6
การกลับมาของบุตรคนโต
“บุตรคนโตรู้สึกโกรธและไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงได้ออกมาขอร้องให้เข้าไป (...) บิดากล่าวว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว ได้กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก”
การกลับใจที่เป็นไปได้
บิดาปรารถนาการกลับมาของบุตรคนเล็ก แต่ก็รวมถึงการกลับมาของบุตรคนโตด้วย บุตรคนโตเองก็ต้องถูกค้นพบและถูกนำกลับเข้าบ้านแห่งความชื่นชมยินดีด้วยเช่นกัน เขาจะตอบรับคำเชื้อเชิญของบิดาหรือยังคงจมอยู่ในความขุ่นเคือง? เรมแบรนท์ได้ทิ้งคำถามเรื่องการตัดสินใจสุดท้ายของบุตรคนโตไว้ให้เรา บาร์บารา โจน แฮเกอร์ เขียนว่า “เรมแบรนท์ไม่แสดงว่าเขารู้คำตอบ ด้วยเหตุที่เรมแบรนท์ไม่ได้ปรับโทษบุตรคนโตอย่างชัดๆ เขาจึงมีความหวังว่าตัวเขาเองจะยอมรับว่าตนก็เป็นคนบาปคนหนึ่ง... การตีความปฏิกิริยาของบุตรคนโตนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่มองภาพนี้”
คำถามที่เปิดว้างในเรื่องอุปมาและในภาพวาดของเรมแบรนท์ เชื้อเชิญผมเข้าสู่การแสวงหาด้านจิตวิญญาณอันยาวนาน เมื่อผมมองดูใบหน้าที่สว่างไสวของบุตรคนโต และมืออันดำมืดของเขา ผมมิได้รู้สึกถึงการถูกจำจองเท่านั้น แต่รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะได้รับอิสระด้วย เรื่องอุปมานี้มิได้แบ่งแยกพี่น้องสองคนว่าเป็นคนดีหรือเลว มีแต่บิดาเท่านั้นที่เป็นคนดี เขารักลูกทั้งสองคน เขาวิ่งออกไปหาลูกทั้งสอง ต้องการให้ลูกทั้งสองนั่งลงที่โต๊ะและร่วมในความยินดีของเขา บุตรคนเล็กยอมรับการโอบกอดและการให้อภัยจากบิดา ส่วนบุตรคนโตยืนอยู่ห่างๆ มองดูการกระทำที่เปี่ยมด้วยเมตตาของบิดา แต่เขาก็ไม่สามารถเอาชนะความโกรธของตนได้ และไม่ยอมให้บิดารักษาเขาด้วย
บิดาไม่บังคับให้ผู้ที่ตนรักนั้นต้องรับความรักจากตน แม้ว่าบิดาปรารถนาที่จะเยียวยารักษาความมืดภายในจิตใจของเรา แต่เราก็ยังคงเป็นอิสระที่จะเลือกด้วยตัวเองว่า เราจะอยู่ในความมืดต่อไป หรือจะก้าวสู่แสงสว่างแห่งความรักของพระเจ้า พระเจ้าและความสว่างของพระองค์อยู่ที่นั่น การอภัยและความรักที่ไม่สิ้นสุดของพระเจ้าก็อยู่ที่นั่น สิ่งที่ชัดแจ้งก็คือ พระเจ้าประทับอยู่เสมอ และพร้อมเสมอที่จะให้และยกโทษแก่เราโดยไม่ขึ้นอยู่กับคำตอบของเรา ความรักของพระเจ้าไม่ขึ้นอยู่กับการกลับใจหรือการเปลี่ยนแปลงของเราไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก
ไม่ว่าผมจะเป็นบุตรคนเล็กหรือคนโต ความปรารถนาเพียงประการเดียวของพระเจ้าก็คือ นำผมกลับบ้าน อาร์เธอร์ ฟรีแมน (Arthur Freeman) ได้เขียนไว้ว่า
“บิดารักลูกแต่ละคน และให้อิสระแก่พวกเขาที่จะเป็นในสิ่งซึ่งพวกเขาสามารถจะเป็นได้ แต่บิดาไม่สามารถให้อิสระที่พวกเขาไม่ต้องการหรืออิสระที่พวกเขาไม่เข้าใจวิธีการใช้ ดูเหมือนว่าบิดาเข้าใจว่าบุตรต้องการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งผิดจากธรรมเนียมของสังคมในสมัยนั้น แต่บิดาก็รู้ด้วยว่าบุตรต้องการความรักและบ้านด้วยเช่นกัน เรื่องนี้จะจบอย่างไรนั้น เป็นปัญหาของพวกเขา ด้วยความที่ว่า เรื่องอุปมานี้ยังไม่จบ จึงทำให้เรามั่นใจว่าความรักของบิดาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องต้องจบอย่างมีความสุข ความรักของบิดาขึ้นอยู่กับตัวบิดาเอง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญอย่างที่กวีเช็คสเปียร์ (Shakespeare) ได้กล่าวไว้ในโคลงบทหนึ่งว่า “รักมิใช่รัก หากรักนั้นผันแปรเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง”
