากฟัง
พวกที่สอง  คือ  พวกที่ไม่คิดอะไรจริงๆ จังๆ เป็นคนคิดตื้นๆ ผิวเผิน คล้ายๆ กับเมล็ดข้าวที่ร่วงบนดินที่ไม่ลึกอะไร เขาพร้อมที่จะฟังพระวาจา แต่เมื่อฟังแล้วก็ไม่ได้เก็บมาคิดไตร่ตรองหาความจริง  จากนั้นเขามักจะชอบเปลี่ยนง่าย เรื่อยๆ ทำโน่นทำนี่ประเดี๋ยวเดียวก็เบื่อ  และก็อยากเปลี่ยนงานเรื่อยๆ เขาทำงานจับจด  เขาเริ่มแต่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่าง เพราะไม่กล้าสู้อุปสรรค
พวกที่สาม  คือ  พวกที่มีความสนใจและฝักใฝ่แต่ของฝ่ายโลก  จนกระทั่งลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด  เพราะปล่อยให้ความชุลมุนวุ่นวายครอบงำสิ่งที่สำคัญเสีย  เหมือนกับเมล็ดข้าวที่งอกขึ้นในกอหนาม
นี่แหละเป็นสภาพชีวิตในปัจจุบัน  ชีวิตที่วุ่นวายสับสน เขาไม่มีเวลาที่จะภาวนาหรือเรียนคำสอน  หรือหาความรู้ทางด้านศาสนา  เพราะเขาต้องติดธุระหลายอย่าง ต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว  ถ้าหากเขาอยู่ในโลก  ถ้าหากเขาเป็นนักบวช เขาจะแก้ตัวว่าเขาต้องทำงานสารพัด  อย่างเช่น  แปลคำสอน  ประชุม  ติดต่อกับคนภายนอก  จัดงานโน่นงานนี่  ที่สุดเขาจะไม่มีเวลาภาวนา  หรือรำพึง  หรือทำกิจศรัทธาที่จำเป็นสำหรับชีวิตฝ่ายวิญญาณของเขา
ขอให้เราสังเกตด้วยว่า  ไม่ใช่อะไรที่เลว  หรือไม่ดีดอกที่เป็นภัย  แต่หลายๆ ครั้ง  สิ่งดีๆนั่นแหละอันตรายยิ่ง  (การแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกิจการภายนอกเป็นสิ่งที่ดีงาม น่าชม  แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากเราหาเวลาภาวนา  หรือทำกิจศรัทธาไม่ได้  และเป็นเช่นนี้ทุกวัน)
พวกที่สี่  เปรียบเหมือนเมล็ดข้าวที่ตกอยู่บนพื้นที่ดีอุดมสมบูรณ์  จิตใจของเขาพร้อมที่จะรับความจริงอยู่เสมอ เขาพร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน  พร้อมที่จะฟัง เป็นต้นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา  เขาจะไม่จองหองคิดว่าตัวเองรู้สารพัด เขาจะพยายามหาเวลาเพื่อเอาใจใส่ชีวิตฝ่ายวิญญาณของเขา และพร้อมที่จะพยายามเข้าใจคำพูดที่ฉลาดหรือคำสอนของผู้อื่น  โดยพยายามหาเหตุผล  เพื่อให้เกิดความจริงที่เขาเข้าใจและเห็นชัดแล้ว  คนชนิดนี้จะเก็บผลประโยชน์มากมายจากพระวาจาของพระเป็นเจ้า

ข. ถ้าหากเราประยุกต์อุปมากับผู้ประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้า  กล่าวคือกับพวกอัครสาวกและสานุศิษย์ของพระเยซูเจ้า  เราจะพบว่าพระเยซูเจ้ามีพระประสงค์จะให้กำลังใจพวกเขา  อย่าให้เขาต้องท้อแท้ใจในการประกาศพระวาจา สำหรับอัครสาวก  พระเยซูเจ้าเป็นสาร เป็นผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด  เป็นผู้ที่น่าพิศวงที่สุด  แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง  พวกพระสงฆ์และพวกคัมภี-ราจารย์เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์ หาทางจะกำจัดพระองค์เมื่อสบโอกาส  เป็นความจริงที่ประชาชนเป็นอันมากมาฟังพระวาจาของพระองค์  แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับใจหรือเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตให้ใกล้ชิดกับพระมากยิ่งขึ้น หลายๆ คนติดตามพระองค์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว  เช่น  เพื่อให้พระองค์รักษาพวกเขาให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บและอำนาจของปีศาจ และเมื่อได้รับพระคุณแล้วก็ลืมพระองค์เลย พวกเรารู้สึกว่ายิ่งทีพระองค์ยิ่งสร้างศัตรูมากขึ้น  และพวกเขารู้สึกผิดหวังมาก (ศิษย์ที่ไปเอมมาอุส)
