แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การประกาศพระเยซูคริสตเจ้าในเอเซีย
20. พระศาสนจักรในเอเซียยิ่งมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการป่าวประกาศ เมื่อทราบว่า “อาศัยพระราชกิจของพระจิตเจ้า ก็ได้เริ่มมีความคาดหวังในจิตใจของบุคคลและประชาชน แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่รู้ตัว ที่อยากจะรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า เกี่ยวกับมนุษย์ และเกี่ยวกับวิธีที่จะหลุดพ้นจากแอกของบาปและความตาย การเน้นเรื่องการป่าวประกาศนั้น มิได้เกิดจากความปรารถนาที่จะแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า หรือความต้องการที่จะให้เปลี่ยนศาสนา หรือมากจากความคิดว่า เราดีกว่าเขา พระศาสนจักรประกาศพระวรสาร ด้วยความนบนอบต่อพระบัญชาของพระคริสตเจ้า ด้วยการยอมรับความจริงที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับฟังข่าวดีของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงเผยพระองค์เอง และมอบพระองค์เองในพระคริสตเจ้า การเป็นสักขีพยานให้แด่พระเยซูคริสตเจ้า นับเป็นบริการสูงสุด ที่พระศาสนจักรสามารถจะมอบให้ประชาชนในเอเซียได้ เหตุว่าประชาชนในเอเซียแสวงหาพระผู้สูงสุด และพระศาสนจักรที่เผยแสดงถึงความจริงและคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งครบ
    พระศาสนจักรตระหนักดีถึงสถานภาพอันหลากหลาย  และสลับ-ซับซ้อนในเอเซีย และ “การกล่าวความจริงด้วยความรัก” (อฟ.4:15) ดังนั้นพระศาสนจักรจึงป่าวประกาศข่าวดีด้วยความเคารพรัก และนับถือผู้ที่รับฟังการป่าวประกาศที่ให้เกียรติแก่มโนธรรมนั้น มิใช่เป็นการละเมิดเสรีภาพ เพราะความเชื่อต้องได้รับการตอบสนองอย่างเสรี แต่ความเคารพนับถือ มิได้ปัดเป่าภาระที่จะต้องประกาศพระวรสารอย่างตรงไปตรงมาอย่างครบสมบูรณ์ โดยเฉพาะในบริบทของวัฒนธรรม และศาสนาจำนวนมากมายในเอเซีย จำเป็นต้องบ่งให้ชัดเจนว่า “การเคารพนับถือศาสนาเหล่านี้ และปัญหาและคำถามหลากหลายที่เกิดขึ้นนั้น มิได้หมายความว่า พระศาสนจักรไม่จำเป็นต้องประกาศพระเยซูคริสตเจ้าแก่คนเหล่านี้ เมื่อครั้งไปเยือนประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1986 ข้าพเจ้าได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “พระศาสนจักรเสวนากับศาสนาอื่นด้วยความเคารพอย่างแท้จริง... ความเคารพนี้มีอยู่สองแง่ กล่าวคือ ความเคารพต่อมนุษย์ผู้เสาะแสวงหาคำตอบ ต่อคำถามอันลึกซึ้งในชีวิตของเขา และความเคารพต่อพระราชกิจของพระจิตเจ้าในมนุษย์” อันที่จริง บรรดาสมาชิกของสมัชชาต่างเล็งเห็นพระราชกิจของพระจิตเจ้าในสังคม วัฒนธรรมและศาสนาของเอเซีย ซึ่งเป็นหนทางที่พระบิดาเจ้าทรงเตรียมจิตใจของชาวเอเซีย ให้รับชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในพระคริสตเจ้า
    แม้ในช่วงระยะเวลาที่ปรึกษาหารือกันก่อนการประชุมสมัชชา พระสังฆราชเอเซียหลายท่าน กล่าวถึงความยากลำบากในการกล่าวว่าพระเยซูเจ้า คือพระผู้ไถ่แต่เพียงพระองค์เดียว ในช่วงการประชุมสมัชชา มีการกล่าวถึงสถานภาพดังกล่าว ว่าดังนี้ “ผู้นับถือศาสนาที่สำคัญๆ หลายท่านในเอเซีย  สามารถรับพระเยซูเจ้าในสถานะของการเผยแสดงของพระเจ้าหรือพระผู้สูงสุด หรือรับว่าพระองค์บรรลุปรินิพานโดยไม่มีปัญหา แต่พวกเขารู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับว่า พระองค์คือพระผู้ได้รับการเผยแสดงของพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว” อันที่จริงแล้ว ความพยายามที่จะแบ่งปันพระพรแห่งความเชื่อในพระเยซูเจ้า  ผู้ทรงเป็นพระผู้ไถ่แต่พระองค์เดียวนั้น เปี่ยมไปด้วยความยากลำบากในด้านปรัชญา วัฒนธรรมและเทววิทยา โดยเฉพาะเมื่อสำนึกว่าความเชื่อในศาสนาอันยิ่งใหญ่ของเอเซีย โยงใยกับคุณค่าทางวัฒนธรรมและมุมมองโลกที่เฉพาะเจาะจง