สำหรับผมโดยส่วนตัวแล้ว การกลับใจของบุตรคนโตที่อาจเป็นไปได้นั้นมีความสำคัญมาก ท่าทีหลายอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงพบเห็นชัดเจนในพวกฟาริสีและคัมภีราจารย์นั้นก็มีอยู่ในตัวผม ผมได้ศึกษาหนังสือต่างๆ เรียนรู้กฎหมายและมักแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือทางศาสนา ผู้คนยกย่องให้เกียรติผม และเรียกผมว่า “คุณพ่อที่เคารพ” ผมได้รับผลตอบแทนเป็นคำชมเชยและสรรเสริญ เงินและรางวัล ผมได้รับการยกย่องมากมาย ผมวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติของคนอื่น และบ่อยครั้งพิพากษาและตัดสินคนอื่นด้วย
ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมาเรื่องลูกล้างผลาญนี้ ผมจึงต้องฟังด้วยความสำนึกว่า ผมก็เหมือนกับพวกฟาริสีที่ได้วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ว่า “ชายคนนี้ต้อนรับคนบาปและกินดื่มร่วมกับพวกเขา” ผมจะมีโอกาสที่จะกลับไปหาพระบิดา และได้รับการต้อนรับในบ้านของพระองค์หรือไม่? หรือผมจะจมติดอยู่ในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบธรรม จนกระทั่งผมถูกตัดสินให้อยู่นอกบ้าน จมอยู่ในความโกรธและความขุ่นเคืองใจ
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บุญลาภแก่ผู้มีใจยากจน ผู้หิวโหย และผู้ที่ร้องไห้ ...” แต่ผมไม่ใช่คนยากจน หิวโหย หรือร้องไห้ พระเยซูเจ้าทรงภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้าฟ้าและแผ่นดิน ข้าพเจ้าสรรเสริญพระองค์ ที่พระองค์ทรงปิดบังเรื่องเหล่านี้จากบรรดาผู้ปรีชาและรอบรู้” (ลก.10:21) ผมอยู่ในกลุ่มผู้ปรีชาและรอบรู้เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงรักผู้ที่อยู่ชายขอบของสังคม เช่น คนยากจน คนป่วย และคนบาป แต่ผมไม่ใช่คนที่อยู่ชายขอบของสังคมอย่างแน่นอน ผมเกิดมีคำถามที่มาจากพระวรสารว่า “ผมได้รับรางวัลตอบแทนแล้วหรือ?” พระเยซูเจ้าทรงเข้มงวดกับพวกที่ชอบยืนภาวนาในศาลาธรรมและที่หัวถนนเพื่อให้คนอื่นเห็น พระองค์ตรัสว่า “เราขอบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า พวกเขาได้รับรางวัลตอบแทนแล้ว” งานเขียนและการบรรยายของผมเรื่องการภาวนา รวมทั้งชื่อเสียงที่ผมได้รับมานั้น ทำให้ผมต้องถามตัวเองว่าพระวาจานี้เจาะจงหมายถึงผมหรือเปล่า
แน่นอนว่าใช่ เรื่องราวของบุตรคนโตได้ให้ความกระจ่างใหม่ต่อคำถามที่วิตกกังวลเหล่านี้ เพราะแน่นอนว่าพระเจ้าไม่ได้รักบุตรคนเล็กมากกว่าบุตรคนโต ในเรื่องอุปมา บิดาออกไปหาบุตรคนโตเหมือนอย่างที่เขาได้ทำกับบุตรคนเล็ก เขาขอร้องให้บุตรคนโตเข้าไปในบ้าน พูดว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก”
นี่เป็นคำพูดที่ผมต้องใส่ใจ เพื่อจะได้ซึมซาบเข้าสู่ส่วนลึกของตัวเอง พระเจ้าทรงเรียกผมว่า “ลูก” คำว่า “ลูก” “teknon” ในภาษากรีกที่ลูกาใช้เป็นคำแสดงความรักดังที่โยเซฟ เอ.ฟิทซ์ไมเออร์ (Joseph A. Fitzmyer) อธิบายไว้ว่า ถ้าแปลตามตัวอักษร สิ่งที่บิดากล่าวก็คือ คำว่า “ลูก”
คำแสดงความรักนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นในคำพูดที่ติดตามมา บิดาไม่โต้ตอบการต่อว่าที่รุนแรงของลูกและไม่พิพากษาตัดสิน ไม่มีการกล่าวโทษหรือการกล่าวหา บิดาไม่ได้ปกป้องตนเองหรือตำหนิความประพฤติของบุตรคนโต บิดาไปไกลความคาดหมายเพื่อเน้นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเขากับบุตร “ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา” คำประกาศที่เต็มไปด้วยความรักอันหาขอบเขตมิได้ของบิดานี้ ได้ขจัดความเป็นไปได้ที่จะเชื่อว่า