5
การออกจากบ้านของบุตรคนโต
ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกคนรับใช้คนหนึ่งมาถามว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น คนรับใช้ได้บอกเขาว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาได้สั่งฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกที่สุขสบายกลับคืนมา” บุตรคนโตรู้สึกโกรธและไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงได้ออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบบิดาว่า “ลูกได้รับใช้คุณพ่อมานานหลายปี ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของคุณพ่อเลยคุณพ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ แต่พอลูกคนนี้ของคุณพ่อกลับมา เขาได้คบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของคุณพ่อจนหมด คุณพ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย”
บุตรคนโตยืนประสานมือนิ่งอยู่
ผมใช้เวลามองดูภาพวาดของเรมแบรนท์ที่เฮอร์มิเทจเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผมหลงใหลในลักษณะใบหน้าของบุตรคนโต ผมจำได้ว่าได้จ้องมองดูภาพของเขาเป็นเวลานาน และถามตัวเองว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ แน่นอนว่าเขาต้องเป็นบุคคลสำคัญที่เห็นเหตุการณ์การกลับมาของบุตรคนเล็ก ในช่วงที่ผมคุ้นเคยเฉพาะภาพวาดส่วนที่บิดาโอบกอดบุตรผู้กลับมานั้น ดูเป็นเรื่องง่ายที่จะมองเห็นการเชื้อเชิญที่น่าประทับใจและอบอุ่นใจ แต่เมื่อมองดูภาพวาดทั้งหมด ผมรู้ได้ทันทีว่ามีความซับซ้อนของการประชุมกันในภาพ กล่าวคือ ผู้สังเกตการณ์หลักที่มองดูบิดาโอบกอดบุตรผู้กลับมานั้นสงวนท่าทีมาก เขามองดูบิดาแต่ไม่มีความยินดีอยู่เลย เขาไม่ได้ก้าวออกไป ไม่ยิ้มหรือแสดงการต้อนรับใดๆ เขาแค่ยืนอยู่เฉยๆ ด้านข้างของภาพวาด และไม่ปรารถนาจะขยับเขยื้อน
จริงอยู่ที่การกลับมาเป็นเหตุการณ์หลักของภาพวาด แต่ทว่าการกลับมาก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตรงกลางผืนผ้าใบ แต่อยู่ทางด้านซ้ายของภาพ ในขณะที่บุตรคนโตผู้มีร่างสูงใหญ่และดูดุดัน ครอบ-คลุมพื้นที่ทางด้านขวา มีที่ว่างกว้างแบ่งแยกบิดาและบุตรคนโต เป็นพื้นที่ว่างที่สร้างความตึงเครียดที่ต้องได้รับการแก้ไข
สำหรับผม การได้เห็นภาพบุตรคนโตนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะตีความ “การกลับมา” นี้ตามอารมณ์ บุตรคนโตผู้สังเกตการณ์หลักยังคงอยู่ห่างๆ ดูเหมือนไม่กระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการต้อนรับของบิดา เกิดอะไรขึ้นภายในจิตใจของเขา? เขาจะทำอะไร? เขาจะก้าวเข้ามาและโอบกอดน้องชายของเขาอย่างที่บิดาได้กระทำหรือไม่ หรือเขาจะเดินจากไปด้วยความโกรธและชิงชัง