    ในความคิดของบรรดาสมาชิกของสมัชชา ปัญหานี้ เพิ่มมากขึ้นจากความจริงที่ว่า ชาวเอเซียมักจะมองดูว่าพระเยซูเจ้าว่าไม่ใช่ชาวเอเซีย สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือว่า ชาวเอเซียส่วนมากกลับเห็นว่าพระเยซูเจ้า ผู้ประสูติในดินแดนแห่งเอเซีย เป็นชาวตะวันตก แทนที่จะเป็นชาวเอเซีย คงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การประกาศพระวรสารโดยธรรมทูตชาวตะวันตก ก็คงจะมีอิทธิพลจากวัฒนธรรมของพวกเขา สมาชิกของสมัชชาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในประวัติศาสตร์แห่งการแพร่ธรรม ในขณะเดียวท่านก็ถือโอกาส “ที่จะแสดงความสำนึกในบุญคุณของบรรดาธรรมทูตทั้งหลาย ทั้งชายและหญิง ทั้งนักบวชและฆราวาสทั้งชาวพื้นเมืองและชาวต่างชาติเป็นพิเศษ  ที่ได้นำพระธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า และพระพรแห่งความเชื่อมาให้แก่ชาวเอเซีย และจำเป็นที่จะต้องขอบคุณพระศาสนจักรต่างๆ ที่ได้เคยส่งและยังส่งธรรมทูตมายัง เอเซีย”
    บรรดาผู้แพร่ธรรมควรได้รับกำลังใจจากประสบการณ์ของนักบุญเปาโล ท่านเสวนาในด้านปรัชญา และคุณค่าทางวัฒนธรรมและศาสนา กับบรรดาผู้ที่มาฟังท่าน (ดู กจ.14:13-17, 17:22-31) แม้กระทั่งพระสังคายนาต่างๆ ของพระศาสนจักร ซึ่งกำหนดข้อคำสอนสำหรับพระศาสนจักร ก็จำต้องใช้ภาษา ปรัชญาและวัฒนธรรมที่สมาชิกรู้จักและคุ้นเคย ซึ่งภายหลังก็ได้กลายมาเป็นมรดกส่วนรวมของพระศาสนจักรโดยทั่วไป และสามารถอธิบายข้อคำสอนเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า ด้วยวิธีที่เหมาะสมและเป็นสากลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกแห่งความเชื่อ ซึ่งจะต้องเก็บรักษาไว้ และแบ่งปันครั้งแล้วครั้งเล่ากับวัฒนธรรมต่างๆ ดังนั้นการประกาศพระเยซูเจ้า ด้วยวิธีการซึ่งชาวเอเซียสามารถเห็นพระองค์ได้ในชีวิตของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องซื่อสัตย์ต่อข้อคำสอนตามหลักเทววิทยาของพระศาสนจักร และมรดกการเป็นชาวเอเซียของเขา นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก
    การเสนอว่าพระเยซูคริสตเจ้า ทรงเป็นพระผู้ไถ่แต่เพียงพระองค์เดียวนั้นจะต้องยึดวิธีสอน ที่จะค่อยๆ แนะนำประชาชนเป็นขั้นเป็นตอน จนเข้าถึงรหัสธรรมอันครบถ้วน แน่นอนการเริ่มประกาศพระวรสารแก่ผู้ที่มิใช่คริสตชน และการประกาศพระเยซูเจ้าต่อไปให้ผู้ที่มีความเชื่อ ต้องใช้วิถีทางที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การประกาศครั้งแรก “อาจจะเป็นการเสนอพระเยซูคริสตเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ที่ทรงเป็นคำตอบของบรรดาผู้เสาะแสวงหาในเทพนิยายและนิทานต่างๆ ของชาวเอเซีย” โดยทั่วไปแล้วควรจะมีใช้รูปแบบของการเล่าที่ใกลเคียงกับวัฒนธรรมของชาวเอเซีย อันที่จริงการป่าวประกาศพระเยซูคริสตเจ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็จำต้องใช้วิธีการเล่าถึงประวัติของพระองค์ ดังเช่นพระวรสาร ปรัชญาว่าด้วยความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีในการเสนอพระเยซูเจ้า และอาจเสริมด้วยแนวทางด้านความสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์ หรือดารา-ศาสตร์ สมาชิกของสมัชชากล่าวว่า พระศาสนจักรจะต้องเปิดใจกว้าง สำหรับการเสนอพระพักตร์พระเยซูเจ้าในรูปแบบที่ใหม่ และแตกต่างไปบ้างในเอเซีย