บุตรคนเล็กได้รับความรักมากกว่าบุตรคนโต บุตรคนโตนั้นไม่เคยออกจากบ้าน บิดาแบ่งปันทุกสิ่งทุกอย่างแก่เขา ให้เขาได้รับรู้ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของบิดา ไม่มีอะไรปิดบังเลย “ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก” ไม่มีคำกล่าวอื่นใดที่แสดงถึงความรักอันปราศจากเงื่อนไขของบิดาที่มีต่อบุตรได้มั่นคงกว่านี้อีกแล้ว เช่นนี้แหละที่ความรักอันไร้ขอบเขตและไม่จำกัดของบิดานั้นมีสำหรับบุตรทั้งสองคนเท่ากัน
ปฏิเสธการเปรียบเทียบแข่งขัน
ความยินดีที่เกิดจากการกลับมาของบุตรคนเล็ก มิได้หมายความว่าบุตรคนโตเป็นที่รักน้อยกว่า หรือไม่เป็นที่ชอบใจแต่อย่างใด บิดาไม่เปรียบเทียบระหว่างบุตรทั้งสองคน เขารักบุตรทั้งสองด้วยความรักที่สมบูรณ์ และแสดงความรักนั้นตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เขารู้จักลูกทั้งสองอย่างดี เขาเข้าใจถึงพรสวรรค์พิเศษและข้อบกพร่องของพวกเขา เขามองเห็นความปรารถนาของบุตรคนเล็กด้วยสายตาแห่งความรัก แม้ว่าจะเป็นความปรารถนาที่ออกนอกลู่นอกทางจากความนบนอบเชื่อฟังก็ตาม และด้วยความรักนี้เอง ที่บิดาเข้าใจถึงความนบนอบของบุตรคนโต แม้จะไม่ได้มาจากความปรารถนาก็ตาม เขาไม่เคยคิดว่าบุตรคนเล็กจะดีกว่าหรือเลวกว่า ไม่มีการวัดหรือเปรียบเทียบกับบุตรคนโต บิดาตอบสนองต่อทั้งสองคนตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน การกลับมาของบุตรคนเล็กทำให้มีการฉลองอย่างร่าเริงยินดี ส่วนการกลับมาของบุตรคนโตเท่ากับเป็นการเชื้อเชิญให้ร่วมในความยินดีนี้อย่างสมบูรณ์
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ในบ้านพระบิดาของเรา มีที่พำนักมากมาย” (ยน.14:2) บุตรแต่ละคนของพระเจ้าต่างก็มีที่พำนักของตน ซึ่งพระองค์ทรงเลือกไว้ ผมต้องปฏิเสธการเปรียบเทียบและการแข่งขันทุกอย่าง เพื่อมอบตัวเองในความรักของพระบิดา สิ่งนี้เรียกร้องการก้าวสู่ความเชื่อ เพราะผมมีประสบการณ์น้อยมากในความรักที่ไม่มีการเปรียบเทียบ และผมไม่รู้ว่าความรักของพระองค์มีอำนาจรักษาได้ ตราบเท่าที่ผมอยู่ข้างนอกในความมืดมน ผมมีแต่จะรู้สึกขุ่นเคือง ซึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบ น้องคนเล็กของผมดูเหมือนว่าจะได้รับความรักจากบิดามากกว่าผม เมื่ออยู่นอกแสงสว่าง ดูเหมือนว่าน้องชายของผมจะได้รับจากบิดามากกว่าที่ผมได้รับ และจริงๆ แล้วผมก็ไม่สามารถมองเห็นเขาเป็นน้องชายของผมได้
พระเจ้าทรงขอร้องให้ผมกลับบ้าน เข้าสู่แสงสว่างของพระองค์ และค้นพบว่าในพระองค์นั้น ทุกคนเป็นที่รักในลักษณะเฉพาะและสมบูรณ์ ในความสว่างของพระเจ้า ผมมองเห็นเพื่อนบ้านเป็นพี่น้อง เป็นของพระเจ้ามากเท่าที่ผมเป็น แต่ภายนอกบ้านของพระบิดา ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง สามีภรรยา คนรัก หรือเพื่อน ทุกคนต่างแข่งขันเป็นศัตรูกัน ตกอยู่ใต้อำนาจของความอิจฉาริษยา ระแวงสงสัย และขุ่นเคืองอยู่ตลอดเวลา
ไม่น่าแปลกใจเลยที่บุตรคนโตได้ต่อว่าบิดาด้วยความโกรธว่า “...คุณพ่อไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับ เพื่อนๆ แต่พอลูกคนนี้ของคุณพ่อกลับมา เขาได้คบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของคุณพ่อจนหมด คุณพ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขา” คำพูดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชายคนนี้รู้สึกเจ็บปวดลึกซึ้งมากแค่ไหน ความนับถือตัวเองของเขาได้รับผลกระทบจากความยินดีของบิดา และความโกรธเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้เขายอมรับคนเสเพลคนนี้ เขาตีตัวออกห่างจากน้องชายและบิดาด้วยการพูดว่า “บุตรของคุณพ่อคนนี้”