ตั้งแต่ที่บาร์ท (Bart) เพื่อนของผม ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า บางทีผมอาจจะเป็นเหมือนบุตรคนโตมากกว่าบุตรคนเล็ก ผมจึงได้สังเกต “ชายคนที่ยืนอยู่ทางด้านขวา” ด้วยความสนใจและได้เห็นสิ่งใหม่ๆ มากมาย ลักษณะที่เรมแบรนท์วาดภาพบุตรคนโตนั้นแสดงให้เห็นว่าเขาเหมือนกับบิดามาก ทั้งสองมีหนวดเคราและเสื้อคลุมใหญ่สีแดงบนไหล่ รายละเอียดภายนอกเหล่านี้แสดงว่าบุตรคนโตและบิดามีหลายสิ่งที่คล้ายกันมาก และความคล้ายคลึงเหล่านี้แจ่มชัดขึ้น ด้วยแสงสว่างที่ปรากฏบนใบหน้าของบุตรคนโต ซึ่งเท่ากับเป็นการรวมเขาเป็นหนึ่งเดียวกับใบหน้าที่เจิดจ้าของบิดา
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนก็ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน! บิดาโน้มตัวมาหาบุตรคนเล็ก แต่บุตรคนโตยืนตัวตรง ไม้เท้ายาวที่เขาถืออยู่ในมือยิ่งเพิ่มความแข็งกระด้างมากขึ้น เสื้อคลุมของบิดาเปิดกว้างต้อนรับ ส่วนเสื้อคลุมของบุตรคนโตแนบไปกับลำตัว มือของบิดากางออกและสัมผัสบุตรผู้กลับมาในท่าที่อวยพร ส่วนมือของบุตรคนโตนั้นประสานไว้แนบอก ใบหน้าของคนทั้งสองสว่างเรืองรอง แต่แสงสว่างบนใบหน้าของบิดานั้นกระจายไปทั่วร่าง โดยเฉพาะที่มือ และครอบคลุมบุตรคนเล็กด้วยรัศมีของความอบอุ่นที่สว่างไสว ส่วนแสงสว่างบนใบหน้าของพี่ชายนั้นดูเย็นและไม่กระจายรัศมี ร่างของเขายังคงอยู่ในความมืด และมือที่ประสานแน่นก็อยู่ในเงาความมืด
เรื่องอุปมาที่วาดโดยเรมแบรนท์นี้อาจได้ชื่อว่า “คำอุปมาเรื่องบุตรที่หายไป” ไม่ใช่เฉพาะบุตรคนเล็กเท่านั้นที่ออกจากบ้านไปแสวงหาอิสรภาพและความสุขในประเทศที่ห่างไกล และได้หายไป แต่คนที่อยู่บ้านก็เป็นบุตรที่หายไปด้วยเช่นกัน ภายนอกเขาทำทุกสิ่งที่บุตรที่ดีควรจะทำ แต่ภายในนั้น เขาได้ออกห่างจากบิดา เขาได้ทำตามหน้าที่ ทำงานหนักทุกวัน และทำตามหน้าที่ของตนทุกประการ แต่เขากลับยิ่งกลายเป็นทาสและไม่มีความสุข
จมอยู่ในความขุ่นเคืองใจ
เป็นสิ่งยากสำหรับผมที่จะยอมรับว่าชายผู้มีความขุ่นเคือง และความโกรธผู้นี้เหมือนผมในด้านฝ่ายจิต มากกว่าที่จะเป็นเหมือนน้องชายเสเพล ยิ่งผมคิดถึงบุตรคนโตมากเท่าใด ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองเหมือนเขามากยิ่งขึ้นเท่านั้น ในฐานะบุตรคนโตของครอบครัว ผมรู้ดีว่าการเป็นลูกที่ดีนั้นยากเย็นเพียงใด
บ่อยครั้งที่ผมถามตัวเองว่า มิใช่ลักษณะของบุตรคนโตดอกหรือที่ต้องการตอบสนองความคาดหวังของบิดามารดา และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะต้องนบนอบเชื่อฝัง บรรดาบุตรคนโตต้องการทำตามความพอใจ แต่กลัวที่จะทำให้บิดามารดาผิดหวัง แต่บ่อยครั้งอีกเช่นกันที่เขารู้สึกอิจฉาน้องๆ ที่ดูเหมือนไม่ต้องห่วงที่จะทำให้คนอื่นพอใจ และเป็นอิสระมากกว่าที่จะนำพาชีวิตของตน ผมก็อยู่ในกรณีนี้อย่างแน่นอน ตลอดชีวิตของผม ผมเองก็อยากรู้อยากเห็นถึงชีวิตที่ไม่นอบน้อมเชื่อฟัง ซึ่งผมไม่กล้าพอที่จะมีชีวิตแบบนั้น แต่ผมได้เห็นในชีวิตของคนมากมายรอบข้าง ผมทำทุกอย่างถูกต้อง ยอมตามข้อเรียกร้องของภาพลักษณ์แบบบิดามารดา ทั้งของอาจารย์ ผู้นำวิญญาณ พระสังฆราช พระสันตะปาปา แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็ถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ทำไมผมจึงไม่กล้าหนีไปอย่างที่บุตรคนเล็กได้กระทำ