แต่พระองค์ต้องการเตือนพวกเขาในการเล่าอุปมาว่าไม่ต้องกลัว  เพราะการประกาศพระวาจานั้นจะเกิดผลแน่นอน แม้จะมีอุปสรรคจากชาวฟาริสี  จะมีเมล็ดข้าวที่จะตกลงในเนื้อดินดี  และจะให้ผลอย่างอุดมสมบูรณ์  แม้จะต้องสูญเสียเมล็ดข้าวที่ตกลงตามข้างทางบ้าง  ในที่มีดินน้อยหรือในกอหนามบ้างก็ตาม  ไม่มีชาวนาคนไหนดอกที่คิดว่าตัวจะได้รับผลประโยชน์จากเมล็ดข้าวทุกเมล็ดที่หว่านลงไป  แต่ถึงกระนั้นเขาก็คงหว่านอยู่ดี  ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาจะไม่ได้รับผลเต็มหน่วย  แต่เขาก็หวังว่าจะได้รับผลประโยชน์บ้างอย่างแน่นอน  ไม่มีพ่อค้าคนไหนที่คิดว่าถ้าหากไม่ได้กำไรมากๆ เขาก็ไม่ค้าขาย ทุกคนคิดว่าขอให้มีกำไรเถอะ น้อยหรือมากก็ช่าง เขาจะลงมือค้าขายอยู่เอง  ยิ่งกว่านั้นแม้เขาจะต้องเสี่ยงบ้าง เขาก็ยอมเสี่ยงด้วย
อนึ่ง ในการประกาศพระวาจานั้น  ส่วนใหญ่เราไม่เห็นผลและเราไม่สามารถตามผลได้  หลายครั้งเราทำความดีโดยไม่รู้ตัว  ไม่ว่าด้วยวาจาหรือกิจการของเรา  บางคนเปลี่ยนแนวทางชีวิตเพราะเห็นตัวอย่างหรือได้ยินคำพูดของเรา  แต่เราไม่เคยทราบ
ที่สุด  เมื่อชาวนาหว่านเมล็ดข้าว  เขาไม่ได้หวังผลทันที  เขาต้องรอเป็นเวลาหลายเดือนกว่าข้าวจะเจริญเติบโตจนออกรวงได้  เช่นเดียวกัน  คำเทศน์ของเราใช่ว่าจะบังเกิดผลในจิตใจผู้ฟังทันทีทันใด  หลายๆ ครั้ง  เราเคยอบรมสั่งสอนเด็ก  แต่ว่ากว่าจะเห็นผลบางทีเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว
เรามักจะใจร้อน  เมื่อทำอะไรแล้วอยากเห็นผลเร็วๆ พอไม่เห็นผลเราก็ท้อแท้ใจ  แต่พระอาจารย์ของเราสอนให้เรารอคอยด้วยความพากเพียร  บางคนพอเริ่มฝึกหัดฤทธิ์กุศล  ก็อยากจะให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์เร็วๆ ครั้นเห็นว่าตัวยังมีข้อบกพร่องและไม่สู้ก้าวหน้าเท่าไร  ก็ท้อถอยหมดกำลังใจ

มธ 13:1-9
1. อุปมานี้ยังสอนด้วยว่าไม่ใช่คนที่อยู่นอกพระ-ศาสนจักรเท่านั้นที่เอาตัวรอดได้ยาก  แม้แต่คนที่อยู่ในพระศาสนจักร  แม้คนที่ฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า  ถ้าหากไม่ประพฤติตามก็ไม่อาจเอาตัวรอดได้ (เมล็ดที่ตกข้างทาง ตกบนดินน้อย  และบนกอหนาม) “คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้นมิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้” (มธ 7:21)
2. มธ 13:10 (Garofals) ปกติจุดประสงค์ของการเล่าอุปมา  เพื่อยกตัวอย่างและอธิบายให้เห็นแล้ว  เช่น (ลก 10:25-37 - ชาวสะมาเรียผู้ใจดี) แต่ในที่นี้พระองค์เล่าอุปมาที่ไม่มีใครเข้าใจเท่าไร  ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ก. การพูดถึงอาณาจักรพระเจ้าในแคว้นกาลิลี  เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  ต้องใช้ความระมัดระวังมาก  เพราะอาจจะเป็นการยุยงชาวกาลิลีที่มีเลือดรักชาติให้ก่อการกบฏขึ้นได้  เพราะเขาต้องการสลัดแอกจากชาวโรมัน และเขาอาจเข้าใจว่า เวลาที่อาณาจักรพระเจ้ามาถึงแล้ว อาณาจักรสวรรค์ทางโลกจะล่มสลายไป
ข. แต่พระองค์ก็ยังอยากพูดถึงเรื่องอาณาจักรสวรรค์  เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  จุดประสงค์ของการเสด็จมาของพระองค์ก็เพื่อประกาศอาณาจักรสวรรค์นั่นเอง
ผู้ฟังที่อยากเข้าใจ เนื่องจากอุปมามีใจความคลุมเครือก็เข้ามาหาให้พระองค์อธิบาย  ส่วนพวกที่ไม่สนใจก็จากพระองค์ไปโดยที่ไม่เข้าใจเท่าไร  หรืออาจจะเข้าใจผิด  พวกเขาขาดความสุภาพ
3. อาณาจักรสวรรค์ของพระเป็นเจ้าเน้นเรื่องที่สำคัญที่สุด (Central Themes) ในอุปมาอาณาจักรสวรรค์จะมาถึง (พระเป็นเจ้าจะครอบครองดวงใจมนุษย์) แม้จะมีอุปสรรคใดๆ ก็ตาม  แต่ก็เปรียบเทียบผลการเก็บเกี่ยวอย่างแน่นอน    แม้ว่าจะมีอุปสรรคเนื้อดินชนิดต่างๆ