บุตรคนโตมองบุคคลทั้งสองเหมือนคนแปลกหน้าที่ไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงและแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับความประพฤติแท้จริงของลูกล้างผลาญ บุตรคนโตไม่มีน้องชายอีกต่อไปแล้ว ทั้งสองกลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา เขามองน้องชายด้วยความรู้สึกดูหมิ่นราวกับว่าน้องชายเป็นคนบาป และมองบิดาด้วยความกลัวราวกับว่าบิดาเป็นนายทาส
ตรงจุดนี้ ผมเข้าใจว่าบุตรคนโตได้หายไปจริงๆ เขากลายเป็นคนแปลกหน้าในบ้านของเขาเอง ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่แท้จริงได้สูญสิ้นไป ความสัมพันธ์ทุกอย่างแปดเปื้อนด้วยเงามืด ความกลัว หรือการแสดงตนหยิ่งยโส การตกอยู่ใต้อำนาจหรือการเป็นผู้คุม การเป็นผู้กดขี่หรือการตกเป็นเหยื่อ สิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่อยู่นอกแสงสว่าง เมื่อไม่มีการสารภาพบาปก็ย่อมไม่มีการอภัย และความรักซึ่งกันและกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งความเป็นหนึ่งเดียวแท้จริงก็กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ผมรู้ถึงความทรมานของการประจญนี้เป็นอย่างดี ในการประจญนี้เราสูญเสียความเป็นธรรมชาติ ทุกสิ่งกลายเป็นข้อกังขา คิดถึงแต่ตัวเอง คิดคำนวณทุกอย่าง และมีความคิดแอบแฝงอยู่เต็ม เราไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอีกต่อไป กิริยาอาการเล็กน้อยก็นำมาขุ่นเคือง คำวิพากษ์วิจารณ์เล็กน้อยก็นำมาวิเคราะห์ การกระทำทุกอย่างถูกประเมินค่า สิ่งเหล่านี้คืออาการของความมืดมน
มีทางออกบ้างหรือไม่? ผมคิดว่าไม่มี อย่างน้อยก็ในความคิดของผม ดูเหมือนว่ายิ่งผมพยายามปลดเปลื้องตัวเองจากความมืดเท่าใด ความมืดก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ผมต้องการแสงสว่าง แต่แสงสว่างนี้ต้องเอาชนะความมืดของผมได้ ผมไม่สามารถไปถึงแสงนั้นได้ด้วยตัวผมเอง ผมไม่สามารถให้อภัยตนเอง และไม่อาจทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก และโดยตัวผมเอง ผมไม่อาจละทิ้งความโกรธ ไม่สามารถพาตัวเองกลับบ้านได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไม่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวได้ จริงอยู่ที่ผมสามารถปรารถนา คาดหวัง รอคอย และภาวนาเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา แต่ลำพังตัวผมเองผมไม่สามารถสร้างอิสรภาพที่แท้จริงได้ ผมหลงทาง จำเป็นที่จะต้องมีชุมพาบาลมาพบตัวผม และพาผมกลับบ้าน
เรื่องราวของลูกล้างผลาญคือเรื่องราวของพระเจ้าผู้ออกค้นหาผมและไม่ทรงหยุดพักจนกว่าพระองค์จะพบผม พระองค์ทรงรบเร้าและทรงขอร้อง พระองค์ทรงขอให้ผมหยุดยึดติดกับอำนาจของความตาย เพื่อปล่อยให้ตัวเองอยู่ในอ้อมแขน ซึ่งจะพาผมไปในที่ซึ่งผมจะได้พบกับชีวิตที่ผมปรารถนาอย่างยิ่ง
เมื่อไม่นานนี้ ผมได้มีประสบการณ์การกลับมาของบุตรคนโตอย่างแท้จริงด้วยตัวของผมเอง คือขณะที่ผมเดินอยู่บนถนน ผมถูกรถชนและต้องไปนอนโรงพยาบาล อาการสาหัส เวลานั้นเองที่ผมเกิดมีความรู้สึกว่า ผมไม่เป็นอิสระที่จะตาย เพราะผมยังติดอยู่กับความขุ่นเคืองที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอจากผู้เป็นพ่อ ผมตระหนักว่าผมยังไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผมรู้สึกถึงการเรียกให้ผมละทิ้งการต่อว่าแบบเด็กๆ และปฏิเสธคำหลอกลวงที่ว่า