สิ่งเหล่านี้อาจจะดูแปลก แต่ลึกๆ ในใจ ผมรู้สึกอิจฉาบุตรคนเล็กที่หายไป เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อผมเห็นเพื่อนๆ ของผม ชอบทำสิ่งที่ผมตัดสินว่าไม่ดี ผมเรียกความประพฤติของพวกเขาว่าเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ หรือแม้กระทั่งเรียกว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรม แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็มักถามตัวเองว่า ทำไมผมไม่มีความกล้าพอที่จะทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างพวกเขา อาจจะส่วนเดียวหรือทั้งหมด
ชีวิตที่นอบน้อมเชื่อฟังและเป็นระเบียบ ซึ่งผมรู้สึกภาคภูมิใจและผู้คนสรรเสริญผมนั้น บางครั้งเป็นเหมือนภาระที่ถูกวางไว้บนบ่าและกดดันผมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าผมสามารถยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ผมไม่รู้สึกลำบากที่จะเป็นเหมือนบุตรคนโตในเรื่องอุปมา ที่ได้ต่อว่าบิดาของตนว่า “ลูกได้รับใช้คุณพ่อมานานหลายปี ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของคุณพ่อเลยคุณพ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ” ในการต่อว่าเช่นนี้ ความนอบน้อมและหน้าที่ได้กลายเป็นภาระ และการบริการรับใช้หมายถึงการเป็นทาส
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจริงสำหรับผม เมื่อเพื่อนคนหนึ่งซึ่งได้กลับใจไม่นาน ได้ตำหนิผมว่าไม่ค่อยจะสวดภาวนาเท่าไรนัก คำวิจารณ์ของเขาทำให้ผมโกรธมาก ผมพูดกับตัวเองว่า “เขากล้าดีอย่างไรมาสอนผมเรื่องการภาวนา เพราะหลายปีที่ผ่านมา เขาเองก็ได้ดำเนินชีวิตโดยไม่สนใจอะไร และไม่มีระเบียบวินัยเลย ในขณะที่ผมดำเนินชีวิตตามความเชื่อตั้งแต่เด็กแล้ว ส่วนเขาเพิ่งกลับใจ และกล้ามาบอกว่าผมควรจะประพฤติตนอย่างไร!” ความรู้สึกขุ่นใจภายในนี้แสดงว่าผมได้หลงไปเหมือนกัน ผมอยู่ที่บ้านมาตลอด และไม่เคยหายไปไหน แต่ผมไม่เคยมีชีวิตอย่างที่เป็นอิสระในบ้านของบิดาเลย ความโกรธและความอิจฉาแสดงให้ผมเห็นถึงการเป็นทาสของตัวเอง
ผมมิได้ตกอยู่ในสภาพนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น ยังมีบุตรคนโตอีกมากมายที่ได้หายไป ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในบ้าน การหายไปนี้เกิดจากการพิพากษาตัดสิน ความโกรธและความขุ่นเคืองใจ ความขมขื่นและความอิจฉาริษยา สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายและทำลายหัวใจมนุษย์อย่างใหญ่หลวง บางครั้งผมคิดถึงการหายไปนี้ในลักษณะการกระทำที่เห็นชัดเจน บุตรคนเล็กได้ทำบาปที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน การหายไปของบุตรคนเล็กนั้นชัดเจน เขาสูญเสียเงินทอง เวลา เพื่อน และแม้แต่ร่างกายของเขา