    สมัชชาเสนอให้การสอนคำสอนอันต่อเนื่องนั้น ออกมาในรูปแบบของ “วิธีที่เรียกร้องความสนใจ โดยใช้การเล่านิทานเปรียบเทียบและสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในวิธีการสอนของชาวเอเซีย” พระเยซูเจ้าพระองค์เองทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงคุณค่าของการสัมผัสเป็นรายบุคคล อันเป็นเหตุให้ผู้แพร่ธรรมต้องนำเอาสภาพของผู้ฟังมาเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อจะได้ป่าวประกาศตามสภาพความก้าวหน้าของผู้ฟัง โดยใช้รูปแบบที่เข้าถึงหัวใจของชาวเอเซีย  ท่านได้เสนอภาพพจน์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งจะเข้าถึงจิตใจและวัฒนธรรมของชาวเอเซีย และในขณะเดียวกันก็ต้องซื่อสัตย์ต่อพระคัมภีร์ และธรรมเนียมปฏิบัติของพระศาสนจักร เช่นการเสนอพระเยซูคริสตเจ้า พระอาจารย์ผู้ทรงสอนความปรีชาฉลาด ผู้ทรงบำบัดรักษา ผู้ทรงปลดปล่อย ผู้ทรงเป็นผู้นำในด้านจิตวิญญาณ ผู้ทรงบรรลุถึงปรินิพาน พระสหายของผู้ยากจน ชาวสะมาเรีย ผู้ใจดี พระชุมพาบาลผู้ทรงพระทัยดี พระผู้ทรงนอบน้อม เราอาจะเสนอ
พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นประปรีชาญาณของพระเป็นผู้มาประสูติเป็นมนุษย์ และพระหรรษทานของพระองค์ทรงบันดาลให้ “เมล็ด” พระปรีชาญาณ ซึ่งมีอยู่ในชีวิต ในศาสนา และในประชาชนชาวเอเซียได้ผลิดอกออกผล ในท่ามกลางความทุกข์ทรมานอันมากมายในเอเซีย เราอาจประกาศว่าพระองค์คือพระผู้ไถ่ ผู้ทรงสามารถให้ความหมายในชีวิตของผู้ที่ต้องประสบกับความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานมากมาย ซึ่งอธิบายไม่ได้
ความเชื่อซึ่งพระศาสนจักรมอบให้เป็นของขวัญแก่ลูกหลานชาว เอเซีย ไม่สามารถอยู่ในขอบเขตของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง เหตุว่าเป็นสิ่งที่เกินขอบเขตเหล่านี้ และอันที่จริงนับเป็นการท้าทายวัฒนธรรมต่างๆ ให้มุ่งไปสู่ความเข้าใจใหม่ และสำแดงออกในรูปแบบใหม่ๆ ให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน บรรดาผู้ร่วมประชุมสมัชชาก็สำนึกถึงความจำเป็นที่พระศาสนจักรในแต่ละท้องถิ่นในเอเซีย ในอันที่จะเสนอรหัสธรรมของพระคริสตเจ้า ตามรูปแบบวัฒนธรรมและแนวความคิดของพวกท่าน พวกท่านยังชี้ให้เห็นว่าการปรับความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมในทวีปของพวกท่านนั้น จำเป็นที่จะต้องค้นพบพระพักตร์ของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นชาวเอเซีย และสำรวจดูแนวทางวัฒนธรรมของเอเซีย ซึ่งสามารถเข้าถึงรหัสธรรมของพระเยซูเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ ในอันที่จะนำความรอด ไปทั่วพิภพ บุคคลเช่น ยีโอวานี ดา มอนเตคอร์วีโน มัทเธโอ- ริชชี และ โรเบอร์โต เด โนปีลี ที่เข้าถึงทัศคติของประชาชนและวัฒนธรรมของเขา ควรได้รับการเลียนแบบในปัจจุบัน