ผมได้รับความรักน้อยกว่าน้องคนเล็ก สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกกลัวแต่ก็เป็นอิสระ เมื่อบิดาของผมซึ่งชรามากแล้วเดินทางโดยเครื่องบินจากฮอลแลนด์มาเยี่ยมผม ผมรู้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ผมจะสำนึกถึงความเป็นบุตรที่ผมได้รับจากพระเจ้า นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมบอกบิดาว่า ผมรักท่านและซาบซึ้งในความรักที่ท่านมีต่อผม ผมพูดหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งผมไม่เคยพูดมาก่อน และแปลกใจมากที่ผมใช้เวลานานเท่าใดก็ไม่รู้ในการพูดถึงสิ่งเหล่านั้น บิดาของผมก็แปลกใจและงุนงงเช่นกัน แต่ท่านก็รับฟังผมด้วยรอยยิ้มแห่งความเข้าใจ ยิ่งผมมองย้อนถึงเหตุการณ์นี้ ผมก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการกลับมาอย่างแท้จริง เป็นการกลับมาจากการยึดติดที่ผิดๆ ที่ผมมีต่อบิดา ซึ่งไม่สามารถจะให้ทุกสิ่งที่ผมต้องการได้ ผมได้กลับมายึดพระบิดาเจ้า ผู้ตรัสกับผมว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก” และกลับมาจากการชอบสงสารตัวเอง ชอบเปรียบเทียบ และเก็บความขุ่นเคืองใจไว้ การกลับมานี้ทำให้ผมเป็นอิสระพอที่จะให้และรับความรัก และถึงแม้ว่าจะมีความผิดพลาดอีกหลายครั้งอย่างแน่นอนก็ตาม แต่ประสบการณ์นี้ได้นำผมสู่การเริ่มต้นแห่งอิสรภาพที่จะดำเนินชีวิตและตาย การกลับสู่ “พระบิดาผู้เป็นที่มาของความเป็นบิดาทั้งหลาย” (อฟ.3:15) ทำให้ผมไม่จำกัดพระองค์ และยอมให้พระบิดาเจ้าสวรรค์เป็นพระเจ้าผู้ทรงมีความรักอันไม่สิ้นสุดและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทำให้ความขุ่นเคืองและความโกรธทั้งหมดของผมสูญสิ้นไป ผมรู้สึกเป็นอิสระที่จะรัก และอยู่เหนือความต้องการที่จะทำให้ตนเป็นที่พอใจและเป็นที่ยอมรับ
ความไว้ใจและสำนึกในบุญคุณ
ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมมีในการกลับมาของบุตรคนโต อาจนำความหวังไปสู่อีกหลายๆ คน ซึ่งอยู่ในความขุ่นเคือง อันเป็นผลมาจากความต้องการที่จะทำให้คนอื่นพึงพอใจ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเราทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องกับบุตรคนโตที่อยู่ในตัวเราอย่างแน่นอน คำถามมีอยู่ว่า “เราจะทำอะไรเพื่อให้การกลับบ้านนั้นเป็นไปได้?” แม้พระเจ้าจะเสด็จออกมาหาเราด้วยพระองค์เอง เพื่อนำเรากลับบ้านของพระองค์ เราก็ต้องไม่เพียงแค่ยอมรับว่าเราได้หลงทางเท่านั้น แต่ต้องพร้อมที่จะถูกพบและถูกพากลับบ้านด้วย เราจะต้องทำอย่างไร?แน่นอนว่าการรอคอยอยู่เฉยๆ นั้นไม่เพียงพอ แม้เราจะไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความโกรธที่หยุดชะงักเราได้ แต่เราสามารถยอมให้พระเจ้าหาเราจนพบได้ และรับการรักษาเยียวยาด้วยความรักของพระองค์ โดยอาศัยความไว้วางใจและการสำนึกในบุญคุณที่แสดงออกเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน ความไว้ใจและการรู้คุณเป็นข้อเรียกร้องที่จำเป็นสำหรับให้บุตรคนโตกลับใจ และผมได้มีประสบการณ์ด้วยตัวผมเอง
ถ้าผมไม่ไว้วางใจ ผมก็ไม่สามารถที่จะยอมให้ตัวเองถูกค้นพบได้ ความไว้ใจคือความมั่นใจลึกๆ ว่า พระบิดาต้องการให้ผมอยู่บ้าน ตราบใดที่ผมยังไม่แน่ใจว่าผมมีคุณค่าพอที่จะถูกพบ และน้อยอกน้อยใจคิดว่าตัวเองได้รับความรักน้อยกว่าพี่น้องของผม ตราบนั้นผมไม่สามารถถูกพบได้ จำเป็นที่ผมต้องพูดกับตนเองอยู่เสมอว่า “พระเจ้ากำลังค้นหาคุณ พระองค์ออกค้นหาคุณทุกหนทุกแห่ง พระองค์ทรงรักคุณ ต้องการให้คุณกลับบ้าน และพระองค์จะไม่พักจนกว่าคุณจะได้อยู่กับพระองค์”