สิ่งซึ่งเขาทำผิดนั้นมิใช่เพียงครอบครัวและเพื่อนๆ เท่านั้นที่รู้ แต่ตัวเขาเองก็รู้ดี เขาต่อต้านศีลธรรม และปล่อยตัวไปตามตัณหาและความฟุ้งเฟ้อ มีบางสิ่งชัดเจนในความประพฤติชั่วของเขา และเมื่อเขารู้ว่าการประพฤติของเขานำไปสู่ความทุกข์ เขาจึงพิจารณาตัวเองและกลับมาขอโทษ จุดนี้เราได้เรียนรู้ความผิดพลาดของมนุษย์ และการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งง่ายต่อความเข้าใจและร่วมในความรู้สึกด้วย
แต่การหายไปของบุตรคนโตนั้นมองเห็นยาก เขาทำดีทุกอย่าง นอบน้อมเชื่อฟัง น่านับถือ ซื่อสัตย์ต่อกฏเกณฑ์และทำงานหนัก ผู้คนรอบข้างยกย่อง ชื่นชม สรรเสริญ และมองเขาว่าเป็นบุตรตัวอย่าง ภายนอก บุตรคนโตไม่มีที่ติ แต่เมื่อได้เผชิญหน้ากับความยินดีของบิดาในการกลับมาของน้องชาย พลังแห่งความมืดก็ระเบิดขึ้นในตัวเขา เขาปรากฏเป็นคนคิดเคียดแค้น จองหอง ใจร้าย และเห็นแก่ตัวขึ้นมาในทันที สิ่งต่างๆ ดังกล่าวซ่อนเร้นอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าบุคลิกเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม
เมื่อผมมองชีวิตของผมและของบุคคลรอบข้าง ผมถามตัวเองว่าอะไรคือความผิดร้ายแรงที่สุด ระหว่างความเสเพลและความคิดเคียดแค้น มีความขุ่นเคืองใจมากมายท่ามกลาง “คนชอบธรรม” และ “คนดี” ในท่ามกลาง “นักบุญ” ก็มีการตัดสิน การประณาม และอคติอยู่มากมาย และในท่ามกลางบุคคลซึ่งพยายามทุกวิถีทางที่จะหลีกเลี่ยง “บาป” ก็มีความโกรธเคืองอยู่ลึกๆ
เป็นสิ่งยากมากที่จะมองเห็นสภาพการสูญเสียเช่นนี้ในบรรดา “นักบุญ” ที่คิดขุ่นเคือง เพราะสภาพเช่นนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับความปรารถนาที่จะเป็นคนดีมีคุณธรรม ผมรู้จากประสบการณ์ว่าผมพยายามอย่างมากที่จะเป็นคนดี เป็นที่ยอมรับ ใจดี และเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนอื่น ผมพยายามมีมโนธรรมที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางของบาป แต่ขณะเดียวกันผมรู้สึกกลัวว่าจะพ่ายแพ้ต่อการประจญ ผมจริงจังมากจนกลายเป็นคนเคร่งศีลธรรม ถึงขนาดบ้าคลั่งก็ว่าได้ จนทำให้ผมรู้สึกยากว่าตัวเองได้อยู่ในบ้านของบิดา ผมมีอิสรภาพน้อยลง ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ร่าเริง และคนอื่นๆ ก็เริ่มมองว่าผมเป็นคนที่เคร่งครัดและลำบากที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ
ปราศจากความยินดี
เมื่อผมฟังบุตรคนโตโต้ตอบบิดา ซึ่งเป็นคำพูดอิจฉาเพื่อแก้ตัวและขอความเห็นใจ เขารู้สึกว่าไม่ได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้รับ เป็นการต่อว่าที่แยบยล ซึ่งมาจากพื้นฐานของความขุ่นเคืองใจตามประสามนุษย์ “ผมพยายามทุกอย่างสุดความสามารถ ทำงานมานานมาก ผมทำทุกอย่างที่สามารถ แต่ผมก็ไม่ได้รับสิ่งที่คนอื่นได้รับมาแบบง่ายๆ เลย ทำไมผู้คนถึงไม่ขอบคุณผม ไม่เชื้อเชิญ ไม่เล่นกับผม ไม่ยกย่องผม แต่กลับไปใส่ใจคนที่ดำเนินชีวิตเสเพลและทำอะไรไม่คิด”
