แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การท้าทายของการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม
21. วัฒนธรรมเป็นขอบเขตที่สำคัญมาก ที่แต่ละบุคคลจะได้มีโอกาสมาเผชิญกับพระวรสาร วัฒนธรรมคือผลอันสืบเนื่องมาจากชีวิตและกิจการของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งฉันใด บรรดาผู้ที่อยู่ในกลุ่มชนนั้น ก็จะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่เขาเจริญชีวิตอยู่ฉันนั้น เมื่อผู้คนและสังคมเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย วัฒนธรรมได้รับการปรับปรุง บุคคลและสังคมก็จะได้รับการปรับปรุงตามไปด้วย จากมุมมองนี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุใดการประกาศพระวรสารและการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรม จึงเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด พระวรสารและการแพร่ธรรมมิใช่วัฒนธรรมและมิได้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม แต่พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้ามาจากประชาชนที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง และการเสริมสร้างพระอาณาจักร ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมของมนุษย์ ดังนั้น พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ทรงกล่าวถึงการแยกพระวรสารออกจาวัฒนธรรมว่า เป็นละครแห่งยุคสมัยของเรา ซึ่งยังผลอันลึกซึ้งไปยังการประกาศพระวรสารและวัฒนธรรม
    ในการสัมผัสกับวัฒนธรรมต่างๆ ของโลก พระศาสนจักรไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดความจริงและคุณค่าของพระศาสนจักร และฟื้นฟูวัฒนธรรมมาจากภายในเท่านั้น แต่พระศาสนจักรยังรับเอาสิ่งที่ดีงาม ซึ่งมีอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ แล้ว นี่คือหนทางที่ผู้แพร่ธรรมจะต้องใช้ในการนำเสนอความเชื่อของคริสตศาสนา และทำให้เป็นส่วนหนึ่งแห่งมรดกวัฒนธรรมของประชาชน ในมุมมองที่กลับกัน วัฒนธรรมต่างๆ เมื่อได้รับการกลั่นกรองและฟื้นฟูแนวพระวรสารแล้ว ก็สามารถแสดงออกซึ่งความเชื่อของคริสตศาสนาได้อย่างแท้จริง “อาศัยการปรับตนให้เข้ากับวัฒนธรรม พระศาสนจักรก็จะเป็นเครื่องหมายที่คนสามารถเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น และสามารถเป็นเครื่องมือแพร่ธรรมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การร่วมมือกันกับวัฒนธรรมนับเป็นส่วนหนึ่งแห่งการจาริกของพระศาสนจักรในประวัติศาสตร์ แต่ในปัจจุบันมีความเร่งด่วนเป็นพิเศษ ในสถานภาพของเอเซีย ซึ่งมีประชาชนหลายเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม และพระศาสนจักรถูกมองว่าเป็นของคนต่างชาติ
    เมื่อถึงจุดนี้ เราควรจดจำสิ่งที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในสมัชชา กล่าวคือ พระจิตเจ้าคือพระผู้ทรงเป็นหลักในการที่จะปรับความเชื่อคริสตชน ให้เข้ากับวัฒนธรรมของเอเซีย พระจิตเจ้าพระองค์เดียวกันผู้ทรงนำเราไปสู่ความจริงทั้งสิ้น จะทรงสามารถช่วยให้การเสวนากับคุณค่าทางวัฒน- ธรรมและศาสานาของประชาชาติต่างๆ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่แล้วเป็นไปได้ เพื่อทรงช่วยให้ชายและหญิงผู้มีความจริงใจ ได้มีกำลังในอันที่จะเอาชนะความชั่ว และความหลอกลวงของเจ้าแห่งความชั่ว และให้ทุกคนได้มีโอกาสในการแบ่งปันรหัสธรรมปัสกา ด้วยวิถีทางซึ่งพระเป็นเจ้าเท่านั้นทรงทราบ การที่พระจิตเจ้าประทับอยู่ด้วยนั้นเป็นการช่วยให้การเสวนาเกิดขึ้นในความจริง ด้วยความจริงใจ ด้วยความถ่อมตน และด้วยการให้ความเคารพ “การที่พระศาสนจักรมอบข่าวดีแห่งการไถ่กู้ให้แก่ผู้อื่นนั้น พระศาสนจักรพยายามเข้าใจวัฒนธรรมของเขา พระศาสนจักรพยายามเข้าใจความคิดจิตใจของผู้ฟัง เข้าใจถึงคุณค่าและขนบธรรมเนียมของเขา ปัญหาและความยากลำบากของเขา ความหวังและความใฝ่ฝันของเขา เมื่อรู้และเข้าใจถึงแง่มุมต่างๆ ของวัฒนธรรมแล้ว พระศาสนจักรจึงจะสามารถเริ่มการเสวนาเรื่องความรอด พระศาสนจักรจึงจะสามารถเสนอข่าวดีแห่งความรอดด้วยความเคารพอย่างชัดเจนและด้วยความมั่นใจ ให้แก่ทุกคนที่ปรารถนาที่จะรับฟังและตอบสนองอย่างเสรี” ดังนั้น ประชาชนชาวเอเซีย ซึ่งพยายามทำให้ความเชื่อของคริสตศาสนาเป็นของเขาเองจริงๆ ในฐานะที่เป็นชาวเอเซีย จะได้มั่นใจว่า พระเยซูเจ้าไม่ทรงเพียงรับเอาความหวัง ความคาดหวัง ความห่วงใย และความทุกข์ยากของเขา  มาเป็นของพระองค์เองเท่านั้น  แต่ยังทรงเป็นจุดที่พระพรแห่งความเชื่อ และพระอานุภาพของพระจิตเจ้า จะเข้าไปในห้วงลึกแห่งชีวิตของพวกเขาด้วย
    เป็นหน้าที่ของบรรดานายชุมพาบาล อาศัยพระพรพิเศษของพวกท่าน ที่จะแนะแนวในการเสวนาและการเรียนรู้นี้ ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญในด้านความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก ก็จะมีบทบาทที่สำคัญในการปรับข้อความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรม แต่ขบวนการนี้จะต้องประกอบด้วยประชากรทั้งสิ้นของพระเป็นเจ้า เหตุว่าชีวิตของพระศาสนจักรโดยส่วนรวม ต้องสำแดงออกซึ่งความเชื่อที่ประกาศและได้รับการน้อมรับไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องนี้ มีการปฏิบัติกันอย่างถูกต้อง บรรดาผู้ร่วมประชุมสมัชชา จึงได้เน้นให้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องบางเรื่อง เช่น การพิจารณาในแง่ของเทววิทยา ในด้านพิธีกรรม และการอบรมพระสงฆ์และนักบวช ครูคำสอน และชีวิตจิตวิญญาณ