ในตัวผมมีเสียงค่อยๆ แต่มีพลังที่บอกว่า “พระเจ้าไม่ได้สนใจผมจริงๆ พระองค์ทรงโปรดคนบาปที่กลับใจจากความผิดพลาดร้ายกาจนั้นมากกว่า พระองค์ไม่สนใจผมที่ไม่เคยออกจากบ้าน ผมไม่ใช่ลูกคนโปรดของพระองค์ ผมไม่คาดหวังว่าพระองค์จะให้สิ่งที่ผมต้องการอย่างแท้จริง”
เมื่อเวลาที่เสียงแห่งความมืดนี้เข้มแข็งขึ้น ผมต้องการพลังฝ่ายจิตเพื่อที่จะไว้ใจในพระบิดาว่า พระองค์ต้องการให้ผมกลับบ้านมากเท่ากับที่ต้องการจากบุตรคนเล็ก สิ่งนี้เรียกร้องให้ผมก้าวข้ามการสงสารตัวเองอยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะคิด พูด และกระทำด้วยความมั่นใจว่ามีคนค้นหาผมและจะหาผมพบ ถ้าปราศจากความสำนึกนี้ ผมก็จะตกเป็นเหยื่อของความผิดหวังอยู่ร่ำไป
เวลาที่ผมเตือนย้ำกับตนเองว่า ผมไม่สำคัญพอที่จะถูกค้นพบ เท่ากับว่าผมขยายความสงสารตัวเอง จนกระทั่งผมไม่ได้ยินเสียงที่เรียกผม ถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องปฏิเสธเสียงของตัวเอง เพื่อประกาศความจริงว่า พระเจ้าต้องการโอบกอดผมเหมือนที่ทรงทำกับพี่น้องของผมที่หลงไปทุกประการ เพื่อที่จะเอาชนะความรู้สึกหลงผิดนี้ จำเป็นที่จะต้องมีความไว้ใจลึกซึ้ง พระเยซูเจ้าทรงแสดงสิ่งนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อตรัสว่า “ทุกสิ่งที่เจ้าวอนขอ เจ้าจงไว้ใจเถิดว่าเจ้าได้รับแล้ว และเจ้าจะได้รับสิ่งนั้น” การดำเนินชีวิตในความไว้ใจอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ จะเปิดหนทางซึ่งพระเจ้าจะทรงทำให้ความปรารถนาอันลึกซึ้งที่สุดของผมเป็นจริง
นอกเหนือจากความไว้ใจแล้ว ก็จะต้องมีความรู้สึกขอบคุณอยู่ด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกขุ่นเคืองใจ ความขุ่นเคืองใจและการขอบคุณนั้นอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะความขุ่นเคืองใจกีดกันการรับรู้ และประสบการณ์ชีวิตในฐานะเป็นพระพรของพระ ความขุ่นเคืองใจทำให้ผมพูดว่า ผมไม่ได้รับสิ่งซึ่งผมสมควรจะได้รับ สิ่งนี้แสดงออกมาในรูปของความอิจฉาริษยา
การขอบคุณนั้นอยู่เหนือกว่าลักษณะที่เป็น “ของฉัน” หรือ “ของคุณ” และยืนยันความจริงที่ว่า ชีวิตทุกชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้าอย่างแท้จริง ในอดีตผมมักคิดว่าความรู้สึกขอบคุณเป็นการตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อได้รับของขวัญ แต่ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าการขอบคุณนั้นสามารถเป็นกฏเกณฑ์ในชีวิตได้ด้วย กฏเกณฑ์ของการขอบคุณก็คือ ความพยายามที่ชัดแจ้งว่า สิ่งทั้งหมดที่ผมมีและผมเป็นนั้นเป็นของประทานแห่งความรักที่พระเจ้าทรงประทานให้ เป็นพระหรรษทานที่ต้องเฉลิมฉลองด้วยความยินดีอย่างรู้ตัว ผมสามารถเลือกที่จะขอบคุณ แม้ในขณะที่อารมณ์และความรู้สึกของผมยังคงอยู่ในความเจ็บปวดและความขุ่นเคืองใจ น่าแปลกที่ผมมีโอกาสมากมายที่จะเลือกขอบคุณแทนที่จะสงสารตัวเอง แม้เมื่อหัวใจขุ่นเคือง ผมสามารถเลือกที่จะยินดีเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ แม้ในเวลาที่สายตาภายในยังคงมองหาใครสักคนเพื่อกล่าวโทษหรือหาสิ่งที่น่าเกลียด ผมสามารถเลือกที่จะพูดเกี่ยวกับความดีและความสวยงามได้ ผมสามารถเลือกที่จะฟังเสียงแห่งการให้อภัยและมองดูใบหน้าที่ยิ้มแย้มได้ แม้ว่าผมจะได้ยินวาจาที่เคียดแค้น และมองเห็นใบหน้าบูดเบี้ยวด้วยความเกลียดชังอยู่ก็ตาม
