1. การเตรียมพร้อมเมื่อนายกลับมา
(ลก 12:35-38)
คำอธิบาย
ในอุปมาเรื่องเศรษฐีที่โง่เขลา พระเยซูเจ้าทรงมีพระประสงค์จะสอนเราว่า ช่างเป็นการโฉดเขลาเบาปัญญาจริงๆ ที่เศรษฐีผู้นั้นได้สละทั้งกำลังกายและทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อแสวงหาทรัพย์สมบัติฝ่ายโลก แต่ไม่ได้สนใจที่จะสะสมทรัพย์สมบัติฝ่ายสวรรค์ พระเยซูเจ้าได้ทรงตักเตือนผู้ที่สมัครใจติดตามพระองค์ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากังวลถึงชีวิตของท่านว่าจะกินอะไร อย่ากังวลถึงร่างกายของท่านว่าจะนุ่งห่มอะไร ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอาหาร และร่างกายย่อมสำคัญกว่าเครื่องนุ่งห่ม” (ลก 12:22-23)
หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงเล่าอุปมาอีกสามเรื่องเพื่อชี้ให้บรรดาสานุศิษย์เห็นความจำเป็นในการตื่นเฝ้าระมัดระวัง เพื่อว่าเขาจะได้เตรียมพร้อมในวันพิพากษา เนื่องจากอุปมาทั้งสองเรื่องแรกนี้ สอนเรื่องเดียวกัน เราจะศึกษาทั้งสองบทควบคู่กันไป
จงคาดสะเอว เสื้อผ้าที่ชาวยิวทั้งชายหญิงสวมใส่สมัยพระเยซูเจ้า และแม้กระทั่งสมัยนี้ เราก็ยังพบที่ประเทศปาเลสไตน์ และประเทศอาหรับว่าเป็นเสื้อยาวจรดพื้น และปล่อยไว้รุ่มร่าม ถ้าหากเขาต้องการทำงานหรือออกเดินทาง เขาก็ถลกชายเสื้อขึ้นมาผูกไว้รอบเอว และใช้เข็มขัดคาดอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ทะมัดทะแมงและไม่รุ่มร่ามในการทำงานหรือออกเดินทาง แต่ถ้าหากเขาอยู่ในบ้านและไม่ได้ทำอะไร เขาก็ปล่อยชายเสื้อตามสบายและไม่ได้คาดเข็มขัด เพราะฉะนั้น ความหมายของคำสั่งก็คือ “ให้เตรียมพร้อมที่จะทำงานเสมอ”
จุดตะเกียงเตรียมพร้อมไว้ สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านต้องใช้ตะเกียงจุดเพื่อให้มีแสงสว่าง ปกติเป็นตะเกียงเล็กๆ ใช้น้ำมันพืช ไส้ตะเกียงทำด้วยด้าย บ้านคนที่มีเงินมักจะมีตะเกียงหลายดวง และต้องเอาใจใส่เวลาจุดไว้ด้วย เพราะอาจดับได้ เนื่องจากไส้ตะเกียงไม่สู้ดี
จงเป็นเสมือนผู้รับใช้ที่กำลังคอยนายกลับจากงานสมรส เมื่อนายไปในงานแต่งงาน พวกคนใช้ก็ต้องรอคอยนายว่าจะกลับมาเมื่อไร จะได้เตรียมตัวเปิดประตูให้ การแต่งงานหลายๆ ครั้งยืดเยื้อไปจนถึงดึกดื่นหรือเลยเที่ยงคืนไปอีก ฉะนั้น นายจึงไม่สามารถจะบอกล่วงหน้าว่าตัวจะกลับเมื่อไร เพราะสุดแล้วแต่เหตุการณ์ ฉะนั้น คนใช้จะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นสุข ถ้านายกลับมาพบเขากำลังตื่นเฝ้าอยู่ คนใช้ที่เตรียมพร้อมอยู่เสมอจะได้รับคำขอบใจ คำสรรเสริญจากนาย และมากกว่านั้นอีก
นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะและรับใช้เขาด้วย แทนที่นายจะสั่งให้คนใช้ปรนนิบัติเขา เขาจะให้พวกคนใช้นั่งโต๊ะรับประทานอาหาร เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อคนใช้
เจ้านายในโลกนี้อาจจะไม่ทำตามที่พระองค์ทรงเล่าอุปมานี้ แต่ว่าพระบิดาเจ้าสวรรค์จะทำต่อคนใช้ ข้ารับใช้ของพระองค์ ถ้าหากพระองค์ทรงเห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะปรนนิบัติพระองค์อยู่เสมอ และถ้าหากนายจะมาในยามที่สองหรือในยามที่สาม พระองค์จะทรงเชื้อเชิญให้เขาได้เข้าไปทานเลี้ยงในอาณาจักรสวรรค์ และพระองค์จะทรงเป็นเจ้าภาพ นายจะมาถึงในเวลาใดไม่แน่ ฉะนั้น พระองค์ต้องการเน้น “ความไม่แน่นอน” ในการกลับมาของนาย แต่คนใช้จะต้องตื่นเฝ้า “ไม่ง่วงนอน” (มก 13:36) และเขาจะเป็นผู้มีโชค ชาวโรมันแบ่งกลางคืนออกเป็น 4 ยาม และแต่ละยามยาว 3 ชั่วโมง และชาวปาเลสไตน์ก็ได้ใช้วิธีนับแบบนี้ด้วยในสมัยพระเยซูเจ้า
นักบุญมาระโก บอกว่า นายจะกลับมาถึงในเวลาใดก็ได้ ส่วนนักบุญลูกา บอกว่า นายอาจจะกลับมาเวลาสองยามหรือสามยามก็ได้ คือระหว่าง 21.00 น. จนถึงตีสามเช้ามืด เวลาระหว่าง 9 โมงกลางคืนจนถึงตี 3 เป็นเวลาที่เรามักจะง่วงนอนง่ายๆ ฉะนั้น พระองค์จึงมีพระประสงค์ต้องการจะเน้น “การตื่นเฝ้า” และคุณงามความดีของคนใช้ที่ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