เสียงบ่นที่กล่าวออกมาเป็นคำพูดหรือไร้ซึ่งคำพูดนี้ ทำให้ผมยอมรับว่าผมเป็นบุตรคนโต บ่อยครั้งผมพบว่าตัวเองกำลังรำพึงรำพันกับการปฏิเสธเรื่องเล็กน้อย ความไม่สุภาพหรือการละเลยเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้งผมพบว่าตัวเองขี้บ่นและจู้จี้ คร่ำครวญ รำพึงรำพัน ยิ่งผมบ่นและคร่ำครวญมากเท่าใด ผมยิ่งรู้สึกแย่มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งผมวิเคราะห์สาเหตุมากเท่าใด ผมยิ่งมีเหตุผลที่จะบ่นมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งผมคิดมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น ในความรู้สึกสงสารตัวเองนี้มีพลังแห่งความมืดอันมหาศาล การกล่าวโทษคนอื่นและตนเอง การหาข้อแก้ตัวและการปฏิเสธตนเอง ต่างก็ยิ่งส่งเสริมกันและกันในวังวนแห่งความชั่วร้าย เมื่อผมปล่อยให้ตนเองถูกชักนำไปในหนทางวกวนของความสงสารตัวเองภายใน ผมก็จะยิ่งหลงไป จนกระทั่งสุดท้ายผมรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่เข้าใจ ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นบุคคลที่น่าดูถูกของคนทั้งโลกมากที่สุด
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจ คือการบ่นไม่เกิดประโยชน์อะไรมีแต่จะทำให้เราหมุนอยู่กับที่ เมื่อใดก็ตามที่ผมบ่นโดยหวังว่าจะได้รับความเห็นใจ และการปลอบโยนที่ผมปรารถนา เมื่อนั้นผลที่ออกมามักจะตรงกันข้ามเสมอ เป็นเรื่องยากที่จะอยู่กับคนชอบบ่น และมีน้อยคนที่รู้ว่าจะตอบสนองการบ่นนี้อย่างไร โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อบ่นไปแล้วกลับยิ่งถูกปฏิเสธมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวมากที่สุด
จากจุดนี้ เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าทำไมบุตรคนโตจึงไม่สามารถร่วมแบ่งปันความยินดีกับบิดาได้ เมื่อเขากลับมาจากทุ่งนา ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ เขารู้ว่าในบ้านกำลังมีงานสนุกสนาน เขาเกิดสงสัยขึ้นมาทันที เมื่อใดก็ตามที่มีการปฏิเสธตัวเองเกิดขึ้นในตัวเรา เมื่อนั้นเราจะสูญเสียความเป็นธรรมชาติ จนกระทั่งแม้แต่ความยินดีก็ไม่สามารถเกิดขึ้นในตัวเรา
ในเนื้อเรื่องอุปมานั้นได้บอกว่า “เขาเรียกคนรับใช้คนหนึ่งมาถามว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น” เขารู้สึกกลัวว่าจะถูกกีดกัน กลัวว่าไม่มีใครบอกเขาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น กลัวว่าจะถูกกันออกห่าง และทันทีก็มีเสียงบ่นว่า “ทำไมไม่มีใครบอกผมว่าเกิดอะไรขึ้น?” คนใช้ที่ซื่อสัตย์ ซึ่งกำลังยินดีและอยากจะแบ่งปันข่าวดีนั้น ได้อธิบายว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาได้สั่งฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะเขาได้ลูกที่สุขสบายกลับคืนมา” แต่บุตรคนโตยอมรับความยินดีนี้ไม่ได้ แทนที่จะเป็นความโล่งอกและขอบคุณ ความยินดีของคนรับใช้กลับก่อให้เกิดสิ่งตรงกันข้าม “บุตรคนโตรู้สึกโกรธและไม่ยอมเข้าไปในบ้าน” ความยินดีและความขุ่นเคืองใจไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ดนตรีและการร้องรำนั้นแทนที่จะเป็นการเชื้อเชิญเข้าสู่ความยินดี กลับกลายเป็นสาเหตุของการถอยห่าง