ผมต้องเลือกเสมอระหว่างความขุ่นเคืองใจและการรู้สึกขอบคุณ เพราะพระเจ้าได้เข้ามาในความมืดของผม ขอร้องให้ผมกลับบ้าน และประกาศด้วยเสียงที่เต็มไปด้วยความรักว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก” แน่นอนว่า ผมสามารถเลือกที่จะอยู่ในความมืด ชี้ไปยังคนที่ดูดีกว่าผม คร่ำครวญในความโชคร้ายที่ถาโถมในอดีต และเมื่อเช่นนี้ ผมก็ปิดขังตัวเองอยู่ในความขุ่นเคือง แต่ผมไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้ ผมมีทางเลือกที่จะมองสายพระเนตรของพระเจ้าผู้ออกแสวงหาผม และมองเห็นว่าทั้งหมดที่ผมเป็นและมีนั้น ล้วนเป็นพระหรรษทานทั้งสิ้น ซึ่งเรียกร้องให้ผมขอบพระคุณ
การเลือกที่จะขอบคุณนั้นมิใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ แต่ทุกครั้งที่ผมเลือกที่จะทำ สิ่งที่ตามมาก็ดูจะง่ายขึ้น ทำให้ผมรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น ออกจากตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้เพราะพระหรรษทานแต่ละประการที่ผมได้รับนั้น จะเผยแสดงพระหรรษทานอีกประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งตามมา จนกระทั่งที่สุดแล้ว เหตุการณ์ที่ธรรมดาที่สุดหรือยิ่งใหญ่ที่สุด และแม้แต่เหตุการณ์ดาษดื่นที่สุด ก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยพระหรรษทานทั้งสิ้น มีสุภาษิตของพวกเอสโตเนียน (Estonian) กล่าวไว้ว่า “ใครที่ไม่สามารถขอบคุณในเรื่องเล็กน้อย ก็ไม่สามารถขอบคุณในเรื่องใหญ่ได้” การขอบคุณทำให้เรารู้จักบุญคุณ เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่าทุกสิ่งล้วนเป็นพระหรรษทานทั้งสิ้น
ทั้งความไว้วางใจและการขอบคุณนั้น ล้วนเรียกร้องความกล้าเสี่ยง เพราะความไม่ไว้วางใจและความขุ่นเคืองใจนั้นคุกคาม อยู่ในตัวผม เตือนให้ผมรู้ถึงอันตรายของการปฏิเสธการคิดคำนวณและความสงสัยต่างๆ จำเป็นที่ผมจะต้องกล้าเสี่ยงในความเชื่อ ยอมให้โอกาสแก่ความวางใจและการขอบคุณ เช่น เขียนจดหมายแสดงน้ำใจแก่คนที่ไม่ต้องการยกโทษให้ผม โทรศัพท์ถึงคนที่ปฏิเสธผม หรือกล่าวคำปลอบใจแก่คนที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้
การกระโจนสู่ความเชื่อนั้น บ่อยครั้งหมายถึงความรักที่ไม่หวังว่าจะได้รับความรักตอบแทน ให้โดยไม่แสวงหาที่จะรับ เชื้อเชิญโดยไม่หวังว่าจะได้รับการเชิญกลับ ต้อนรับโดยไม่หวังว่าจะได้รับการต้อนรับกลับ ทุกครั้งที่ผมได้ทำสิ่งเหล่านี้ในความเชื่อ ผมก็ได้เห็นพระองค์ ผู้ทรงวิ่งออกมาหาผมและเชื้อเชิญผมให้เข้าสู่ความยินดี ซึ่งเป็นความยินดีที่ผมมิได้พบแต่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังพบพี่น้องชายหญิงของผมอีกด้วย ดังนั้น กฏเกณฑ์แห่งความไว้วางใจและการขอบคุณนั้น จึงเผยแสดงให้ผมเห็นพระเจ้าผู้ทรงค้นหาผม ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะยกเอาความขุ่นเคืองใจและการคร่ำครวญของผมออกไป เพื่อเชื้อเชิญให้ผมได้นั่งเคียงข้างพระองค์ในงานเลี้ยงบนสวรรค์
บุตรคนโตที่แท้จริง
การกลับมาของบุตรคนโตกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม มากกว่าการกลับมาของบุตรคนเล็กเสียอีก บุตรคนโตจะเป็นเหมือนใคร เมื่อเขาเป็นอิสระจากความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ และความอิจฉาริษยาของตัวเอง? เนื่องจากเรื่องอุปมานี้ไม่ได้บอกให้เรารู้ว่าบุตรคนโตตอบสนองอย่างไร เราจึงต้องเลือกที่จะฟังบิดา หรือเลือกที่จะติดอยู่กับการปฏิเสธนั้น