ผมจำได้อย่างแม่นยำถึงสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน คือครั้งหนึ่งผมรู้สึกเหงา จึงชวนเพื่อนออกไปข้างนอก เขาตอบว่าไม่มีเวลา แต่อีกสักครู่ต่อมา ผมได้พบเขาในงานปาร์ตี้ที่บ้านของเพื่อนอีกคนหนึ่ง เมื่อเขาเห็นผม เขากล่าวว่า “ยินดีต้อนรับ มาสนุกด้วยกันซิ ยินดีที่ได้เจอคุณ” แต่ผมรู้สึกโกรธมากที่ไม่ได้รับเชิญมาในงานนี้ จนผมทนไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมงาน ผมเสียใจที่ไม่ได้รับความรักและการต้อนรับ ผมเดินออกจากห้องพร้อมกับกระแทกประตูปัง ผมรู้สึกเหมือนเป็นอัมพาต ไม่สามารถยอมรับและมีส่วนร่วมในความยินดี ณ ที่นั่นได้ ภายในวินาทีเดียว ความยินดีก็ได้กลายเป็นเหตุแห่งความขุ่นใจ
ประสบการณ์ของการไม่อาจร่วมในความยินดีนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของหัวใจที่ขุ่นเคือง บุตรคนโตไม่สามารถเข้าไปในบ้านและร่วมยินดีกับบิดา ความขุ่นเคืองได้หยุดเขาไว้และเขาปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความมืดมน
เรมแบรนท์เห็นถึงความหมายลึกซึ้งนี้ เมื่อเขาวาดภาพบุตรคนโตด้านข้างภาพตรงส่วนที่บุตรคนเล็กได้รับการต้อนรับในความยินดีของบิดา เรมแบรนท์มิได้วาดภาพงานเลี้ยง นักดนตรีหรือนักเต้นรำ ซึ่งเป็นเพียงเครื่องหมายถึงความยินดีภายนอก เครื่องหมายอย่างเดียวของงานเลี้ยงที่ปรากฏคือ ภาพคนเป่าขลุ่ย ที่เป็นรูปปั้นบนกำแพงที่ผู้หญิงคนหนึ่งยืนพิงอยู่ (แม่ของลูกล้างผลาญ?) เพื่อแสดงถึงงานเลี้ยง เรมแบรนท์ได้วาดแสงสว่าง ซึ่งเป็นแสงสว่างที่มีรัศมีคลุมทั้งบิดาและบุตร ความยินดีที่เรมแบรนท์ได้แสดงออกคือ ความยินดีที่สงบในบ้านของพระบิดา
ในเรื่องเล่านี้ เราอาจจินตนาการภาพบุตรคนโตยืนอยู่ในมุมมืดทางด้านข้าง ปฏิเสธที่จะเข้าไปในบ้านที่สว่างไสวและกำลังมีความสุข แต่เรมแบรนท์มิได้วาดภาพบ้านหรือทุ่งนา เขาแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยความมืดและความสว่าง การโอบกอดของบิดาเต็มไปด้วยแสงสว่าง ซึ่งก็คือบ้านของพระเจ้าที่มีเสียงดนตรีและการเต้นรำ บุตรคนโตอยู่นอกวงแห่งความรักนี้ ปฏิเสธที่จะเข้าไปข้างใน แสงสว่างบนใบหน้าของเขาเป็นพยานยืนยันว่า เขาเองก็ได้รับเรียกให้เข้าสู่แสงสว่างนี้ด้วย แต่ไม่มีใครสามารถบังคับเขาได้
บางครั้งหลายคนสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับบุตรคนโต? เขารับคำเชิญของบิดาหรือไม่? และสุดท้ายเขาได้เข้าไปในบ้านและร่วมในการฉลองหรือไม่? เขาได้โอบกอดน้องชายของเขา และต้อนรับการกลับมาของน้องชายเช่นเดียวกับที่บิดาได้กระทำหรือไม่? เขาได้นั่งโต๊ะเดียวกับบิดาและน้องชาย ร่วมรับประทานอาหาร และยินดีกับการฉลองนั้นหรือไม่?
ภาพวาดของเรมแบรนท์และเรื่องอุปมาไม่ได้บอกเราว่า สุดท้ายแล้วบุตรคนโตตัดสินใจอย่างไร เขาพร้อมหรือไม่ที่จะสารภาพว่าเขาเองก็เป็นคนบาปที่ต้องการการอภัยด้วยเช่นกัน? เขาพร้อมที่จะยอมรับหรือไม่ว่าเขาเองก็ไม่ดีไปกว่าน้องชาย?
ผมใคร่ครวญคำถามเหล่านี้อยู่คนเดียว ผมไม่รู้ว่าบุตรคนเล็กยอมรับการฉลอง และดำเนินชีวิตกับบิดาของเขาอย่างไรหลังจากที่เขาได้กลับมา เช่นเดียวกับที่ผมเองไม่รู้ว่าบุตรคนโตจะยอมคืนดีกับน้องชาย กับบิดา และกับตัวเองหรือไม่ สิ่งที่ผมแน่ใจโดยไม่ลังเลก็คือ ผมรู้จักหัวใจของบิดา ที่มีแต่ความเมตตากรุณาอย่างสมบูรณ์
คำถามที่เปิดกว้าง
เรื่องอุปมานี้ไม่ใช่นิทานเรื่องนางฟ้าที่จบลงอย่างมีความสุข แต่เป็นเรื่องที่ทิ้งให้เราต้องตัดสินใจเลือกหนทางฝ่ายจิตที่ยากที่สุด นั่นก็คือ จะเชื่อหรือไม่เชื่อในความรักอันเมตตากรุณาของพระเจ้า ไม่มีใครเลือกแทนผมได้ พระเยซูเจ้าทรงตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์ที่ว่า “ชายคนนี้ต้อนรับคนบาป และกินอาหารร่วมกับพวกเขา” พระองค์ทรงเผชิญหน้ากับพวกเขา ไม่ใช่ด้วยเรื่องการกลับมาของลูกล้างผลาญเท่านั้น แต่รวมทั้งความขุ่นเคืองใจของบุตรคนโตด้วย ซึ่งทำให้พวกเคร่งศาสนารู้สึกไม่พอใจ พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการบ่นว่าของตัวเองและต้องเลือกว่าจะตอบสนองความรักของพระเจ้าที่มีต่อคนบาปอย่างไร พวกเขาพร้อมที่จะร่วมโต๊ะกับคนเหล่านั้น เหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำหรือไม่? สิ่งนี้เคยเป็นและยังคงเป็นข้อท้าทายที่เป็นจริง ทั้งสำหรับพวกเขา ผม และมนุษย์ทุกคนที่มีความขุ่นเคืองใจและถูกประจญให้จมอยู่ในความสงสารตัวเอง
ยิ่งผมได้ไตร่ตรองความเป็นบุตรคนโตในตัวผมมากเท่าใด ผมก็ยิ่งรู้ว่าลักษณะการหายไปเช่นนี้หยั่งรากลึกในตัวผมมากแค่ไหน และยากแค่ไหนสำหรับผมที่จะกลับบ้าน การกลับบ้านหลังจากที่หนีออกไปใช้ชีวิตเสเพล ดูจะง่ายกว่าการกลับบ้านด้วยใจที่โกรธและเย็นเฉยซึ่งฝังรากลึกอยู่ภายใน ความขุ่นใจของผมไม่ใช่สิ่งที่จะยอมรับและจัดการได้ง่ายๆ ด้วยเหตุผล