แต่เมื่อผมไตร่ตรองทางเลือกนี้ และได้เห็นว่าเรื่องอุปมาที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าและจินตนาการเป็นภาพโดยเรมแบรนท์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกลับใจของผม ผมก็เห็นชัดว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงเล่าเรื่องนี้มิได้เป็นเพียงแค่บุตรคนเล็กเท่านั้น แต่ยังเป็นบุตรคนโตด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อเผยแสดงความรักของพระบิดา และปลดปล่อยผมจากแอกของความขุ่นเคือง ทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองนั้น ได้เผยแสดงพระองค์ในฐานะเป็นบุตรสุดที่รัก ผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ไม่มีระยะห่าง ความกลัว หรือความสงสัยระหว่างพระองค์กับพระบิดา
ในเรื่องอุปมา คำพูดของบิดาที่ว่า “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก” นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแท้จริงของพระเจ้าพระบิดา กับพระเยซูเจ้าพระบุตรของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงยืนยันอย่างขันแข็งว่า เกียรติมงคลทุกอย่างที่เป็นของพระบิดาก็เป็นของพระบุตรด้วย และทุกสิ่งที่พระบิดาทรงกระทำ พระบุตรก็ทรงกระทำด้วย ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างพระบิดากับพระบุตร “พระบิดาและเราเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน.17:22) ไม่มีการแบ่งแยกในการทำงาน “พระบิดาทรงรักพระบุตรและมอบความวางใจในทุกสิ่งแก่พระองค์” (ยน.3:35) ไม่มีการแข่งขัน “เราให้ท่านรู้ทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากพระบิดาของเรา” (ยน.15:15) ไม่มีการอิจฉา “พระบุตรไม่สามารถทำสิ่งใดได้ตามใจของตน แต่ทำเฉพาะสิ่งที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำเท่านั้น” (ยน.5:19) มีความเป็นหนึ่งเดัยวกันที่สมบูรณ์ระหว่างพระบิดากับพระบุตร ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้เป็นแก่นสำคัญของพระวาจาที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงเชื่อเราเถิดว่า เราดำรงอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงดำรงอยู่ในเรา” (ยน.14:11) การเชื่อในพระเยซูเจ้าหมายถึงการเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่พระบิดาทรงส่งมา ความรักอันสมบูรณ์ของพระบิดาเจ้าได้รับการเผยแสดงในพระองค์ และโดยพระองค์ (ยน.5:24 ; 6:40 ; 16:27 ; 17:8)
สิ่งนี้พระเยซูเจ้าได้แสดงออกมาในรูปแบบของเรื่องเล่า โดยผ่านทางเรื่องอุปมาของคนเช่าสวนที่ชั่วร้าย ซึ่งหลังจากที่เจ้าของสวนองุ่นได้ส่งผู้ดูแลไปหา เพื่อเก็บเกี่ยวส่วนแบ่งของผลผลิตแล้ว ก็ได้ตัดสินใจที่จะส่ง “บุตรชายสุดที่รักของเขา” ไป ผู้เช่าสวนรู้ว่าเขาเป็นทายาท จึงได้ฆ่าเขาเพื่อจะเอามรดกมาเป็นของตน แสดงให้เห็นภาพของบุตรที่เชื่อฟังบิดา มิใช่ในลักษณะทาส แต่ในฐานะของพระบุตรสุดที่รักที่ทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงเป็นบุตรหัวปีของพระบิดา พระบิดาทรงส่งพระองค์ไปเพื่อเผยแสดงความรักอันไม่มีขอบเขตของพระเจ้า แก่บรรดาบุตรที่หลงไป และเพื่อมอบพระองค์เองเป็นหนทางกลับสู่บ้านของพระบิดา พระเยซูเจ้าทรงเป็นหนทางของพระเจ้าที่ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ โดยทรงให้แสงสว่างชนะความมืดมิด ความขุ่นเคืองและความคิดเคียดแค้นซึ่งหยั่งรากลึกในมนุษย์ ได้สูญสลายไปเมื่อได้พบกับพระบุตร ผู้ทรงเป็นแสงสว่าง เมื่อผมมองภาพบุตรคนโตของเรมแบรนท์อีกครั้ง ผมก็เห็นว่าแสงอันเยือกเย็นบนใบหน้าของเขา ได้กลายเป็นแสงอันอบอุ่นลึกซึ้ง เป็นแสงที่เปลี่ยนแปลงตัวเขาอย่างสิ้นเชิง และทำให้เขาเป็นตัวเขาอย่างแท้จริง นั่นคือเป็น “บุตรสุดที่รักซึ่งพระเจ้าทรงพอพระทัย”