ไม่เป็นการดีหรือที่จะนบนอบ น่านับถือ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ทำงานหนักและเสียสละ? อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความขุ่นเคืองใจและการบ่นว่าของผมนั้น สัมพันธ์กับท่าทีที่น่ายกย่องเหล่านั้น บ่อยครั้งผมรู้สึกสิ้นหวังเมื่อตระหนักถึงความสัมพันธ์นี้ เวลาที่ผมต้องการพูดหรือแสดงความใจกว้าง ผมรู้สึกชะงักเพราะความขุ่นเคืองใจและความโกรธในตัวผม แม้ว่าผมปรารถนาเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว ผมก็พบว่าตัวเองหมกมุ่นอยู่กับความปรารถนาที่จะเป็นที่รัก และเมื่อผมประสบความสำเร็จ ผมก็ถามตัวเองว่าทำไมคนอื่นๆ ถึงไม่ทำเหมือนผม เมื่อผมคิดว่าผมสามารถเอาชนะการประจญได้ ผมรู้สึกอิจฉาคนที่พ่ายแพ้ ดูเหมือนว่าที่ใดก็ตามที่มีตัวผมผู้ทำคุณความดี ที่นั่นก็ต้องมีผมที่มักรู้สึกขุ่นเคืองใจบ่นว่าอยู่ด้วย
ตรงนี้แหละที่ผมได้ประสบกับความยากจนที่แท้จริงของตัวเอง ผมไม่สามารถดึงรากแห่งความขุ่นใจที่หยั่งลึกออกไปได้หมด มันฝังรากลึกลงในตัวผม จนถึงขนาดว่าถ้าผมดึงมันออกก็เท่ากับเป็นการทำลายตัวเองด้วย ทำอย่างไรจึงจะดึงหญ้าร้ายแห่งความขุ่นใจเหล่านี้ออกไปได้โดยไม่ทำลายเมล็ดพันธุ์ดีแห่งคุณธรรม?
บุตรคนโตที่อยู่ในตัวผมสามารถกลับบ้านได้หรือไม่ ผมสามารถกลับบ้านอย่างที่บุตรคนเล็กกลับได้หรือไม่? ผมจะกลับไปอย่างไรในเมื่อผมจมอยู่ในความขุ่นเคืองใจ เมื่อผมยังติดอยู่กับความอิจฉา เมื่อผมยังถูกจองจำอยู่ในความนบนอบและการยอมจำนนเยี่ยงทาส? โดยตัวผมเอง ผมไม่สามารถค้นพบตัวเองได้ด้วยตัวผมเอง และผมยิ่งหมดกำลังใจที่จะรักษาตัวเองให้เป็นแบบบุตรคนโตมากกว่าที่จะเป็นบุตรคนเล็ก เมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นไม่ได้ที่จะช่วยตัวเองให้รอด บัดนี้ผมถึงเข้าใจพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ตรัสแก่นิโคเดมัสว่า “อย่าประหลาดใจถ้าเราบอกท่านว่า ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องบังเกิดใหม่จากเบื้องบน” (ยน.3:7) แท้จริงแล้ว สิ่งที่ได้เกิดขึ้นนั้นมิใช่เพราะเราเป็นสาเหตุให้เกิด ผมไม่สามารถเกิดใหม่จากเบื้องล่าง คือด้วยกำลัง ความคิด และการมองเห็นทางจิตวิญญาณของตัวผมเอง ผมแน่ใจในเรื่องนี้ เพราะผมได้พยายามอย่างหนักที่จะรักษาตัวเองจากความขุ่นเคืองใจ แต่ผมก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าหลายครั้ง จนกระทั่งเกือบเป็นโรคเครียดซึมเศร้า ผมจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากเบื้องบนเท่านั้น จากที่ซึ่งพระเจ้าโน้มพระองค์มาหาเรา สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับผม พระเจ้าทรงสามารถทำได้ “สำหรับพระเจ้าแล้ว ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้”